ปัญหาสีผิวเป็นดวงขาว เกิดจากการที่เซลล์สร้างเม็ดสีหายไป หรืออาจเป็นจากการที่เซลล์สร้างเม็ดสีทำงานบกพร่อง จึงเกิดภาวะผิวหนังสีขาวเกิดขึ้น ทั้งเมื่อพูดถึงดวงขาวที่เกิดขึ้นบริเวณผิวหนัง หลายๆ ท่านคงนึกถึงโรคด่างขาว คอลัมน์นี้จึงขออธิบายเกี่ยวกับโรคด่างขาว และแนวทางการรักษาโรคด่างขาว
รอยขาวบนผิวหนังเป็นโรคด่างขาวทุกกรณี จริงหรือไม่
ปัญหารอยขาวบนผิวหนังอาจเป็นอาการแสดงของโรคผิวหนังหลายๆ โรคได้ เช่น โรคด่างขาวเกลื้อน เกลื้อนน้ำนม แผลเป็นขาว ปานขาว กระขาว ฯลฯ ดังนั้น การที่ผิวหนังกลายเป็นดวงขาว อาจไม่ใช่โรคด่างขาวเสมอไป อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยหลายรายมักจะมีความกังวลว่าจะเป็นโรคด่างขาวเมื่อเห็นผิวหนังเป็นดวงขาวเกิดขึ้น
โรคด่างขาวคืออะไร
โรคด่างขาวจัดอยู่ในข่ายของโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากเซลล์สร้างเม็ดสีถูกทำลาย ทำให้เกิดเป็นรอยด่างของผิวหนัง จากสถิติของคนไทยพบว่าน้อยกว่าร้อยละ 1ของประชากร สามารถเกิดโรคนี้ได้โดยสาเหตุของการทำลายเซลล์เม็ดสีเกิดได้จากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันในผิวหนัง การสะสมของอนุมูลอิสระในเซลล์สร้างเม็ดสี นอกจากนี้ยังสามารถพบโรคของต่อมไทรอยด์ร่วมกับโรคด่างขาวได้ด้วย โดยมีรายงานว่าอาจพบความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ได้ร้อยละ 10-20 ของผู้ที่เป็นด่างขาว บางรายอาจเป็นโรคของต่อมไทรอยด์มาก่อนที่จะเป็นด่างขาว แต่บางรายก็พบความผิดปกติของต่อมไทรอยด์หลังจากที่เป็นด่างขาวแล้ว นอกจากนี้โรคด่างขาวยังอาจจะเกิดขึ้นจากปัจจัยทางพันธุกรรมได้ด้วย พบว่าถ้าพ่อแม่เป็นโรคด่างขาว โอกาสที่ลูกจะเป็นก็มีมากขึ้น
อาการของโรคด่างขาว
สำหรับอาการเบื้องต้นที่สังเกตได้คือ รอยจะปรากฏเอง เป็นวงสีขาวแบบจางๆ เมื่อเวลาผ่านไปจะเห็นเป็นสีขาวชัด ขอบชัดเจน มีรูปร่างกลมหรือรีอาจมีจำนวน 1 วง ไปจนถึงหลายวงและทั่วตัวได้ รอยขาวแต่ละวงอาจลามมาเชื่อมกันจนเป็นแผ่นใหญ่ได้ นอกจากนี้บางรายอาจลามเป็นแถบส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายก็ได้ สามารถพบได้ทุกตำแหน่งของร่างกาย แต่มักพบได้บ่อยที่รอบตา รอบปาก รอบจมูก รักแร้ ศอก เข่าข้อมือ หลังมือ และหลังเท้า บางรายอาจมีภาวะผมหงอกร่วมด้วยโดยเฉพาะผู้ที่มีรอยขาวที่หนังศีรษะ
ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการ แต่จากข้อมูลในประชากรไทยที่เป็นโรคด่างขาว พบว่าร้อยละ 20 อาจมีอาการคันร่วมด้วยได้ โดยอาการคัน
อาจเป็นนำมาก่อน เป็นพร้อมรอยขาวหรือหลังเกิดรอยขาวก็ได้
โรคด่างขาวติดต่อหรือไม่
เนื่องจากโรคด่างขาวเกิดจากการที่เซลล์สร้างเม็ดสีถูกทำลายโดยกลไกระบบภูมิคุ้มกันไม่ได้เกี่ยวข้องกับปัจจัยภายนอก จึงสามารถสัมผัสผู้ที่เป็นโรคด่างขาวได้โดยไม่ติดต่อแต่อย่างใด
การวินิจฉัยโรคด่างขาว
สำหรับการวินิจฉัยโรคด่างขาว แพทย์สามารถวินิจฉัยได้จากลักษณะของรอยโรค และตำแหน่งที่เป็นรอยโรค อย่างไรก็ตามอาจต้องทำการตรวจชิ้นเนื้อเพื่อแยกกับโรคที่มีรอยขาวบางโรค เช่น มะเร็งชนิดลิมฟ์โฟม่าของผิวหนัง โรคเรื้อน โรคลูปัสของผิวหนัง เป็นต้น
เมื่อเราสามารถทำการวินิจฉัยได้แล้ว ลำดับต่อไปจึงควรรีบเริ่มทำการรักษา หากปล่อยไว้นานจะทำให้เซลล์สร้างเม็ดสีฟื้นตัวยากขึ้น ในฉบับหน้า เราจะมาเจาะกันเรื่องแนวทางการรักษาโรคด่างขาว
สาขาวิชาโรคผิวหนัง คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี