“การปลูกถ่ายไต สิทธิที่ผู้ป่วยทุกคนสามารถเข้าถึงได้”ในปัจจุบันสาเหตุของภาวะไตเสื่อมเรื้อรังมีหลายอย่าง ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง นิ่วในทางเดินปัสสาวะ หรือโรคไตอักเสบ ซึ่งในบางกรณี แม้ว่าจะพยายามรักษาสาเหตุเหล่านี้หรือชะลอความเสื่อมของไตด้วยวิธีการต่างๆ แต่สุดท้ายก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงการเข้าสู่ภาวะไตเสื่อมเรื้อรังระยะสุดท้ายได้ ดังนั้น การบำบัดทดแทนไตจึงเป็นตัวเลือกในการรักษาผู้ป่วยในระยะนี้ และหนึ่งในตัวเลือกที่มีบทบาทมากขึ้นในปัจจุบันคือ การปลูกถ่ายไต (kidney transplantation)
จากหลักฐานในปัจจุบันพบว่า การปลูกถ่ายไตมีผลลัพธ์ที่ดีในเรื่องของอัตราการรอดชีวิต กล่าวคือ ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไตจะมีอัตราการรอดชีวิตสูงกว่าการบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีอื่นๆ โดยผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตและทำงานได้เหมือนคนปกติ ไม่ถูกจำกัดเรื่องปริมาณน้ำดื่ม มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
การปลูกถ่ายไตมี 2 แบบหลักๆคือ 1.การปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคที่มีชีวิต (living donor) โดยมีข้อกำหนดว่า ผู้บริจาคจะต้องมีความสัมพันธ์ทางสายเลือดกับผู้รับบริจาค เช่น บิดา มารดา บุตร ลุง ป้า น้า อาหลาน เป็นต้น หรือเป็นคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือมีบุตรร่วมกัน 2.การปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคที่เสียชีวิต (deceased donor) โดยจะต้องขึ้นทะเบียนกับสภากาชาดเพื่อรอคิวรับการบริจาคไต ซึ่งถ้าเปรียบเทียบการปลูกถ่ายไตทั้งสองวิธีนี้พบว่า การปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคที่มีชีวิตจะมีอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยและอัตราการอยู่รอดของไตที่ปลูกถ่ายดีกว่าการปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคที่เสียชีวิต นอกจากนี้หากผู้ป่วยมีญาติหรือภรรยาที่ประสงค์จะเป็นผู้บริจาคไตตามเกณฑ์เบื้องต้น ผู้ป่วยสามารถทำการปลูกถ่ายไตได้ก่อนที่จะเริ่มรับการรักษาด้วยวิธีการฟอกไตด้วย
ในประเทศไทยมีหลายโรงพยาบาลที่สามารถทำการผ่าตัดปลูกถ่ายไตได้ และครอบคลุมทุกสิทธิการรักษา ทั้งสิทธิข้าราชการสิทธิประกันสังคม และสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยจะมีรายละเอียดข้อกำหนดการเบิกจ่ายที่แตกต่างกันไปตามแต่ละสิทธิ แต่โดยรวมแล้วทุกสิทธิครอบคลุมค่าใช้จ่ายตั้งแต่ก่อนการปลูกถ่ายไต ช่วงระหว่างนอนโรงพยาบาล รวมถึงค่าใช้จ่ายจากยากดภูมิคุ้มกันหลังการผ่าตัดปลูกถ่ายไต หากโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยรักษาอยู่ไม่สามารถทำการผ่าตัดปลูกถ่ายไตได้สามารถแจ้งความประสงค์และทำเอกสารส่งตัวเพื่อขอเข้าคิวปลูกถ่ายไตในโรงพยาบาลที่สามารถผ่าตัดปลูกถ่ายไตได้เช่นกัน
สำหรับอายุของไตที่ปลูกถ่ายนั้นจากข้อมูลของประเทศไทยในปัจจุบันพบว่า อัตราการรอดของไตที่ 1 ปี และ 10 ปี อยู่ที่ร้อยละ 95 และ 75 ตามลำดับ ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างดีมาก แต่อย่างไรก็ตามไตที่ได้รับการปลูกถ่ายจะอยู่ได้นานหรือไม่ก็ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง อาทิ ความเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อไตของผู้บริจาคและผู้รับบริจาค การติดเชื้อแทรกซ้อนหลังจากการปลูกถ่ายไตการรับประทานยากดภูมิคุ้มกันเวลา เป็นต้น
การปลูกถ่ายไตในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ผู้ป่วยทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าถึงการรักษานี้ได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับคนปกติมากที่สุด
แพทย์หญิงรุ่งทิวา กิจเพิ่มเกียรติ
สาขาอายุรศาสตร์เฉพาะทางโรคไต คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี