วังบางขุนพรหมผ่านเหตุการณ์การเมืองมามากมาย แต่ความงดงามของวังแห่งนี้ยังคงมีอยู่โดยสมบูรณ์ ในอดีตเคยเป็นที่ทำการของธนาคารแห่งประเทศไทย ดังนั้น เจ้าหน้าที่ทุกคนของหน่วยงานจึงหวงแหนมาก และช่วยกันบำรุงรักษา ขอเชิญชวนคนไทยทุกคนเข้ามาสัมผัสความงามของวัง แล้วช่วยกันทำนุบำรุงวังแห่งนี้ให้งดงามตลอดไป
ไลฟ์ วาไรตี สัปดาห์นี้ ดร.เฉลิมชัย ยอดมาลัย ชวนคุณไปชมความงาม และรับทราบประวัติศาสตร์แบบกระชับของวังบางขุนพรหม จาก คุณสุมัยวดี เมฆสุตผู้ช่วยผู้อำนวยการ (ควบ) งานบริหารคลังวัตถุพิพิธภัณฑ์ ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย
● เรียนถามครับ วังบางขุนพรหมเริ่มก่อสร้างเมื่อไร แล้วเสร็จปีไหนครับ
คุณสุมัยวดี : ขออนุญาตปูพื้นให้ทราบว่าธรรมเนียมการพระราชทานวังแด่พระราชโอรสองค์สำคัญนั้น ในสมัยรัชกาลที่ 4 พระราชทานวังที่สร้างเสร็จแล้วให้ แต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงเปลี่ยนเป็นพระราชทานที่ดินก่อน แล้วจึงสร้างวังในภายหลัง เนื่องจากรัชกาลที่ 5 ทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อที่ดินในเขตพระนครเก็บสะสมไว้เพราะในสมัยนั้นราคาที่ดินยังไม่สูงมากนัก แล้วพระราชทานพระราชโอรสที่ทรงผ่านพระราชพิธีโสกันต์ สำหรับวังบางขุนพรหมคือที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต วังแห่งนี้มีพระตำหนักสององค์คือตำหนักใหญ่ และตำหนักสมเด็จ (สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี) พื้นที่ทั้งหมด 33 ไร่ พระตำหนักใหญ่เริ่มก่อสร้างปี 2444 ใช้เวลา 5 ปี ทำพระพิธีเปิดพระตำหนักใหม่ วันที่ 28 ธันวาคม 2449 การออกแบบพระตำหนักอยู่ในความรับผิดชอบของ คาร์ล ซันเดรคซกี กับเปาโล เรเมดี และมีมารีโอ ตามัญโญ เป็นผู้ช่วย แต่ภายหลัง ตามัญโญ ก็เข้ามารับผิดชอบด้านการออกแบบ โดยมี คาร์โล อันเลกรี ดูแลด้านวิศวกรรม อาณาเขตของวังบางขุนพรหม ทิศตะวันออกจรดถนนสามเสน ทิศตะวันตกจรดแม่น้ำเจ้าพระยา ทิศเหนือจรดวังเทเวศร์ ทิศใต้จรดสะพานพระราม 8 สมัยก่อนคือ ถนนท่าเกษม เป็นท่าน้ำสำคัญแห่งหนึ่งของย่านนี้นับถึงปัจจุบันวังบางขุนพรหมมีอายุ 117 ปีแล้ว นอกจากพระตำหนักใหญ่ แล้วยังมีตำหนักสมเด็จ ที่ทรงสร้างถวายพระราชมารดาของพระองค์ท่าน ตำหนักสมเด็จสร้างหลังจากพระตำหนักใหญ่สร้างเสร็จแล้วประมาณ 10 ปี คือหลังจากสมเด็จพระปิยมหาราช เสด็จสวรรคตในปี 2453 สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ทรงกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตจากรัชกาลที่ 6 เพื่อทรงขอไปประทับที่วังบางขุนพรหมกับพระราชโอรส ซึ่งเป็นไปตามธรรมเนียมโบราณ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลก่อนเสด็จสวรรคต บรรดาพระมเหสีเทวี พระอัครราชเทวี พระราชชายา และเจ้าจอม หม่อมห้ามทั้งหลายก็จะกราบบังคมทูลลาขอพระบรมราชานุญาตออกไปประทับหรืออยู่นอกวังหลวง ตำหนักสมเด็จเริ่มก่อสร้างในปี 2454 แล้วเสร็จในปี 2456 ตำหนักสมเด็จถือเป็นเขตฝ่ายในของวังบางขุนพรหม
● ความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างพระตำหนักใหญ่กับตำหนักสมเด็จ คืออะไรครับ นอกจากขนาดของตำหนัก
คุณสุมัยวดี : พระตำหนักใหญ่เป็นแบบบาโรก ลวดลายประดับตกแต่งเป็นศิลปะผสมผสานแบบรอคโกโคอาร์ต นูโว และบาโรก ที่สอดประสานอย่างลงตัวพระตำหนักใหญ่มีเอกลักษณ์พิเศษคือหลังคาทรงมังซาร์ คือหลังคาสองชั้นซ้อนกัน ความลาดของหลังคาแต่ละชั้นไม่เท่ากัน หลังคาชั้นล่างมีหน้าต่างเล็กๆ เรียกว่า ดอร์เมอร์ ยื่นออกมาโดยมีระยะห่างเท่าๆ กัน อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ พระตำหนักใหญ่ด้านทิศใต้จะเป็นเส้นโค้งเส้นเว้าเหมือนคลื่น ซึ่งบ่งบอกศิลปะบาโรกชัดเจน ส่วนลวดลายปูนปั้นต่างๆ ที่ประดับตัวพระตำหนักใหญ่งดงามมาก เป็นลวดลายพรรณพฤกษา เปลือกหอย ผลไม้ และตัวอักษรซีที่บิดไปมาอย่างกลมกลืน และมีเสาเกลียว รวมถึงหัวเสาในบางแห่งก็เป็นแบบไอโอนิกส่วนตำหนักสมเด็จสร้างในแบบสถาปัตยกรรมแบบชนบทของเยอรมนี ผู้ออกแบบคือ คาร์ล ดอร์ริง สถาปนิกผู้ออกแบบสร้างพระราชวังบ้านปืน จังหวัดเพชรบุรี ดังนั้นหลายคนเมื่อเห็นตำหนักสมเด็จ ที่เคยเห็นวังบ้านปืนมาก่อนจะบอกตรงกันว่ามีความคล้ายคลึงกันมากตำหนักสมเด็จไม่มีรายละเอียดตกแต่งอลังการเท่าพระตำหนักใหญ่ เน้นความเรียบง่าย ทั้งนี้ ตำหนักสมเด็จในสมัยหนึ่งถูกใช้เป็น University of Bang Khun Prom Palace หรือมหาวิทยาลัยวังบางขุนพรหม เป็นที่เล่าเรียนของเหล่าเจ้านายชั้นสูงฝ่ายสตรี
● ห้องที่เรากำลังใช้สนทนาเพื่อบันทึกเทปรายการทีวี ในสมัยก่อนคือห้องอะไรครับ
คุณสุมัยวดี : ห้องเสวยค่ะ เป็นห้องขนาดใหญ่พระตำหนักใหญ่มีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งคือมีโถงตรงกลางเพื่อแบ่งพื้นที่พระตำหนักออกจากกันชัดเจนแบ่งเป็นปีกทิศเหนือ ทิศใต้ ชั้นล่างของปีกทิศใต้เป็นส่วนสำหรับรับแขกที่เป็นข้าราชบริพาร ข้าราชการ และมีห้องทรงพระอักษร ส่วนด้านที่เราคุยกันเป็นห้องเสวย ติดๆ กันก็เป็นห้องเตรียมเครื่องเสวย ส่วนชั้นบนเหนือที่เรานั่ง คือห้องประทับทรงสบาย และข้างๆ คือห้องเสวยส่วนพระองค์ ห้องบรรทม ห้องสรง และห้องแต่งพระองค์ ชั้นบนของด้านทิศใต้คือห้องรับแขก ระดับพระบรมวงศานุวงศ์ และห้องพิธีการของวัง ห้องที่สำคัญคือห้องสีชมพู ได้รับการกล่าวขานว่าสวยที่สุดในพระตำหนักใหญ่ และห้องสีน้ำเงิน ใช้สำหรับทรงประกอบพิธีการต่างๆ เมื่อสังเกตรายละเอียดของห้องชั้นบนกับชั้นล่างจะพบความแตกต่างกันชัดเจน บ่งบอกได้ว่าเป็นการออกแบบที่เน้นความต่างแต่ลงตัว ถือเป็นความชาญฉลาดอันแยบยลของผู้ออกแบบ และบ่งบอกรสนิยมของผู้ทรงเป็นเจ้าของพระตำหนักได้ดี
● เมื่อแรกที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามาใช้พระตำหนักเป็นที่ทำการ ใช้ส่วนไหนบ้างครับ
คุณสุมัยวดี : ขอเล่าย้อนประวัติจะได้เชื่อมต่อได้ว่าเหตุใดเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แล้ว สถานภาพของวังเจ้านายชั้นเจ้าฟ้าก็ได้กลายเป็นที่ราชพัสดุกรมธนารักษ์ ในสมัยนั้นรัฐบาลได้มอบให้หน่วยงานต่างๆ เข้าไปใช้ที่ของวังต่างๆ เจ้านายชั้นสูง ส่วนวังบางขุนพรหมมีหลายหน่วยงานเข้ามาใช้ เช่น กรมยุวชนทหารบก กรมยุทธนาการทหารบก สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ พุทธสมาคม และราชบัณฑิตฯ เนื่องจากพระตำหนักใหญ่มีห้องมากมาย จึงถูกใช้เป็นที่ทำการของหลายหน่วยงาน ครั้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ใกล้จะจบลงในปี 2487 ตอนนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยมีที่ทำการอยู่ที่ธนาคารฮ่องกงเซี่ยงไฮ้ที่สี่พระยา เมื่อสงครามจบลงธนาคารแห่งประเทศไทยก็คืนที่ทำการเดิมที่เช่าจากธนาคารฮ่องกงเซี่ยงไฮ้ แล้วมาเช่าที่วังบางขุนพรหม จนกระทั่งเกิดความคิดว่าจะต้องมีที่ทำการถาวร จนเมื่อปี 2502 ผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย พิจารณาแล้วเห็นว่าธนาคารแห่งประเทศไทยควรจะมีที่ทำการเป็นหลักเป็นฐาน และมีความสมฐานะของหน่วยงานที่ดูแลด้านการเงินของแผ่นดิน จึงมีความเห็นร่วมกันว่า ฐานานุรูปของวังบางขุนพรหมเหมาะสมกับที่ทำงานธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีข้อตกลงชัดเจนว่าแลกเปลี่ยนสถานที่กับกรมประชาสัมพันธ์ โดยกรมประชาสัมพันธ์ต้องการได้ที่ของบ้านมนังคศิลา แต่กรมประชาสัมพันธ์มีเงินไม่พอซื้อต่อจากธนาคารแห่งเอเชียดังนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยจึงจ่ายเงินซื้อบ้านมนังคศิลาให้แล้วแลกเปลี่ยนกับวังบางขุนพรหม เน้นว่าการตกลงในครั้งนั้นมีเอกสารสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรสมบูรณ์ แล้วจากนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้ใช้พื้นที่ของวังแห่งนี้ในกิจการสำคัญต่างๆ เช่น ห้องจัดแสดงประวัติศาสตร์ของเงินตราของไทย สำนักผู้ว่าการธนาคารฯ ห้องขายพันธบัตรรัฐบาล โดยบางหน่วยงานก็ใช้พื้นที่ของตำหนักสมเด็จด้วย และยังมีหน่วยงานบางหน่วยอยู่ในวังหลวง คือที่หอรัษฎากรพิพัฒน์ ปัจจุบันคือพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในกาลต่อมาเพื่อเจ้าหน้าที่ของธนาคารฯ มีจำนวนมากขึ้น จำเป็นต้องก่อสร้างอาคารที่ทำงานเพิ่มเติมก็จึงย้ายหน่วยงานต่างๆ ออกไปอยู่ในอาคารใหม่ แล้วเปลี่ยนพระตำหนักใหญ่เป็นพิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยในยุคทศวรรษ 2530 โดยพยายามรักษาให้วังแห่งนี้มีความงดงามสมฐานะของที่ประทับพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง และสมฐานะของอดีตที่ทำการธนาคารแห่งประเทศไทย เจ้าหน้าที่ธนาคารฯ รักและหวงแหนวังบางขุนพรหมมาก ใครเห็นตรงไหนชำรุดทรุดโทรมหรือมีความเสียหายตรงจุดใดจุดหนึ่งก็จะรีบแจ้งหน่วยงานที่ดูแลรักษาวังให้เข้าไปซ่อมบำรุงโดยทันที
● ความงดงามมากที่สุดของวังบางขุนพรหมคืออะไร ดูจากตรงไหนครับ
คุณสุมัยวดี : ที่งดงามจนโดดเด่นที่สุดคือลวดลายปูนปั้นประดับพระตำหนักทั้งภายนอกและภายใน โดยเฉพาะลวดลายปูนปั้นที่สามารถอธิบายถึงรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกที่ผสมผสานกันได้ลงตัวมากที่สุด โดยเฉพาะศิลปะแบบบาโรกที่มีผลไม้ประกอบ เช่นที่มุขด้านหน้า และมีริบบิ้นประดับกระเช้าผลไม้ มีผลไม้นานาชนิด ส่วนลวดลายต่างๆ ที่ประกอบก็ราวกับของจริง เพราะเป็นสามมิติ งดงามอ่อนช้อยมาก สิ่งเหล่านี้เราต้องดูแลและซ่อมบูรณะตลอดเวลา ไม่ปล่อยให้เสียหาย แต่เราเน้นว่าส่วนที่ซ่อมก็ต้องซ่อมให้ดีที่สุด ส่วนที่เหลืออยู่ก็ต้องพยายามรักษาไว้ให้อยู่ให้นานที่สุด แน่นอนว่างานฝีมือยุคเก่าย่อมประณีตบรรจงกว่างานฝีมือของช่างยุคใหม่ แต่เราก็ต้องพยายามทำให้เหมือนเดิมให้มากที่สุด
● ห้องที่ประทับสมัยที่กรมพระนครสวรรค์วรพินิตประทับ ในยุคนี้เป็นห้องแสดงอะไรครับ
คุณสุมัยวดี : ปัจจุบันยังปล่อยเป็นพื้นที่โล่ง แต่การตกแต่งภายในก็ยังคงแบบเดิม ส่วนห้องอื่นๆ เช่น ห้องประทับทรงสบาย ห้องเสวย ห้องเตรียมเครื่องเสวย ก็ยังไม่ได้จัดแสดงอะไร แต่เราก็จะบอกเล่าให้ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ฯ ทราบว่าเคยเป็นห้องอะไรมาก่อน อย่างห้องประทับทรงสบายนั้น ตามภาพเก่าคือห้องที่ประทับนั่งกับพื้น และมีโต๊ะกลมเล็กๆ หรือโต๊ะครึ่งวงกลมติดผนัง ในห้องนี้ใช้เป็นที่ทรงซอ ในยามทรงพักผ่อนพระอิริยาบถ สบายพระอารมณ์ และยังเป็นห้องหัดดนตรีไทยให้มหาดเล็กด้วย นอกจากดนตรีไทยแล้ว พระองค์ท่านยังทรงพระปรีชาสามารถดนตรีสากลด้วย ทรงเรียบเรียงเสียงประสานด้วยพระองค์เอง
● พระองค์ท่านทรงมีพระอัจฉริยภาพหลายด้าน ทั้งดนตรีไทย ดนตรีสากล การทหาร การปลูกกล้วยไม้ การแปลหนังสือ
คุณสุมัยวดี : จริงค่ะ ทรงมีพระอัจฉริยภาพหลายด้านเมื่อครั้งที่เสด็จไปประทับ ณ เมืองบันดุง อินโดนีเซีย หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 พระองค์ท่านไม่เสพข่าวการเมืองไทยอีกเลย แต่ทรงดนตรี ทรงพระนิพนธ์เพลงทรงเขียนจดหมายถึงบ้านพาทยโกศลเป็นประจำ และทรงแปลหนังสือภาษาต่างประเทศ
● ผมเคยไปที่พระตำหนักปะเสบัน เมืองบันดุงโดยพาผู้อ่านแนวหน้าไปเที่ยว ยังได้พูดคุยกับลูกหลานนางข้าหลวงที่ตามเสด็จไปถวายงานที่บันดุงด้วยนางข้าหลวงคือนางกระบะ นิลวงศ์ ปัจจุบันเหลือแต่ลูกหลานที่เป็นชาวบันดุงไปแล้ว แต่เขายังมาหาญาติที่เมืองไทยเป็นระยะๆ
คุณสุมัยวดี : ใช่ค่ะ มีนางข้าหลวงตามไปถวายงานด้วย ส่วนพระตำหนักที่บันดุงนั้น มีสามหลัง ปัจจุบันตำหนักประเสบันใช้เป็นโรงเรียนอนุบาล ตำหนักดาหาปาตีใช้เป็นร้านอาหาร และบางตำหนักถูกไฟไหม้ บางตำหนักกลายเป็นบ้านของคหบดี
● ตำหนักดาหาปาตีที่เป็นร้านอาหารในปัจจุบันยังมีลูกหลานนางกระบะดูแลอยู่ เมื่อเราบอกว่าเป็นคนไทย เขาดีใจมาก พาเราไปชมหลังร้าน แสดงให้เห็นประวัติความเกี่ยวพันสมัยกรมพระนครสวรรค์วรพินิตเมื่อครั้งทรงมีพระชนม์ แล้วแสดง family tree ของราชสกุลบริพัตรด้วย น่าสนใจมาก
คุณสุมัยวดี : ใช่ค่ะ วันที่พี่และคณะไปเก็บข้อมูลเรื่องนี้ เขาก็พาเราไปหลังร้านของเขา แล้วอธิบายเรื่องราวให้ฟัง พระองค์ท่านสิ้นพระชนม์ ณ บันดุง 18 มกราคม 2487 ที่ตำหนักประเสบัน
● กลับมาเรียนถามว่า ผู้ประสงค์เข้าชมวังบางขุนพรหม ต้องทำอย่างไรครับ
คุณสุมัยวดี : พื้นที่จัดแสดงของพิพิธภัณฑ์แบ่งเป็น 2 ส่วนค่ะ คือศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย อยู่บริเวณใกล้ตัวสะพานพระราม 8 ที่นั่นเปิดให้ใช้เวลา 09.30-20.00 น. ปิดเฉพาะวันจันทร์ ส่วนพระตำหนักใหญ่ และตำหนักสมเด็จ เปิดให้จองการเข้าชมโดยผ่าน www.botlc.go.th เปิดรับคณะละ 40 คน เข้าชมได้เวลา 10.00-16.30 น. เปิดเฉพาะเสาร์-อาทิตย์ค่ะ ผู้ประสงค์จะเข้าชมพิพิธภัณฑ์ที่พระตำหนักใหญ่ และตำหนักสมเด็จต้องจองคิวก่อนค่ะ ขอเชิญเข้ามาชมพิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยนะคะ มาช่วยกันชื่นชมและบำรุงรักษาโบราณสถานสำคัญของชาติไทยของเราด้วยกันค่ะ
คุณสามารถรับชมรายการไลฟ์ วาไรตี รายการที่ให้ทั้งสาระและความรู้ ออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา 14.05-14.30 น. ทางโทรทัศน์ NBT ช่องหมายเลข 2 และชมรายการย้อนหลังได้ที่ YouTube ไลฟ์ วาไรตี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี