สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง องค์ผู้พระราชทานกำเนิดโรงเรียนราชินี
เนื่องในปี พ.ศ.2567 เป็นปีที่โรงเรียนราชินีได้รับพระราชทานกำเนิดครบ 120 ปี เพื่อแสดงถึงความกตัญญูกตเวทิตาในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง องค์ผู้พระราชทานกำเนิดโรงเรียนราชินี และพระกรุณาธิคุณในพระบรมวงศานุวงศ์แห่งราชวงศ์จักรีโรงเรียนราชินีจึงจัดกิจกรรมเพื่อเริ่มต้นการเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 120 ปี โรงเรียนราชินี โดยจัดการปาฐกถาพิเศษเรื่อง “สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง กับการศึกษาของสตรีไทย” โดย ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุและ การเสวนาวิชาการ เรื่อง “โรงเรียนราชินี : มุมมองประวัติศาสตร์พื้นที่และสถาปัตยกรรมของอาคารสุนันทาลัย” โดย รศ.ดร.พีรศรี โพวาทอง และ รศ.ดร.กรรณิการ์ สุธีรัตนารมย์ ดำเนินการเสวนา โดย สุชาทิพ จิรายุนนท์ ณ ห้องประชุมอาคารสว่างวัฒนา โรงเรียนราชินี เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2567
โรงเรียนราชินี เป็นโรงเรียนเก่าแก่ที่ได้รับพระราชทานกำเนิดจาก สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถฯ ในพระบาท สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2447 ณ ตึกแถวมุมถนนอัษฎางค์และจักรเพชร ซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ โดยทรงมีพระราชประสงค์ให้เป็นสถานที่สำหรับสตรีไทยได้เข้ามาศึกษาหาความรู้ สามารถอ่านออกเขียนได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมทั้งมีความชำนาญทางการช่างฝีมือที่สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ มีการอบรม ศีลธรรมจรรยา และมารยาท เพื่อยกระดับสตรีไทยให้พรั่งพร้อมไปด้วยความรู้ความสามารถรอบด้าน โปรดให้จ้างครูจากประเทศญี่ปุ่น 3 คนมาสอนภาษาอังกฤษ คำนวณ วิทยาศาสตร์ วาดเขียน เย็บปักและการประดิษฐ์ดอกไม้แห้ง โดยมี มิสเทตสุ ยาซูอิ เป็นอาจารย์ใหญ่ ต่อมาทรงจ้างสตรีไทยมาเป็นครูสอนภาษาไทยและการตัดเย็บเสื้อผ้าอีก 1 คน มีการเปิดรับนักเรียนกินนอนขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในต่างจังหวัดมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาในปี2448 ต่อมาทรงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวย้ายโรงเรียนมาอยู่ ณ สถานที่สุนันทาลัยจนถึงปัจจุบัน
จุดเปลี่ยนสำคัญในประวัติศาสตร์การศึกษาสตรีไทยในยุคแรกเริ่มนักเรียนที่จบการศึกษาจะออกไปสนองพระเดชพระคุณรับราชการในราชสำนัก ต่อมาเมื่อมีการเปิดโอกาสให้สตรีเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยส่งผลให้มีนักเรียนราชินีเข้าเป็นนิสิตหญิงรุ่นแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ถึง 3 ใน 4 ของจำนวนนิสิตแรกเข้า ในปี 2476 นางสาวสายหยุดเก่งระดมยิง นักเรียนราชินีได้เป็นนักเรียนสตรีคนแรกที่สอบชิงทุนไปศึกษาต่อยังต่างประเทศได้ และในปีต่อๆ มานักเรียนราชินีก็สามารถสอบเข้าเรียนในสถาบันการศึกษาต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่องนับได้ว่าโรงเรียนราชินีเป็นสถาบันที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการศึกษาของสตรีไทย อันเป็นการช่วยยกระดับสถานะของสตรีไทยให้เท่าเทียมกับบุรุษ
จากแนวพระราโชบาย สู่ปรัชญาอันสำคัญของโรงเรียนที่ว่า “เลิศความรู้คู่จริยา” ทำให้โรงเรียนราชินี มีเกียรติประวัติอันยาวนานในการปลูกฝังอบรมนักเรียนราชินีทุกคนให้เป็นผู้มีความรู้ความสามารถทั้งด้านวิชาการ ทักษะงานฝีมือและเป็นผู้มีความประพฤติมีกิริยามารยาทเป็นกุลสตรีไทย สตรีไทยรุ่นแล้วรุ่นเล่าจึงล้วนได้รับการศึกษาจากโรงเรียนราชินี โดยเฉพาะสายพระราชวงศ์จักรี อาทิ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง, สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7, สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี, สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว, ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาสิริวัฒนาพรรณวดี, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีกรมหมื่นสุทธนารีนาถ และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภานเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชรมหาวัชรราชธิดา
ตลอดระยะเวลา 120 ปี ที่ผ่านมา โรงเรียนราชินีได้สร้างบุคลากรที่มีคุณภาพและมีผลงานที่ได้รับการยอมรับของสังคมในทุกสาขาอาชีพ ทั้งในวงการแพทย์ เภสัชกรรม การศึกษา กฎหมาย การเมือง สังคมสงเคราะห์ วรรณกรรม ตลอดจนวงการบันเทิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนเก่าที่โรงเรียนราชินีภาคภูมิใจ
หนึ่งในอาคารสำคัญภายในโรงเรียนราชินี ได้แก่ “สุนันทาลัย” เป็นอาคารที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์สถาน แสดงความอาลัยรักถึงพระมเหสี สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ซึ่งเสด็จสวรรคตด้วยอุบัติเหตุเรือพระที่นั่งล่ม เมื่อปี 2423 ต่อมาได้พระราชทานให้เป็นที่ตั้งโรงเรียนสุนันทาลัยและโรงเรียนราชินีในเวลาต่อมาตราบจนถึงปัจจุบัน เป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูน 2 ชั้น อายุกว่า 144 ปี มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิก มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนานไปกับแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านหน้ามีมุกเป็นรูปมงกุฎยื่นออกมา ประดับด้วยลวดลายปูนปั้นงดงาม ซุ้มประตูทำเป็นรูปโค้งรองรับด้วยเสาโครินเธียน ประดับด้วยตุ๊กตาหินอ่อนในช่องระหว่างเสา มีทางขึ้นชั้นสองอยู่ด้านนอกอาคาร โครงสร้างใช้กำแพงเป็นตัวรับน้ำหนักหลังคาทรงปั้นหยา มุงกระเบื้องไม่มีกันสาด โดยมีทางเดินโดยรอบทำหน้าที่แทนกันสาด เหนือกรอบประตูมีการเจาะช่องแสงประดับกระจกเป็นรูปวงกลมทำให้เกิดการสะท้อนของแสงเป็นสีที่มีความงดงามแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลา
สำหรับกิจกรรมสำคัญในปีแห่งการฉลองครบรอบโรงเรียนราชินีจะจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2567 ได้แก่ นิทรรศการทางวิชาการ “ราชินีนิทรรศน์” ระหว่างวันที่ 21-23 สิงหาคม “120 ปี ราชินีแรลลี่” 31 สิงหาคม “คอนเสิร์ตการกุศล 120 ปี โรงเรียนราชินี” 30 พฤศจิกายน และงานคืนสู่เหย้า “พิกุลแก้วสู่สวนขวัญ” ในวันที่ 21 ธันวาคม ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้ทางเฟซบุ๊ก “120 ปีราชินี ศักดิ์ศรีกำจรจาย”https://www.facebook.com/rajinischoolAnni
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี