“เป็นผู้หญิงสวยๆ ทำไมไปเป็นยักษ์” เป็นคำถามที่ 2 พี่น้อง ตระกูลน้อยปุก ต้องตอบเพื่อนๆ ญาติๆ มาตลอด 10 กว่าปีของการเล่นโขน แป้ง-สุปรีย์วรรณ น้อยปุก พี่สาว และ ป๊อบ-ถกนวรรณ น้อยปุก ผู้เป็นน้อง ทั้งคู่เข้าสู่วงการโขน นาฏศิลป์ชั้นสูงที่เก่าแก่ของไทยตั้งแต่เด็กๆ ถึงจะเป็นหญิงบอบบาง สูงโปร่ง แต่ทั้งคู่กลับเลือกฝึกเป็นโขน “ยักษ์”
โดย ป๊อบ-ถกนวรรณ น้อยปุก น้องเล็กของตระกูล เล่าถึงความสนใจที่มาเรียนโขนเป็นตัวยักษ์ ว่า “จุดเริ่มต้นของโขนคือ เริ่มเรียนละคร เรียนรำมาตั้งแต่อายุ 7-8 ขวบ เวลาซ้อมก็จะซ้อมพร้อมกันกับเพื่อนที่เรียนโขนด้วย เด็กผู้ชายเขาก็จะเล่นโขน ซ้อมกันอย่างสนุกสนาน ในใจเรารู้สึกอย่างเล่นบ้าง หนูชอบบุคลิกของยักษ์ที่ชัดเจน เป็นยักษ์แล้วสง่างาม ดุดัน ออกท่าทางท้าทายสนุกกว่าที่หนูซ้อมรำ พอตอนอายุ 17 มีรุ่นพี่แนะนำว่าถ้าอยากเรียนโขนก็ลองมาเรียนที่สถาบันคึกฤทธิ์ดูซิ ก็เลยมาลองสมัคร ครั้งแรกเลย ครูถามว่าอยากเป็นอะไร ก็มี พระ นาง ลิง ยักษ์ หนูก็บอกครูอยากเป็น ยักษ์ค่ะ ครูก็มองลอดแว่นแล้วก็บอกว่า ไป ไปเป็น....ยักษ์ หนูเลยเป็นโขนยักษ์ผู้หญิงคนแรกๆ ของสถาบันค่ะ”
ส่วน แป้ง-สุปรีย์วรรณ น้อยปุก ผู้เป็นพี่เล่าถึงการเข้ามาเล่นโขนของเธอว่า “ตัวแป้งเริ่มเล่นโขนจริงจังตอนอายุ 19 ปีค่ะ ตอนแรกแป้งเห็นน้องสาวเล่นกลับบ้านก็ฝึกโขนไม่ยอมทำอย่างอื่น เฮ้ยเราก็ดูว่าเท่ดี ก็เลยอยากลองมาเรียนดูบ้างค่ะ ปรากฏว่าเรียนแล้วชอบมาก ก็เลยมุ่งมาเป็นตัวยักษ์ เพราะด้วยสรีระแป้งเองเป็นคนสูงด้วยคงเป็นลิงไม่ได้ เริ่มต้นเรียนช่วงแรกๆ ก็มีแว่บๆ ไปเห็นตัวนางเขารำสวย ก็อยากกลับไปเล่นเป็นตัวนางเหมือนกันแต่พอเรียนไปเรื่อยๆ ท่ามันก็เปลี่ยนแล้วค่ะ จะกลับไปเป็นนางก็ดูไม่สวย แล้วเป็นยักษ์ก็สนุกกว่าเลยเล่นเป็นยักษ์มาตลอด มีคนถามเยอะเหมือนกันค่ะว่าทำไมเป็นผู้หญิงถึงมาเล่นเป็นยักษ์ แป้งคิดว่าในบรรดาตัวละคร โขนยักษ์มีความเท่ มีเสน่ห์ความสวยหลากหลายกว่าตัวละครอื่นๆ มาก เพียงความแข็งแรงของยักษ์ดูเหมาะกับผู้ชายมากกว่า แต่ผู้หญิงก็ทำได้ไม่แพ้ผู้ชาย ถึงแม้ว่าสรีระร่างกายของเราอาจจะสู้ผู้ชายไม่ได้ แต่เคล็ดลับคือเราต้องฝึกให้หนักกว่าผู้ชาย ยิ่งส่วนตัวแป้งชอบยักษ์อินทรชิตค่ะ เขาเป็นยักษ์วัยรุ่นเกเร มีพละกำลังเยอะท่าทางของเขาก็จะออกแนวดุดัน มีความคล่องแคล่วรวดเร็ว กระฉับกระเฉง แป้งต้องฝึกให้ตัวเองเคลื่อนไหวได้รวดเร็วกว่ายักษ์ตนอื่นๆ ค่ะ”
สำหรับความยากของการฝึกหัดโขนยักษ์ที่เป็นผู้หญิงคือเรื่องพละกำลังและสรีระที่แตกต่างจากโขนชาย ทั้งคู่บอกว่า “ครูจะฝึกทุกอย่างเหมือนผู้ชายเลยค่ะ แรกๆ เจ็บมาก หนูมีร้องบ้างเวลาครูดัดขาดัดแขน ด้วยความที่ต้องยืดร่างกาย กลับบ้านก็ปวดระบมทั้งตัว คือทุกอย่างมันต้องไม่เป็นปกติ มือต้องมีความอ่อนช้อย แขนต้องตึงตรงกับไหล่ ต้องเกร็งกล้ามเนื้อเริ่มแรกครูจะฝึกด้วยการเต้นเสา (เป็นการเต้นยกเท้าขึ้นลงสลับกัน ในลักษณะย่อ แบะเหลี่ยมขา) ที่ถือว่าเป็นหัวใจของการเรียนโขนเลย ต่อด้วยท่าตบเข่าถองสะเอว (นั่งพับเพียบใช้ข้อศอกขวากระทุ้งที่สะเอวด้านขวา เอียงศีรษะไปทางซ้าย สลับมากระทุ้งข้อศอกซ้ายที่สะเอวซ้าย เอียงศีรษะไปทางขวา) ถีบเหลี่ยม (การดัดส่วนขาให้ได้เหลี่ยม ได้ฉากและมั่นคง) เราก็ต้องมาใส่ความแข็งแรงด้วยการขยันซ้อมมากกว่าผู้ชาย นอกจากท่ารำ หนูก็พยายามศึกษาว่ายักษ์ควรจะเป็นอย่างไร เวลาทำการแสดงโขนครูจะสอนให้เราเข้าถึงตัวละครที่เราได้รับ โดยส่วนตัวหนูเป็นคนที่ชอบทศกัณฐ์ เป็นยักษ์สง่างาม ดุดัน แต่เวลามีความรักเขาก็จะขี้เล่น ขี้งอน ค่อนข้างมีอารมณ์หลากหลายค่ะ ความยากคือ เวลาเล่นพี่ๆ คนดูจะไม่เห็นหน้าตาหนูเพราะสวมหัวโขนอยู่ แต่ก็ต้องสื่ออารมณ์ของยักษ์ตนนี้ผ่านทางนิ้วมือ แขน ขา ออกมาให้ได้ความภูมิใจที่สุดของการเป็นโขนยักษ์คือ หนูได้มีโอกาสต่อท่าฉุยฉายทศกัณฐ์ลงสวน กับครูต้อย-จตุพร รัตนวราหะ ศิลปินแห่งชาติ ฉากทศกัณฐ์เกี้ยวนางสีดาใช้เวลาในการต่อท่ากับครูอยู่หลายปีตอนนั้นครูต้อยยังสามารถถ่ายทอดท่ารำให้ได้ด้วยตัวเอง อันนี้คือเป็นที่สุดในชีวิตของโขนผู้หญิงแล้วค่ะ ซึ่งก็จะมีแค่ป๊อบ กับ พี่แป้ง (พี่สาว) ที่ได้ต่อท่ากับครูต้อยโดยตรงค่ะ
ในอนาคต 2 สาว “แป้ง-สุปรีย์วรรณ เผยว่า คงไม่เลิกเป็นยักษ์ไปตลอดชีวิต จะเล่นต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าร่างกายของแป้งจะไม่ไหว โขนหญิงที่เป็นยักษ์เมื่อก่อนมีน้อยคะเดี๋ยวนี้ยังดูมีตัวเยอะขึ้น เพราะเด็กรุ่นใหม่เขาให้ความสนใจโขนกันมากขึ้นค่ะ เดี๋ยวนี้เราสามารถรับชมทางสื่อโซเชียลได้แล้วไม่เหมือนสมัยก่อนที่ต้องรอรับชมจากในโรงละครอย่างเดียวเท่านั้น เป็นอีกทางเลือกที่เด็กๆ จะหาข้อมูล ศึกษา แล้วมาเรียนอย่างจริงจังได้นะคะ”
ส่วน ป๊อบ-ถกนวรรณ พูดถึงอนาคตการเล่นโขนยักษ์ของเธอว่า“พี่แป้งกับหนูโชคดีที่มีคุณพ่อคุณแม่สนับสนุนเต็มที่ แต่พอเราเริ่มโตขึ้นทางบ้านก็เริ่มเป็นห่วงเรื่องสุขภาพเพราะเราทั้งคู่ทำงานไปด้วยเล่นโขนไปด้วย แต่หนูรู้สึกว่าถ้าหนูไม่ได้เล่นโขนสุขภาพหนูอาจจะแย่กว่านี้ ถือว่าเป็นการออกกำลังกายไปในตัว ทุกๆ ครั้งที่มาเรียนที่สถาบันคึกฤทธิ์ หนูมีแต่ความสุขมากๆ ได้มาเจอเพื่อน เจอครู เราได้ทำในสิ่งที่เรารักและโขนกลายเป็นชีวิตของหนูไปแล้ว ถ้าทางสถาบันคึกฤทธิ์ยังเปิดโอกาสให้เรียนหนูก็เรียนไปเรื่อยๆ ค่ะ”
สำหรับผู้ที่สนใจจะเล่นโขนเก่ง อย่าง 2 สาว ไม่ว่าจะเป็น ยักษ์ ลิง พระ-นาง หรือขับร้อง เล่นดนตรีไทย โดยมีอายุตั้งแต่ 7-25 ปี สามารถติดตามข่าวสารการเรียน การสอนของศูนย์ศิลปะการแสดง สถาบันคึกฤทธิ์ ผ่านช่องทาง Facebook : @kukritinstitute, Tiktok : kipac.kukrit.2454@gmail.com และ IG : @kukritinstitute
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี