อาการมือสั่นเป็นอาการที่พบได้บ่อยในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ แม้ว่าส่วนใหญ่จะมีอาการเพียงเล็กน้อยแต่อาการมือสั่นมักสร้างความรำคาญ และไม่มั่นใจให้กับผู้ที่มีอาการรวมถึงผู้ที่ได้พบเห็น อาการมือสั่นมักไม่เป็นอันตรายถึงชีวิตแต่ในบางครั้งอาจมีความรุนแรงมากจนเป็นอุปสรรคต่อการหยิบจับสิ่งของ ช้อนส้อม แก้วน้ำหรือมีอาการร่วมอื่นๆ ซึ่งส่งผลให้มีความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน การรับประทานอาหาร แต่งตัว เขียนหนังสือ เซ็นชื่อ และขับรถ การรักษาอาการมือสั่นขึ้นกับสาเหตุและความรุนแรง หากอาการมือสั่นมีอาการมากและรบกวนต่อการทำกิจวัตรประจำวัน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยถึงสาเหตุและการรักษาที่เหมาะสมในที่นี้จะกล่าวถึงกลุ่มอาการสั่นที่พบได้บ่อย 3 ชนิดและคำแนะนำในการรักษาเบื้องต้น
อาการสั่นทางสรีรวิทยา (Physiologic tremor)
เป็นอาการสั่นที่เกิดขึ้นในส่วนต่างๆ ของร่างกายในภาวะปกติแต่ไม่สามารถสังเกตเห็นหรือรู้สึกได้ อาการสั่นชนิดนี้จะชัดเจนขึ้นหากได้รับการกระตุ้น เช่น ความวิตกกังวล ความตื่นเต้น ความเครียด อาการเหนื่อยล้า หิวจัด การใช้ยาหรือสารเคมีบางชนิด การดื่มกาแฟ ภาวะอดนอน ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ เป็นต้น อาการสั่นชนิดนี้มักเกิดขึ้นที่มือทั้ง 2 ข้าง พร้อมๆ กัน สังเกตได้ชัดในขณะหยิบจับหรือถือสิ่งของ โดยเฉพาะสิ่งของที่มีน้ำหนักเบา เช่น แผ่นกระดาษ ปากกา เข็มเย็บผ้าเป็นต้น ในบางครั้งอาจรู้สึกใจสั่นร่วมด้วย อาการสั่นชนิดนี้เกิดได้ในทุกช่วงวัย และหายได้เองเมื่อการกระตุ้นที่ส่งผลนั้นหมดไป หรือได้รับการแก้ไขที่ต้นเหตุ เช่น การหยุดยาหรือสารเคมีที่กระตุ้นให้เกิดอาการสั่น เป็นต้น
อาการสั่นแบบไม่ทราบสาเหตุ (Essentialtremor)
เป็นการสั่นผิดปกติที่พบได้บ่อยที่สุด พบได้บ่อยใน 2 กลุ่มช่วงอายุ ได้แก่ วัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ตอนต้น และผู้สูงอายุ ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยอาจมีประวัติอาการสั่นลักษณะเดียวกันในครอบครัวอาการสั่นชนิดนี้มักพบที่มือทั้ง 2 ข้างพร้อมๆ กันสังเกตได้ชัดเมื่อใช้มือหยิบจับหรือยกสิ่งของขึ้น ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการสั่นที่ศีรษะ และเสียงสั่นร่วมด้วยได้ อาการสั่นดังกล่าวเกิดขึ้นได้เองแม้ไม่มีปัจจัยกระตุ้น และยิ่งชัดเจนมากขึ้นเมื่อมีปัจจัยกระตุ้นทางอารมณ์เช่นเดียวกับอาการสั่นทางสรีรวิทยา อาการสั่นมักลดลงเมื่อดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณเล็กน้อยนอกจากอาการสั่นดังข้างต้น ผู้ป่วยสูงอายุบางรายอาจรู้สึกทรงตัวลำบาก เดินเซ ความจำบกพร่อง ซึ่งอาการดังกล่าวมักตรวจไม่พบสาเหตุและความผิดปกติที่ชัดเจน แม้ว่าอาการสั่นชนิดนี้จะมีการดำเนินโรคช้าและไม่รุนแรง แต่มักทำให้เกิดความไม่มั่นใจโดยเฉพาะเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ การรักษาอาการสั่นชนิดนี้สามารถทำได้โดยการรับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการสั่นเป็นหลักในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยการรับประทานยา หรือมีอาการสั่นมากอาจพิจารณาการรักษาโดยการผ่าตัด กระตุ้นสมองส่วนลึก หรือการผ่าตัดสมองโดยใช้คลื่นความร้อนสูงตามความเหมาะสม
อาการสั่นในโรคพาร์กินสัน (Parkinson’sdisease)
อาการมือสั่นในผู้ป่วยพาร์กินสัน เป็นการมือสั่นที่เกิดขึ้นในขณะพักการใช้งาน เช่น มือสั่นในขณะที่นั่งดูโทรทัศน์ มือสั่นในขณะนั่งสมาธิ หรือมือสั่นที่สังเกตได้ในขณะเดิน อาการสั่นมักลดลงหรือหายไปเมื่อใช้งานของมือข้างนั้นขยับหรือหยิบจับสิ่งของ อาการสั่นในโรคพาร์กินสันมักพบในผู้สูงอายุ โดยมักมีอาการมือสั่นที่เริ่มต้นหรือสังเกตได้จากมือข้างใดข้างหนึ่งก่อนแล้วจึงาจกระจายไปด้านตรงข้าม อย่างไรก็ตาม อาการสั่นยังคงมีลักษณะที่ไม่เท่ากัน นอกจากอาการมือสั่นยังอาจพบอาการสั่นที่บริเวณอื่น ได้ เช่น ขา ริมฝีปาก คาง ลิ้น ร่วมกับความผิดปกติอื่นๆ ได้แก่ อาการเคลื่อนไหวช้า กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง ทรงตัวและเดินลำบาก นอกจากอาการในข้างต้นผู้ป่วยยังมักมีร่วมอื่นๆ เช่น ท้องผูก ปัสสาวะลำบาก ซึมเศร้า วิตกกังวล นอนละเมอ หลงลืม ประสาทหลอน รับกลิ่นได้น้อยลง ซึ่งบางอาการอาจนำมาก่อนที่ผู้ป่วยจะมีอาการสั่น ในปัจจุบันการรักษาโรคพาร์กินสันมีความหลากหลาย แต่การรักษาหลักยังคงเป็นการรักษาด้วยวิธีการรับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการของโรค เนื่องจากโรคพาร์กินสันเป็นโรคเรื้อรัง มีการดำเนินโรคในระยะยาว มีความหลากหลายทั้งชนิดและวิธีการรักษา ผู้ป่วยจึงควรเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ตาราง เปรียบเทียบอาการสั่นแบบไม่ทราบสาเหตุ และโรคพาร์กินสัน
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ประวีณ โล่ห์เลขา
หน่วยประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย