ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM2.5 ภาวะโลกร้อน หรือ ภาวะเรือนกระจก (Greenhouse Effect) นับเป็นปัญหามลภาวะที่นับวันจะทวีความรุนแรงไม่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นปัญหาที่ผู้คนทั่วโลกต่างเผชิญและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องร่วมมือกันแก้ไข ด้วยเหตุผลนี้เองจึงเป็นที่มาของการจัดงาน “มหกรรมคืนชีวิตให้แผ่นดิน ครั้งที่ 16 ตอน ยุทธการสร้างโลกให้เย็น” จัดโดย มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งเป็นการรวมตัวของครูและศิษย์สายกสิกรรมธรรมชาติ ที่มาร่วมโชว์เคสความสำเร็จการดำเนินงานของเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ ที่ได้น้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” นำไปใช้ พร้อมเผยแพร่ความรู้ให้กับผู้สนใจที่มาชมงาน และงานมุทิตาจิตเนื่องในโอกาสคล้ายวันเกิด อ.ยักษ์ - ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ผู้ก่อตั้งและประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ครูต้นแบบผู้น้อมนำศาสตร์พระราชามาลงมือทำจนสำเร็จเป็นตัวอย่างให้ลูกศิษย์ได้เดินตาม ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-19 มีนาคม 2566 ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จ.ชลบุรี
“มหกรรมคืนชีวิตให้แผ่นดิน ครั้งที่ 16 ตอน ยุทธการสร้างโลกให้เย็น” ไม่เพียงเป็นงานโชว์เคสความสำเร็จของเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติที่จบหลักสูตรจากศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้องเท่านั้น ภายในงานยังมีการออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของเครือข่ายที่มาจากทุกภูมิภาคของประเทศไทย กว่า 100 บูธ การเสวนาจากบรรดาครูกสิกรรมธรรมชาติระดับแนวหน้า และเวิร์คช้อปต่างๆ มากมายที่จะช่วยสร้างโลกให้เย็น โดยการเสวนาที่ถือว่าเป็นไฮไลท์ของงานได้แก่ หัวข้อ “ยุทธการสร้างโลกให้เย็น” ซึ่งเชิญครู ผู้เชี่ยวชาญ และปราชญ์ชาวบ้านมานำเสนอยุทธวิธีดับร้อน อาทิ อ. ยักษ์ - ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ผู้ก่อตั้งและประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ นายกสมาคมดินโลก อ.เดชา ศิริภัทร ครูชาวนา ผู้ทำเรื่องกัญชารักษาโรค มูลนิธิข้าวขวัญ อ.โจน จันได ผู้ก่อตั้งศูนย์พันพรรณ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต และ ทองดำ โนนทิง เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติสกลนคร ผู้ปลดนี้และสร้างโลกให้เย็นด้วยการปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์สี่อย่าง
ในการเสวนา อ.เดชา ศิริภัทร และ อ.โจน จันได มีข้อคิดเห็นที่ตรงกันว่า การที่โลกร้อนนั้น เกิดจากภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการผลิตสินค้าและบริการให้ได้ผลผลิตจำนวนมากอย่างรวดเร็ว เพื่อตอบสนองการบริโภคที่มากเกินความจำเป็นของมนุษย์ และมนุษย์เองก็มีวิถีชีวิตที่ตัดตนเองจากธรรมชาติ จนไม่รับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลง ซึ่งปัญหานี้จะหวังพึ่งภาครัฐให้มาแก้ไขปัญหาแต่เพียงฝ่ายเดียวคงไม่ได้ ทางแก้ไขที่จะทำให้โลกร้อนน้อยลงหรือเย็นมากขึ้นจะต้องเริ่มที่ตัวเรา รู้จักที่จะรอและใจเย็น ที่สำคัญคือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคที่มากเกินความจำเป็น รู้จักที่จะบริโภคอาหารที่หาได้ในท้องถิ่น กินอาหารที่หลากหลาย กินอย่างรู้ที่มา กินอย่างพอเพียง ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ในขณะเดียวกันก็ต้องช่วยกันฟื้นฟูธรรมชาติอย่างเร่งด่วน เพราะทุกสรรพสิ่งในโลกสัมพันธ์กันทำอะไรก็มีผลกระทบทั้งหมด ถ้าเราไม่เปลี่ยนวิถีชีวิตเราเองให้เย็นก่อน โลกก็จะไม่มีทางเย็นได้เช่นกัน
ด้าน รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ ได้เผยถึง Red code หรือสัญญาณเตือนภัยพิบัติที่ธรรมชาติกำลังส่งมายังพวกเรา ได้แก่ 1.คลื่นความร้อน ซึ่งการจะเป็นคลื่นความร้อนหมายถึงอุณหภูมิสูงขึ้น 3 วันติดกัน แม้ช่วงสองปีที่ผ่านมาแม้ประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นคลื่นความร้อน แต่ก็จัดอยู่ในความเสี่ยงและได้รับผลกระทบจากคลื่นความร้อน 2. ภัยแล้ง เกิดจากคลื่นความร้อนทำให้ต้นทุนน้ำหายไป หมายถึง อุณหภูมิที่สูงขึ้นทุกๆ 1 องศา น้ำต้นทุนในเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำต่างๆ จะหายไป 7-10% ส่งผลให้เจอภัยแล้ง 3. ฝนตกหนัก น้ำที่หายไปไม่ได้หายไปในแต่กลายเป็นไอที่อยู่ในชั้นบรรยากาศเมื่อเจอความกดอากาศก็กลายเป็นฝนทำให้ฝนตกหนัก 4. อุทกภัย ถ้าฝนตกหนักในพื้นที่ต่ำ พื้นที่เปราะบางเช่น กรุงเทพฯ และปริมณฑล อยุธยา ภาคอิสาน เช่น อุบลราชธานี ก็จะประสบปัญหาน้ำท่วมหนัก และ Red code ที่ 5 ซึ่งร้ายแรงที่สุดของมนุษยชาติ คือ ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น จะมีหลายๆ พื้นที่จมหายไป อย่างที่เราได้ยินกันคือในอีก 30-50 ปีข้างหน้ากรุงเทพฯ จะจมทะเล โดยมีข้อมูลยืนยันมาแล้วว่าในอีก 7 ปีข้างหน้า ชายฝั่งทั่วโลกจะหายไปประมาณ 6 กม. ถ้าเรายังไม่ตระหนักหรือมีการบริหารความเสี่ยงที่ดี ก็จะกลายเป็นหายนะสำหรับมวลมนุษยชาติ ถ้ารอจนถึงตอนนั้นเราก็ทำอะไรไม่ทันแล้ว
ปิดท้ายด้วยยุทธวิธีสร้างโลกให้เย็นจาก อ.ยักษ์ - ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร บอกว่า ยุทธการ 5 ป. คือหนทางที่จะนำไปสู่การสร้างโลกให้เย็น อันเป็นวิธีการที่น้อมนำศาสตร์พระราชามาใช้ เริ่มจาก 1. ป-ปลุกเพาะกล้า ให้คนทั้งแผ่นดิน คนทั้งโลกตื่นขึ้นมาร่วมกันเพาะกล้าไม้คนละ 300 ต้นต่อปี แค่คนไทย 10 ล้านคน ก็ได้ 300 ล้านต้นต่อปแล้ว ที่ 2. ป-ปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง เพาะแล้วเอามาปลูกให้ได้ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ตามศาสตร์พระราชา กินได้ ใช้ได้ ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ 3. ป – สร้างงาน สานประโยชน์ การเพาะกล้าและการปลูกช่วยสร้างงานให้คนได้มหาศาล เป็นการสร้างงานให้ประชาชนเพาะแล้วเอาไปปลูกในบ้านตัวเอง ในวัด ในโรงเรียน แล้วเอาประโยชน์มาแบ่งปันกัน 4. ป- หยุดโทษ ปลดขยะ ปัญหาโลกร้อนส่วนหนึ่งมาจากขยะ ขยะก็เกิดจากเรา จึงต้องเริ่มที่ตัวเราในการลดขยะ และเรียนรู้การจัดการขยะที่ถูกต้อง เปลี่ยนขยะสร้างปัญหาเป็นขยะทองคำ ป.สุดท้ายคือ ป-สร้างสัปปายะสถาน ประกอบด้วย ที่พักอาศัยที่เหมาะสม ผู้มีเมตตากรุณาต่อกัน มีความจริงใจ กินอาหารที่พอเหมาะ มีอาหารเพียงพอ และ การอยู่ในศีลในธรรม ประพฤติดี ประพฤติชอบ หากเราทุกคนเปลี่ยนได้ดังนี้ไม่ว่าโลกจะร้อนแค่ไหน เราก็จะสามารถหยุดมันได้ และทำให้โลกกลับมาเย็นอีกครั้ง
ทั้งนี้ อ.ยักษ์ ยังได้ย้ำอีกว่า งานขับเคลื่อนศาสตร์พระราชาสู่ความยั่งยืน หรือสร้างสังคมให้มีความพอเพียงเป็นสิ่งจำเป็นมากที่จะต้องมีข้อมูลที่ชัดเจน เพื่อนำข้อมูลมาประกอบในการวางแผนสร้างพลังสามัคคีขึ้นในหมู่คนทั้งโลกให้บรรลุถึงความพอเพียง ในการขับเคลื่อนศาสตร์พระราชาและการปลูกป่า 3 อย่างให้เกิดประโยชน์ 4 อย่าง ได้มีการจัดทำแพลทฟอร์มชื่อว่า ‘๙ Unity’ ที่ได้รวบรวมข้อมูลว่ามีใคร ที่ไหนที่ได้เพาะกล้า ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ไปแล้วเท่าไหร่ เพื่อนำข้อมูลนี้ไปวิเคราะห์ สังเคราะห์แล้วนำกลับไปเป็นประโยชน์ต่อทุกๆ คน โดยหวังว่า ‘๙ Unity’ จะเป็นพลังของพวกเราทุกคน ให้งานเดินหน้าไปได้ในขณะเดียวกันก็เป็นข้อมูลที่ทำให้เราเหลียวหลังกลับมามองได้เสมอๆ
ผู้สนใจมีส่วนร่วมในการสร้างโลกให้เย็นด้วยศาสตร์พระราชา สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จ.ชลบุรี โทร. 038-198-643 , www.mabueang.com และ facebook: มหาลัยคอกหมู(ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง)
-(016)