วันเสาร์ ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ผู้หญิง
วธ. แถลงผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2565 ‘เบิร์ด-ธงไชย’ และ ‘สมเถา สุจริตกุล’ คว้าสาขาศิลปะการแสดง

วธ. แถลงผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2565 ‘เบิร์ด-ธงไชย’ และ ‘สมเถา สุจริตกุล’ คว้าสาขาศิลปะการแสดง

วันอังคาร ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2566, 06.00 น.
Tag : วธ. ศิลปินแห่งชาติ
  •  

กระทรวงวัฒนธรรม ประกาศผลการคัดเลือก ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2565 ทั้งหมด 12 ราย หนึ่งในนั้นคือ เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ ได้รับเลือกในสาขาศิลปะการแสดง ด้านดนตรีไทยสากล-ขับร้อง รวมถึง สมเถา สุจริตกุลด้านดนตรีสากล-ประพันธ์เพลงร่วมสมัยและ “ราชินีหมอลำซิ่ง” นางราตรี ศรีวิไล ด้านหมอลำประยุกต์ ขณะที่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พิษณุ ศุภนิมิต ในสาขาทัศนศิลป์ ด้านภาพพิมพ์ และ ศาสตราจารย์ เกริก ยุ้นพันธ์ สาขาวรรณศิลป์ ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2527-2565 มีศิลปินแห่งชาติได้รับการยกย่องทั้งหมด 354 ราย

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.)ในฐานะรองประธานกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) แถลงผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ ปี 2565 จำนวน 12 คน ดังนี้ สาขาทัศนศิลป์ 4 คน ได้แก่ ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ พิษณุ ศุภนิมิต (ภาพพิมพ์) นายเจตกำจร พรหมโยธี (สถาปัตยกรรมผังเมือง) นายดิเรก สิทธิการ (งานสลักดุนเครื่องเงินและโลหะ) นายฤกษ์ฤทธิ์ แก้ววิเชียร (สถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์)


สาขาวรรณศิลป์ 2 คน ได้แก่ ศาสตราจารย์เกริก ยุ้นพันธ์ และ นายบุญเตือน ศรีวรพจน์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอักษรศาสตร์ สำหรับสาขาศิลปะการแสดง มี 6 คน ได้แก่ นางนพรัตน์ศุภาการหวังในธรรม (ละครรำ) นายสมชายทับพร (ดนตรีไทย- ขับร้อง) นางราตรี ศรีวิไล (หมอลำประยุกต์) นายธงไชยแมคอินไตย์ (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง)นายสมเถา สุจริตกุล (ดนตรีสากล-ประพันธ์เพลงร่วมสมัย) นายประดิษฐ ประสาททอง (ละครร่วมสมัย)

ทั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จะทำหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสนำศิลปินแห่งชาติ พ.ศ.2565ทั้ง 12 คน เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานโล่และเข็มเชิดชูเกียรติ ในวัน เวลา ตามแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ และจัดงานนิทรรศการเพื่อเผยแพร่ประวัติผลงานของศิลปินแห่งชาติให้ประจักษ์ต่อสาธารณะ ต่อไป

สาขาทัศนศิลป์ (ภาพพิมพ์) ศาสตราจารย์เกียรติคุณพิษณุ ศุภนิมิตรเจ้าของนามปากกา “พิษณุ ศุภ.” เป็นศิลปิน นักประพันธ์ นักวิจารณ์ศิลปะและอาจารย์สอนศิลปะ ที่มุ่งมั่นการเผยแพร่และการถ่ายทอดผลงานต่อสาธารณชนในประเทศและต่างประเทศ มีผลงานแพร่หลายทั้งนิทรรศการเดี่ยวและนิทรรศการกลุ่ม นอกจากนั้น ยังสร้างชื่อเสียงทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ได้รับรางวัลจากการสร้างสรรค์ผลงานหลายครั้ง อาทิ รางวัลเหรียญทองศิลปกรรมแห่งชาติ 2 ครั้ง และรางวัลจากต่างประเทศ 2 ครั้ง ผลงานศิลปะชุดที่สร้างชื่อเสียงโดดเด่น คือ ศิลปะนามธรรม (Abstract art) ได้รับแรงบันดาลใจความงดงามของรูปทรงจากธรรมชาติ อีกทั้ง ความภาคภูมิใจอันเป็นเกียรติประวัติสูงสุด คือการถวายงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยเป็นหัวหน้าคณะทำงานหนังสือภาพประกอบ “พระมหาชนก” และหนังสือเรื่อง “ทองแดง”

สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรมผังเมือง) นายเจตกำจร พรหมโยธี อดีตนายกสภาสถาปนิก และอดีตนายกสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย เป็นสถาปนิกผู้มีศักยภาพในการบุกเบิกริเริ่มโครงการต่างๆ ควบคู่กับการดำเนินโครงการที่มาจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างเกียรติประวัติให้กับวงการสถาปนิกไทย รวมทั้งเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันกิจกรรมวงการสถาปนิกของ สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์เผยแพร่และถ่ายทอดผลงานสร้างสรรค์ โดยสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่ประจักษ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

สาขาทัศนศิลป์ (งานสลักดุนเครื่องเงินและโลหะ) นายดิเรก สิทธิการประกอบอาชีพหัตถกรรมเกี่ยวกับการดุนสลักโลหะเครื่องเขินและเครื่องเงิน ที่ชาวบ้านเรียกว่า “ต้องสลุง” ซึ่งได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคนได้สร้างคุณูปการด้วยการพัฒนางานหัตถศิลป์ของชาติมาตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี อีกทั้ง ได้สร้างงาน สร้างอาชีพให้แก่คนในชุมชน สืบสาน รักษาและต่อยอดงานหัตถศิลป์ “ต้องสลุง” ให้คงอยู่คู่ท้องถิ่นถือเป็นผู้ทรงภูมิปัญญา เป็นที่ยอมรับของสังคม ด้วยมีผลงานเป็นที่ประจักษ์จึงได้รับการยกย่องเป็นครูศิลป์ของแผ่นดินพ.ศ.2544 ปัจจุบันยังคงถ่ายทอดความรู้งานดุนสลักโลหะหรือต้องสลุงสู่คนรุ่นหลัง ด้วยมุ่งหวังสืบสานงานประณีตศิลป์แขนงนี้ให้คงอยู่ตลอดไป

สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์) นายฤกษ์ฤทธิ์ แก้ววิเชียร อดีตนายกสมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย 2 สมัย และเป็นรองประธานสภาสถาปนิก ฝ่ายสถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์ ศิลปินผู้คร่ำหวอดในงานสถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์มากว่า 60 ปี นอกจากการเป็นสถาปนิกแล้ว ยังเป็นวิทยากรผู้บรรยาย และอาจารย์พิเศษถ่ายทอดความรู้ให้แก่นิสิต และนักศึกษาในหลายสถาบัน อีกทั้ง ผลงานสถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์ต่างๆ ที่ออกแบบและตกแต่งล้วนเป็นที่ได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและระดับนานาชาติโรงแรมในประเทศ รวมทั้งยังได้ออกแบบและตกแต่งภายในให้แก่หน่วยงาน ธนาคาร ห้างร้านต่างๆ และบ้านพักอาศัยของบุคคลที่มีชื่อเสียงเป็นจำนวนมาก

สาขาวรรณศิลป์ ศาสตราจารย์เกริก ยุ้นพันธ์ เคยดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำาสาขาวิชาเอกวรรณกรรมสำหรับเด็กภาควิชาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และเป็นเจ้าของพิพิธภัณฑ์ล้านของเล่นเกริกยุ้นพันธ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นศิลปินที่มุ่งมั่นสร้างผลงานวรรณศิลป์ประเภทหนังสือบันเทิงคดีสำหรับเด็ก โดยมีแนวคิด คือ สนุก สร้างสรรค์ สื่อสาร สวยงาม และส่งเสริมทัศนคติที่ดี อันได้แก่ ความดี ความงามและความรัก มีผลงานทั้งหมด 84 เรื่อง มีลักษณะสืบสานความเป็นไทยและสื่อความเป็นสากลผ่านกลวิธีนำเสนอที่สอดคล้องกับความเป็นหนังสือสำหรับเด็กและเยาวชน โดยได้รับรางวัลระดับชาติและนานาชาติมากมาย อีกทั้ง ได้พัฒนาและสร้างคุณูปการต่อวงการวรรณกรรมสำหรับเด็กและเยาวชนของไทยที่มีคุณภาพและคุณค่า เสริมสร้างจินตนาการและทัศนคติที่ดี รวมทั้งความบันเทิงให้แก่เด็กและเยาวชนไทย

สาขาวรรณศิลป์ นายบุญเตือนศรีวรพจน์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอักษรศาสตร์ สร้างสรรค์งานที่เกี่ยวข้องกับภาษาและวรรณคดีไว้เป็นจำนวนมาก ได้แก่ กวีนิพนธ์ สารคดี บทความ และงานตรวจสอบชำระวรรณคดีไทยอย่างต่อเนื่อง เน้นการสืบทอดรูปแบบวรรณศิลป์ไทยที่บูรพกวีกำหนดแบบแผนมาแต่โบราณ โคลงอัฏฐมราชสดุดี เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รวมทั้งแต่งคำประพันธ์ในวาระสำคัญต่างๆ เช่น วันเฉลิมพระชนมพรรษาและวันประสูติของพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ วันสำคัญทางศาสนาในนามของกระทรวงวัฒนธรรมและกรมศิลปากร ตรวจสอบชำระวรรณคดีไทยและพิมพ์เผยแพร่สู่สาธารณชน เช่น ไตรภูมิ เอกสารจากหอสมุดแห่งชาติ กรุงปารีส (2554) นิราศหนองคาย (2559) จินดามณี ฉบับสมเด็จพระปรมานุชิต (2560) เป็นต้น ได้สร้างคุณูปการต่อวงการวรรณศิลป์ทางภาษาและวรรณคดีไว้มากมาย ซึ่งเป็นรากและมรดกทางวรรณศิลป์ที่แสดงอัตลักษณ์สำคัญยิ่งของสังคมไทยที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน

สาขาศิลปะการแสดง (ละครรำ)นางนพรัตน์ศุภาการ หวังในธรรมผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ไทย วิทยาลัยนาฏศิลป์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์จนถึงปัจจุบัน รวมถึงเป็นอาจารย์พิเศษสอนนาฏศิลป์ไทยให้แก่สถาบันการศึกษาต่างๆ เมื่อครั้งที่ยังศึกษาด้านนาฏศิลปนางนพรัตน์ศุภาการ หวังในธรรม ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะการแสดงทางด้านนาฏศิลป์ไทยจากปรมาจารย์ทางด้านละครรำในคณะละครของเจ้านายและผู้มีบรรดาศักดิ์ จึงเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการละครรำแนวอนุรักษ์อย่างสูงยิ่ง ได้รับเลือกให้แสดงบทบาทตัวเอกและตัวรองในการแสดงโขน ละครใน และละครนอก ละครพันทาง ละครดึกดำบรรพ์ และละครหลวงวิจิตรวาทการ รวมถึงการแสดงเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมทั้งที่แสดงเป็นเรื่องราวและแสดงเป็นชุดวิพิธทัศนาในต่างประเทศหลายครั้ง สร้างสรรค์ผลงานทางด้านนาฏศิลป์จนเป็นที่ยอมรับทั้งในแวดวงวิชาการและวิชาชีพ สร้างชื่อเสียงทั้งในระดับชาติและนานาชาติ จนได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติมากมาย

สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย-ขับร้อง) นายสมชาย ทับพร เป็นผู้ที่มีพรสวรรค์ทั้งทางดนตรีและทางขับร้อง มีผลงานประพันธ์เพลงใหม่ๆ ออกมาจำนวนมาก อาทิ บุหงามาลตี โชคดีปีใหม่เริงสามัคคี เริงกลองยาว ระบำอัปสรานฤมิต ฯลฯ สร้างเพลงร้องใหม่มากมาย โดยเฉพาะเพลงสำเนียงภาษา ทางร้องเพลงพม่า-มอญ จำนวนกว่า 40 เพลง เพื่อใช้ในละครเรื่องผู้ชนะสิบทิศ ทางร้องสำเนียงจีนใหม่เพื่อใช้ในละครเรื่องสามก๊ก กั้นหยั่นคู่ทางร้องเพลงสำเนียงแขกใหม่ เพื่อใช้ในละครเรื่องอาบูฮะซัน มีผลงานการบรรจุเพลงประกอบงานโขนละครกว่า 70 เรื่อง ผลิตงานเทปบันทึกเสียงอย่างดีมีคุณภาพออกเผยแพร่แก่สาธารณชนราว 70 ชุดเป็นที่ชื่นชอบแก่ผู้ฟังเพลงไทยมาก และฝากเสียงไว้ในรายการวิทยุ ภาพยนตร์ละครโทรทัศน์ งานเด่น เช่น ภาพยนตร์การ์ตูนสุดสาคร เพลงนำละครโทรทัศน์สี่แผ่นดิน เป็นต้น เป็นแบบอย่างของวงการดนตรีไทยทั้งในด้านเสียงร้องที่ไพเราะเป็นเอกลักษณ์ และผู้อุทิศตนเพื่อรักษาและพัฒนาวิชาการขับร้องเพลงไทยมาตลอด อีกทั้ง เป็นผู้เชี่ยวชาญวิทยากรให้กับหน่วยงาน สถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ และได้รับรางวัลยกย่องจากองค์กรต่างๆ มากมาย

สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำประยุกต์) นางราตรี ศรีวิไล สนใจและได้ศึกษาศิลปะการแสดงพื้นบ้านหมอลำ จนมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักของคนอีสาน ทั้งยังมีความสามารถในการแต่งกลอนลำทุกประเภท ได้คิดพัฒนาหมอลำกลอนให้ทันสมัยในรูปการแสดงหมอลำกลอนประยุกต์ หรือ หมอลำซิ่ง มีการนำเครื่องดนตรีอีสานผสมผสานกับเครื่องดนตรีสากลอย่างลงตัว ออกแบบการแต่งกายที่ทันสมัย ปรับจังหวะทำนองการร้องหมอลำให้สนุกสนาน ผสมผสานกลอนลำแบบดั้งเดิมกับเพลงลูกทุ่งและสตริงสมัยใหม่ ภาษาที่ใช้ในการประพันธ์เพลงใช้ภาษาไทยถิ่นอีสานและภาษาไทยกลางผสมผสาน ปรับเนื้อหาให้เหมาะสมแก่ยุคสมัย และเป็นผู้ออกแบบการแสดงโดยให้มีผู้ฟ้อนรำประกอบ หรือแดนเซอร์ ประกอบการลำประยุกต์เป็นคนแรก ตลอดจนพัฒนาเวที แสงสี เสียง เข้ามาสร้างอัตลักษณ์ใหม่ของหมอลำ จนครองความนิยมในภูมิภาคอีสาน ได้รับสมญาว่า “ราชินีหมอลำซิ่ง” ทั้งนี้ การสร้างสรรค์ผลงานการแสดงนั้นอยู่บนพื้นฐานของการรักษา สืบสาน และต่อยอดคุณค่าศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านหมอลำอีสานให้คงอยู่ในสังคมไทยร่วมสมัย

สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง) นายธงไชย แมคอินไตย์ นักร้องและมีผลงานเพลง 18 อัลบั้มด้วยกันประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามและได้รับความนิยมแพร่หลายจากชาวไทยทุกเพศ ทุกวัย รวมถึงชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้าน ได้ทำการแสดงคอนเสิร์ตกว่า 200 รอบ ซึ่งในหลายๆ คอนเสิร์ตจะมีการแสดงด้านศิลปวัฒนธรรมและประเพณีไทยผสมผสานอยู่ในการแสดงเสมอ เพื่อเผยแพร่และสืบสานวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามของชาติไทยให้สาธารณชนได้ชื่นชมและเห็นคุณค่า อาทิ การละเล่นพื้นบ้าน รำกลองยาว ตีกลองสะบัดชัย หุ่นละครเล็ก เพลงฉ่อย ลำตัด ลิเก เป็นต้น คอนเสิร์ตแต่ละรอบจึงมีทั้งความสนุกและความน่าตื่นตาตื่นใจสมกับที่ได้รับความสนใจอย่างเกินความคาดหมายเสมอ ไม่เพียงเท่านั้นยังได้แสดงละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ ภาพยนตร์โฆษณา เป็นพิธีกร นักพากย์ ผู้บรรยายและอื่นๆ เรียกได้ว่า เป็นผู้มีความสามารถด้านศิลปะการแสดงอย่างครบครัน มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงานและการมีความคิดสร้างสรรค์ทันยุคสมัยอยู่เสมอ จึงกลายเป็นศิลปินนักร้อง “ขวัญใจมหาชน” ตลอดกาล อีกทั้ง ยังได้รับรางวัลเกียรติคุณมากมาย

สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล-ประพันธ์เพลงร่วมสมัย) นายสมเถาสุจริตกุล เป็นผู้มีความรู้ลึกซึ้งและความเชี่ยวชาญอย่างแตกฉานด้านดนตรีสากลมากที่สุดคนหนึ่งในประเทศไทย มีประสบการณ์ยาวนานในฐานะเป็นผู้ประพันธ์บทเพลงคลาสสิก และอำนวยการเพลงให้แก่วงดุริยางค์มากมาย รวมถึงเคยดำรงตำแหน่งสำคัญในแวดวงดนตรีสากลทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ และตั้งแต่พ.ศ.2515 ถึงปัจจุบัน ได้สร้างสรรค์ผลงานการประพันธ์ดนตรีสสำหรับวงออร์เคสตรา-คอนแชร์โต กว่า 26 บทเพลง มีทั้งแบบสากลคลาสสิกและมีทั้งแบบผสมผสานกับดนตรีไทย นอกจากนี้ ยังเป็นผู้มีบทบาทโดดเด่นในการจัดแสดงโอเปราในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งผลงานการประพันธ์เหล่านี้ได้ถูกนำไปใช้แสดงในโอกาสสำคัญต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้ง ยังเป็นผู้มีคุณูปการเป็นอย่างยิ่งต่อวงการดนตรีสากลสำหรับเยาวชนไทย นอกจากจะเป็นผู้ควบคุมวงสยาม ซินโฟนิเอตตา ที่ทุ่มเทและอุทิศตนโดยไม่หวังผลตอบแทนแล้ว ยังได้นำวงดุริยางค์เยาวชนจากประเทศไทยวงนี้ ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ Summa Com Laude จากกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ไปร่วมบรรเลงในโครงการ “Sounds of Summer”ในเทศกาลดนตรีนานาชาติ ณ คาร์เนกี ฮอลล์ มหานครนิวยอร์ก เมื่อพ.ศ.2557 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่วงดุริยางค์ของไทยได้ทำการแสดงบนเวทีอันทรงเกียรติและมีชื่อเสียงระดับโลกแห่งนี้

สาขาศิลปะการแสดง (ละครร่วมสมัย) นายประดิษฐ ประสาททอง” ผู้อำนวยการโครงการสื่อชาวบ้าน และเลขาธิการมูลนิธิสื่อชาวบ้าน เป็นผู้นำการใช้ศิลปะการแสดงหลากหลายรูปแบบ ทั้งพื้นบ้านและขนบนิยมเพื่อการรณรงค์ปัญหาสังคม การแสดงละครเร่เพื่อสื่อสารเรื่องราวของผู้คนในเมืองและชนบท สร้างกลุ่มละครเยาวชนที่เชื่อมโยงกับชุมชนท้องถิ่นของตน จัดกิจกรรมสัมมนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับศิลปินนานาชาติ นอกจากผลงานละคร “มะขามป้อม” แล้ว ก็ยังได้ก่อตั้งคณะละคร “อนัตตา” ผลิตผลงานลิเกร่วมสมัย ละครร้องร่วมสมัย ละครเพลง ละครชาตรีร่วมสมัย ทำหน้าที่เป็นทั้งนักแสดงนำ นักเขียนบทละคร ผู้กำกับการแสดง ออกแบบการแสดงละคร ซึ่งเสนอความคิดที่คมคาย สะท้อนปัญหาสังคม เศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง อีกทั้ง ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการเทศกาลละครกรุงเทพ พัฒนาพื้นที่ให้คนทำงานละครหลากหลายประเภทและผู้ชมละครรุ่นใหม่ได้มีโอกาสสื่อสารกันและกันอย่างต่อเนื่องมายาวนานกว่าสองทศวรรษ ซึ่งขอบข่ายของเทศกาลยังได้ขยายไปสู่มิติของศิลปะอื่นๆ ที่สัมพันธ์กับงานละคร เช่น ดนตรี แสงเงา การวิจารณ์ เป็นหนึ่งในเทศกาลศิลปวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาเครือข่ายละครเวทีทั้งระดับชาติและนานาชาติ

ผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับประวัติและผลงานของศิลปินแห่งชาติ เพิ่มเติมได้ที่ www.culture.go.th หรือ www.facebook.com/DCP.culture

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • วธ.เปิดม่านละครเวที ‘มาณวิกา เดอะ มิวสิเคิล’ ท้าทายกระแสแห่งศรัทธา วธ.เปิดม่านละครเวที ‘มาณวิกา เดอะ มิวสิเคิล’ ท้าทายกระแสแห่งศรัทธา
  • วธ. - วัดสุทัศนฯ จัดงาน สงกรานต์บ้านฉัน \'สีสันแบบไทย สุขไกลทั่วโลก\' วธ. - วัดสุทัศนฯ จัดงาน สงกรานต์บ้านฉัน 'สีสันแบบไทย สุขไกลทั่วโลก'
  • กลุ่มศิลปการแสดงภิวัฒน์ ร่วมมือ วธ.ผุดโปรเจค \'มาณวิกา เดอะมิวสิเคิล\' แนว MVT ละครเพลงสะท้อนสังคมยุคดิจิทัล กลุ่มศิลปการแสดงภิวัฒน์ ร่วมมือ วธ.ผุดโปรเจค 'มาณวิกา เดอะมิวสิเคิล' แนว MVT ละครเพลงสะท้อนสังคมยุคดิจิทัล
  • วธ.เชิญชวนร่วมงานมหรสพสมโภชเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 11-15 ก.ค. นี้ ณ ท้องสนามหลวง วธ.เชิญชวนร่วมงานมหรสพสมโภชเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 11-15 ก.ค. นี้ ณ ท้องสนามหลวง
  • ศิลปินแห่งชาติ ศิลปินอาวุโส และรุ่นใหม่  รวมตัวผลิตผลงานใน ‘นิทรรศการศิลปกรรมครั้งที่ 17’ ศิลปินแห่งชาติ ศิลปินอาวุโส และรุ่นใหม่ รวมตัวผลิตผลงานใน ‘นิทรรศการศิลปกรรมครั้งที่ 17’
  • วธ. เปิดอบรม Hackathon ชุมชนแชมป์เปี้ยน นักเล่าเรื่อง \'เที่ยวชุมชน ยลวิถี\' รุ่นที่2 วธ. เปิดอบรม Hackathon ชุมชนแชมป์เปี้ยน นักเล่าเรื่อง 'เที่ยวชุมชน ยลวิถี' รุ่นที่2
  •  

Breaking News

เริ่มแล้ว!!! การแข่งขันเรือใบ Trat Regatta 2025 ระดับนานาชาติครั้งแรกในจังหวัดตราด

'โฆษก​ มท.'แจงแล้ว! ​ปมเรียก​สรรพนาม'คุณลูกค้า'แทน'คุณลุง​-​คุณป้า'

ด่วน!เปิดชื่อ 55 สว. เรียกรับทราบข้อหาปม'คดีฮั้ว' แบ่งเป็น 3 ลอต

ชั้น 14 ส่อวุ่นอีก!!! 'รพ.ราชทัณฑ์'เล็งฟ้องศาลเพิกถอนมติ'แพทยสภา'

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved