วันเสาร์ ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ผู้หญิง
แนวหน้า Talk : ‘วิทิตนันท์ โรจนพานิช’  คำตอบของชีวิตหลังสร้างประวัติศาสตร์  ชาวไทยคนแรกผู้พิชิต‘ยอดเขาเอเวอเรสต์’

แนวหน้า Talk : ‘วิทิตนันท์ โรจนพานิช’ คำตอบของชีวิตหลังสร้างประวัติศาสตร์ ชาวไทยคนแรกผู้พิชิต‘ยอดเขาเอเวอเรสต์’

วันเสาร์ ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2567, 06.00 น.
Tag : แนวหน้า Talk วิทิตนันท์ โรจนพานิช
  •  

“8,848 เมตร” เป็นความสูงของ “ยอดเขาเอเวอเรสต์” เหนือระดับน้ำทะเล เอเวอเรสต์นั้นเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัย อันเป็นดินแดนที่ถูกเรียกว่า “หลังคาโลก”ซึ่งนับตั้งแต่ จอร์จ เอเวอเรสต์ นักสำรวจชาวอังกฤษ ค้นพบภูเขาลูกนี้ในปี 2384 (โดยชื่อ เอเวอเรสต์ ก็ถูกตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่นักสำรวจท่านนี้) มันได้กลายเป็นเป้าหมายของนักปีนเขาจากทั่วสารทิศมาจนถึงปัจจุบัน ที่หวังว่าเกิดมาชาติหนึ่งจะต้องเป็นผู้พิชิต “ยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก” ให้ได้ แม้จะต้องเสี่ยงกับความตายก็ตาม ดังที่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากความพยายามปีนเขาลูกนี้อยู่เนืองๆ

ย้อนไปเมื่อ “วันที่ 22 พ.ค. 2551” ซึ่งถือเป็น“วันประวัติศาสตร์” อีกวันหนึ่งของประเทศไทย เมื่อ วิทิตนันท์โรจนพานิช ได้กลายเป็น “คนไทยคนแรกที่พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์” และต้องบอกว่า กว่าจะได้นำธงชาติไทยขึ้นไปโบกสะบัดในจุดที่สูงที่สุดบนพื้นโลก นอกจากการเตรียมพร้อมสภาพร่างกายแล้ว การหาผู้สนับสนุนเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังที่ วิทิตนันท์ ได้มาบอกเล่าในรายการ“แนวหน้า Talk” เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา


วิทิตนันท์ ฉายภาพความยากในการพิชิตยอดเขาลูกนี้โดยเริ่มจากการอธิบายก่อนว่า ยอดเขาเอเวอเรสต์ เกิดขึ้นจากแผ่นเปลือกโลกยูเรเชียนเพลทกับอินเดียนแพลทชนกันเมื่อ50 ล้านปีก่อน ในเวลาที่ยังอยู่ใต้น้ำและดันตัวสูงขึ้น กระทั่งวันที่29 พ.ค. 2496 มีคน 2 คน คือ เทนซิง นอร์เก เชอร์ปา และ เอ็ดมันด์ ฮิลลารี ปีนขึ้นสู่ยอดเขา โดยเวลานั้นยอดเขามีความสูง 8,848 เมตร จึงยึดตัวเลขนี้เป็นความสูงของยอดเขาเอเวอเรสต์ แต่จริงๆ แล้วยอดเขาเอเวอเรสต์สูงขึ้นทุกปีเพราะเปลือกโลกยังดันกัน

อย่างตอนที่เกิดแผ่นดินไหวที่เนปาลเมื่อ 6-7 ปีก่อน ยอดเขาก็ทรุดลงมา แต่หลังจากนั้นก็ดันกลับสูงขึ้นไปอีก อย่างปัจจุบันตัวเลขที่มีการวัดกันคือ 8,852 เมตรบ้าง หรือ 8,850 เมตรบ้าง ซึ่ง “เหตุที่การพิชิตยอดเขาแห่งนี้เป็นเรื่องยากมากมาจาก 3 ส่วน” ประกอบด้วย 1.สภาพทางธรรมชาติ ด้วยความสูง 8,848 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ทำให้เกิดปรากฏการณ์ เช่น อากาศเบาบาง อย่างที่เราอยู่อาศัยกันขณะนี้มวลอากาศ 100% จะมีออกซิเจน 21% แต่บนยอดเขาเอเวอเรสต์มวลอากาศเหลือ 30% ออกซิเจนเหลือแค่ 6%

ดังนั้นเมื่อขึ้นไปแล้วร่างกายไม่ปรับตัว จะเกิดภาวะปอดชื้นปอดบวม สมองบวม นอกจากนั้น ด้านบนอุณหภูมิยังอยู่ที่-40 องศาเซลเซียส มีหิมะตลอดปี นี่คือความยากลำบากของสถานที่ที่มีความสูง 2.อันตรายจากอุบัติเหตุ อย่างฝั่งใต้ หรือฝั่งประเทศเนปาลที่ตนปีนขึ้นไป ต้องข้ามหุบเหว ต้องใช้บันไดอะลูมิเนียมพาด และแม้จะมีอุปกรณ์ลดความเสี่ยงแต่จุดนี้ก็เป็นจุดที่มีผู้เสียชีวิตอยู่บ่อยครั้ง หรือปีนอยู่เจอหิมะถล่มใส่ก็เสียชีวิตได้เช่นกัน

และ 3.ความเหนื่อยล้า กว่าจะไปถึงยอดเขาต้องใช้เวลากันถึง 2 เดือน จริงๆ หากปีนทีเดียวให้จบจะใช้เวลาเพียง 6 วันก็ถึงยอด แต่ที่ใช้เวลานานเพราะต้องทำให้ร่างกายปรับตัวให้ไขกระดูกสร้างฮีโมโกลบิน ทั้งนี้ “ค่าใช้จ่ายการปีนยอดเขาเอเวอเรสต์จะอยู่ที่ราว 2-3 ล้านบาท” เพราะต้องอยู่ที่นั่น 2 เดือน ต้องใช้ลูกหาบ ต้องมีอาหารรับประทาน ยังไม่นับค่าอุปกรณ์ที่ตกราวหลักแสนบาท

นั่นทำให้ “มีคนกล่าวแบบติดตลกว่า นอกจากร่างกายแข็งแรง จิตใจมุ่งมั่นและมีเงิน แล้วยังต้องโง่และบ้าด้วย” แต่คำว่าบ้าในที่นี้ตนมองว่าหมายถึง “บ้าระห่ำในความศรัทธา” เพราะดูสถิติแล้ว “อัตราเสี่ยงอยู่ที่ใน 10 คน จะมีผู้เสียชีวิต 1 ราย ในขาขึ้น และ 6 คน จะมีผู้เสียชีวิต 1 ราย ในขาลง” โดยตอนลงเขานั้นยากกว่าตอนขึ้นเขาเพราะหมดแรง อย่างเท่าที่พบศพกันขณะนี้ก็ประมาณ 300-400 รายแล้ว

ซึ่ง ณ ปัจจุบันมีคนขึ้นปีนเยอะ จำนวนคนที่ปีนสำเร็จตนเข้าใจว่าน่าจะอยู่ราวๆ สัก 5-6 พันคนแล้วตั้งแต่มีการค้นพบครั้งแรก ย้อนไปในปี 2467 มีสื่อไปถาม จอร์จ มัลลอรี ที่พยายามปีนยอดเขาเอเวอเรสต์มาแล้ว 2 ครั้งแต่ไม่สำเร็จ ว่าจะกลับไปปีนทำไมอีก แล้ว มัลลอรี ตอบสั้นๆ ว่า เพราะมันอยู่ตรงนั้น (Because is there) ตนมองว่าเป็นคำตอบที่เรียบง่ายแต่ลึกซึ้ง และเป็นคำตอบที่ตนเพิ่งเข้าใจหลังปีนได้สำเร็จ ว่าเมื่อเราศรัทธาอะไรสักอย่างหนึ่ง เมื่อนั้นเราจะเชื่อมั่นว่าสิ่งนั้นจะต้องทำได้

“ถ้าเราเลือกที่จะไป ก่อนจะถึงยอดเขาเราก็ต้องพบอุปสรรค เหมือนเราตั้งเป้าในชีวิตเรา อยากได้นั่น-อยากเป็นนี่ ถ้าเราไม่ต่อสู้อะไรเลยมันก็ไม่ได้ ยิ่งเป้าสูง เป้าหมายยาก มันก็ต้องยิ่งมีอุปสรรคยาก แต่เมื่อเราไปถึงจุดตรงนั้นมันคือสุดยอด คำว่าสุดยอดมันใช้กับสิ่งที่ผมทำได้เลย มันสุดยอดจริงๆ คือตอนแรกผมก็มีแรงบันดาลใจ ต้องบอกก่อนเลยว่าจุดเริ่มต้นมาจากการคุยกันเล่นๆ แต่ว่าผมไม่เล่น ผมเอาจริง”วิทิตนันท์ กล่าว

วิทิตนันท์ เล่าต่อไปถึง “จุดเริ่มต้น” ของการพิชิตยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก ต้องย้อนไปปี 2547 ตนเป็นคนชอบท่องเที่ยวแบบผจญภัย เช่น ดำน้ำ ขับเครื่องบินเล็ก แต่ยังไม่เคยปีนเขา ระหว่างไปดำน้ำกับเรือมารีเวสต์ ได้พูดคุยกับสาโรจน์ เปรื่องวิริยะ เจ้าของบริษัทนอร์ก้า ซึ่งเป็นพี่ที่รู้จักกันท่านถามตนว่าเคยปีนเขาหรือไม่ ตนบอกว่าไม่เคย มีการพูดติดตลกอีกว่าภูเขาสูงที่สุดที่ตนเคยปีนคือภูเขาทองวัดสระเกศฯ ขนาดภูกระดึง จ.เลย ก็ยังไม่เคยไป

ซึ่งคุณสาโรจน์ก็บอกว่า “น่าเสียดาย อยากชวนไปปีนยอดเขาเอเวอเรสต์ เนื่องจากในปี 2549 จะเป็นวาระที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงครองราชย์ครบ 60 ปี อยากทำเป็นของขวัญถวายพระองค์ท่าน” เมื่อตนได้ยินที่คุณสาโรจน์บอกว่าอยากทำเพื่อถวายในหลวง ร.9 ด้วยการพาคนไทยไปชูธงชาติ ร้องเพลงชาติไทยและเพลงสรรเสริญพระบารมีบนยอดเขาเอเวอเรสต์ ตนก็บอกว่าถ้าแบบนั้นตนขอไปด้วย และขอเป็นโปรดิวเซอร์รายการนี้เอง จะทำเป็นรายการเผยแพร่ทางโทรทัศน์ แต่เกิดปัญหาทำให้นายสาโรจน์ไม่สามารถทำต่อได้ตนจึงรับหน้าที่วิ่งหาสปอนเซอร์เอง

หลังพยายามอยู่หลายปี ได้คุยกับ บริษัทกันตนา ซึ่งก็ต้องเอ่ยชื่อบุคคลสำคัญอีก 2 ท่าน ท่านแรกคือ นิรัตติศัย กัลย์จาฤก ขณะเดียวกัน ตนก็เริ่มจากการไปปีนในจุดเล็กๆ ของเส้นทางสู่เอเวอเรสต์ เช่น เบสต์แคมป์ (Base Camp) ยอดเขาคาลาปาธาร์ (Kalapatther) ที่สูง 5,545 เมตร นอกจากนั้น ตนยังได้ทำละครเวทีกับคุณนิรัตติศัย เจอคำถามว่าอยากทำอะไรมากที่สุด ตนก็ตอบไปว่าอยากปีนยอดเขาเอเวอเรสต์ พร้อมกับนำคลิปวีดีโอที่ตนไปปีนเขาเหล่านั้นไปให้ดู เมื่อได้เห็นคลิปวีดีโอ คุณนิรัตติศัย ก็บอกว่าขอเอาไปให้ จาฤก กัลย์จาฤก ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญอีกท่านหนึ่งดู

แล้วคุณจาฤกก็เรียกตนไปคุย บอกว่ามา “ทำกันเถอะ” ก็วิ่งหาสปอนเซอร์และช่องโทรทัศน์กันต่อ แต่ยังไม่ได้ในไทย อย่างไรก็ตาม คุณจาฤกบอกว่าทำรายการอยู่ที่เวียดนาม จึงแนะนำให้ตนนำโครงการไปเสนอที่เวียดนาม จึงเกิดเป็น Vietnam 2008 Everest to the World และเรียกเสียงฮือฮาจากที่นั่นได้อย่างมาก มีการเฟ้นหาตัวแทนจาก 100 คน คัดเหลือ 20 และ 12 คน 8 คน 6 คน สุดท้ายเหลือ 4 คนที่มีความพร้อมที่สุดเพื่อไปพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ นอกจากนั้นคณะเดินทางยังมีช่างภาพจาก National Geographic 1 คน มีการตัดต่อแล้วส่งสัญญาณรายงานความคืบหน้าจากเบสต์แคมป์ทุกวัน ซึ่งเสียดายรายการนี้ไม่ได้ออกอากาศในประเทศไทย

“ปีน 6 คน แต่ซัพพอร์ตทีมมีอีก 13 คน ทั้งหมด19 คน แต่ขึ้นไปถึงบนนั้นได้เพียง 5 คน คือผู้เข้าแข่งขันมี 4 คน เป็นนักกีฬาทีมชาติหมด ช่างภาพ National Geographic 1 คน และผมเป็นหัวหน้าทีม 6 คนปีน พิชิตได้5 ผู้เข้าแข่งขัน 4 คน คนหนึ่งไม่สำเร็จ ก็เท่ากับทีมเวียดนามสำเร็จ 3 คน คนแรกชื่อเล่นเขาชื่อเงยหรือเหงียน อะไรสักอย่างเป็นผู้ชาย เป็นนักยิมนาสติก แต่อีก 2 คนก็ตามมา เขาคนแรก15 นาที อีก 15 นาทีเราก็ตามมา” วิทิตนันท์ ระบุ

วิทิตนันท์ ยังกล่าวอีกว่า แม้กระทั่งเมื่อตอนที่ตนปีนยอดเขาเอเวอเรสต์ ตนก็ยังนึกถึงในหลวง ร.9 เพราะตนทึ่งในสิ่งที่พระองค์ท่านทรงทำ ตนมองว่าพระองค์ท่านต้องข้ามยอดเขาอย่างมหาศาล เพราะโครงการพระราชดำริ และอีกหลายสิ่งที่พระองค์ท่านปูพื้นฐานไว้ให้กับคนไทยเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก และหลายสิ่งคนไทยก็ไม่เข้าใจ เช่น ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เรื่องนี้ตนว่ามีคนเข้าใจน้อยมาก แต่ก็มีคนกล่าวว่า คนจนเพราะไม่มีนั้นน้อยกว่าจนเพราะไม่พอ และหากพอก็จะไม่จน

ซึ่งตั้งแต่เกิดมาตนเห็นในหลวง ร.9 ท่านทรงงานแล้ว อย่างบ้านตนเป็นครอบครัวใหญ่ ได้รับการปลูกฝังเรื่องศิลปวัฒนธรรม ได้เห็นข่าวในโทรทัศน์บ้าง แม่หรือป้ามาเล่าบ้างว่าในหลวง ร.9 ท่านทำอะไร อย่างตอนเรียนหนังสือเคยโดดเรียนไปเล่นละครเพราะเป็นสิ่งที่ตนชอบ แล้วก็มีเพื่อนๆ คุยกันมีความสงสัยว่าที่ในหลวง ร.9 ท่านทำสิ่งต่างๆ นั้นจริงหรือไม่ตนก็ตัดสินใจพิสูจน์ด้วยการเดินทางไปโครงการหลวง อาทิคุ้งกระเบน จ.จันทบุรี, ชั่งหัวมัน จ.เพชรบุรี, ดอยตุง จ.เชียงราย ซึ่งที่นี่ตนไปตั้งแต่ยังไม่มีพระตำหนักดอยตุง

กระทั่งสุดท้ายตนไปได้คำตอบที่ดอยอ่างขาง จ.เชียงใหม่ เจอคุณป้าท่านหนึ่งเป็นชาวม้ง เล่าให้ตนฟังว่า ในหลวง ร.9 เสด็จฯมาที่นี่แล้วทรงมีรับสั่งอะไรบ้าง และพืชเมืองหนาวที่ท่านโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกแทนฝิ่น มีมานานมากก่อนตนเกิด แล้วต้องบอกว่าหลายอย่างที่พระองค์ท่านทรงทำนั้นไม่มีใครรู้ เป็นการปิดทองหลังพระอย่างแท้จริง ตนก็รู้สึกซาบซึ้ง ซึ่งก็ต้องเล่าย้อนอีกว่า ตอนยังเรียนอยู่ก็เป็นพวกหัวขบถพอสมควร แต่ขบถในรุ่นของตนก็คือต้องพิสูจน์ เมื่ออีกฝ่ายที่มีชุดข้อมูลบอกว่าได้รับฟังจากเขาเล่าต่อกันมา ตนก็บอกเดี๋ยวไปถ่ายรูปมาให้ดู

“ผมรู้สึกว่าสิ่งที่พยายามทำก็ทำสำเร็จ ตอนขึ้นไปก็เหมือนฝันนะ แต่ผมคิดว่าฝันทุกฝันเป็นจริงได้ถ้าเราลงมือทำและตามล่าหามัน แล้วผมว่าทุกอย่างมันมีความหมายหมดถ้าเราให้ความหมายกับมัน แล้วก็ทำจริงกับมัน ทุกอย่างมีความหมายหมดเลย อยากจะพูดนิดหนึ่ง เชื่อไหมว่าพอสุดท้ายแล้วตอนที่ผมคิดว่าพอลงมา ผมรู้สึกว่ายอดเขาเอเวอเรสต์ไม่ใช่ยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก มันมียอดที่สูงกว่าเอเวอเรสต์ ยอดเขานั้นคือยอดเขาที่อยู่ในใจ มันคือภูเขาในใจ จนทุกวันนี้ผมก็สู้กับมันทุกวัน ภูเขาลูกนี้ทำไมมันยากอย่างนี้ เพราะอุปสรรคเราตั้งมันขึ้นมาเอง” วิทิตนันท์ กล่าว

ในช่วงท้ายก่อน วิทิตนันท์ บอกเล่าเรื่องราวภายหลังพิชิตยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกได้แล้ว ว่า ได้รับเชิญให้ไปบรรยายเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรค ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดที่ตนย้ำคือความศรัทธา แต่ขณะเดียวกัน “ศรัทธาต้องมาจากปัญญา” หากไม่ใช้ปัญญาก็เป็นเพียงความเชื่อ แล้วเมื่อมีปัญญาก็จะมีสติ ทำให้สามารถก้าวข้ามขวากหนามไปได้ และจากที่ไปบรรยายมาหลายที่ ก็เจอความประทับใจอยู่หลายหน เช่น มีผู้ฟังร้องไห้ด้วยความตื้นตัน คงเพราะสิ่งที่ตนเล่านั้นไปโดนใจ หรือบางคนฟังแล้วก็บอกว่าขอยึดเป็นแนวปฏิบัติในการใช้ชีวิต

ทั้งนี้ โดยส่วนใหญ่ที่ตนไปบรรยาย คำถามที่พบเสมอคือเรื่องการใช้ชีวิตระหว่างปีนเขา เช่น กินอะไร ขับถ่ายอย่างไร เหนื่อยเพียงใด แต่มีครั้งนึงไปบรรยายที่ธนาคารแห่งหนึ่ง วันนั้นมีผู้ฟังประมาณ 100 คน มีผู้ฟังอายุน่าจะประมาณสามสิบต้นๆ ลุกขึ้นถามว่า “ชีวิตคืออะไร?” และตนก็ตอบไปว่า “ชีวิตคือโอกาส” หมายถึง “โอกาสในการเลือกที่จะทำหรือไม่ทำ” การมีชีวิตคือการมีโอกาสเลือก หรือแม้แต่การไม่เลือกนั่นก็คือทางเลือกอีกอย่างเช่นกัน วันนี้ตนก็ยังจำหน้าคนที่ถามได้ และจำได้ด้วยว่าหลังตอบไปคนคนนั้นก็กำมือแล้วกล่าวขอบคุณพร้อมกับน้ำตาไหล

“การปีนเอเวอเรสต์มันก็ยากทาง Physical (กายภาพ) ทางรูปธรรม นามธรรมก็ยากเพราะต้องสู้กับจิตใจตัวเอง แต่ผมอยากจะบอกว่ามันก็มีหลายสิ่งหลายอย่าง ถ้าพูดถึง Value (คุณค่า) ผมว่าแม่ค้าทำขนมครกแล้วทำโคตรอร่อย แบบนี้ผมว่านั่นก็คือปีนเขาเอเวอเรสต์เหมือนกันนะ ต้องฝึกฝน ต้องมีศรัทธา ผมเจอหลายคนนะ ทำอะไรเล็กๆ แต่เขาแฮปปี้ ผมเจอน้องขายกาแฟแถวซอยภาวนา เขาบอก..พี่! ผมแฮปปี้แค่นี้ เล็กๆ ทำจักรยานไปด้วย ทำกาแฟไปด้วย ผมมีความสุขทุกวันทุกนาทีที่ได้ทำ กาแฟอร่อยด้วย ผมถามว่าใส่อะไร เขาบอกใส่ใจ” วิทิตนันท์ ฝากข้อคิดทิ้งท้าย

หมายเหตุ : สามารถติดตามรายการ “แนวหน้า Talk” ดำเนินรายการโดย บุญยอด สุขถิ่นไทย ได้ผ่านทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 19.00 น. !!!

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • แนวหน้า Talk : ‘รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร’  ส่งกลับ‘อุยกูร์’ประเด็นร้อน‘ไทย’  ในความขัดแย้งของมหาอำนาจ แนวหน้า Talk : ‘รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร’ ส่งกลับ‘อุยกูร์’ประเด็นร้อน‘ไทย’ ในความขัดแย้งของมหาอำนาจ
  • แนวหน้า Talk : ‘ไพบูลย์ นิติตะวัน’  ‘พลังประชารัฐ’ในบทบาทฝ่ายค้าน  อ่านเกม‘เพื่อไทย’แก้รัฐธรรมนูญ แนวหน้า Talk : ‘ไพบูลย์ นิติตะวัน’ ‘พลังประชารัฐ’ในบทบาทฝ่ายค้าน อ่านเกม‘เพื่อไทย’แก้รัฐธรรมนูญ
  • แนวหน้า Talk : ‘สุทิน วรรณบวร’  การเมืองไทยในสายตาสื่ออาวุโส  ต่างชาติไม่มั่นใจใครนายกฯตัวจริง แนวหน้า Talk : ‘สุทิน วรรณบวร’ การเมืองไทยในสายตาสื่ออาวุโส ต่างชาติไม่มั่นใจใครนายกฯตัวจริง
  • แนวหน้า Talk : ‘วรชัย เหมะ’ มองการเมือง‘หลักการvsสถานการณ์’ และความเป็นไปของ‘คนเสื้อแดง’ แนวหน้า Talk : ‘วรชัย เหมะ’ มองการเมือง‘หลักการvsสถานการณ์’ และความเป็นไปของ‘คนเสื้อแดง’
  • แนวหน้า Talk : ‘ฐิติวัฒน์ ว่องวรรณกุล’  ‘มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง(ภาฯ)ยามยากฯ’  กับภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย แนวหน้า Talk : ‘ฐิติวัฒน์ ว่องวรรณกุล’ ‘มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง(ภาฯ)ยามยากฯ’ กับภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
  • แนวหน้า Talk : ‘ชัชวาล แพทยาไทย’  ทำไม‘ปุ๋ยคนละครึ่ง’ไม่ตอบโจทย์  ‘ต้นทุนผลิต’ทำชาวนาติดวังวน‘จน-หนี้’ แนวหน้า Talk : ‘ชัชวาล แพทยาไทย’ ทำไม‘ปุ๋ยคนละครึ่ง’ไม่ตอบโจทย์ ‘ต้นทุนผลิต’ทำชาวนาติดวังวน‘จน-หนี้’
  •  

Breaking News

'เด็จพี่'ชูคอ! เชียร์'กกต.-ดีเอสไอ-ปปง.' เช็กบิลต้นตอ ฮั้วเลือก สว.

ยิปซีพยากรณ์'ดวงรายวัน'ประจำวันเสาร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2568

งานชุมนุมสายมูคึกคักจัดกลางสวนสาธารณะคุกเก่าลุ้นเลขธูปผู้ว่าฯหลังเคยเข้ามา2งวดซ้อน

เตือน! สัปดาห์เดียวป่วยโควิด พุ่ง 8,000 ราย ระบาดหนักกว่าไข้หวัดใหญ่ 2 เท่า

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved