วันพฤหัสบดี ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ผู้หญิง
ต้นทุเรียนของพ่อ

ต้นทุเรียนของพ่อ

วันเสาร์ ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2566, 06.00 น.
Tag : ต้นทุเรียน
  •  

ทุเรียนก้านยาวต้นนี้ ฉันได้รับพระราชทานเมล็ดจากในหลวง รัชกาลที่ 9 หลังจากฉันทูลเกล้าฯถวายผลทุเรียนแด่พระองค์ท่าน วันนี้ต้นทุเรียนอายุ 10 ปีแล้ว ฉันถือเป็นบุญของฉันที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากในหลวง รัชกาลที่ 9

ไลฟ์ วาไรตี สัปดาห์นี้ ดร.เฉลิมชัย ยอดมาลัย นำคุณไปสนทนากับ ป้าต้อย-นางมะลิวัลย์ หาญใจไทย เจ้าของสวนทุเรียน ป้าต้อย ลุงหมู จังหวัดนนทบุรีป้าต้อยเน้นว่าภาคภูมิใจมากกับการเก็บรักษาสวนทุเรียนของเมืองนนท์ ไว้ได้จนถึงทุกวันนี้ และปลื้มใจมากที่มีโอกาสทูลเกล้าฯ ถวายทุเรียนแด่ในหลวง รัชกาลที่ 9 


l สวัสดีครับป้าต้อย เรียนถามว่าต้นทุเรียนที่เรากำลังยืนอยู่ข้างหน้านี้ มีความเป็นมาอย่างไรครับ 

ป้าต้อย : (ยกมือขึ้นไหว้ต้นทุเรียน) ต้นนี้ฉันและครอบครัวของฉันรักและเคารพมากเหลือเกินค่ะ เพราะเป็นต้นที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากในหลวง รัชกาลที่ 9 พระราชทานเมล็ดคืนให้ฉัน เมื่อครั้งที่ฉันทูลเกล้าฯ ถวายผลทุเรียนก้านยาวแด่พระองค์ท่าน เมื่อครั้งประทับรักษาพระวรกาย ณ โรงพยาบาลศิริราช เมื่อปี 2556 บัดนี้ต้นทุเรียนนี้อายุ 10 ปีแล้ว เป็นมิ่งเป็นขวัญแก่ฉันและครอบครัวฉันมากเลยค่ะ (ยกมือขึ้นไหว้ต้นทุเรียน) 

l มีป้ายติดว่า ต้นทุเรียนพันธุ์ก้านยาวจากสวนป้าต้อย-ลุงหมู จ.นนทบุรี ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 แล้วพระราชทานเมล็ดกลับคืนมา เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2556 ปี นับได้ว่าเป็นต้นไม้ประวัติศาสตร์ต้นหนึ่งของประเทศไทย และเป็นเกียรติประวัติแก่สวนของป้าต้อยกับลุงหมูมากอย่างสุดจะกล่าวพรรณาได้เลยนะครับป้า

ป้าต้อย : ใช่ค่ะ ฉันก็ดีใจจนไม่รู้จะกล่าวอะไรได้ ทุกวันก็จะดูแลบำรุงต้นให้เติบโตงอกงามเป็นอย่างดี

l ทุเรียนต้นนี้ยังไม่ออกผลใช่ไหมครับ

ป้าต้อย : ยังค่ะ เพราะเป็นต้นที่ปลูกจากเมล็ด จึงออกผลช้า น่าจะ 10 กว่าปีไปแล้ว แต่ต้นที่มาจากเมล็ดจะแข็งแรงมาก แม้จะให้ผลช้าก็ตาม 

l ปกติทุเรียนที่ให้ผลเร็ว มาจากกรรมวิธีการปลูกแบบไหนครับ

ป้าต้อย : การเสียบกิ่งต่อยอดค่ะ คือใช้ต้นพันธุ์พื้นเมืองที่แข็งแรง แล้วนำกิ่งหรือยอดทุเรียนพันธุ์ดีไปต่อยอดเสียบกิ่งค่ะ แบบนั้นจะให้ผลเร็ว 3-4 ปี ก็ให้ผลแล้ว 

l สวนทุเรียนนี้มีพื้นที่ทั้งหมดกี่ไร่ครับ อายุของสวนกี่ปีแล้วครับ

ป้าต้อย : มีประมาณ 4 ไร่ค่ะ เป็นสวนเก่าแก่รุ่นปู่ยาตายาย ครอบครัวฉันรับมรดกตกทอดมาจากพ่อแม่ฉันพยายามเก็บรักษาไว้ให้ลูกให้หลานต่อไป เพราะไม่อยากให้ทุเรียนนนท์หมดไปค่ะ

l สวนของป้ามีทุเรียนพันธุ์อะไรบ้างครับ

ป้าต้อย : มีก้านยาว หมอนทอง แล้วก็มีพวกเบญจพรรณ หลายชนิดเลยค่ะ เช่น  รวง กบ กระดุม ชะนี และหมอนทอง เป็นต้น แต่กบจะเยอะสักหน่อยค่ะ เพราะคนพื้นเมืองบอกว่ากบอร่อย รสชาติดี ก็ปลูกไว้มากสักหน่อย

l ทุเรียนนนท์ ที่ชื่อดังที่สุดคือพันธุ์อะไรครับ เพราะอะไรครับ แล้วก้านยาวรสชาติต่างจากชะนีอย่างไรครับ

ป้าต้อย : ก้านยาวเมืองนนท์ค่ะ เพราะรสชาติดีไม่หวานแหลม กินอร่อย กลิ่นไม่แรงจนเกินไป เนื้อก็ละมุนมากด้วยค่ะ ส่วนชะนีจะหวานแหลมกว่า กลิ่นก็แรงกว่าด้วย แต่ก็มีคนนิยมไม่น้อยนะคะ

l ป้าครับ ระยะหลังๆ นี้ทุเรียนก้านยาวนนท์มีราคาดีมาก สาเหตุเพราะอะไรครับ

ป้าต้อย : เพราะสวนทุเรียนนนท์เหลือน้อยลงทุเรียนก็มีน้อยลง เพราะต้นตายไปเยอะมากเมื่อปี 2554ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ในเมืองนนท์ และกรุงเทพฯด้วย สวนทุเรียนล่มกันเยอะมากในปีนั้น 

l ปกติต้นทุเรียนจะตายในกี่วันหากถูกน้ำท่วม

ป้าต้อย : แค่อาทิตย์เดียวก็ไม่รอดแล้วค่ะ ใบตกก็ตายแล้ว ทุเรียนเป็นต้นไม้ที่เลี้ยงยากพอสมควรค่ะไม่ชอบน้ำท่วมน้ำขัง

l ปี 2554 สวนของป้ารอดจากน้ำท่วมใช่ไหมครับ เพราะอะไรครับ

ป้าต้อย : รอดค่ะ เพราะน้ำเข้ามาไม่ถึง เนื่องจากเขาล้อมกันน้ำกันที่รอบๆ สวน จึงโชคดีที่น้ำไม่มาท่วมสวนป้า แต่สวนทุเรียนนนท์ส่วนมากจมน้ำตายไปเยอะมาก เสียดายจังเลยค่ะ 

l จึงเป็นเหตุให้ทุเรียนนนท์มีราคาแพง ใช่ไหมครับ

ป้าต้อย : ค่ะ ใช่ค่ะ สวนเหลือน้อย ทุเรียนมีน้อยราคาก็แพงขึ้น แล้วที่สำคัญเจ้าของสวนทุเรียนหลายรายก็ขายที่ เพราะทำต่อไม่ไหว สวนทุเรียนก็เหลือน้อยลงทุกวัน เหลือเพียงไม่กี่สวนแล้ว

l สวนของป้ามีทุเรียนทั้งหมดกี่ต้นครับ พันธุ์อะไรบ้างครับ

ป้าต้อย : มีก้านยาว 70 ต้นค่ะ แล้วที่เหลือก็พันธุ์อื่นๆ บ้างค่ะ 

l 70 ต้นนี้ให้ผลดีไหมครับ

ป้าต้อย : บางต้นที่อายุมากก็ให้ผล ส่วนต้นที่อายุยังน้อยก็ยังไม่ให้ผลค่ะ 

l มีต้นไหนครับที่อายุมากที่สุด อายุกี่ปีครับ

ป้าต้อย : ต้นโน้น (ชี้ไปหลังสวน) อายุ 90 ปีแล้วค่ะ เป็นก้านยาวที่นำผลไปทูลเกล้าฯ ถวายในหลวง รัชกาลที่ 9 ค่ะ เป็นต้นดั้งเดิมตั้งแต่รุ่นปู่ยาตายาย 

l ตามความนิยมของชาวสวนทุเรียน ต้องเลือกทุเรียนแบบไหนที่กินแล้วอร่อยที่สุดครับ

ป้าต้อย : คือต้องเลือกลูกที่สุกพอดี สุกพอดีแล้วเก็บไปไว้สามคืน ทุเรียนที่เก็บไว้สามคืนจะแกะง่าย เมื่อแกะเนื้อแล้ว เนื้อจะร่อนไม่ติดเปลือก ทานได้พอดีเลยค่ะ ทุเรียนที่ดีคือต้องไม่แก่ไม่อ่อนเกินไป 

l เราดูอายุของทุเรียนที่พร้อมจะตัดได้จากอะไรบ้างครับ

ป้าต้อย : ใช้การนับวันค่ะ เริ่มดูจากเมื่อดอกบาน เรานับวันหลังจากดอกบาน ชาวสวนจะรู้ว่าเมื่อดอกบานวันนี้ เราจะตัดทุเรียนได้วันไหน เช่น ก้านยาวประมาณ 110 วัน หมอนทอง 120 วัน พวกกระดุม รวง 90 วันประมาณนี้ค่ะ เราต้องนับวันจากดอกบานเป็นหลัก นอกจากนี้ยังต้องดูสภาพดินฟ้าอากาศประกอบด้วย เช่น ถ้าฝนตกบ่อย ก็จะต้องตัดช้าออกไปสัก 2-3 วัน แต่ปกติแล้วทุเรียนไม่ชอบฝนชุกเกินไป ยิ่งถ้าฝนหนักช่วงออกดอก ดอกจะร่วง ทุเรียนนั้นดูแลยากพอสมควรเลย อากาศเย็นเกินไปก็ไม่ชอบอีก ฝนมากก็ไม่ได้ แล้งมากก็ตาย เอาใจยากค่ะ ต้องดูแลเขาดีๆ 

l สวนทุเรียนของป้ามีสี่ไร่ ต้องใช้แรงงานดูแลกี่คนครับ

ป้าต้อย : ปกติป้าดูแลกับลุงสองคนเท่านั้น ยกเว้นเวลามีงานใหญ่ ก็จึงจะจ้างคนมาช่วย เช่น ลอกท้องร่องประจำทุกๆ สองปี หรือการพรวนดินรอบต้นทุเรียนทุกต้นค่ะ แบบนี้เราทำเองไม่ไหว เราต้องจ้างคนมาช่วยเราค่ะ 

l มีอยู่ปีหนึ่งเป็นข่าวใหญ่มาก เพราะทุเรียนจากสวนป้าราคาผลละ 1 ล้าน 5 แสนบาท เกิดอะไรขึ้นมาครับ ทำไมแพงได้ถึงเพียงนั้น

ป้าต้อย : ในปี 2562 มีการประมูลทุเรียนก้านยาวเพื่อหาเงินสมทบทุนซื้อเครื่องมือแพทย์ให้โรงพยาบาลสมเด็จพระนั่งเกล้า ปีนั้นทุเรียนก้านยาวมีน้อยด้วย ก็จึงประมูลกันด้วยราคาที่สูง เพราะนำเงินไปให้โรงพยาบาล เราเรียกว่าทุเรียนบุญค่ะ ปีนั้นก้านยาวในสวนเมืองนนท์ มีน้อยจนนับลูกได้เลยค่ะ จึงประมูลด้วยราคาแพง เพราะอยากได้เงินมากๆ เอาไปทำบุญค่ะ

l ทุกวันนี้คนจะกินทุเรียนเมืองนนท์ โดยเฉพาะจากสวนของป้า ต้องทำอย่างไรครับ เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้กิน 

ป้าต้อย : ถ้าเป็นขาประจำของเราก็จะมาจองก่อนเมื่อเห็นว่าทุเรียนออกดอก เช่น ในช่วงเดือนมีนาฯ เมษาฯก็จะโทรฯ มาจอง เราก็ต้องดูว่าปีนี้จะได้ทุเรียนกี่ลูก ก็จะรับจองตามที่มีเท่านั้น แต่การจองจริงๆ เราจะดูจากผลทุเรียนที่ติดลูกแล้ว เพราะดูจากดอกอย่างเดียวไม่ได้ เนื่องจากบางดอกก็ไม่ติดผล แล้วรอจนกว่าผลจะแก่ตัดได้ ก็มาคิดจากน้ำหนักว่ากี่กิโลกรัม แล้วคิดราคากัน
ราคาตกกิโลกรัมละ 5 พันบาท นี่คือราคากลางที่ตั้งกันไว้ในขณะนี้ 

l ผมกลับมาถามป้าเรื่องการคัดเลือกทุเรียนเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายครับ ป้าเลือกอย่างไร

ป้าต้อย : ต้องเลือกต้นก่อน แล้วจึงเลือกผล เพราะต้นที่ให้ผลดี จะให้ผลมีรสชาติอร่อย เนื้อดี แล้วก็ต้องคัดเลือกต้นสำรองไว้ด้วย เผื่อว่าลูกที่เราคิดไว้ ก่อนนั้นอาจจะมีปัญหา หรืออาจจะร่วงหล่นไปก่อน ก็ต้องมีต้นสำรองไว้ แล้วเลือกผลที่สมบูรณ์ที่สุด สวยที่สุด เพราะเรานำไปทูลเกล้าฯ ถวายในหลวงของเรา เราต้องเลือกที่ดีที่สุด

l ป้าทูลเกล้าฯ ถวายพันธุ์อะไรบ้างครับ 

ป้าต้อย : ก้านยาวกับหมอนทองค่ะ แต่สวนใหญ่จะเป็นก้านยาว 

l กราบเรียนถามป้าว่านำไปทูลเกล้าฯ ถวายได้อย่างไรครับ

ป้าต้อย : ฉันอยากทูลเกล้าฯ ถวายพระองค์ท่านมานานแล้ว แต่ไม่รู้จะเข้าไปถวายอย่างไร จนปีหนึ่งผู้ว่าฯ นนท์ (นายวิเชียร พุฒิวิญญู) มาถามฉันว่าจะทูลเกล้าฯ ถวายทุเรียนหรือไม่ ฉันตอบว่าถวายค่ะ ผู้ว่าฯวิเชียรมาตัดผลทุเรียนด้วยตัวเองเลยค่ะ เราทุกคนช่วยกันเลือกผลที่งามที่สุด โดยทูลเกล้าฯ ถวายทุเรียนก้านยาว หมอนทอง และมังคุดด้วย ปลื้มใจมากที่สุดเลยค่ะ ไปทูลเกล้าฯ ถวายที่โรงพยาบาลศิริราช จากนั้นพระองค์ท่านพระราชทานเมล็ดก้าวยาวกลับคืนมา ฉันก็นำมาปลูกไว้ตามที่เราได้เห็นกันไปแล้วนะคะ

l ป้ายังได้เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายทุเรียนแด่สมเด็จกระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หลายครั้ง พระองค์ท่านรับส่งอะไรกับป้าบ้างครับ

ป้าต้อย : ทรงให้กำลังใจในการดูแลสวนทุเรียน ทรงถามว่าปัญหาการปลูกอะไรบ้าง ฉันก็กราบบังคมทูลไปตามสถานการณ์ของปีต่างๆ เช่น ปีนี้ฝนแล้ง น้ำน้อย ต้องใช้น้ำประปาช่วย พระองค์ท่านก็พระราชทานกำลังใจให้ทุกครั้ง นับเป็นบุญของฉัน และคนในครอบครัวของฉันรวมถึงชาวสวนทุเรียนนนท์ทุกคนด้วย 

l เรียนถามป้าเรื่องการดูแลต้นทุเรียนครับ ต้องพิถีพิถันมากแค่ไหนครับ อะไรคือปัญหาใหญ่ที่สุดของการดูแลครับ และป้ามีข้อแนะนำผู้ต้องการปลูกทุเรียนอย่างไรบ้างครับ

ป้าต้อย : ทุเรียนเป็นต้นไม้ที่ต้องการการเอาใจใส่มาก โดยเฉพาะเมื่อเขายังเล็กๆ ต้องมีต้นไม้บังร่มบังเงาให้เขาด้วย ต้องปลูกไม้บังแดดให้เขาก่อน เมื่อเขาโตเต็มที่จึงตัดไม้บังเงาออก เพื่อให้เขาเติบโตเต็มที่ ขยายกิ่งก้านได้สะดวก ดังนั้นตอนเขายังเล็กๆ ก็จึงต้องปลูกมังคุด ทองหลาง กล้วยให้เขามีที่บังเงา ทุเรียนไม่ชอบน้ำขัง เวลาปลูกต้องยกโคกสูงประมาณ 1 เมตร ให้เขาด้วยเพื่อป้องกันน้ำขัง ไม่ควรจะเข้าไปเหยียบโคนต้นของเขามากๆ เพราะเมื่อดินแน่นเกินไป เขาก็ไม่เติบโต ต้องพรวนดินให้เขาเป็นประจำ เพื่อให้น้ำและอากาศลงไปที่รากได้สะดวก ต้องดายหญ้าให้เขาด้วย อย่าปล่อยให้หญ้ารกมากๆ จนแย่งอาหารจากเขา แล้วก็ต้องให้อาหารบำรุงเข้าเป็นระยะๆ เช่น ในน้ำหมักปลารดต้นให้เขา อย่างที่สวนนี้ก็ลอกท้องร่องทุกๆ สองปี เอาปุ๋ยจากท้องร่องขึ้นมาให้เขา หลังจากตัดลูกเขาแล้ว ก็ต้องให้ปุ๋ยเขาด้วย เพื่อบำรุงต้นให้แข็งแรง เร่งการแตกใบอ่อน ป้าไม่เน้นการใช้ปุ๋ยเคมีค่ะ เราเน้นปุ๋ยธรรมชาติเป็นหลัก ใช้ปุ๋ยคอก น้ำหมักปลาดีที่สุด ดินดีด้วย และต้องตัดแต่งกิ่งให้เขาเป็นระยะๆ และต้องสังเกตดูด้วยว่าเขามีปัญหาอะไรบ้าง เช่น ใบมีเชื้อราหรือไม่ ก็ต้องรีบแก้ปัญหา เชื้อราจะเกิดในช่วงหน้าฝนค่ะ 

l ทุเรียนหนึ่งต้นให้ผลผลิตที่เก็บไปขายได้จำนวนกี่ผลครับ

ป้าต้อย : ขึ้นกับขนาดของต้น ต้นใหญ่ก็ให้ผลมากแต่ก็ไม่สามารถเก็บผลทั้งหมดไว้ได้ เพราะมันจะทำให้ต้นตาย และผลไม้มีคุณภาพที่ดี เราต้องตัดผลที่มากเกินไปทิ้ง เพื่อให้ผลที่เหลือได้รับอาหารที่เพียงพอ และไม่ให้ต้นหนักเกินไป เพราะอาจทำให้กิ่งฉีกหักได้ เมื่อผลมีมากจนเกินไป เราต้องช่วยพยุงกิ่งให้เขาด้วยการโยงด้วยเชือก ต้องใช้แรงคนทำเรื่องเหล่านี้ เพราะต้องทำด้วยความทะนุถนอมต้นด้วย ต้องหาไม้ค้ำกิ่ง ค้ำต้น เวลาที่ต้นออกผลมากๆ เพื่อป้องกันกิ่งหัก หรือต้นโค่นล้มตามปกติต้นหนึ่งๆ จะปล่อยให้มีลูกประมาณ 30-40 ลูกหากเป็นต้นใหญ่และสมบูรณ์มากๆ แต่ถ้าเป็นก้านยาวเราจะเหลือไว้เพียง 14-15 ลูกเท่านั้น ถ้ายิ่งต้นเล็กก็จะเหลือไว้เพียง 5-10 ลูกเท่านั้น เพื่อให้ลูกทั้งหมดได้รับอาหารเพียงพอ เพราะจะให้รสชาติดีขึ้น เนื้อดีขึ้น

l น้ำในท้องร่องในสวนเป็นน้ำจากแม่น้ำหรือน้ำฝนครับ

ป้าต้อย : น้ำในแม่น้ำใช้ไม่ได้เลย เพราะสกปรกมาก มีน้ำเสียจากบ้านเรือนลงไปเยอะมาก เอามาใช้รดทุเรียนไม่ได้เลย ตายหมดทั้งสวน ต้องใช้น้ำฝน หรือหากฝนไม่พอ ก็ต้องใช้น้ำประปา ค่าน้ำประปาในช่วงฝนทิ้งช่วงจึงแพงมาก เดือนๆ หนึ่งหลายพันเลย ปีไหนมีฝนดี เราก็ประหยัดค่าน้ำประปาได้เยอะ แต่ปีไหนฝนแล้ง เราก็ต้องจ่ายค่าน้ำประปาเดือนๆ หนึ่งหลายบาท ขอบอกเลยว่าการทำสวนทุเรียนไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เราก็ต้องทำต้องรักษาไว้ เพราะมันคือมรดกของเรา และมรดกของเมืองนนท์ ยิ่งต้นทุเรียนของพ่อในสวนของเรานั้น ป้ายิ่งต้องรักษาไว้ให้ดีที่สุด เพราะเป็นมิ่งเป็นขวัญของสวนเรา และของจังหวัดนนทบุรี 

คุณสามารถรับชมรายการไลฟ์ วาไรตีรายการที่ให้ทั้งสาระและความรู้ออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา 14.05-14.30 น. ทางโทรทัศน์ NBTช่องหมายเลข 2 และชมรายการย้อนหลังได้ที่ YouTube ไลฟ์ วาไรตี

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

  •  

Breaking News

รวบหนุ่มเสพยา-ชิงแท็กซี่หนีกบดานในโรงแรม

รวบคาบ้าน! อดีตข้าราชการระดับสูง เอี่ยวขบวนการออกโฉนดรุกป่าชายเลน

‘ธรรมนัส​’โผล่ทำเนียบรัฐบาล​ อ้างแค่แวะกินกาแฟ​

TRUE แจงด่วน! ขออภัยเหตุขัดข้องที่เกิดขึ้น กำลังเร่งแก้ไข ยันดีแทคใช้ได้ปกติ

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved