ศุภฤกษ์เกริกเกียรติแท้ ยินดี
เฉลิมพระชนม์พระราชินี มิ่งข้า
สมเด็จพระสุทิดามี ศักดิ์ยิ่ง แท้นา
คู่กษัตริย์ขัตติยหล้า ก่อเกื้อแผ่นดิน
วันดีที่เลิศลํ้า มงคล
สามมิถุนายน แซ่ซ้อง
เทพไท้บันดาลดล พรเลิศ ยิ่งแฮ
ทรงพระเจริญราษฎร์พ้อง เทิดให้พระองค์
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม
ข้าพระพุทธเจ้า
บริษัท หนังสือพิมพ์แนวหน้า จำกัด
นายแพทย์ปิยะ เนตรวิเชียร ประพันธ์
สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี พระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พุทธศักราช 2521 ทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชินี เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ต่อมาเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณพระบรมราชินี
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเป็นอเนกประการได้โดยเสด็จ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการพระราชพิธีสำคัญต่างๆ ตลอดจนพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ทั้งปวงเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎร โดยมิได้ทรงเหน็ดเหนื่อยและย่อท้อแต่อย่างใด ดั่งพระราชดำรัสเปิดงานวันสตรีไทย ประจำปี 2562 ความว่า“...ข้าพเจ้ามีความตั้งมั่นที่จะสนองพระเดชพระคุณ พระมหากรุณาธิคุณ ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานแห่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เหมือนดั่งที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งพระราชปณิธานที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด และแผ่ขยายพระบารมีแห่งสมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระบรมราชชนนี...”
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงใส่พระราชหฤทัยในสุขทุกข์ของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง ทรงรับเป็นพระราชภารกิจสำคัญที่จะดูแลประชาชนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีและบรรเทาความทุกข์ยากเดือดร้อนให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ยากลำบาก เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ซึ่งเริ่มรุนแรงขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 นั้น ได้โดยเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณและพระราชทานความช่วยเหลือในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ถุงยังชีพ หน้ากากอนามัย และสิ่งของอื่นๆที่โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดหาและพระราชทานไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ และชุมชนแออัด รวมทั้งทรงเย็บหน้ากากผ้าด้วยพระองค์เอง ซึ่งประชาชนทุกหมู่เหล่าต่างรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นเกล้าล้นกระหม่อม
ทรงสืบสานพระราชปณิธาน พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้านผ้าไทย
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงพระวิริยอุตสาหะปฏิบัติพระราชกรณียกิจยาวนานกว่า 6 ทศวรรษในการพัฒนาส่งเสริมเรื่อง “ผ้าไทย” จากสิ่งทอของชาวบ้านที่เกือบสูญหายให้กลับมาเป็นอาภรณ์อันทรงคุณค่า เป็น“มรดกแห่งภูมิปัญญาท้องถิ่น”ที่คนไทยและคนทั่วโลกยอมรับถึงคุณค่าและความงดงามอันประเมินค่ามิได้
ทุกโอกาสที่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการประกอบพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ หรือเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ จะทรงฉลองพระองค์ที่ตัดเย็บด้วย “ผ้าไหมไทย” ที่มีลวดลายงดงามและเป็นเอกลักษณ์ในแต่ละท้องถิ่นทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นฉลองพระองค์ชุดไทยแบบพระราชนิยมหรือฉลองพระองค์ชุดไทยที่ตัดเย็บแบบร่วมสมัย รวมถึง “กระเป๋าทรงถือ”ที่เข้าชุดกับฉลองพระองค์ ซึ่งเป็นงานหัตถกรรมที่ทำมาจากเศษผ้าไหมที่เหลือจากการตัดฉลองพระองค์ ทรงใช้ทักษะด้านการออกแบบเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสิ่งของเหลือใช้ ด้วยทรงตระหนักถึงการจัดการสิ่งของเหลือใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและไม่เหลือทิ้งเป็นเศษขยะ
ในระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหราชอาณาจักรของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ตามคำทูลเชิญของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ เพื่อทรงร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลา ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมานั้น
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงฉลองพระองค์ซึ่งตัดเย็บด้วย “ผ้าไทย” งามสมพระเกียรติเป็นที่จับตายิ่ง ตามที่ทรงตั้งพระทัยแน่วแน่ที่จะสืบสานพระราชปณิธานใน “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” ในการเผยแพร่ความงามอันมีเอกลักษณ์ของผ้าทอจากภูมิปัญญาคนไทย และส่งเสริมผ้าไทย ตลอดจนงานหัตถกรรมไทยให้ชาวโลกรู้จักไปทั่วโลก นอกจากฉลองพระองค์แล้ว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ยังทรงเลือก “กระเป๋าทรงถือ” ที่เข้าชุดกันกับฉลองพระองค์จนเป็นที่กล่าวขานถึง
ทรงตระหนักถึงปัญหาการล่วงละเมิดสิทธิเด็กและเยาวชน
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงตระหนักถึงปัญหาการล่วงละเมิดสิทธิเด็กและเยาวชนทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กไทย โดยเสด็จพระราชดำเนินเข้าร่วมการประชุมสุดยอดการคุ้มครองเด็ก “Child Protection Summit, Bangkok 2024” ซึ่ง สมเด็จพระราชินีซิลเวีย แห่งราชอาณาจักรสวีเดน เสด็จพระราชดำเนินพร้อมทรงมีพระราชดำรัสเปิดการประชุมดังกล่าว จัดโดย มูลนิธิเด็กโลก (World Childhood Foundation) ในสมเด็จพระราชินีซิลเวีย แห่งราชอาณาจักรสวีเดน และมูลนิธิพิทักษ์และคุ้มครองเด็ก (Safeguardkids Foundation) ประเทศไทย ร่วมด้วยภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 ณ ห้องประชุม ESCAP Hall ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ (UNCC)
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงมีพระราชดำรัสในงานดังกล่าวว่า “สมเด็จพระราชินีซิลเวีย เรนาเทอ ซอมแมร์ลัธ แห่งราชอาณาจักรสวีเดน เป็นที่รู้จักของคนไทย เพราะพระองค์เป็นเพื่อน เป็นมิตรที่ดีของคนไทยและประเทศไทย การทำงานตลอดชีวิตของพระองค์ได้ดูแลเด็กๆ ทั่วโลก พระองค์ทรงงานอย่างหนักในการทำงานให้กับมูลนิธิพิทักษ์และคุ้มครองเด็ก เพื่อที่จะคุ้มครองและทำให้เด็กมีความปลอดภัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดทางเพศต่อเด็ก หรือการเอารัดเอาเปรียบต่อเด็ก
การทำงานเป็นหุ้นส่วนกับมูลนิธิพิทักษ์และคุ้มครองเด็ก การทำงานร่วมกับผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทย จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะเรากำลังเผชิญปัญหาหลายคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการละเมิดทางเพศต่อเด็ก และการนำเด็กมาเป็นสินค้า เราจะขยายการทำงานในอินเตอร์เนต เพราะการใช้โซเชียลมีเดียต่างๆ ได้สร้างและเพิ่มอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับเด็กๆ ดังนั้นเราจะปกป้องเด็กพวกนี้ได้อย่างไร เมื่อความเสี่ยงนั้นมากกว่าสิ่งที่เราควรจะทำได้
เราจะต้องนำผู้บังคับใช้กฎหมายเพื่อที่มาดูแลปัญหานี้ และมีความพยายามต่างๆ จำเป็นต้องมีการทำงานร่วมมือกันระหว่างรัฐบาล เอกชนและหุ้นส่วนที่ทำงานกันในระดับนานาชาติ เพื่อให้เด็กนั้นมีความปลอดภัย อันนี้เป็นปัจจัยหลักและเป็นความรับผิดชอบของพวกเราทุกคนที่เราจะต้องแบ่งปันกัน เด็กๆ นั้นเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าที่สุด เขาควรจะมีการเจริญเติบโตและอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีความปลอดภัย เราจะต้องผลักดันให้มีการทำงานเรื่องนี้ให้อนาคตของเด็กสดใส รุ่งเรือง เด็กทุกคนมีสิทธิในชีวิตของเขา มีสิทธิที่จะได้รับความรักมีความสุข มีสิทธิที่จะได้รับการศึกษา สิทธิในการเล่น และมีสิทธิในการเจริญเติบโตในทิศทางที่ดีด้วย
ความจำเป็นในการทำงานจากความยุ่งยากให้ง่ายขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่าสิทธิต่างๆ เด็กจะได้รับทุกคน ข้าพเจ้าหวังว่าการแบ่งปันข้อมูลต่างๆ อาจจะทำให้การทำงานเจริญรุ่งเรือง อยากขอขอบพระคุณสมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดน ข้าพเจ้ามีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ร่วมประชุมในครั้งนี้สำหรับอนาคตที่ดีของเด็กๆ ของเรา”
พระปรีชาสามารถและพระราชหฤทัยที่จะทรงสืบสานกีฬาเรือใบ
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงให้ความสำคัญและทรงสนพระราชหฤทัยที่จะทรงสืบสานกีฬาเรือใบด้วยการทรงร่วมการแข่งขันกีฬาเรือใบ 2 รายการแข่งขัน โดยครั้งแรกทรงร่วมการแข่งขันเรือใบนานาชาติชิงถ้วยพระราชทาน “ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า” ครั้งที่ 35 ในทีมเรือใบ รุ่น ไออาร์ซีซีโร (IRC Zero) หมายเลขเรือ THA 72 ณ หาดกะตะ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ตโดยทีมเรือใบของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี สามารถเข้าเส้นชัยเป็นที่ 1
ครั้งที่ 2 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงร่วมการแข่งขันกีฬาเรือใบ ข้ามอ่าว ทรงเป็นผู้แทนทีมวายุ ซึ่งเป็นทีมชนะเลิศการแข่งขันกีฬาเรือใบข้ามอ่าว เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานรางวัลนิรันดร หางเสือเรือพระที่นั่ง“เวคา” ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งทรงมีพระปรีชาสามารถและนำทีมเข้าเส้นชัยที่อ่าวเตยงาม อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เป็นลำดับที่ 1 ด้วยเวลา 4.33 ชั่วโมง
การที่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาเรือใบ แสดงถึงพระปรีชาสามารถในด้านกีฬาเรือใบ และทรงร่วมน้อมรำลึกในพระอัจฉริยภาพ และพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงเป็นนักกีฬาเรือใบ ทรงพระปรีชาสามารถ และประสบความสำเร็จในระดับสากล อีกทั้ง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ยังทรงมุ่งหวังที่จะสืบสานกีฬาเรือใบของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับชาติ และระดับนานาชาติ รวมทั้งทรงส่งเสริมสร้างแรงบันดาลใจแก่นักกีฬาเรือใบรุ่นใหม่ โดยเฉพาะเยาวชนให้ได้ฝึกฝนทักษะและพัฒนาต่อยอดการเล่นเรือใบสู่ระดับสากลต่อไป
ด้วยพระปรีชาสามารถและพระจริยวัตรอันงดงาม จึงทรงเป็น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี คู่พระราชหฤทัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงสง่างามยิ่ง ในโอกาสอันเป็นมงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 3 มิถุนายน 2567 ขอพระราชทานถวายพระพรชัยมงคล ขออานุภาพแห่งพระรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากล ปกอภิบาลประทานพรให้ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เจริญด้วยจตุรพิธพรพิพัฒน์สวัสดิมงคลพระชนมพรรษายิ่งยืนนาน ทรงพระเกษมสำราญสถิตเป็นมิ่งขวัญแห่งปวงประชาสถาพรตราบกาลนานเทอญ
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ผู้ทรงเป็นแบบอย่างและทรงสง่างามด้วยฉลองพระองค์ผ้าไทย
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงที่ทรงพระวิริยอุตสาหะปฏิบัติพระราชกรณียกิจยาวนานกว่า 6 ทศวรรษในการพัฒนาส่งเสริมเรื่อง “ผ้าไทย” จากสิ่งทอของชาวบ้านที่เกือบสูญหายให้กลับมาเป็นอาภรณ์อันทรงคุณค่า “มรดกแห่งภูมิปัญญา ท้องถิ่น” ที่คนไทยและคนทั่วโลกยอมรับถึงคุณค่าและความงดงามอันประเมินค่ามิได้ โดยเฉพาะงานด้านการพัฒนาผ้าไหมไทยและผ้าพื้นเมืองของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
ทุกครั้งที่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีเสด็จพระราชดำเนินโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการประกอบพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่หรือเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ จะทรงฉลองพระองค์ที่ตัดเย็บด้วย “ผ้าไหมไทย” ที่มีลวดลายงดงามและเป็นเอกลักษณ์ในแต่ละท้องถิ่นทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไม่ว่าจะเป็นฉลองพระองค์ชุดไทยแบบพระราชนิยม หรือฉลองพระองค์ชุดไทยที่ตัดเย็บแบบร่วมสมัย รวมถึง “กระเป๋าผ้าไหมทรงถือ” เป็นงานหัตถกรรมที่ทำมาจากเศษผ้าไหมที่เหลือจากการตัดฉลองพระองค์ในแต่ละชุดทรงใช้ทักษะด้านการออกแบบเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสิ่งของเหลือใช้ ด้วยทรงตระหนักถึงการจัดการสิ่งของเหลือใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและไม่เหลือทิ้งเป็นเศษขยะ
ภาพความงามสง่าในฉลองพระองค์ผ้าไทย เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาชาวโลก ในระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหราชอาณาจักรของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ตามคำทูลเชิญของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ เพื่อทรงร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลา ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน ระหว่างวันที่ 4ถึงวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2566 ที่ผ่านมานั้น
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงฉลองพระองค์ซึ่งตัดเย็บด้วย “ผ้าไทย” งามสมพระเกียรติเป็นที่จับตายิ่ง ตามที่ทรงตั้งพระทัยแน่วแน่ที่จะสืบสานพระราชปณิธานใน “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” ในการเผยแพร่ความงามอันมีเอกลักษณ์ของผ้าทอจากภูมิปัญญาคนไทย และส่งเสริมผ้าไทย ตลอดจนงานหัตถกรรมไทยให้ชาวโลกรู้จักไปทั่วโลก นอกจากฉลองพระองค์แล้ว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ยังทรงเลือก “กระเป๋าทรงถือ” ที่เข้าชุดกันกับฉลองพระองค์ จนเป็นที่กล่าวขานถึง
นับว่าทรงเป็น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี คู่พระราชหฤทัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นแบบอย่างและทรงสง่างามยิ่ง
สำนักพระราชวัง ขอเชิญชวนประชาชนร่วมลงนามถวายพระพรชัยมงคล สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาวันที่ 3 มิถุนายน 2567 ผ่านระบบออนไลน์ ที่เว็บไซต์หน่วยราชการในพระองค์ www.royaloffice.th ระหว่างวันที่ 1-5 มิถุนายน 2567
ทั้งนี้ สำนักพระราชวัง ขอเชิญชวนประชาชนร่วมเจริญอริยมรรค “สัมมาทิฏฐิ” ระลึกถึงพระรัตนตรัย ว่าเป็นสรณะที่พึ่งที่ยึดถือ อันเป็นทางเป็นธรรมที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้โดยชอบ ผ่านแอปพลิเคชั่น “สมาธิเสบียงบุญ” ระหว่างวันที่ 1-7 มิถุนายน 2567 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี วันที่ 3 มิถุนายน 2567 โดยสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นได้ทั้ง PLAY STORE และ APP STORE
พระราชกรณียกิจด้านการศาสนา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี
ภายหลังจากที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระราชินี เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2562 แล้วนั้น พระราชกรณียกิจแรกในฐานะสมเด็จพระราชินี คือโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน ไปถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระลานพระราชวังดุสิต และพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
สำหรับการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ณ ปฐมบรมราชานุสรณ์ เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2562 ถือเป็นการเริ่มต้นพระราชกรณียกิจด้านการศาสนา นับเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร นอกจากนั้น เมื่อถึงฤดูกาลถวายผ้าพระกฐิน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินในพระอารามหลวงต่างๆ รวมทั้งเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในฉลองพระองค์ชุดไทยราชนิยมแบบต่างๆ อันงดงาม
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี