การอ่านหนังสือคือการช่วยเพิ่มพูนสติปัญญาให้กับมนุษย์ และมนุษย์จะรักการอ่านได้ ก็ต้องมีปัจจัยต่างๆ เช่น พ่อแม่ปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้ลูกเพื่อนๆ ในโรงเรียนสร้างบรรยากาศการรักการอ่าน และสังคมต้องมีหนังสือดีๆ ให้อ่าน
ไลฟ์ วาไรตี สัปดาห์นี้ ดร.เฉลิมชัย ยอดมาลัย ชวนคุณไปคุยกับบรรดาหนอนหนังสือรุ่นต่างๆ ที่ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสยามสแควร์
สุคนธา โอภาสเสถียร
วรกัญญา โอภาสเสถียร (เจ่เจ้) อายุ 6 ขวบ
l ตามปกติคุณแม่พาลูกไปซื้อหนังสือในร้านหนังสือบ่อยไหมครับ เฉลี่ยเดือนหนึ่งกี่ครั้งครับ แล้วใช้วิธีปลูกฝังให้ลูกรักการอ่านอย่างไรครับ
คุณสุคนธา : โดยเฉลี่ยอาทิตย์ละ 1 ครั้งค่ะ แต่บางอาทิตย์ก็ไปเกินหนึ่งครั้ง ขึ้นกับว่ามีหนังสือเล่มไหนที่อยากหามาอ่านหรือไม่ค่ะ ทุกครั้งที่ไปร้านหนังสือ หากลูกสาวไม่ได้ไปโรงเรียน ก็จะนำเขาไปเลือกหาซื้อหนังสือด้วยทุกครั้งค่ะ อยากให้เขาได้เห็นว่ามีหนังสือมากมาย เขาสนใจหนังสือแบบไหนก็จะให้เขาเลือกด้วยตัวเอง เนื่องจากเขายังเด็ก ก็จึงคิดว่าการพาเขาไปร้านหนังสือด้วย น่าจะทำให้เขาค่อยๆ ซึมซับและรักการอ่านไปเรื่อยๆ โดยสิ่งที่ทำก็คือเป็นต้นแบบให้ลูกเห็นว่าเราอ่านหนังสือทุกวัน เขาก็จะค่อยๆ ทำตามไปค่ะ
l น้องเจ่เจ้ชอบอ่านหนังสือมากไหม ชอบอ่านหนังสืออะไรครับ ชอบอ่านการ์ตูนไหมครับ
น้องเจ่เจ้ : หนูชอบดูหนังสือการ์ตูนค่ะ สนุกดี มีภาพสวยๆ แล้วคุณแม่ก็เล่าเรื่องในการ์ตูนให้หนูฟังค่ะ หนูชอบอ่านหนังสือกับคุณแม่ค่ะ
l ระหว่างหนังสือเล่มๆ กับ E-Book ชอบอ่านแบบไหนมากกว่ากันครับ
คุณสุคนธา : ถ้าอยู่บ้านก็อ่านหนังสือเล่มๆ ค่ะแต่หากเดินทางไปต่างจังหวัดหรือต่างประเทศก็ใช้ E-Book ค่ะ เพราะสะดวก ไม่ต้องแบกหนังสือไป คืออ่านได้ทั้งสองชนิดค่ะ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ค่ะ ไม่ได้ปฏิเสธ E-Book แต่ก็จะบอกลูกตลอดเวลาว่า หนูยังเด็กหนูยังไม่ควรใช้ Social Media มากเกินไป แต่ควรอ่านจากหนังสือเล่มๆ ก่อน
l ปกติหนูอ่านหนังสือช่วงเวลาไหนครับ เช้าหรือเย็นครับ อ่านนานแค่ไหนครับ
น้องเจ่เจ้ : บางวันก็อ่านช่วงกลางคืน แต่วันไหนไม่ต้องไปโรงเรียน หนูก็อ่านตอนเช้าค่ะ อ่านไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหิวข้าว หรือง่วงนอน ก็เลิกอ่านค่ะ
l หนูชอบเรียนวิชาอะไรมากที่สุดครับ
น้องเจ่เจ้ : หนูชอบวิชาคณิตศาสตร์ค่ะ สนุกดี คิดเลขแล้วสนุกค่ะ
l การที่น้องชอบอ่านหนังสือ แสดงว่าที่บ้านต้องเป็นครอบครัวรักการอ่าน ใช่ไหมครับ
คุณสุคนธา : ก็ชอบอ่านหนังสือนะคะ สามีก็อ่านหนังสือด้วยเหมือนกันค่ะ เราทุกคนในบ้านจะมีหนังสือที่แต่ละคนชอบ ถึงเวลาก็แยกย้ายไปอ่านหนังสือ ลูกๆ เห็นเราอ่านหนังสือก็เลยซึมซับค่ะ คิดว่าเป็นแบบนั้นนะคะ
l เวลาอ่านหนังสือกับลูก ตอนที่ลูกยังเล็ก สอนอะไรเขาบ้างครับ
คุณสุคนธา : สมัยที่ลูกยังอ่านหนังสือไม่เป็น เราก็จะให้เขาดูรูป แล้วเล่าเรื่องให้เขาฟัง แล้วก็สอนเรื่องต่างๆ นานา ให้เขาไปพร้อมๆ กัน ชวนลูกคุยไปด้วย บางทีก็ตั้งคำถามง่ายๆ ให้ลูกตอบ เมื่อเขาอ่านหนังสือเป็นแล้วเราก็บอกให้ลูกอ่านให้เราฟังบ้าง หรือให้เขาอ่านจบแล้วมาเล่าให้ฟังว่าเขาอ่านแล้วชอบไหม ชอบตรงไหนมากที่สุด เวลาเราอ่านหนังสือกับลูก เป็นเวลาที่เราได้ใกล้ชิดกันมาก ได้คุยกันด้วย และได้บอกได้สอนกันด้วย
l เวลาพาลูกไปร้านหนังสือ มีข้อกำหนดไหมครับ เช่น ห้ามซื้อหนังสืออะไร
คุณสุคนธา : ปล่อยให้ลูกเลือกได้ตามความชอบค่ะแต่ก็มีบางครั้งที่ลูกหยิบหนังสือบางเล่มมาให้ดู ก่อน เราก็ถามเขาว่าทำไมชอบเรื่องนี้ ชอบเพราะอะไร แต่ไม่เคยปฏิเสธหนังสือที่ลูกเลือกเลยค่ะ ซื้อให้ตามที่เขาอยากได้ แต่มักจะถามเขาก่อนว่าเลือกเพราะอะไร
l ตอนที่ลูกอ่านหนังสือให้เราฟัง เราต้องสอนหรือบอกอะไรเขาไหมครับ
คุณสุคนธา : ก็ดูเขาออกเสียงว่าออกเสียงถูกต้องไหม และดูว่าเขาอ่านออกไหม แรกๆ เราก็จะให้ลูกอ่านดังๆ เพื่อฝึกการอ่าน และการสะกดคำ เมื่อเขาอ่านเป็นและเก่งมากขึ้น เราก็ให้เขาอ่านจบบท แล้วมาคุยกัน แล้วก็สรุปให้เขาฟังว่าเรื่องนี้มีความสำคัญอย่างไร มีข้อคิดอย่างไร อะไรควรเอาเป็นตัวอย่าง หรืออะไรที่ไม่ควรทำตาม เพราะเป็นอันตราย
l ในขณะที่น้องกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เราแนะนำหนังสืออะไรเป็นพิเศษไหมครับ โดยเฉพาะหนังสือที่ช่วยเรื่องการเรียนในโรงเรียนให้เรียนได้ดีขึ้น
คุณสุคนธา : ตอนนี้ก็เน้นหนังสือการ์ตูนที่สอดแทรกความรู้ เช่น นักวิทยาศาสตร์น้อย นักคณิตศาสตร์น้อย นักประดิษฐ์น้อย โดยเน้นเรื่องที่นำเสนอผ่านการ์ตูน แต่เป็นการเล่าเรื่องการทดลองวิทยาศาสตร์ผ่านภาพการ์ตูน เพราะเด็กดูแล้วไม่เบื่อ แต่สนุกกับการเล่าเรื่องผ่านตัวการ์ตูน เช่น การ์ตูนเรื่องกาลิเลโอ และเซอร์ไอแซคนิวตัน เป็นต้น แต่ล่าสุดพยายามแนะนำเรื่องภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ไปด้วย ค่อยๆ บอกเขาไปเรื่อยๆ เพื่อให้เขาสนใจ หนังสือสำหรับเด็กนั้น เราจะเน้นการมีรูปภาพสวยๆ และมีเรื่องราวที่อ่านเข้าใจง่าย เหมาะกับวัยของเขาเมื่อเขารักการอ่านแล้ว เขาจะอ่านไปเรื่อยๆ ค่ะ
นางสาวอคิณภ์ภิชษา ไตรโลกา (ปิ๊ง)
นางสาวไรวินทร์ อังกุรสวัสดิ์ (โกญ่า)
l ในฐานะคนรุ่นใหม่ คิดเห็นอย่างไรกับคำว่า หนังสือเล่มๆ หนังสือกระดาษมันตายไปแล้ว เพราะยุคนี้คือยุค E-Book
น้องปิ๊ง : หนูคิดว่าไม่จริงค่ะ เพราะทั้งสองชนิดมันก็สำคัญไม่น้อยกว่ากันค่ะ สำหรับหนู หนูยังอ่านหนังสือเล่มๆ ทุกวัน แต่เวลาอยู่ในบางสถานที่ ก็อ่าน E-Book บ้างแต่หากเลือกได้หนูเลือกหนังสือเล่ม เพราะอ่านง่ายกว่า แล้วที่สำคัญคือเวลาอ่านแล้วได้ feeling กว่า เพราะได้สัมผัสเนื้อกระดาษ ได้กลิ่นหมึกด้วย หนูว่ามันคลาสสิกมากค่ะ ชอบค่ะ
l คำถามเดียวกันครับ น้องโกญ่าคิดว่าอย่างไร
น้องโกญ่า : หนูชอบอ่านหนังสือกระดาษมากกว่าการอ่านจากไอแพดค่ะ เพราะว่าอ่านจากกระดาษแล้วไม่ปวดตา อ่านง่าย take note บนกระดาษก็ได้ หนูชอบอ่านหนังสือเล่มๆ ที่เป็นกระดาษค่ะ
l ปกติอ่านหนังสือต่างๆ นานา เฉลี่ยวันละกี่ชั่วโมงครับ
น้องปิ๊ง : ประมาณวันละ 3 ชั่วโมงค่ะ แบ่งเป็นช่วงๆ แล้วแต่ว่าอ่านวิชาอะไร แล้วก็ต้องดูด้วยว่าอ่านช่วงไหนแล้วเข้าสมองมากที่สุด แต่หนูไม่อ่านติดต่อกันนานๆ เพราะสมองล้า แล้วเพลีย ก็จึงอ่านไปเรื่อยๆ เมื่อเริ่มเพลีย ก็จะหยุดอ่านแล้วไปทำอย่างอื่นค่ะ แต่วันหนึ่งต้องอ่านให้ได้ 3 ชั่วโมงค่ะ
น้องโกญ่า : หนูจะพยายามเฉลี่ยทั้งการติว ทั้งการอ่านรวมๆ กันวันละอย่างน้อยประมาณ 2-3 ชั่วโมงค่ะแต่ถ้าช่วงสอบก็อ่านมากกว่าสามชั่วโมงค่ะ เพราะต้องอ่านมากขึ้น เพื่อให้ทำข้อสอบได้ชัวร์ๆ ค่ะ แต่หนูจะไม่บังคับตัวเองมากนัก เพียงบอกตัวเองว่า ต้องอ่านหนังสือทุกวันเท่านั้น วันไหนเที่ยวมากหน่อย ก็อ่านน้อยลงแล้วไปอ่านชดเชยในวันข้างหน้า
l น้องสองคนอยู่ในกลุ่มคนรักการอ่านไหม ประเมินตัวเองอย่างไรครับ คิดว่าการรักการอ่านเกิดมาจากอะไรครับ
น้องปิ๊ง : (ยิ้ม) ไม่กล้าตอบว่าเป็นคนรักการอ่านแต่หนูอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็กๆ เห็นคุณแม่อ่าน ก็อ่านกับคุณแม่ พออ่านหนังสือเป็น ก็อ่านให้แม่ฟังบ้าง เพราะตอนเด็กๆ คุณแม่อ่านให้ฟังตลอด (หัวเราะ) อาจจะมีคุณแม่เป็นต้นแบบการอ่านนะคะ แม่เคยบอกว่า ตอนหนูเล็กๆ เคยอ่านหนังสือเล่มโน่นนี่นั่นให้ฟังตลอด ก็เลยอาจจะชอบอ่านตั้งแต่นั้นมาค่ะ
น้องโกญ่า : ส่วนตัวหนู หนูคงไม่ใช่คนชอบอ่านหนังสือมากนัก แต่หนูมีเป้าหมายว่าในแต่ละวันต้องอ่านอะไรบ้าง อ่านกี่ชั่วโมง ต้องพยายามอ่านเพื่อให้เรียนหนังสือให้รู้เรื่องมากขึ้น แต่เมื่ออ่านไปเรื่อยๆ ก็ชอบนะคะ แล้วก็อ่านไปเรื่อยๆ ไม่รู้สึกว่ากดดัน ก็เลยไม่แน่ใจว่ารักการอ่านไหม แต่อ่านหนังสือที่ชอบแล้วสนุกสนานค่ะ อ่านได้เรื่อยๆ ไม่เบื่อ เช่น วิชาชีววิทยา ชอบอ่านมากที่สุดค่ะ อ่านแล้วเหมือนอ่านนิยายสนุกๆ อ่านแล้วไม่เบื่อด้วย
l น้องๆ เล่นเกมคอมพิวเตอร์ผ่านจอโทรศัพท์มือถือบ้างไหมครับ แบ่งเวลาทำกิจกรรมต่างๆ ในแต่ละวันอย่างไร ให้ลงตัวครับ
น้องปิ๊ง : ก็เล่นเกมบ้าง แต่ไม่มาก ไม่ติดเกมค่ะ แต่หนูรู้สึกว่าหนูยังจัดการแบ่งเวลาสำหรับการอ่านไม่ดีพอ บางวันก็ทำอย่างอื่นมากกว่าอ่านหนังสือ (หัวเราะ) ตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้มากกว่าเดิม แล้วก็แบ่งเวลาไปทำอย่างอื่นด้วย เช่น ทำงานบ้านบ้าง ออกกำลังกายบ้าง เล่นเกมคอมพิวเตอร์บ้าง แต่สารภาพว่าตอนนี้ยังแบ่งเวลาไม่ดีพอค่ะ
น้องโกญ่า : หนูไม่ได้ปฏิเสธการเล่มเกมคอมพิวเตอร์ค่ะแต่เพียงบอกตัวเองว่า เล่นได้ แต่ไม่เล่นนานเกินไป แล้วเอาเวลาไปอ่านหนังสือเรียน ไปติว ไปทำกิจกรรมอื่นบ้าง เช่น บอกตัวเองว่าวันนี้ต้องอ่านหนังสือให้จบสี่บท ก็ต้องทำให้ได้ค่ะ แล้วที่่เหลือก็ทำอะไรที่เราอยากทำได้ค่ะ ตั้งเป้าไว้ที่อ่านให้ได้สี่บท แล้วก็จบค่ะ
l วางแผนว่าอนาคตอยากเรียนคณะอะไรครับ
น้องโกญ่า : อยากเรียนแพทย์ค่ะ คิดว่าเป็นอาชีพที่มีเกียรติมาก สามารถช่วยรักษาคนเจ็บไข้ได้ป่วยได้ ประกอบกับได้ดูภาพยนตร์ซีรี่ส์หลายเรื่อง พูดถึงอาชีพแพทย์ไว้น่าสนใจมากค่ะ ก็เลยสนใจคณะแพทยศาสตร์
น้องปิ๊ง : สนใจคณะแพทยศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ค่ะ
l มีผู้วิจารณ์คนไทยว่าอ่านหนังสือน้อย อ่านปีละ 6-8 บรรทัด เชื่อไหมครับ
น้องปิ๊ง : ไม่เชื่อค่ะ แต่ก็เห็นว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยนิยมอ่านหนังสือ แต่มั่นใจว่าอ่านเกินปีละ 8 บรรทัดแน่นอนค่ะ หนูว่าแล้วแต่อาชีพนะคะ แต่ก็เห็นว่าคนไทยอ่านหนังสือไม่น้อย เพราะหลายคนก็อ่านจากอินเตอร์เนต แต่ถ้าเป็นนักเรียน นิสิตนักศึกษา ก็ต้องอ่านหนังสือค่ะ ไม่อย่างนั้นจะเรียนจบได้อย่างไร หนูว่าคนในวัยเรียนยังต้องอ่านหนังสือค่ะ แล้วหนูก็เห็นว่าผู้ใหญ่ในบ้านเราก็ยังอ่านหนังสือนะคะ
น้องโกญ่า : หนูมองว่าเดี๋ยวนี้มีสื่ออิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น อาจทำให้คนสมาธิสั้นลง นี่น่าจะเป็นปัญหาอย่างหนึ่งของสังคมยุคใหม่ แต่ก็ไม่เชื่อว่าคนไทยอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัดเท่านั้น แต่ก็สังเกตเห็นว่าคนไทยไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือ ก็ต้องมาช่วยกันรณรงค์ให้รักการอ่านมากขึ้น
l การอ่านหนังสือเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้คนพัฒนาได้เร็วที่สุดในบรรดากระบวนการต่างๆ หนูมีวิธีการกระตุ้นให้คนอยากอ่านหนังสืออย่างไรบ้างครับ
น้องโกญ่า : อันดับแรกคือลองอ่านก่อนนะคะ หาหนังสือที่อยากอ่านมาสักเล่มแล้วอ่านไปก่อน อย่ามองว่าการอ่านหนังสือมันน่าเบื่อ ลองอ่านก่อนนะคะ รับรองว่าต้องมีหนังสือสักเล่มที่คุณอ่านแล้วจะชอบ หามันให้เจอนะคะ แล้วจะรักการอ่านในที่สุด หนูรู้ว่าหนังสือไม่ได้น่าอ่านไปเสียทุกเล่มสำหรับคนบางคน เพราะฉะนั้น อย่าไปอ่านหนังสือที่เราไม่สนใจ หาเล่มที่เราสนใจให้พบก่อนนะคะ แล้วจะอ่านจนจบ แล้วหาเล่มอื่นๆ มาอ่านไปเรื่อยๆ
น้องปิ๊ง : หนูก็มองเหมือนกัน หนูรู้สึกว่ามันเริ่มจากสิ่งที่เราสนใจก่อน หรือว่าสิ่งที่เราอยากก่อน เมื่ออ่านเล่มที่เราสนใจ แล้วเราจะอ่านไปเรื่อยๆ ค่ะ ลองเปิดใจอ่านดูสักครั้ง แล้วเราอาจจะชอบก็ได้ หนูรู้สึกว่าถ้าเราได้เริ่มลองก้าวเข้าไปก่อน แล้วมันจะพัฒนาไปเรื่อยๆ ค่ะ
l จะฝากอะไรถึงคนทุกๆ กลุ่มในสังคมไทยถึงการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านครับ
น้องปิ๊ง : ข้อแรกคือ อย่ามองว่าหนังสือกระดาษล้าสมัย ตกยุค เพราะหนังสือยังมีความสำคัญกับเราทุกคน แม้เราจะมีโลกอินเตอร์เนต มี E-Book แต่เราก็ต้องไม่ทิ้งหนังสือเล่มๆ การอ่านหนังสือเล่มช่วยเพิ่มสมาธิให้ตัวเองได้ดี หนังสือเล่มไม่น่าเบื่อเลย ลองอ่านแล้วจะรู้ว่าสนุกมาก
น้องโกญ่า : หนูก็อยากจะฝากทุกๆ คนให้เปิดใจแล้วหันไปอ่านหนังสือค่ะ จริงๆ มันไม่ได้น่าเบื่อเลย ส่วนตัวหนูนั้นจริงๆ ไม่ได้เป็นคนชอบอ่านหนังสือเลยค่ะ แต่ว่าเมื่อได้อ่านแล้ว กลับทำให้หนูรู้ว่าหนังสือมีประโยชน์มากกับตัวหนูเอง อ่านไปเรื่อยๆ ก็ชอบมากขึ้น ขอให้เริ่มอ่านก่อนนะคะ อย่าปฏิเสธการอ่าน
นายธนบดี ผลชอบ (เปรม)
นายอริยกรณ์ เทวกร (ตะวัน)
นายสุกฤษฎิ์ ไม้สุวรรณ (ต้นกล้า)
l สวัสดีทั้งสามคนครับ วันนี้มาซื้อหนังสือประเภทไหนจากศูนย์หนังสือจุฬาฯ ครับ หนังสือเรียนหรือหนังสืออ่านประกอบการเรียน หรืออื่นๆ แล้วคิดเห็นอย่างไรกับคำพูดที่ว่า หนังสือเล่มๆ มันตายไปแล้ว เพราะเดี๋ยวนี้เขาอ่าน E-Book กันหมดแล้ว
น้องเปรม : ส่วนตัวผม ผมชอบอ่านเล่มมากกว่าอ่าน E-Book ครับ ผมชอบสัมผัสกระดาษ อ่านแล้วได้อรรถรสมากกว่าอ่านจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ผมชอบอ่านไปแล้ว Note ลงไปบนกระดาษครับ ผมไม่เชื่อว่าหนังสือกระดาษตายครับ เขายังอยู่ และจะยังอยู่อีกยาวนานเลยครับ ตราบเท่าที่ยังมีคนอ่านหนังสือ
น้องตะวัน : ผมก็ชอบอ่านจากหนังสือเล่มๆ ครับ ชอบความรู้สึกตอนกดปากกาแล้วเขียนลงไปบนกระดาษ และผมเห็นว่ากลิ่นหนังสือ กลิ่นกระดาษ กลิ่นหมึกมันมีเสน่ห์นะครับ ยิ่งตอนที่เราพลิกหน้ากระดาษ แล้วมีเสียงกระดาษกำลังพลิก มันมีความน่าสนใจมากครับ ผมชอบครับ และผมคอนเฟิร์มว่า หนังสือกระดาษไม่ตายครับ
น้องต้นกล้า : ผมก็ชอบอ่านหนังสือแบบเล่มๆ ครับ เพราะหนังสือเล่มนั้นสามารถอ่านได้ทุกที่ แล้วผมว่าการอ่านหนังสือจากกระดาษไม่ทำให้เสียสายตาเหมือนการอ่านจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือจากจอโทรศัพท์มือถือ ผมไม่เชื่อว่าหนังสือกระดาษจะตายไปจากโลกมนุษย์ เพราะผมเชื่อว่ามนุษย์ยังต้องอ่านหนังสือต่อไปครับ ผมเห็นว่าอ่านหนังสือจากกระดาษอ่านได้ง่ายกว่าอ่านจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ครับ
l ส่วนใหญ่น้องๆ ใช้เวลาช่วงไหนอ่านหนังสือในแต่ละวันครับ
น้องเปรม : ช่วงหลังเลิกเรียน เมื่อกลับบ้านกินข้าวเรียบร้อยแล้ว ก็จะอ่านหนังสือ อ่านประมาณ 2 ชั่วโมงก็เข้านอนครับ
น้องตะวัน : อ่านช่วงหัวค่ำครับ เมื่อกลับถึงบ้านแล้วอาบน้ำเรียบร้อยแล้ว และกินข้าวเสร็จ ก็ต้องอ่านหนังสือครับ ผมชอบอ่านช่วงค่ำ เพราะอ่านเสร็จก็นอนได้เลยครับ
l น้องคนไหนตื่นขึ้นมาอ่านหนังสือช่วงตีห้าบ้างครับ มีไหมครับ
น้องต้นกล้า : ตอนเช้าเมื่อตื่นมาก็ต้องรีบอาบน้ำแต่งตัวไปโรงเรียนครับ ไม่มีเวลาอ่านครับ เพราะออกจากบ้านช้า ก็ต้องติดอยู่บนถนนนานมากกว่าจะไปถึงโรงเรียน
น้องเปรม : ช่วงเช้าไม่ค่อยได้อ่านหนังสือครับ เพราะต้องรีบไปโรงเรียน
l ปกติในหนึ่งเดือน ซื้อหนังสือเฉลี่ยแล้วประมาณกี่เล่มครับ
น้องเปรม : ประมาณ 1-2 เล่มครับ แต่กว่าจะซื้อในแต่ละครั้งก็ต้องดูราคาก่อน เพราะหนังสือบางเล่มก็ราคาแพงพอสมควรครับ ถ้าแพงมากๆ ก็ยังไม่ซื้อครับ
น้องตะวัน : 1 เล่มครับ แต่บางเดือนก็ไม่ได้ซื้อขึ้นอยู่กับว่ามีหนังสือที่อยากอ่านหรือไม่ ถ้าอยากอ่านก็ซื้อครับ
น้องต้นกล้า : เฉลี่ยซื้อเดือนละ 1-2 เล่มครับส่วนมากซื้อหนังสืออ่านประกอบการเรียนครับ แต่บางเดือนก็ซื้อหลายเล่มครับ เคยซื้อ 20 เล่มด้วยครับ เช่นซื้อการ์ตูนชุด (หัวเราะ) พวกการ์ตูนของญี่ปุ่น ที่ทำเป็นชุดครับ ชอบอ่านครับ
l นิสัยรักการอ่านที่น้องๆ มีอยู่ เกิดมาจากอะไรครับ พ่อแม่ปลูกฝังให้รักการอ่าน หรือเกิดมาจากโรงเรียนปลูกฝังให้รักการอ่าน ได้ต้นแบบจากไหนครับ
น้องเปรม : สำหรับผม การที่ผมอ่านหนังสือเพราะว่าอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ทุกคนรักการอ่าน เช่นที่โรงเรียน (สวนกุหลาบฯ) ผมว่าหากเราอยู่ในกลุ่มคนอ่านหนังสือ แล้วเราไม่อ่าน เราจะคุยกับเพื่อนๆ ไม่รู้เรื่อง เรียนก็ไม่รู้เรื่อง ผมว่าสภาพแวดล้อมมีส่วนสำคัญมากครับ ถ้าเพื่อนทุกคนอ่านหนังสือ แต่เราไม่อ่านอยู่คนเดียว เราก็ประหลาด ใช่ไหมครับ
น้องตะวัน : การที่ต้องแข่งขันด้านการเรียนกับเพื่อนๆ ต้องทำคะแนนสอบแข่งกัน ทำให้ผมต้องอ่านหนังสือมากๆ เพื่อไม่ให้ได้คะแนนน้อยกว่าเพื่อน แต่เมื่อเราอ่านไปบ่อยๆ อ่านทุกวัน ก็กลายเป็นคนชอบอ่านหนังสือครับ อ่านแล้วสนุก ได้ความรู้ และทำคะแนนได้ดีก็เลยอ่านไปเรื่อยๆ ครับ
น้องต้นกล้า : ผมได้นิสัยรักการอ่านมาจากพี่ครับพี่ๆ ผมอ่านหนังสือ ผมเห็นมาตั้งแต่เด็กๆ ก็ชอบอ่านหนังสือกับพี่ๆ ครับ อ่านไปทุกๆ วัน ก็เลยรักการอ่านครับ
l เวลาอ่านหนังสือ ได้รับอะไรจากการอ่านบ้างครับ เช่น มีความสุข มีสมาธิดี อ่านแล้วเหมือนอยู่ในโลกส่วนตัว อ่านแล้วได้ความรู้ ได้คะแนนดี น้องๆ อยู่ในกลุ่มไหนครับ
น้องเปรม : มันก็แล้วแต่วิชาที่เราอ่านครับ ถ้าเป็นวิชาที่ชอบมากๆ ก็อ่านได้นาน อ่านได้ทุกวัน เพราะมันสนุก อ่านแล้วเข้าใจดี ก็ยิ่งอ่านไปเรื่อยๆ อ่านจนบางครั้งลืมเวลานอน หรือลืมกินข้าว (หัวเราะ) แต่ถ้าวิชาไหนที่ไม่ค่อยชอบ อ่านไปสักเดี๋ยวเดียวก็เบื่อ แล้วง่วงนอนครับ
น้องตะวัน : สิ่งที่ได้จากการอ่านคือ อ่านแล้วรู้เรื่องนั้นๆ มากขึ้น ยิ่งอ่านหนังสือวิชาที่เราชอบยิ่งอ่านได้นานมาก อ่านแล้วมีความสุขครับ แล้วถ้าทำคะแนนได้ดีในวิชาที่เราขยันอ่าน ก็จะยิ่งมีความสุขครับ
l น้องๆ มองว่า คนไทยส่วนใหญ่อ่านหนังสือน้อยไหมครับ มีผู้วิจารณ์ว่าคนไทยอ่านหนังสือน้อยกว่าคนยุโรป น้องมองเรื่องนี้อย่างไรครับ
น้องเปรม : ผมเห็นว่าก็ไม่น้อยนะครับ ดูตัวอย่างจากนักเรียนในโรงเรียนที่ผมเรียนอยู่ เพื่อนๆ อ่านหนังสือกันทุกคนครับ แค่เรียนหนังสือก็วันละหลายชั่วโมงแล้ว ตอนเรียนก็ต้องอ่านหนังสือทุกคนครับ แต่หากคนที่ไม่ได้เรียนหนังสือก็อาจจะไม่ได้อ่านหนังสือเรียน แต่ก็น่าจะอ่านหนังสืออื่นๆ นะครับ เช่น หนังสือกีฬา หนังสือการ์ตูน
น้องตะวัน : น่าจะแล้วแต่สังคมด้วยครับ ถ้าในสังคมที่ผมอยู่ ผมว่าก็กลางๆ ครับ คืออ่านบ้าง แต่อาจจะอ่านไม่เยอะนัก แต่ก็ยังอ่านครับ เพื่อนที่โรงเรียนก็ยังอ่านหนังสือครับ
น้องต้นกล้า : ผมว่ามันเป็นช่วงๆ มากกว่าครับ เช่น ช่วงเตรียมสอบ ก็อ่านมากครับ แต่หลังจากสอบเสร็จก็อ่านน้อยลง ผมว่าอยู่ที่ช่วงเวลาครับ
l มีข้อเสนอแนะอย่างไรให้คนไทยส่วนใหญ่รักการอ่านให้มากขึ้นครับ
น้องเปรม : อย่างแรกต้องรู้ว่าเราชอบอ่านหนังสือประเภทไหน ก็อ่านแบบนั้นก่อนครับ เวลาเราอ่านไปแล้ว เราจะค่อยๆ สะสมนิสัยรักการอ่านไปเรื่อยๆ ครับ ขอให้หาให้เจอว่าชอบอ่านหนังสือจำพวกไหน แล้วอ่านเลยครับ อย่าเพิ่งไปอ่านหนังสือที่เราไม่ชอบ หรืออ่านแล้วไม่เข้าใจ เพราะทำให้เราไม่อยากอ่านต่อครับ
น้องตะวัน : พยายามอ่านไปเรื่อยๆ อ่านไปทุกๆ วันแรกๆ อ่านไปทีละเล็กละน้อยก่อนครับ ค่อยๆ อ่านไปทุกวัน อ่านไปเรื่อยๆ แล้วเราจะมีนิสัยรักการอ่านในที่สุดครับแล้วหากวันไหนไม่ได้อ่านหนังสือ ก็จะเหมือนว่าขาดอะไรไปอย่างหนึ่ง
น้องต้นกล้า : เราต้องอ่านไปเรื่อยๆ ครับ อ่านไปจนกว่าเราจะเจอหนังสือที่เราชอบมากๆ แล้วเมื่อเราได้เจอหนังสือที่เราชอบ เราจะรักการอ่านไปตลอดชีวิตครับ
หมายเหตุ ขอบคุณศูนย์หนังสือจุฬาฯ สยามสแควร์เอื้อเฟื้อสถานที่ถ่ายทำรายการทีวี
คุณสามารถรับชมรายการไลฟ์ วาไรตี รายการที่ให้ทั้งสาระและความรู้ ออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา 14.05-14.30 น.ทางโทรทัศน์ NBT ช่องหมายเลข 2และชมรายการย้อนหลังได้ที่YouTube ไลฟ์ วาไรตี