ไลฟ์ วาไรตี สัปดาห์นี้ ดร.เฉลิมชัย ยอดมาลัย ชวนคุณไปนั่งเรือจากปากน้ำสมุทรปราการไปเที่ยวชมพระจุฑาธุชราชฐาน เกาะสีชัง และพูดคุยกับตัวแทนผู้ร่วมทริปที่บอกเล่าถึงความภาคภูมิใจที่เรามีบรรพบุรุษผู้สร้างสรรค์สิ่งดีงามอันเป็นรากฐานของสังคมไทย
พญ.ศิริวัฒน์ มโนธรรม อดีตผู้บริหารโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ กรุงเทพฯ
l เรียนถามครับคุณหมอ เมื่อได้มาพบเห็นโบราณสถาน แม้จะเหลือเพียงรากฐานของพระที่นั่งในเขตพระราชฐานแห่งนี้ คุณหมอมีความคิดเห็นอย่างไรบ้างครับ
พญ.ศิริวัฒน์ : อันที่จริงพี่มาชมพระจุฑาธุชราชฐานสองครั้งแล้ว ครั้งก่อนก็มากับอาจารย์เฉลิมชัยนี่แหละ แต่ที่มาอีกครั้งก็เพราะว่าครั้งนี้มาโดยนั่งเรือจากปากน้ำ สมุทรปราการ จึงอยากทราบว่าการเดินทางด้วยเรือมายังพระราชฐานแห่งนี้ต้องใช้เวลานานกี่ชั่วโมง และต้องการนึกย้อนอดีตว่าสมัยโบราณบรรพบุรุษของเราท่านเดินทางด้วยเรือจากปากน้ำไปเกาะสีชัง ท่านต้องผ่านต้องเห็นอะไรบ้าง ก็ได้พบว่าท้องทะเลของเรากว้างใหญ่ไพศาลมาก มีทรัพยากรอันมีค่ามากมายมหาศาล แล้วเมื่อมาถึงเกาะสีชังก็ทำให้จินตนาการว่า ขนาดทุกวันนี้เราเดินทางได้เร็วขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า เรายังต้องใช้เวลานั่งเรือนานกว่า 3 ชั่วโมง แล้วสมัยก่อนต้องเดินทางโดยใช้เวลานานเป็นวันๆ แต่บรรพบุรุษของเราท่านก็มีความอดทนอย่างมาก ท่านทำทุกอย่างเพื่อให้บ้านเมืองของเราเจริญรุ่งเรือง ทำให้นึกถึงวันเวลาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมายังสถานที่แห่งนี้เมื่อร้อยกว่าปีก่อน แล้วทรงพระกรุณาฯ ให้สร้างพระราชฐานขึ้น นั่นย่อมแสดงว่าต้องทรงทุ่มเทพระวิริยอุตสาหะอย่างมากมาย เพราะสมัยก่อนกว่าจะบรรทุกอิฐ หิน ดิน ทราย ไม้สัก มาเพื่อก่อสร้างพระที่นั่ง ก็ต้องบรรทุกไปทางเรือเพียงอย่างเดียว ต้องใช้เวลานานมากกว่าจะทรงสร้างพระที่นั่งได้สำเร็จแต่ละองค์ แล้วเมื่อได้รู้ว่าพระที่นั่งวิมานเมฆ ในพระราชวังดุสิต กรุงเทพฯ ถูกชะลอจากพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์ จากเกาะสีชังไป ก็ยิ่งตื่นเต้นในความอุตสาหะของบรรพบุรุษของเรา ใครก็ตามที่เคยไปชมพระที่นั่งวิมานเมฆ ก็ต้องสัมผัสได้ถึงความงดงามอลังการของพระที่นั่งไม้สักทองทั้งองค์ได้เป็นอย่างดีบอกได้คำเดียวว่างดงามมากจนเกินบรรยาย แล้วเมื่อทราบว่ารัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงสร้างพระราชฐานแห่งนี้ขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับสำหรับทรงตากอากาศ หลังจากพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงเพิ่งทรงหายจากอาการพระประชวร ก็ยิ่งทำให้มองว่าพระองค์ทรงมีพระราชวิสัยทัศน์ที่แสนยาวไกลมาก เพราะหลังจากนั้นก็พระราชทานพื้นที่ตรงนี้ให้ฝรั่งต่างชาติที่เข้ามาทำงานในสยามใช้เพื่อตากอากาศหลังหายป่วยด้วย แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์ ร.ศ. 112 เมื่อฝรั่งเศสเข้ามามีปัญหากับสยาม ก็ไม่เสด็จพระราชดำเนินมา ณ พระราชฐานแห่งนี้อีกเลย ทำให้ถูกปล่อยร้างไว้นับร้อยปี จนสุดท้ายจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับพระราชานุญาตให้เข้ามาดูแล บูรณะซ่อมแซมให้มีสภาพดีดังปัจจุบัน ทั้งหมดนี้คือเครื่องบ่งบอกว่าสถานที่แห่งนี้มีประวัติความเป็นมา และบอกให้เห็นชัดเจนว่าทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะความอุตสาหะพยายามของบรรพชนของแผ่นดินไทย หากไม่มีบรรพชนก็คงไม่มีแผ่นดินไทย แล้วก็คงไม่มีความเจริญใดๆ หยั่งรากฝังลงบนแผ่นดินไทยของเรา นี่คือเหตุผลสำคัญที่เราคนไทยรุ่นหลังจำเป็นต้องให้ความเคารพในภูมิปัญญา และความเสียสละของบรรพชนทุกคนของเรา
l ความแตกต่างของการมาเที่ยวเกาะสีชังโดยครั้งนี้นั่งเรือมาจากปากน้ำ สมุทรปราการ เทียบกับครั้งก่อนที่นั่งเรือจากเกาะลอย ศรีราชา แล้วข้ามมาเกาะสีชัง มีอะไรที่แตกต่างกันบ้างครับ
พญ.ศิริวัฒน์ : ข้อแรกคือการนั่งเรือมาจากปากน้ำ สมุทรปราการ ทำให้ได้เห็นท้องทะเลในอ่าวไทยของเราชัดเจนขึ้น พบว่าปากน้ำมีความสำคัญมาก เพราะเป็นเสมือนประตูที่จะเข้าสู่พระนครของไทย คือกรุงเทพมหานคร ได้พบว่าบริเวณปากอ่าวไทยยังมีความอุดมสมบูรณ์ ยังมีการทำประมง และมีเรือสินค้าขนาดใหญ่มากมายเข้ามาทำมาค้าขายขนส่งสินค้า แล้วก็ทำให้นึกย้อนไปถึงเมื่อครั้งอดีตที่บริเวณปากน้ำแห่งนี้คือจุดยุทธศาสตร์สำคัญของแผ่นดินไทย นึกถึงเหตุการณ์ตอนที่ฝรั่งเศสนำเรือรบมาปิดปากอ่าวไทยเมื่อช่วงเหตุการณ์ ร.ศ. 112 และนึกถึงการกอบกู้สถานการณ์การเมืองของสยามในครั้งนั้นเพื่อให้บ้านเมืองรอดพ้นจากภัยจากลัทธิล่าอาณานิคม ก็บอกได้ว่าการนั่งเรือจากปากน้ำมาเกาะสีชังช่วยทำให้ภาพเก่าๆ ที่เราเคยเรียนประวัติศาสตร์ในยุคล่าอาณานิคมปรากฏชัดขึ้นมาอย่างมาก แล้วก็ได้เห็นเรือประมงขนาดกลางที่ยังออกทะเลจับสัตว์น้ำไปค้าขาย ทำให้เห็นว่าอ่าวไทยยังคงมีความอุดมสมบูรณ์อีกมาก และในช่วงหนึ่งได้เห็นเรือของกองทัพเรือที่จอดอยู่ปากอ่าวไทย ก็ทำให้เห็นอีกว่าอาณาเขตทางทะเลของเรามีพื้นที่และระยะทางยาวมาก ดังนั้นกองทัพเรือก็จึงต้องทำหน้าที่พิทักษ์รักษาอธิปไตยทางทะเลไว้อย่างเข้มแข็ง ทำให้คิดไปถึงพระปรีชาสามารถของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ผู้ทรงนำเทคโนโลยีทหารเรือสมัยใหม่เข้ามาในสยามเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว จำได้ด้วยว่าในสมัยนั้นรัชกาลที่ 6 และสมเด็จพระราชบิดา ก็เคยทรงไปศึกษาวิชาการทหารเรือจากต่างประเทศด้วยเช่นกัน ทำให้เห็นว่านี่คือพระราชวิสัยทัศน์ที่ทรงเล็งการณ์ไกลไว้ตั้งแต่อดีตโดยในหลวงรัชกาลที่ 5 ดังนั้นการนั่งเรือมาจากปากน้ำ จึงแตกต่างอย่างมากกับการนั่งเรือระยะทางสั้นๆ จากเกาะลอย ศรีราชาไปยังเกาะสีชัง เพราะใช้เวลาเพียงประมาณ 45-50 นาทีเท่านั้น
l มีความเห็นอย่างไรกับคำพูดของคนที่บอกว่า ไม่สนใจประวัติศาสตร์ เพราะมันจบไปแล้ว มันตายไปแล้ว มันไม่มีชีวิตอีกต่อไปแล้ว
พญ.ศิริวัฒน์ : มันก็เป็นความคิดแบบหนึ่งของคนกลุ่มหนึ่ง แต่สำหรับพี่แล้ว พี่มองว่าประวัติศาสตร์คือรากเหง้าของมนุษย์ยุคปัจจุบัน เราทุกคนมีรากเหง้า มีความเป็นมา การที่บ้านเมืองและสังคมของเรามีความเป็นอยู่เช่นที่กำลังเป็นอยู่นั้น มันมีผลส่วนสำคัญมาจากประวัติศาสตร์ของเรา เราควรจะต้องกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์ของเรา เพื่อให้รู้ว่าเรามีรากเหง้ามาอย่างไร เราไม่ควรทิ้งรากเหง้าของเรา แล้วไปชื่นชมกับสิ่งที่เราอาจมองว่าทันสมัย แต่การที่เรารู้รากเหง้าของเราเป็นอย่างดี จะช่วยให้เราภาคภูมิใจในความเป็นมาของเรา เราอาจจะมองคนอื่นเพื่อเปรียบเทียบกับตัวเราเองได้ แต่เราไม่ควรหลงใหลในเรื่องของคนอื่นแล้วลืมรากเหง้าของเราเอง เราต้องรักษารากเหง้าของเราไว้ เพราะเรามีที่มา เราไม่ใช่คนไร้ราก เรามีขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงาม มีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ ทรงสร้างบ้านแปงเมืองร่วมกับบรรพชนของเรา เรามีทุกวันนี้ได้เพราะเรามีประวัติศาสตร์ และมีรากเหง้า เราต้องไม่ลืมรากเหง้าของเรา และต้องช่วยกันทำนุบำรุงรักษาไว้ให้สืบต่อไป
คุณอิสรา พงศ์นิธิ นิสิตเก่าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
l เรียนถามว่าเคยมาเที่ยวพระจุฑาธุชราชฐานหลายครั้งไหมครับ หากมาหลายครั้ง ขอถามว่าประทับใจอะไรครับ
คุณอิสรา : มาเที่ยวเกาะสีชังหลายครั้งมากค่ะ มาครั้งแรกๆ เมื่อนานมากแล้วกับคุณพ่อ คุณพ่อเป็นคนชอบเที่ยวแหล่งโบราณคดี ชอบอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ไทยมาก นี่อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตัวเองชอบเที่ยวแหล่งโบราณคดีต่างๆ ไปโดยปริยาย เมื่อครั้งเรียน
ในคณะอักษรศาสตร์ ก็ชอบอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ แต่ตัวเองเรียนเอกภาษาอังกฤษ ซึ่งไม่ได้เรียนด้านโบราณคดีมากนัก แต่โดยส่วนตัวชอบอ่านหนังสือที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ทั้งไทยและสากล หากจะให้ตอบว่าประทับใจอะไรกับเกาะสีชัง ก็ตอบได้ว่า ชอบความเป็นชุมชนเก่าของคนบนเกาะ และชอบพระจุฑาธุชราชฐาน เพราะเมื่อเข้าไปชมครั้งแรกเมื่อสมัยยังเป็นเด็ก ก็ประทับใจในความสงบ แม้จะไม่มีสิ่งปลูกสร้างใดๆ หลงเหลือมากนัก แต่ก็ประทับใจกับสะพานอัษฎางค์ และพระอุโบสถวัดอัษฎางคนิมิตร เมื่อก่อนจะมาครั้งล่าสุดนี้ก็อ่านหนังสือเกี่ยวกับพระราชฐานแห่งนี้ ก็ทำให้ได้ข้อมูลต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะได้ทราบเรื่องความเป็นมาที่รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงสร้างพระที่นั่งต่างๆ ขึ้นบนเกาะสีชัง ได้ทราบชื่อพระที่นั่งต่างๆ ทราบชื่อบ่อน้ำที่มีความไพเราะคล้องจอง เมื่อได้มาพบของจริงก็ประทับใจ
มาก
l แสดงว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้สนใจประวัติศาสตร์ไทยเกิดมาจากการปลูกฝังโดยคุณพ่อ
คุณอิสรา : ใช่ค่ะ เป็นแรงผลักดันอันดับแรกให้กับเราเมื่อเรายังเด็กมากๆ เราเห็นคุณพ่ออ่านหนังสือประวัติศาสตร์ไทย แล้วพาเราไปเที่ยวแหล่งประวัติศาสตร์ต่างๆ เราก็ประทับใจ และสนใจในยามที่เราเติบโตขึ้นคุณพ่อเน้นปลูกฝังให้ลูกเคารพในสถาบันพระมหากษัตริย์มากบอกเล่าให้ลูกเข้าใจถึงความสำคัญของพระมหากษัตริย์ตลอดเวลา บอกว่าทรงเป็นเสาหลักเสาหนึ่งของสังคมไทยเป็นศูนย์รวมจิตใจคนไทยมาตั้งแต่อดีต แล้วที่สำคัญคือพ่ออ่านหนังสือประวัติศาสตร์แล้วก็จะวางไว้ให้ลูกๆ ได้เห็นลูกๆ ก็อ่านตามพ่อ จำได้ว่าหนังสือเล่มแรกที่อ่านสมัยเด็กๆ คือ เกิดวังปารุสก์ อ่านแล้วชอบมาก เลยติดใจ ต้องตามหาหนังสือประวัติศาสตร์ของบุคคลต่างๆ มาอ่านอีกแล้วก็อ่านมาเรื่อยๆ แล้วยิ่งได้ไปเห็นสถานที่จริง ก็ยิ่งประทับใจ หลายครั้งเมื่อไปดูของจริงแล้ว ก็ต้องกลับไปอ่านหนังสือเล่มเดิมอีก มันเหมือนช่วยเติมเต็มให้การอ่าน แล้วเมื่ออ่านแล้วไปเจอของจริง ก็ยิ่งประทับใจมาก
l มีคนจำนวนหนึ่งในยุคนี้บอกว่าไม่สนใจประวัติศาสตร์ เพราะมันตายไปแล้ว มันจบไปแล้ว คิดอย่างไรกับคำพูดดังกล่าวครับ
คุณอิสรา : ขอยืนยันว่าคนที่คิดแบบนั้นน่าจะมองจากมุมเดียวคือมองว่าประวัติศาสตร์มันจบไปแล้ว แต่ความจริงประวัติศาสตร์มักจะย้อนกลับมาเกิดขึ้นใหม่ตลอดเวลา เคยได้ยินคำว่า history is repeating itself ใช่ไหมค่ะ มันคือความจริงค่ะ มันจะซ้ำตัวมันเองเสมอ เหตุการณ์ต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อร้อยหรือหลายร้อยปีมาแล้ว ก็ยังกลับมาเกิดขึ้นอีกเสมอๆ คนที่เรียนประวัติศาสตร์จะทราบเรื่องนี้ดีมาก และได้บทเรียนจากการศึกษาประวัติศาสตร์เสมอ เพราะมนุษย์มักจะทำอะไรไม่ต่างจากเดิมมากนัก สิ่งที่เคยเกิดในอดีตก็จึงกลับมาเกิดได้เสมอ เพราะฉะนั้นคนที่ศึกษาประวัติศาสตร์อย่างลึกซึ้งจะเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างดี และคาดการณ์อนาคตได้โดยไม่ค่อยพลาดมากนัก
l ย้อนถามเรื่องการอ่านหนังสือประวัติศาสตร์แล้วไปชมโบราณสถาน มันมีความเกี่ยวข้องกันหรือช่วยเสริมสร้างเพิ่มพูนความรู้ได้อย่างไรบ้างครับ
คุณอิสรา : เกี่ยวข้องกันเยอะมากค่ะ เพราะอันดับแรก เมื่ออ่านก่อนไปชม ก็จะได้รับความรู้เบื้องต้นแล้วเมื่อไปชมของจริงก็จะสามารถเปรียบเทียบได้ว่าของจริงกับที่กล่าวในหนังสือเหมือนหรือต่างกันอย่างไร และทราบความเป็นมาอีกด้วย ทราบว่าสร้างโดยใครยุคใด สมัยใด ศิลปะแบบไหน บอกตรงๆ กว่าเกือบทุกครั้งที่จะไปเที่ยวที่ใดก็ตาม ต้องอ่านหนังสือเกี่ยวกับสถานที่นั้นๆ ไปก่อนเสมอ ยกเว้นบางแห่งเท่านั้นที่ผ่านไปเจอ ก่อนจะได้อ่านหนังสือ แต่เมื่อไปชมแล้วก็ต้องกลับไปหาหนังสืออ่าน เพื่อให้ได้ข้อมูลมากขึ้น แล้วก็มักจะกลับไปชมซ้ำ เรียกว่าเที่ยวตามรอยหนังสือ การไปเที่ยวกับวิทยากรแต่ละรายก็จะทำให้ได้ความรู้แตกต่างกันไปด้วย เพราะวิทยากรแต่ละคนก็จะมีความชำนาญในเรื่องราวและแง่มุมต่างๆ กัน แม้จะไปเที่ยวซ้ำที่เดิม แต่ไปกับวิทยากรใหม่ๆ ก็ได้ข้อมูลเพิ่มเติมทุกครั้งค่ะ
คุณปรีชา โพทิพยวงษ์ นักธุรกิจ
l ปกตินั่งเรือไกลไปเที่ยวบ่อยไหมครับ ระหว่างนั่งเรือเที่ยวในแม่น้ำ กับท่องทะเล ไปเที่ยวแบบไหนบ่อยกว่ากันครับ
คุณปรีชา : ทริปนั่งเรือจากปากน้ำ สมุทรปราการมาเที่ยวเกาะสีชัง นับเป็นทริปแรกที่นั่งเรือมาจากสมุทรปราการครับ ปกติผมมาเที่ยวเกาะสีชังบ่อยพอประมาณมาแล้วไม่น้อยกว่า 5-6 ครั้ง มาตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็กๆ แต่ครั้งนี้นั่งเรือนาน 3 ชั่วโมงกว่าเพื่อมาเกาะสีชัง นับว่าเป็นประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นมากครับ จริงๆ อยากนั่งเรือจากปากน้ำมาเที่ยวสีชังนานมากแล้ว แต่เพิ่งมีโอกาสก็ครั้งนี้แหละครับ ผมเคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับการเดินทางจากปากน้ำไปยังเกาะสีชัง อ่านแล้วก็สนใจมาก เพราะอย่างน้อยๆ ก็ทำให้เห็นเส้นทางสัญจรทางน้ำเส้นทางหลักของบ้านเรา ซึ่งมีมาตั้งแต่ครั้งโบราณ เพราะสมัยก่อนการเดินทางด้วยรถยนต์ไปไหนต่อไหนยังไม่แพร่หลายมากนัก บรรพบุรุษของเราใช้การสัญจรคมนาคมทางน้ำเป็นหลัก เช่น ใช้แม่น้ำลำคลอง ใช้ทะเล เพื่อการติดต่อและค้าขายกันมาตั้งแต่โบราณกาล สมัยก่อนการค้าระหว่างประเทศก็ใช้ทะเลเป็นเส้นทางสำคัญ การนั่งเรือจากปากน้ำมาเกาะสีชังในครั้งนี้ ทำให้นึกจินตนาการไปถึงการเดินทางของคนรุ่นเก่ารุ่นก่อนของเราได้ชัดเจนขึ้นครับ ส่วนการนั่งเรือเที่ยวในแม่น้ำลำคลองนั้น ก็ใช้บ้างเป็นบางครั้งโดยเฉพาะแหล่งโบราณสถานที่ตั้งอยู่ในลำคลอง เช่น คลองบางกอกใหญ่ คลองบางกอกน้อย เป็นต้น
l ที่บอกว่ามาเที่ยวสีชังหลายครั้ง ติดใจอะไรบนเกาะแห่งนี้ครับ
คุณปรีชา : อันที่จริงมาเที่ยวสีชังเพราะมีคนรู้จักอยู่ย่านนี้ แล้วสมัยก่อนก็ชอบชวนเพื่อนๆ ไปเที่ยวด้วยกันนำจักรยานไปถีบด้วยกันเป็นกลุ่มๆ เคยนำจักรยานลงเรือข้ามฝากจากเกาะลอยแล้วไปถีบบนเกาะสีชังก็สนุกดีครับ มากันหลายคน สนุกสนานตามประสาวัยรุ่นถามว่าติดใจอะไรบนเกาะสีชัง ตอบว่า สมัยก่อนนั้นไม่ได้รู้อะไรบนเกาะมากนัก แต่เมื่อโตขึ้นก็รู้ว่าบนเกาะมีพระราชฐานที่ก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ก็ไม่ได้เข้าไปชมบ่อยนัก จนมาวันนี้ได้เข้าไปเที่ยวกับกลุ่มทัวร์ที่อาจารย์เฉลิมชัยนำมา ก็ได้ทราบประวัติของพระราชฐานบนเกาะสีชังมากขึ้น ได้เดินชมอาคารโบราณ ได้ฟังคำบรรยาย ทำให้ได้ทราบประวัติลึกซึ้งกว่าเดิม เมื่อได้รู้ประวัติศาสตร์ของสถานที่ก็ทำให้ดีใจที่เรามีบรรพบุรุษที่มองการณ์ไกล และสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะไว้มากมาย โดยเฉพาะเมื่อได้ทราบว่าพระราชฐานแห่งนี้ได้รับการสร้างเมื่อครั้งรัชสมัย รัชกาลที่ 5 ก็ยิ่งตื่นเต้นมากขึ้นเพราะเมื่อย้อนกลับไปในสมัยร้อยกว่าปีก่อน บนเกาะแห่งนี้คงจะร่มรื่นมากกว่านี้ เพราะผู้คนน้อยกว่าปัจจุบัน ธรรมชาติยังอุดมสมบูรณ์ แล้วเมื่อทราบว่าพระราชฐานแห่งนี้เกี่ยวข้องกับเจ้านายชั้นสูงในพระราชวงศ์จักรี ก็ยิ่งเพิ่มความน่าสนใจมากขึ้น แล้วเมื่อทราบต่อไปว่า รัชกาลที่ 5ไม่เสด็จพระราชฐานแห่งนี้อีกเลยเมื่อเกิดเหตุการณ์ร.ศ. 112 ก็ทำให้เข้าใจได้ว่าบ้านเมืองของเราในยุคนั้นต้องมีปัญหาถูกต่างชาติรุกรานอย่างหนัก แต่ในหลวงรัชกาลที่ 5 ก็ทรงแก้สถานการณ์ได้ ทำให้บ้านเมืองของเรายังอยู่รอดปลอดภัยมาจนถึงบัดนี้
l ปกติสนใจเที่ยวโบราณสถานมากไหมครับ หากชอบเที่ยวโบราณสถาน ช่วยเล่าให้ฟังว่า ชอบเพราะเหตุใดครับ
คุณปรีชา : ปกติผมก็ไม่ถึงกับเป็นแฟนพันธุ์แท้ของการท่องตามโบราณสถานต่างๆ แต่ทว่าลึกๆ แล้ว ผมชอบสถานที่เก่า ชอบสถานที่ในประวัติศาสตร์ครับ ประการแรกชอบเพราะดูแลขลัง มีความเป็นมา แล้วถ้ายิ่งโบราณสถานเหล่านั้นได้รับการบูรณะให้อยู่ในสภาพดี
ตามความเป็นจริง ก็ยิ่งชอบดูครับ ดูแล้วคิดถึงคนโบราณที่สร้างสถานที่เหล่านั้น เห็นได้ถึงความอุตสาหะพยายาม ความตั้งใจจริง เพราะการก่อสร้างสมัยก่อนต้องอาศัยแรงคนเป็นสำคัญ เนื่องจากเครื่องจักรเครื่องกลยังไม่มีมากเหมือนในยุคปัจจุบัน ดังนั้นการก่อสร้างอาคารสถานที่ต่างๆ จึงต้องใช้แรงคน และต้องใช้ความศรัทธาของผู้คนเป็นสำคัญ โดยเฉพาะศาสนสถานต่างๆ เช่น เจดีย์สูงใหญ่ หรือโบสถ์ วิหารขนาดใหญ่ที่มีความงดงามอ่อนช้อย แต่ดูแล้วอลังการมาก การเข้าไปเที่ยวชมพื้นที่ประวัติศาสตร์ทำให้เราเห็นถึงร่องรอยในอดีตของเรา แล้วหากศึกษาลงไปให้ลึกก็จะทราบถึงความเป็นมาของเรา เข้าใจความเป็นมาของชุมชน และเข้าใจถึงการก่อร่างสร้างเมืองเมื่อครั้งอดีต ทำให้ภูมิใจในความมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังของบรรพบุรุษของเรา เรามีปัจจุบันได้ก็เพราะเรามีประวัติศาสตร์ แล้วมีตัวมีตนในวันนี้ได้ เพราะเรามีบรรพบุรุษสร้างบ้านแปงเมืองไว้ให้เรา เราสามารถเชื่อมโยงปัจจุบันกับอดีตได้ด้วยโบราณสถาน และประวัติศาสตร์ สิ่งเหล่านี้มันสืบสายต่อๆ กันมาโดยไม่ขาดตอน เราเป็นประเทศไทยได้ทุกวันนี้ ก็เพราะเรามีบรรพบุรุษที่ก่อร่างสร้างเมืองไว้ให้เราทุกคน เรามีรากมีเหง้า เรามีภูมิหลัง เราไม่ควรมองข้ามรากเหง้าความเป็นมาของเรา ประวัติศาสตร์ของเรามีคุณค่ามาก เราไม่สามารถมีวันนี้ได้ หากเราไม่มีประวัติศาสตร์ของเราเอง
คุณสามารถรับชมรายการไลฟ์ วาไรตี รายการที่ให้ทั้งสาระและความรู้ ออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา 14.05-14.30 น. ทางโทรทัศน์ NBT ช่องหมายเลข 2 และชมรายการย้อนหลังได้ที่ YouTube ไลฟ์ วาไรตี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี