ปวดหลัง อาการยอดฮิตของคนทำงาน ที่ใครหลายคนมักมองข้ามเพราะคิดว่าเป็นปัญหาสุขภาพทั่วไป แต่ถ้าหากมีอาการปวดหลังร้าวลงขา ร่วมกับอาการชาและกล้ามเนื้ออ่อนแรง อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท หากไม่รีบรักษาอาจลุกลามกลายเป็นอัมพาตได้
นายแพทย์เอกพล ลาภอำนวยผลศัลยแพทย์กระดูกและข้อเฉพาะทางด้านโรคกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทเป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมประเภทหนึ่ง โดยเกิดจากการที่หมอนรองกระดูกถูกทำลายเสียหายจนไปกดทับเส้นประสาท ซึ่งเป็นผลจากการใช้งานกระดูกสันหลังอย่างหนักเป็นระยะเวลานานต่อเนื่อง เช่น การก้มหลังยกของหนัก อุบัติเหตุที่กระทบกระเทือนต่อกระดูกสันหลังโดยตรงและความเสื่อมตามอายุ
หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท สามารถเกิดขึ้นได้ทุกส่วนตามแนวกระดูกสันหลัง ตั้งแต่คอไปจนถึงหลังส่วนล่าง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการปวดกล้ามเนื้อหลังบริเวณกลางหลังหรือเอวด้านล่าง อาจมีอาการเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง โดยอาการจะเด่นชัดขึ้นเมื่อไอ จาม หรือนั่งงอตัว, ปวดร้าวลงไปถึงขา ในกรณีผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง อาจมีอาการชาและกล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมด้วย
ความรุนแรงของโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท 1.ระยะเริ่มต้นเมื่อหมอนรองกระดูกสันหลังเริ่มเสื่อมสภาพ ในขั้นแรกจะทำให้มีอาการปวดหลังแบบเป็นๆ หายๆ จากนั้นระดับความเจ็บปวดจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยอาการจะเป็นมากกว่า 2 สัปดาห์ 2.ระยะปานกลาง เมื่อหมอนรองกระดูกเริ่มเคลื่อนและปลิ้นออกมา ทำให้เกิดอาการปวดร้าวหรือปวดหลังร้าวลงขา จากนั้นจะเริ่มลามไปที่ขาหรือเท้า หรือบางรายอาจมีอาการชาร่วมด้วย 3.ระยะรุนแรง เมื่อการกดทับเส้นประสาทรุนแรงขึ้น อาการปวด ชา และอ่อนแรงจะมากขึ้น จนเส้นประสาทเกิดการบาดเจ็บ และเสี่ยงต่อการเป็นอัมพาตได้
การตรวจวินิจฉัยโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท แพทย์จะเริ่มด้วยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำมากขึ้น เพราะการทำ MRI จะเห็นโครงสร้างของหมอนรองกระดูกสันหลังและเส้นประสาทได้ชัดเจน ทำให้สามารถบอกได้ว่ามีการกดทับเส้นประสาทที่ตำแหน่งใดมากน้อยแค่ไหน เพื่อวางแผนการรักษาต่อไป
การรักษาโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทสามารถรักษาได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค 1.ยา ช่วยรักษาอาการหมอนรองกระดูกทับเส้น มีทั้งยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อและการฉีดสเตียรอยด์เพื่อลดอาการอักเสบและปวด 2.กายภาพบำบัด จะช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัวและลดอาการปวดได้ รวมถึงยังช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรงมากขึ้น แต่ควรทำภายใต้การดูแลของแพทย์ นักกายภาพบำบัด และทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การกายภาพบำบัดเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
3.การผ่าตัด หากรักษาด้วยวิธีข้างต้นแล้วยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัด โดยปัจจุบันมีเทคนิค การผ่าตัดกระดูกสันหลังด้วยกล้อง Endoscope โดยแพทย์จะสอดกล้องใส่เข้าไปยังเส้นประสาทส่วนที่ถูกกดทับยังตำแหน่งที่ต้องการโดยตรง เพื่อตัดกล้ามเนื้อออกน้อยที่สุด และไม่ต้องตัดเลาะ กล้ามเนื้อส่วนที่ดีออก ซึ่งการทำวิธีนี้ จะช่วยให้ผู้ป่วยลดการเสียเลือดและการติดเชื้อ ฟื้นตัวได้ไวยิ่งขึ้น เนื่องจากแผลผ่าตัดมีขนาดเล็กประมาณ 0.8 เซนติเมตร นอกจากนี้ยังมี Intraoperative Neuromonitoring เทคโนโลยีช่วยเพิ่มความปลอดภัยขณะผ่าตัด ที่จะตรวจสอบการทำงานของเส้นประสาทแบบ Real Time และช่วยลดความเสี่ยงอัมพฤกษ์อัมพาตหลังผ่าตัดได้
ทั้งนี้ โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท สามารถป้องกันได้โดยการออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และชะลอความเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลัง การควบคุมน้ำหนัก งดสูบบุหรี่ ปรับท่านั่งและนอนให้ถูกต้องเพื่อลดแรงกดทับที่กระดูกสันหลัง ตลอดจนระมัดระวังอุบัติเหตุที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อกระดูกสันหลัง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี