รู้เร็ว รักษาไว ..แต่คนไทย มักรู้ตัวเมื่อเป็น “พาร์กินสัน” ในระยะรุนแรง จนกระทบกับคุณภาพชีวิต จากที่เคยเดิน-วิ่งได้สบาย กลับกลายเป็นเคลื่อนไหวร่างกายได้ลำบาก มีอาการเจ็บปวดเนื้อตัวอยู่ตลอดเวลา โรคนี้เป็นเสมือนภัยใกล้ตัวทุกคน โดยเฉพาะเมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาเมื่อสายเกินไป แม้ว่าโรคนี้จะเกิดขึ้นได้กับทุกวัย แต่ก็มักพบในผู้สูงอายุ สำหรับปัจจัยสำคัญที่ทำให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คือ ผู้ป่วยควรได้รับสิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล ตั้งแต่เริ่มมีอาการระยะเริ่มต้นและมีโอกาสพบแพทย์เฉพาะทางก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาได้
สภากาชาดไทย ร่วมกับ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสัน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จัดตั้งโครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ลงพื้นที่สำรวจประชาชนที่มีความเสี่ยงเป็นโรคพาร์กินสันทั่วประเทศผ่านแอปพลิเคชั่น Check PD ผ่านเหล่ากาชาดจังหวัด 76 จังหวัด เป็นสื่อกลางการประสานงาน ร่วมกับ สาธารณสุขจังหวัด สาธารณสุขอำเภอ สมาชิกอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อค้นหาและคัดกรองผู้ป่วยให้กลุ่มที่มีความเสี่ยงได้ทดสอบตอบแบบสอบถาม ชุดคัดกรองความเสี่ยงของการเกิดโรคพาร์กินสัน ที่มีความทันสมัย สะดวก รวดเร็ว และให้ประชาชนมีความรู้ในการป้องกัน การปฏิบัติตนและการใช้ชีวิตร่วมกับโรคพาร์กินสัน
สถิติในประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วย โรคพาร์กินสัน เพิ่มขึ้นจากเดิม 29% ของจำนวนประชากรในประเทศไทย โดยองค์การอนามัยโลกได้ให้ข้อมูลว่าในอีก 15 ปีข้างหน้า จำนวนผู้ป่วยโรคพาร์กินสันจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าของเอเชีย รวมถึงประเทศไทย ซึ่งพฤติกรรมของผู้ป่วยจะมีลักษณะการก้าวเดินที่สั้นกว่าปกติของคนทั่วไป ไม่คล่องตัว และยังส่งผลไปถึงร่างกายในส่วนต่างๆ ทำให้เกิดอาการสั่นร่วมด้วย เช่น มือสั่น ศีรษะสั่น ซึ่งร่างกายจะได้รับบาดเจ็บอยู่บ่อยครั้ง นอกจากนี้ยังมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ทำให้ผู้ป่วยต้องทานยาเพื่อระงับอาการปวดถือเป็นโรคที่สร้างความทรมานให้ผู้ป่วยเป็นอย่างมาก โดยเกิดจากปัจจัยเสี่ยงที่มาจากพฤติกรรมการกิน การดูแลสุขภาพ และการได้รับสารจากยาฆ่าแมลงสะสม ถ้าหากค้นพบอาการช้าอาจส่งผลให้ผู้ป่วยใช้ระยะเวลานานในการรักษารวมไปถึงมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง
ศ.นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ
ศ.นายแพทย์รุ่งโรจน์ พิทยศิริหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันฯ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า“โรคพาร์กินสันเป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของระบบประสาทที่พบมากในผู้สูงวัยและมีอัตราการเพิ่มสูงขึ้นตามสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศไทยที่เป็นสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งการวินิจฉัยโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้นทำได้ยาก เนื่องจากในระยะแรกอาการแสดงยังมีไม่มาก นอกจากนี้ ยังคงมีปัญหาการขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางระบบประสาท จึงทำให้ผู้ป่วยในบางพื้นที่เข้าถึงการตรวจวินิจฉัยและการรักษาได้ยาก ส่งผลให้ในปัจจุบันกว่าที่ผู้ป่วยจะได้รับการวินิจฉัย จึงมีอาการค่อนข้างมาก หรืออยู่ในระยะการดำเนินโรคระยะกลางแล้ว ซึ่งทำให้มีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่มาก ผู้ป่วยเริ่มเกิดความทุพพลภาพ ทีมวิจัยของศูนย์ฯ จึงคิดค้นแอปพลิเคชั่นCheck PD เพื่อลงไปสำรวจประชาชนที่มีความเสี่ยงโรคพาร์กินสัน ที่กระจายตามชุมชนและหมู่บ้าน ตรวจเช็คจากการตอบแบบสอบถามชุดคัดกรองความเสี่ยงของการเกิดโรคพาร์กินสันจากลักษณะอาการของโรคพาร์กินสันหลังจากสำรวจและคัดกรองผู้ป่วยแล้ว จะถูกส่งมายังศูนย์ฯ เพื่อให้เกิดการรักษาอย่างถูกต้อง ทันท่วงที ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไปได้”
จันทร์ประภา วิชิตชลชัย
จันทร์ประภา วิชิตชลชัย รองผู้อำนวยการสำนักงานจัดหารายได้ สภากาชาดไทย กล่าวถึง ความร่วมมือด้านการระดมทุนสนับสนุนการดำเนินงานโครงการฯ ในฐานะ สำนักงานจัดหารายได้ ศูนย์รวมกิจกรรมบริจาคเพื่อการกุศล Donation HUB ได้ริเริ่มแคมเปญ พาร์พบแพทย์ “โดยจุดเริ่มต้นมาจากได้ทำงานกับคุณหมอรุ่งโรจน์และคณะแพทย์ของศูนย์ฯ มาเป็นเวลานานและเห็นความตั้งใจที่คุณหมอ มีแนวทางในการรักษาผู้ป่วยเชิงรุกพัฒนาแอปพลิเคชั่นเพื่อนำไปคัดกรองผู้มีความเสี่ยงเป็นโรคพาร์กินสันให้ได้รับการตรวจรักษาอย่างทันท่วงที ช่วยลดค่าใช้จ่ายการรักษา ให้ครอบคลุมทั้ง 76 จังหวัด จึงได้จัดแคมเปญ “พาร์พบแพทย์”โดยคำว่า พาร์ มาจากคำว่า พาร์กินสันพบแพทย์ คือ การค้นหาผู้ป่วยพาร์กินสัน เพื่อพาผู้ป่วยพบแพทย์ และนำแอปพลิเคชั่น Check PD ใช้คัดกรองอาการของผู้ป่วย โดยเงินบริจาคจากแคมเปญดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญช่วยให้การค้นหาคัดกรองผู้ป่วย และช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงให้ได้เข้ารับการรักษาในระบบของสาธารณสุขได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งยังนำไปจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อใช้ในการรักษา รวมไปถึงไม้เท้าที่เป็นเพื่อนคู่กายของผู้ป่วยที่ใช้ในการพยุงตัว จึงขอเชิญชวนภาคองค์กรและประชาชน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับแคมเปญ “พาร์พบแพทย์” ด้วยการบริจาคเงิน เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีโอกาสได้รับการรักษาตามระบบสาธารณสุข”
โดยร่วมบริจาคเงินผ่านแคมเปญ “พาร์พบแพทย์” เพื่อค้นหาผู้ป่วยพาร์กินสัน รู้เร็ว รักษาไวผ่านบัญชีธนาคาร ไทยพาณิชย์ สาขาสภากาชาดไทย ประเภทบัญชีออมทรัพย์ ชื่อบัญชี “สภากาชาดไทย สำนักงานจัดหารายได้” เลขที่บัญชี 045-2-62588-8 หรือสแกน QR Code e-Donation ลดหย่อนภาษีได้2 เท่า และช่องทางบริจาคออนไลน์ผ่านwww.donation.or.th หรือ Mobile App DonationHUB ได้ตลอด 24ชั่วโมง สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ โรคพาร์กินสันฯ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี