ผู้แทนสถาบัน CSTD ประเทศไทย วัลลภา-นวินดา ปัจฉิมสวัสดิ์
“CSTD Thailand Dance Grand Prix 2024” การแข่งขันศิลปะการเต้นเทคนิคเวทีแรกในประเทศไทย มาตรฐานสากลจากประเทศออสเตรเลีย การแข่งขันเดียวที่รวมศิลปินเยาวชนนักเต้นทั้งมือสมัครเล่นและระดับมืออาชีพไว้กว่า 1,500 ชีวิต จาก 42 สถาบันสอนศิลปะการเต้นทั่วประเทศไทยภายใต้รูปแบบการเต้นที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็น บัลเลต์, ระบำประจำชาติ, คอนเท็มโพรารี่ แดนซ์, แจ๊สแดนซ์, บัลเลต์ลาลีเคิล, แท็ปแดนซ์, ฮิปฮอป, ร้องและเต้น, เต้นเล่าเรื่องราว เป็นต้น พร้อมรูปแบบการแข่งขัน ทั้งแบบ 1 คน (Solo), 2-3 คน(Duos/Trios), กลุ่มเล็ก 4-6 คน(Ensembles), กลุ่มใหญ่มากกว่า 30 คน(Troupes) การแข่งขันสุดเข้มข้นณ โรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี พร้อมเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขันศิลปะการเต้นระดับนานาชาติ ณ เวที AsiaPacific Dance Competition ครั้งที่ 26 ซึ่งความพิเศษในปีนี้ คือ การที่ประเทศไทยได้กลับมาเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมการแข่งขันระดับนานาชาติ พร้อมเตรียมต้อนรับเยาวชนจากกว่า 10 ประเทศมาแสดงความสามารถประชันกันบนเวทีในเดือนสิงหาคม 2567 นี้
วัลลภา ปัจฉิมสวัสดิ์ ผู้แทนสถาบัน CSTD ประเทศไทย กล่าวว่า “เวทีแห่งนี้นับเป็นการแข่งขันศิลปะการเต้นเทคนิคเวทีแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย เป็นความภูมิใจกับทั้งทางสถาบัน คุณครูผู้ฝึกสอนและเยาวชนที่เข้าแข่งขัน ภายใต้การแข่งขันที่ใช้มาตรฐาน และได้พัฒนาต่อเนื่องมากว่า 90 ปี ด้วยความร่วมมือระหว่างสถาบัน Commonwealth Society of Teachersof Dancing (CSTD) ประเทศไทย สถาบันจากประเทศออสเตรเลีย เพื่อรับรองหลักสูตรการเรียนการสอน และการวัดผลสอบศิลปะการเต้นมาตรฐานสากลในประเทศไทย ร่วมกับ กระทรวงวัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย และสถาบัน Commonwealth
Society of Teachers of Dancing (CSTD) ประเทศออสเตรเลีย”
ครูปุ๊ก-อัจฉรา หิรัญแพทย์
นวินดา ปัจฉิมสวัสดิ์ รองผู้แทนสถาบัน CSTD ประเทศไทย กล่าวว่า “เรามีความมุ่งมั่นในการเป็นส่วนหนึ่งปรับมุมมองของผู้คนที่มีต่อศิลปะการแสดง ขับเคลื่อนให้สังคมไทยเปิดใจกับการดูงานศิลปะ และให้คนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ควบคู่ไปกับการสร้างชุมชนพัฒนาคนเก่งและคนดีให้กับสังคม พร้อมเปิดประสบการณ์ในแวดวงศิลปะการเต้น ซึ่งนับว่าเป็นส่วนหนึ่งส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาศักยภาพมนุษย์ในทุกสายงานอาชีพ เชื่อมโยงทั้งทางร่างกายและจิตใจ อารมณ์สมาธิ ทักษะทางปัญญา ความรู้ความเข้าใจของสมองในการจำวางแผนจัดการ ความมั่นใจตนเอง ความอดทน ความเห็นอกเห็นใจ ความกล้าแสดงออก การตัดสินใจแก้ปัญหา เพิ่มฮอร์โมนแห่งความสุขอีกด้วย”
น้องบุ๊บบิ๊บ-ชลกนก สถีระนาวิน จากสถาบันบางกอกแดนซ์ ผู้ชนะการแข่งขัน ประเภทคะแนนรวมบุคคลสูงสุด (Aggregate Solo Cup) เล่าว่า “แข่งเต้นมาตั้งแต่อายุ 8 ขวบ กับความตั้งใจ ฝึกฝนและพัฒนาตัวเองมาตลอด การเต้นให้อะไรมากกว่าที่คิดได้ทั้งมิตรภาพ การฝึกทำงานเป็นทีม ทั้งกับเพื่อนและกับครู แถมการเต้นยังทำให้มีความสุข และสบายใจทุกครั้งที่ได้เต้น หนูตั้งใจที่จะพัฒนาตัวเองต่อไป และเดินตามความฝันในเส้นทางการเต้นไปจนถึงระดับอินเตอร์เลยค่ะ”
ด้าน ครูปุ๊ก-อัจฉรา หิรัญแพทย์ ครูใหญ่และผู้กำกับศิลป์ WEDANCE Dance Studio ผู้ชนะการแข่งขัน ประเภทสถาบันยอดเยี่ยม (Best School Aggregate Cup)เล่าว่า “อุตสาหกรรมการเต้นของไทยทุกวันนี้เทียบเท่าสากล เด็กไทยเก่งเยอะมาก การแข่งขันนี้เป็นการแข่งขันที่ยาก เป็นการแข่งเต้นเชิงเทคนิคที่ทุกโรงเรียนเตรียมความพร้อม และเตรียมเทคนิคกันมาเป็นอย่างดีเด็กที่เคยแข่งปีก่อนหน้านี้มีพัฒนาการที่ดีขึ้นมาก เก่งแบบก้าวกระโดด ส่วนเด็กใหม่ๆ ก็สร้างผลงานการเต้นได้อย่างน่าสนใจ เป็นเพราะโครงสร้างหลักสูตรการเรียนการสอนของ CSTD ด้วยค่ะ ที่ทำให้เกิดการพัฒนาด้านเทคนิค ทำให้เด็กสตรอง มีแบบฝึกหัดต่างๆ นำมาฝึกใช้ และเตรียมตัวกับการแข่งขันได้ ดีใจและภูมิใจมากค่ะที่ได้รางวัลจากการแข่งขันนี้”
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี