สารโทลูอีน (Toluene) เป็นสารเคมีที่เป็นพิษ ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ระบุว่าสารโทลูอีนเป็นสารอันตรายชนิดที่ 3ควบคุมโดยกรมโรงงานอุตสากรรม ต้องมีการขึ้นทะเบียนและขออนุญาตนำเข้า สารเคมีชนิดนี้นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมหลายประเภท เช่น อุตสาหกรรมกาว อุตสาหกรรมสีอุตสาหกรรมชุบโลหะด้วยไฟฟ้า เป็นต้น โดยนิยมใช้โทลูอีนมาเป็นตัวทำละลาย ลักษณะทางกายภาพของสารเป็นของเหลวใส มีคุณสมบัติไม่ละลายน้ำ มีกลิ่นคล้ายสีทาบ้านหรือทินเนอร์ สำหรับคุณสมบัติทางเคมี โทลูอีนมีสูตรทางเคมีว่า C6H5CH3 จุดเดือดอยู่ที่ 110.6 ๐C จุดหลอมเหลวที่ -95๐C ความหนาแน่น 0.86 g/ml สามารถติดไฟด้วยตัวเองได้ที่ 480๐C โทลูอีนจัดอยู่ในกลุ่มสารเคมีที่เรียกว่าสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile Organic Compounds หรือสาร VOCs) มีคุณสมบัติที่สำคัญคือ ระเหยเป็นไอได้ง่ายที่อุณหภูมิและความดันปกติ ซึ่งสารประกอบกลุ่มนี้ โมเลกุลส่วนใหญ่ประกอบด้วยอะตอมของคาร์บอนและไฮโดรเจนเป็นองค์ประกอบหลัก อาจมีออกซิเจน คลอไรด์ ฟลูออไรด์ โบรไมด์ ซัลเฟอร์และไนโตรเจนมาร่วมด้วย
ความเป็นพิษของโทลูอีนคือ หากสูดดมไอระเหยเป็นเวลานาน อาจทำให้เซลล์เม็ดเลือดผิดปกติ และมีผลต่อไขกระดูก หากสูดดมในระยะสั้น อาจทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ มึนงง อ่อนเพลีย คลื่นไส้ เบื่ออาหาร เป็นต้น หากสัมผัสถูกผิวหนังจะทำให้เกิดอาการระคายเคือง และหากสัมผัสถูกผิวหนังที่เดิมบ่อยๆ จะทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นแห้งและอักเสบ เพราะโทลูอีนจะเข้าไปละลายชั้นไขมันใต้ผิวหนัง มีผลทำให้ระคายเคืองต่อดวงตา อาจทำอันตรายต่อการปฏิสนธิหรือทารกในครรภ์ หากได้รับในปริมาณสูงอาจทำให้เสียชีวิตได้
ข้อควรปฏิบัติและอุปกรณ์ หากมีการใช้โทลูอีนคือ ต้องปฏิบัติงานในตู้ดูดควันในบริเวณที่อากาศถ่ายเทสะดวก สวมอุปกรณ์ป้องกันเช่น ถุงมือชนิดทนสารเคมี สวมแว่นตาป้องกันสารเคมี ระวังอย่าหายใจเอาไอระเหยเข้าไป ระวังอย่าให้เข้าตา โดนผิวหนังหรือเสื้อผ้า หลีกเลี่ยงการได้รับสารเป็นเวลานานหรือซ้ำบ่อยๆ ต้องมีฝักบัวนิรภัยและอ่างล้างตา และหลังการปฏิบัติงานต้องล้างมือทุกครั้ง และอาบน้ำหากมีการสัมผัสสารเคมี
ข้อปฏิบัติกรณีเกิดการหกรั่วไหล คือ อพยพคนออกจากบริเวณนั้นๆ ปิดแหล่งกำเนิดประกายไฟทุกชนิด ใช้เครื่องมือที่ไม่ก่อให้เกิดประกายไฟ ต้องสวมอุปกรณ์ป้องกันแบบครบชุด ทั้งหน้ากากป้องกันไอระเหย รองเท้าบู๊ท และถุงมือยาง ใช้ทราย โซดาแอชหรือปูนขาวแห้ง ดูดซับบริเวณที่เกิดการหก แล้วเก็บในภาชนะที่ปิด เคลื่อนย้ายออกสู่ที่โล่ง
การปฐมพยาบาลคือ เมื่อสูดดมสารให้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปที่ที่อากาศบริสุทธิ์ เมื่อสัมผัสสารให้ล้างผิวหนังทันทีด้วยสบู่และน้ำปริมาณมาก เมื่อสารเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำปริมาณมากเป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาที แล้วรีบไปพบแพทย์ โดยนำฉลากของสารไปด้วย
การเก็บรักษา คือ ต้องเก็บในภาชนะปิดสนิท เก็บให้ห่างจากความร้อน ประกายไฟและเปลวไฟ
หากเกิดการรั่วไหลหรือเพลิงไหม้ของโทลูอีนจะเป็นการเพิ่มปริมาณการสะสมโทลูอีนในบรรยากาศ เนื่องจากโทลูอีนสามารถอยู่ในชั้นบรรยากาศที่มีโอโซนและแสงแดดได้นานถึง 27,950 วัน หรือประมาณ 76 ปี อาจส่งผลเสียต่อลูกหลานของเราในอนาคต เราจึงควรตระหนักและมีความรู้เกี่ยวกับโทลูอีนให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เสียหายขึ้น
นิรัญ สนุ่นดี
ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี