สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเป็นเจ้าหญิงที่พสกนิกรชาวไทยต่างประจักษ์ถึงพระอัจฉริยภาพที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น แฟชั่น กีฬา ศิลปะ ดนตรี โดยเฉพาะเรื่องแฟชั่น พระองค์ทรงได้รับการขนานนามว่า ทรงเป็น “เจ้าหญิงดีไซเนอร์” ที่มีผลงานโดดเด่นด้านแฟชั่นบนเวทีระดับโลก รวมทั้งด้านศิลปะการออกแบบเครื่องแต่งกายและสิ่งทอ ทรงเป็นต้นแบบของหนุ่มสาวรุ่นใหม่ในเรื่องของการนำผ้าไทยมาออกแบบและตัดเย็บเป็นเครื่องแต่งกายที่มีความทันสมัย หรูหรา งดงาม ซึ่งทรงสวมใส่ตามงานพระราชกรณียกิจต่างๆ อยู่เป็นนิจ ด้วยทรงสนพระทัยเกี่ยวกับการออกแบบแฟชั่นตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ และในขณะที่ยังทรงศึกษา พระองค์ทรงเคยแสดงแฟชั่นโชว์คอลเลคชั่นทรงออกแบบครั้งแรก ในปารีสแฟชั่น วีค ทรงเป็นดีไซเนอร์เสื้อผ้าของพระองค์เอง ภายใต้แบรนด์ “SIRIVANNAVARI” อีกทั้ง ยังทรงได้รับรางวัลศิลปินศิลปาธร ประจำปี 2561 ในสาขาศิลปะการออกแบบ (แฟชั่นและเครื่องประดับ) ด้วยพระปรีชาสามารถด้านการออกแบบและผลงานเป็นที่ประจักษ์
ด้านแฟชั่น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญา ทรงมีแบรนด์เสื้อผ้าเครื่องประดับ “SIRIVANNAVARI” และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ได้รับการยอมรับในวงกว้างทั้งในและต่างประเทศ ผลงานของพระองค์เคยไปจัดแสดงคอลเลคชั่นบนแคตวอล์กระดับโลกมาแล้ว อาทิ คอลเลคชั่น Spring & Summer 2007 ในงาน Paris Fashion Week 2007, งาน Paris Fashion Week 2008 ซึ่งผลงานเป็นที่ประจักษ์มีความโดดเด่น สร้างชื่อเสียงและความชื่นชมในพระปรีชาสามารถ นอกจากนี้ ยังทรงแสดงผลงานแฟชั่น Exhibition “Ethnic rock” ในงาน Russian Fashion Week เมื่อตุลาคม 2008
และเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2561 ทรงเดินทางไปร่วมงานกาลาดินเนอร์ “L’Art et L’Âme de la Thaïlande” (ศิลปะและจิตวิญญาณไทย) ณ โรงแรม Intercontinental Paris Le Grand ในกรุงปารีส โดยงานนี้ถือเป็นหนึ่งในโครงการจัดขึ้นตามพระดำริเพื่อนำเสนอภาพลักษณ์ประเทศไทยผ่านสายตามุมมอง คนรุ่นใหม่ด้านแฟชั่นรูปแบบผสมเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าให้ทัดเทียมนานาประเทศ ดังที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในรัชกาลที่ 9 ทรงทำมาตลอดด้วยการยกระดับวงการทอผ้าไหมไทยให้เป็นผ้าที่สามารถนำไปประยุกต์ในวงการแฟชั่นต่างๆ ระดับโลกได้เพื่อสร้างรายได้ให้ชาวบ้านในถิ่นต่างๆ ของประเทศไทยโดยพระองค์หญิงทรงฉลองพระองค์ด้วยผ้าไหมมัดหมี่ แบบประยุกต์ปักขนนกยูงทองจากแบรนด์ SIRIVANNAVARI
เพื่อแสดงถึงอัตลักษณ์ความเป็นไทยและประชาสัมพันธ์ประเทศไทยผ่านผ้าไหมไทย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงร่วมออกแบบชุดว่ายน้ำให้ 95 สาวงามผู้เข้าประกวดนางงามจักรวาล ที่จัดขึ้นในประเทศไทย ภายใต้แบรนด์ SIRIVANNAVARI ตามคำทูลเชิญของ พอลล่า เอ็ม ชูการ์ต ประธานองค์กรมิสยูนิเวิร์ส นอกจากนี้ ได้พระราชทานชุดแบรนด์ “SIRIVANNAVARI”ในคอลเลคชั่นทรงออกแบบพิเศษ โดยทรงตัดเย็บชุดราตรีจากผ้าไหมไทยด้วยพระองค์เองให้แก่ เดมี-ลีห์ เนล-ปีเตอร์สมิสยูนิเวิร์ส 2017 และ โศภิดา กาญจนรินทร์ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2018 ได้สวมใส่
สำหรับคอลเลคชั่นทรงออกแบบ ออทั่ม-วินเทอร์ 2019/20 ครั้งแรก ภายใต้แบรนด์ “SIRIVANNAVARI” และ S’Homme ที่ทรงนำเอาโครงเสื้อที่เป็นไอคอนของแบรนด์มาตีความใหม่สำหรับไลฟ์สไตล์อันโมเดิร์นและโก้หรูของการเดินทางไปต่างประเทศในฤดูหนาว ทรงมีพระดำรัสว่า “คอลเลคชั่นนี้นับได้ว่าเป็นคอลเลคชั่นออทั่ม-วินเทอร์ครั้งแรกของ SIRIVANNAVARI ซึ่งข้าพเจ้าตั้งใจที่จะแสดงให้เห็นถึงวิธีการมิกซ์แมทช์ วิธีการสไตลิ่ง วิธีการเลเยอร์เสื้อผ้าหลายๆ ชิ้นทับกัน ให้ดูสวยงาม โมเดิร์น และสามารถสวมใส่ได้จริงในชีวิตประจำวันในช่วงฤดูหนาว ซึ่งจริงๆ แล้วก็เป็นสไตล์การแต่งตัวของข้าพเจ้าเวลาอยู่ต่างประเทศ ถึงแม้ว่าเมืองไทยจะไม่ได้มีอากาศหนาวมาก แต่ทุกวันนี้คนไทยก็เดินทางไปต่างประเทศในช่วงฤดูหนาวกันค่อนข้างเยอะ ข้าพเจ้าจึงคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ SIRIVANNAVARI ต้องทำคอลเลคชั่นออทั่ม-วินเทอร์ ออกมาเพื่อให้คนไทยได้เห็นวิธีการสไตลิ่งเสื้อผ้าหน้าหนาวและได้ลองสวมใส่เสื้อผ้าหน้าหนาวที่ทำจากฝีมือของคนไทยบ้าง”
นอกจากนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญา ยังทรงเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจและแบ่งปันองค์ความรู้ให้แก่วงการผ้าไทยในปัจจุบันให้แก่ผู้ที่อยู่ในวงการผ้าไทยในระดับชุมชน ระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค ระดับชาติ อีกทั้ง ยังทรงนำแนวคิดที่เป็นสากลมาพัฒนาต่อยอดมรดกภูมิปัญญาผ้าไทย เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานเปิดตัวหนังสือและทรงเสวนาวิชาการหัวข้อ “การส่งเสริมและพัฒนาภาพลักษณ์ผ้าไทยสู่สากล” เพื่อยกระดับและแบ่งปันองค์ความรู้แก่วงการผ้าไทย ในโอกาสที่โครงการส่งเสริมและพัฒนาภาพลักษณ์ผ้าไทยสู่สากล โดย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จัดทำหนังสือแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย Thai Textiles Trend Book Spring/Summer 2022 (ไทย เท็กซ์ไทล์ เทรนด์ บุ๊ก สปริง/ซัมเมอร์ 2022) ซึ่งทรงมีพระวินิจฉัยพิจารณาเนื้อหาต้นฉบับและพระราชทานคำแนะนำพร้อมทรงแก้ไขรายละเอียดต่างๆ ทรงมีพระดำรัสว่า “แรงบันดาลใจในการจัดทำหนังสือเล่มนี้ มาจาก “สมเด็จย่า” ซึ่งก็คือ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการที่พระองค์ทรงเป็นต้นแบบให้กับทุกคน ทรงเป็นองค์เริ่มต้นที่ริเริ่มการทำงานทั้งหมดและทรงดึงจิตวิญญาณของเอกลักษณ์ความเป็นไทยและภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่สากล
“ท่านหญิงทำเพื่อให้ทุกคนจดจำสมเด็จย่า รวมถึงทำอย่างไรให้งานของพระองค์ได้รับการสืบสาน รักษา ต่อยอดในสิ่งที่พระองค์ทรงงานมาทั้งหมด และจะทำอย่างไรให้ผ้าไทย งานคราฟท์ไทยทั้งหมดไปสู่ความเป็นไทยที่มีความเป็นสากลและยั่งยืน ซึ่งตัวท่านหญิงอยากจะแบ่งปันประสบการณ์จากวิชาชีพที่ได้เป็นอยู่ทุกวันนี้ และใช้วิชาชีพนี้มาถ่ายทอดความรู้ให้แก่บุคคลที่จะต้องสานต่องานนี้ต่อไป และจากประสบการณ์ทำงานของท่านหญิง คิดว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยน่าจะมีเทรนด์บุ๊กเป็นของตัวเอง มีเทรนด์เป็นของตัวเอง และเป็นหนังสือที่ไม่ควรฉาบฉวย เป็นหนังสือที่ควรอยู่ในห้องเรียน อยู่ในห้องสมุด เพราะเราควรรู้ว่าสีของประเทศไทยเป็นอย่างไร สิ่งทอของเราเป็นอย่างไร และเราสามารถประยุกต์ได้อย่างไรบ้าง ซึ่งเทรนด์บุ๊กเล่มนี้เทียบเท่าระดับสากลได้ ผู้สนใจสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานไปสู่ระดับสากลได้”
อีกทั้ง ยังทรงมีพระดำรัสว่า เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ได้ตามเสด็จ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ไปทรงงานตั้งแต่ภาคใต้ ภาคเหนือภาคอีสาน และได้เห็นวิธีการทรงงานของสมเด็จย่าที่พระราชทานคำแนะนำชาวบ้านในเรื่องของสีผ้า จึงทรงนำมาประยุกต์ใช้ในการทรงงานของพระองค์ด้วย พร้อมกันนี้ ได้ทรงออกแบบลายมัดหมี่ ชื่อลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ที่ทุกลวดลายเปี่ยมไปด้วยความหมาย อาทิลาย S หมายถึง Srivannavari สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ลาย S จำนวน 10 แถว หมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ลายเชิงผ้ารูปหัวใจหมายถึง ความรักที่พระองค์มีต่อประชาชนชาวไทยทุกคน = Eternity Love เพื่อเป็นการจุดประกายความคิดในการพัฒนาลวดลายผ้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไทยให้มีความร่วมสมัย สามารถก้าวสู่ระดับสากลเพื่อวิถีชุมชนที่ยั่งยืน ทรงมีพระดำรัสว่า “ข้าพเจ้า ได้มีโอกาสตามเสด็จ สมเด็จย่า สมเด็จพระพันปีหลวงมาตั้งแต่เด็ก ได้เห็นท่านทรงงาน และรับรู้ถึงความทุ่มเทของพระองค์ท่านในการอนุรักษ์ ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน และสืบสาน ภูมิปัญญาไทย มาโดยตลอด เห็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง ข้าพเจ้ามีความตั้งใจ ที่จะสืบสานพระราชปณิธาน โดยข้าพเจ้าได้นำประสบการณ์การทำงาน การศึกษา เดินทางไปชมผ้าไทย และงานหัตถกรรมพื้นบ้าน ตามภาคต่างๆ ทำให้เห็นผลงาน ที่สามารถ นำมาพัฒนา ให้ร่วมสมัย และเป็นสากลได้จากการค้นคว้า เก็บข้อมูล ลงพื้นที่จริง ข้าพเจ้าจึงได้ออกแบบลายผ้ามัดหมี่ มอบให้ช่างทอผ้า เป็นของขวัญปีใหม่ โดยออกแบบลายให้มีความหมายถึงการส่งมอบความรัก ความสุขให้ชาวไทยทุกคน เป็นการจุดประกายความคิดในการพัฒนาลายผ้า ออกแบบให้ร่วมสมัย ใช้ได้จริงในหลายโอกาส”
ต่อมาในปี 2566 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานเปิดตัวหนังสือเล่มล่าสุด “Thai Textiles Trend Book Spring/Summer 2023” ภายใต้แนวคิด “วัฒนธรรมอันเคลื่อนคล้อย” (Moving Culture) พร้อมทั้งทรงบรรยายในหัวข้อ “การส่งเสริมและพัฒนาภาพลักษณ์ผ้าไทยสู่สากล” โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า “การทำหนังสือเล่มที่ 3 เป็นอะไรที่สนุกสนานสีสันสดใส อย่างหัวข้อวัฒนธรรมเคลื่อนคล้อย เป็นเรื่องวัฒนธรรมจากพื้นที่ต่างๆ มารวมในที่เดียวกัน ไฮไลท์ของเล่มนี้คือ ผ้าบาติก มาจากมลายู และผ้าขาวม้า จากเปอร์เซีย
อยากแนะนำผ้าบาติก ผ้าขาวม้า ผ้าหางกระรอก ผ้าพิมพ์ลายธรรมชาติ โดยมีวัสดุแห่งฤดูกาล อย่างผ้าฝ้ายเขียนมือเส้นเล็กไหมน้อย ใบกัญชง รวมถึงเส้นใยรีไซเคิลซึ่งเป็นเทรนด์ที่กำลังมาสำหรับแฟชั่นระดับโลก คนเริ่มใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น เคยไปสัมผัสผ้าที่ทำมาจากเส้นใยรีไซเคิลมาที่อิตาลี ผิวสัมผัสนุ่ม สาก กระด้างหน่อยๆ ด้วยวิธีการทอแน่นกำลังดี ส่วนในไทยเป็นเรื่องใหม่ ต้องใช้เวลาพัฒนา แต่คิดว่าทำได้ อยากให้ลอง”
อีกทั้ง ยังทรงมีรับสั่งว่า “เชื่อเหลือเกินว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นองค์ความรู้ที่ผู้ประกอบการรอคอย จะทำมาอาชีพได้เป็นกอบเป็นกำ พวกเราที่เป็นนักวิชาการ จะย่อยให้ทุกคนได้ต่อยอดต่อไป ครูอาจารย์ต้องสอนและให้โอกาสเด็กได้อ่านและทำหนังสือเล่มนี้ต้องลงมือทำ เชื่อเหลือเกินว่าอาชีพนี้จะทำให้ประเทศไทยเจริญด้วยมือของเรา ขอฝากหนังสือเล่มนี้และใช้ให้มีประโยชน์ที่สุด”
นอกจากนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดตัวหนังสือครบรอบ 16 ปี “SIRIVANNAVARI:16 YEARS OF GLOR” เบื้องหลังเส้นทางแบรนด์ SIRIVANNAVARI BANGKOK ทรงมีรับสั่งว่า “เริ่มต้นจากการไปร้านหนังสือต่างๆ ทำให้ได้เห็นหนังสือแฟชั่นของแบรนด์ต่างๆ จึงเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดหนังสือเล่มนี้ ซึ่งเปรียบเสมือนความฝันที่เป็นจริง ข้าพเจ้าเคยมีความฝันไว้ว่าอยากมีหนังสือแฟชั่นเป็นของตัวเอง เป็นหนังสือที่รวบรวมผลงานของข้าพเจ้าและแบรนด์ SIRIVANNAVARI BANGKOK ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงวันนี้ รวมทั้งตั้งใจให้หนังสือเล่มนี้มอบโอกาสให้คนในวงการแฟชั่นรุ่นหลังๆ ได้ศึกษาเรียนรู้”
นอกจากภาพความทรงจำอันสวยงามภายในหนังสือ SIRIVANNAVARI : 16 YEARS OF GLORY ที่ทรงคัดเลือกรูปภาพหลายร้อยภาพอย่างพิถีพิถันด้วยองค์เอง เพื่อลงตีพิมพ์ในหนังสือเล่มนี้ ตั้งแต่ภาพสเก็ตช์ภาพการฟิตติ้งนางแบบ ภาพเบื้องหลังเวทีภาพถ่ายแคมเปญโฆษณา ภาพรันเวย์ ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่จะนำพาผู้อ่านไปอยู่ในดินแดนของ SIRIVANNAVARI BANGKOK อีกทั้งยังนำเสนอเรื่องราวและเบื้องหลังต่างๆ ของแบรนด์ที่ไม่เคยเปิดเผยที่ใดมาก่อน อาทิ บทสัมภาษณ์ขององค์ดีไซเนอร์และที่มาของสัญลักษณ์นกยูง หนังสือ “SIRIVANNAVARI: 16 YEARS OF GLORY” มีความโดดเด่นด้วยปกสีชมพูฟูเชียอันเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของแบรนด์ซึ่งแสดงถึงวิสัยทัศน์และความสร้างสรรค์อันเหนือระดับขององค์ดีไซเนอร์
ด้วยความที่พระองค์ทรงเริ่มต้นอาชีพในวงการแฟชั่นตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ในพระดำริของพระองค์หญิงคุณสมบัติของศิลปินที่ดีต้องประกอบไปด้วย “ศิลปินที่ดีต้องซื่อสัตย์ต่อตัวเอง และประวัติศาสตร์ของตัวเอง ต้องเป็นคนที่มุ่งมั่นในงานตั้งเป้าหมายและทำให้ได้ตามที่ตั้งใจ มีสปิริต มีการทำงานที่ต่อเนื่อง รวมทั้งต้องมีแพชชั่นในงาน ต้องรู้จริงในงานของตัวเอง รู้จักแก้ปัญหาและมีวินัย รวมทั้งต้องมีเทสต์ที่ดี และรู้เทสต์ของทั่วโลก ทุกวันนี้แม้ว่าโลกจะเต็มไปด้วยเทคโนโลยีมากมาย แต่อย่างไร ก็ต้องชอบทักษะด้านงานฝีมือซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญ ที่ทำให้ต้องฝึกฝนตัวเองตลอดเวลา เพื่อที่เราจะสามารถบอกทีมงานให้ทำตามได้ อีกอย่างคือ ผู้ใหญ่สั่งมาอย่างไร สอนมาอย่างไร ต้องไม่ลืมสิ่งที่พวกเขาสอนมา บุคคลที่เป็นแรงผลักดันพระองค์เดียวและทรงเป็นไอคอนของข้าพเจ้า ก็คือ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จย่าทรงเป็นแรงผลักดันที่ทำให้ข้าพเจ้าทูลลาไปเรียนต่อด้านแฟชั่น ที่ประเทศฝรั่งเศส แล้วกลับมาถวายงานรับใช้พระองค์ท่าน”
ด้วยความตั้งพระทัยในการส่งต่อแรงบันดาลใจให้แก่คนรุ่นต่อไป และผู้ที่รักในแฟชั่น รวมทั้งส่งผ่านประสบการณ์ในวงการแฟชั่นที่สะสมมาตลอดระยะเวลา 16 ปี ผ่านหนังสือ “SIRIVANNAVARI: 16 YEARS OF GLORY” องค์ดีไซเนอร์พระราชทานข้อคิดให้แก่บุคคลที่มองพระองค์เป็นแรงบันดาลใจ ว่า “อย่างแรกคือ ต้องซื่อสัตย์กับตัวเอง ใจชอบหรือไม่ ถ้าเกิดเจอปัญหา หรือทุกข์เมื่อไหร่ แต่ทุกข์แล้วยังมีความสุข แสดงว่าเราชอบสิ่งนั้นจริง และต้องพร้อมรับมือกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งแง่บวกและแง่ลบ รู้จักยืดหยุ่นในทุกสถานการณ์ ที่สำคัญคือ ยึดความเป็น Identity (ตัวตน) และอย่าลืมพัฒนาตัวเอง ทั้งสมอง มือ ใจ หรือแม้กระทั่งตาของตัวเอง เมื่อฝึกตัวเราแล้ว ก็จะสามารถชนะคู่แข่งได้
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ยังทรงก่อตั้งโครงการ “Princess Collection” ทรงเล็งเห็นความสำคัญของโรคมะเร็งเต้านม และทรงตอกย้ำความสำคัญของการส่งต่อพลังใจจากผู้หญิงถึงผู้หญิงด้วยกันซึ่งนอกจากการออกแบบชุดชั้นในแฟชั่นการกุศล ร่วมกับแบรนด์ชุดชั้นในระดับโลกวาโก้ (Wacoal) ในชื่อ “Princess Collection SIRIVANANVARI x Wacoal” แล้ว ทรงมีพระทัยห่วงใยผู้หญิงที่ต้องต่อสู้กับโรคมะเร็ง จึงทรงออกแบบชุดชั้นในสำหรับผู้ป่วยหลังผ่าตัดเต้านม (Balancing Bra) เน้นความสดใส ประดับโลโก้ริบบิ้นสีชมพูรูปหัวใจของโครงการฯ ที่ทรงออกแบบด้วยพระองค์เอง ในสีชมพูฟูเชีย ซึ่งเป็นสีประจำแบรนด์ และสีส้มโอโรส เพื่อมอบความมั่นใจในความเป็นผู้หญิง ให้กลับเต็มเปี่ยม พร้อมดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นปกติ รวมถึงยังมีผลิตภัณฑ์แฟชั่นลำลอง ที่ออกแบบโดยแบรนด์ SIRIVANNAVARI วางจำหน่ายผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์ Lazada ในชื่อร้านค้า “Princess Collection โดยมูลนิธิกาญจนบารมี” และจุดจำหน่ายของมูลนิธิฯ ทั่วประเทศ โดยกิจกรรมทั้งหมดในโครงการ Princess Collection นำรายได้สนับสนุนโครงการคัดกรองมะเร็งเต้านมเคลื่อนที่ด้วยเครื่องแมมโมแกรม ในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาสทั่วประเทศ ของ “มูลนิธิกาญจนบารมี” และสนับสนุนการดำเนินงานของ “สถาบันมะเร็งแห่งชาติ”
ด้านกีฬา นอกจากพระอัจฉริยภาพที่โดดเด่นในฐานะดีไซเนอร์แล้ว ยังทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านกีฬาโดยทรงโปรดกีฬาแบดมินตัน และการขี่ม้า ทรงเริ่มเล่นกีฬาแบดมินตันตั้งแต่ทรงศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 3 และทรงผ่านการคัดเลือกเป็นนักกีฬาแบดมินตันทีมชาติไทยเข้าร่วมการแข่งขันซีเกมส์ครั้งที่ 23 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อพ.ศ.2548 และทรงคว้าเหรียญทองประเภททีมหญิง อีกทั้ง ทรงร่วมเป็นนักกีฬาทีมชาติไทย เข้าร่วมการแข่งขันแบดมินตันในซีเกมส์ ครั้งที่ 24ที่จังหวัดนครราชสีมา และทรงคว้าเหรียญทองแดงจากประเภททีมหญิง
ขณะที่ กีฬาขี่ม้า พระองค์ทรงสนพระทัยตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ตามแบบ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภานเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดาโดยทรงคว้าแชมป์ประเภท Dressage ในรายการ “ไทยแลนด์แชมเปี้ยนชิพ คิงส์คัพ 2012” และทรงเป็นคนไทยคนแรกที่จบหลักสูตรการขี่ม้าจากประเทศฝรั่งเศส โดยพระองค์ทรงเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันกีฬาซีเกมส์ 2017 ที่ประเทศมาเลเซีย ทรงคว้าเหรียญเงินในการแข่งขันศิลปะการบังคับม้า ประเภทบุคคล ทั้งนี้ สมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล Best Achievement Award ให้แก่พระองค์ด้วย
เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2562 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงนำทีมชาติไทยคว้าเหรียญรางวัลมากที่สุดในการแข่งขันขี่ม้า “FEI Asian Championships Pattaya 2019” การแข่งขันขี่ม้าครั้งประวัติศาสตร์ในทวีปเอเชีย รายการ “FEI Asian Championships Pattaya 2019” โดยสมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ทั้งนี้ ทรงสร้างผลงานอย่างยอดเยี่ยม นำทัพนักกีฬาขี่ม้าทีมชาติไทยคว้าเหรียญทองในการแข่งขัน Dressage ศิลปะบังคับม้า ประเภททีม ประเดิมชัยให้ทีมชาติไทยเป็นเหรียญแรก ซึ่งตลอดการแข่งขัน 8 วัน ทีมไทยทำผลงานยอดเยี่ยมสามารถกวาดเหรียญรางวัลได้มากที่สุด 3 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง
ด้านดนตรี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านดนตรีและสนพระทัยในด้านดนตรีไทยและดนตรีคลาสสิกมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ โดยปัจจุบันทรงเป็นองค์อุปถัมภ์มูลนิธิรอยัลแบงค์คอก ซิมโฟนี ออร์เคสตร้า และ วงรอยัล แบงค์คอก ซิมโฟนี ออร์เคสตร้า (Royal Bangkok Symphony Orchestra) หรือ RBSO ทั้งยังทรงพระนิพนธ์เพลงให้วงรอยัล แบงค์คอกซิมโฟนี ออร์เคสตร้า ถวายงานในแฟชั่นโชว์ของแบรนด์ SIRIVANNAVARI อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีพ.ศ 2559 เป็นต้นมาและในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ปีพ.ศ.2562 มูลนิธิรอยัล แบงค์คอก ซิมโฟนี ออร์เคสตร้า ได้รับพระราชทานพระอนุญาตให้อัญเชิญบทเพลงพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ 4 บทเพลง จัดแสดงดนตรี “Four Royal Orchestral Suites for His Majesty King Rama X” ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 21-22 พฤศจิกายน 2562 ณ โรงละครแห่งชาติ และล่าสุด เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2565 มูลนิธิวงรอยัล แบงค์คอก ซิมโฟนี ออร์เคสตร้า ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้จัดการแสดงคอนเสิร์ต “Royal Concert” เพื่อถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 70 พรรษา ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทอดพระเนตรการแสดง โดย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเป็นผู้อำนวยการแสดงคอนเสิร์ต และบรรเลงบทเพลงพระนิพนธ์ของพระองค์
ด้านการอนุรักษ์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญา ทรงสนพระทัยในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะทางทะเล โครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในพระดำริ ที่ผ่านมา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการโครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ณ หอประชุมภูติอนันต์ โรงเรียนนายเรืออ.เมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ทอดพระเนตรวีดิทัศน์สารคดีโครงการ พระราชทานพระราโชบายเกี่ยวกับการดำเนินโครงการ ทรงปล่อยปลาฉลามและเต่าทะเล ทอดพระเนตรนิทรรศการของหน่วยงานสนองพระดำริฯ ทอดพระเนตรการปล่อยเต่าทะเลในพื้นที่จังหวัดชลบุรี จังหวัดสงขลา จังหวัดภูเก็ตผ่านระบบการประชุมทางไกลวีดิทัศน์พร้อมกันทั่วประเทศ ทั้งนี้ กองทัพเรือ ได้สนองพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการดำเนินงานสนับสนุน “โครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทยในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา” โดยทรงมีความห่วงใยปัญหาเรื่องความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติใต้ทะเล การทำร้ายสัตว์ทะเลด้วยน้ำมือมนุษย์ โดยตั้งใจหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ดังนั้น การอนุรักษ์และการสร้างจิตสำนึกในการหวงแหนและรักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนระบบนิเวศที่มีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลไทย
สำหรับ “โครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญา” ได้ดำเนินโครงการจำนวน 3 ด้าน ประกอบด้วย 1.ด้านการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ 2.ด้านการอนุรักษ์ท้องทะเลไทยและแนวปะการัง ประกอบด้วย แผนงานจัดทำปะการังเทียม และแผนงานอนุรักษ์ท้องทะเล 3.ด้านการรณรงค์ปลูกจิตสำนึกและประชาสัมพันธ์ ประกอบด้วย แผนงานเสริมสร้างจิตสำนึก และแผนงานประชาสัมพันธ์โครงการ
และในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ 8 มกราคม 2567ขอถวายพระพรให้ทรงพระเกษมสำราญ ทรงมีพระชนม์ยิ่งยืนนานเป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทย ตราบนานเท่านาน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี