บรรยากาศความสนใจของผู้คนทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมาส่วนหนึ่งหนีไม่พ้นการเกาะติดขอบจอ รอเชียร์ทัพนักกีฬาในฐานะตัวแทนประเทศที่เข้าร่วมมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ “โอลิมปิกเกมส์” ที่ได้จัดขึ้น ณ กรุงปารีสประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเจ้าภาพการจัดกีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 33ในระหว่างวันที่ 26 ก.ค.-11 ส.ค. 2567
จากจำนวนกองทัพนักกีฬากว่า 10,500 คน ที่ถูกส่งมาจาก 206 ชาติทั่วโลก เพื่อร่วมแข่งขันกันใน 32 ประเภทกีฬา “ประเทศไทย” ได้ส่งตัวแทนนักกีฬาเข้าร่วมทั้งหมด51 คน ใน 17 ประเภทกีฬา ซึ่งแน่นอนว่าการคว้าเหรียญรางวัลกลับบ้าน คือสิ่งที่ชาวไทยทั่วประเทศต่างลุ้นและคาดหวังจากมหกรรมระดับโลกครั้งนี้
สิ่งที่เรารับชมเบื้องหน้าคือทักษะความสามารถที่ถูกดึงออกมาชี้วัดผ่านเกมกีฬา ทว่าเส้นทางที่มาเบื้องหลังก่อนที่คนไทยทั้ง 51 ชีวิตจะมาถึงจุดนี้แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย และเป็นสิ่งที่ถูกสั่งสมผ่านระยะเวลาแห่งการทุ่มเท ตรากตรำ บนศาสตร์และศิลป์ของการฝึกฝน ฟิตซ้อมร่างกาย เพื่อที่พวกเขาจะมีความพร้อมที่สุดในเกม
ปัจจัยหนึ่งที่เกี่ยวข้องโดยตรงคือ “เวชศาสตร์การกีฬา” ที่บางคนอาจยังไม่รู้ว่าเรื่องนี้มีส่วนสำคัญต่อการตัดสินแพ้-ชนะของเกมกีฬาได้เพียงใด ในฐานะนายกสมาคมกีฬาเวชศาสตร์แห่งประเทศไทย (สกวท.) “นพ.พินิจ กุลละวณิชย์” อาจารย์แพทย์ผู้มากประสบการณ์รายนี้จึงเน้นย้ำว่านี่เป็นประเด็นสำคัญที่จะมีส่วนยกระดับศักยภาพการกีฬาของประเทศไทยต่อไปได้อีกมาก
เขาอธิบายว่าการพัฒนาทักษะด้านกีฬา ไม่ได้พึ่งพาการหมั่นฝึกซ้อมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีองค์ประกอบของการบริโภคอาหาร การฟื้นฟูกายภาพ การดูแลจิตใจ ตลอดจนศาสตร์อื่นๆ อีกมากมายที่แตกต่างกันไปตามแต่ละประเภทกีฬา ซึ่งแพทย์เวชศาสตร์การกีฬาจะมีส่วนเข้ามาช่วยยกระดับองค์ประกอบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ได้
อย่างไรก็ตาม นพ.พินิจ ระบุว่า เวชศาสตร์การกีฬาในประเทศไทยปัจจุบันนี้ ยังไม่ได้เป็นสาขาการแพทย์เฉพาะทางที่มีโครงสร้างชัดเจน ทำให้แพทย์ที่มีความสนใจด้านนี้ส่วนใหญ่ยังทำได้เพียงลักษณะของ “งานอดิเรก” ที่จะไปศึกษาด้วยตัวเอง ไปเรียนรู้จากต่างประเทศ หรือมาอบรมกันในลักษณะคอร์สระยะสั้นเท่านั้น แต่ไม่ได้มีระบบการเรียนการสอน การอนุมัติรับรอง รวมไปถึงเส้นทางอาชีพที่ชัดเจน
“เรามีวิทยาศาสตร์การกีฬา ซึ่งเป็นหลักสูตรสหวิทยาการที่ครอบคลุมสาขาวิชาต่างๆ ทั้งที่เป็นแพทย์และไม่ใช่แพทย์ แต่ส่วนของเวชศาสตร์การกีฬาที่เป็นสาขาทางการแพทย์นั้น เรายังไม่มีระบบโครงสร้างรับรองชัดเจน ส่วนใหญ่จึงเป็นแพทย์ที่ทำงานในด้านอื่นอยู่เพียงแต่สนใจด้านกีฬา จึงเข้ามาศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม แต่ก็อาจไม่ได้ไปทำงานในด้านนี้อยู่ดี” เขาให้ภาพ
นายกสมาคมกีฬาเวชศาสตร์ฯ เน้นย้ำว่าหากประเทศไทยต้องการผลักดันศักยภาพด้านกีฬาของประเทศ เพื่อให้ประสบความสำเร็จบนเวทีโลกได้นั้น สิ่งสำคัญคือ
การใช้ศาสตร์และองค์ความรู้ของแต่ละประเภทกีฬามาฝึกฝนทักษะของนักกีฬาได้อย่างถูกต้อง ดังนั้นภาพฝันหนึ่งของเขาจึงอยากให้ทุกสมาคมกีฬาที่มีอยู่กว่า 80 สมาคมในไทย มีผู้ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเวชศาสตร์ในกีฬานั้น ร่วมกันนำความรู้ความเชี่ยวชาญเข้าไปช่วยยกระดับนักกีฬา ที่จะทำให้สมาคมนั้นเก่งขึ้นได้โดยปริยาย
“ในสมัยหนึ่งนักกีฬายังกินไม่ค่อยเป็น ไปกินในสิ่งที่ชอบ แต่ไม่ค่อยเป็นประโยชน์ หรือจิตใจก็อาจไม่ค่อยนิ่งในวันแข่ง แต่ถ้าทุกสมาคมมีฝ่ายที่ให้การปรึกษาได้ในด้านต่างๆ ทั้งหมอและที่ไม่ใช่หมอ ไม่ว่าจะเป็นหมอเวชศาสตร์ฟื้นฟู หมอกระดูก นักกายภาพบำบัด นักโภชนาการนักจิตวิทยา นักชีวกลศาสตร์ ฯลฯ แม้กระทั่งหมอฟันก็สำคัญ ซึ่งแค่เพียงนักกีฬากินเป็น มีจิตใจนิ่ง แค่นี้ก็ดีขึ้นได้แล้วโดยที่ไม่ต้องใช้เงินเพิ่มแต่อย่างใด อย่างที่เราเคยเข้าไปช่วยกันจนทำให้กีฬายกน้ำหนักกลายเป็นความหวังเหรียญทองของประเทศมาแล้ว”
“บางครั้งการกินของที่ดีต่อร่างกายก็ถูกกว่าด้วยอย่างการออกกำลังกายที่หนักและนาน จริงๆ แล้วเราต้องการแป้งเยอะ ไม่ใช่โปรตีน การจะกินเมื่อไร เวลาไหนก็สำคัญมาก หากกินผิดเวลาก็หมดแรง ขณะที่กีฬาแต่ละประเภทก็จะมีช่วงอายุที่ดีที่สุดในการฝึกแตกต่างกัน เช่น ถ้าให้เด็กอายุน้อยไปฝึกวิ่งมาราธอน กระดูกหัวเข่าเสียเด็กก็จะไม่โต หรือถ้าจะให้เด็กฝึกยกน้ำหนัก อาจเริ่มจากยกเบาๆ ฝึกท่าไปก่อน แบบนี้เป็นต้น ฉะนั้นเราเองก็ต้องมาศึกษากันว่าสำหรับคนไทยแล้วควรจะเริ่มต้นฝึกอายุเท่าไร ฝึกอะไรบ้างในกีฬาแต่ละประเภท” เขาให้ภาพ
สำหรับสมาคมกีฬาเวชศาสตร์ฯ ที่มีการก่อตั้งมานับตั้งแต่ปี 2521จนมาในช่วงสมัยของ นพ.พินิจ นี้ เขาจึงมีความตั้งใจที่จะให้สมาคมฯ เป็นจุดศูนย์รวมของการเชื่อมประสานทั้งองค์ความรู้และผู้เชี่ยวชาญเริ่มตั้งแต่การ “อัปเดต”ข้อมูลแพทย์ที่สนใจในด้านกีฬาทั่วประเทศ ว่าใครอยู่ที่ไหน จบอะไรมา มีความเชี่ยวชาญด้านไหน หรือสนใจกีฬาอะไรเป็นพิเศษ รวมทั้งผู้ที่ไม่ใช่แพทย์แต่มีทักษะทางวิทยาศาสตร์การกีฬา เพื่อเข้ามาร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้คำปรึกษา ไปจนถึงศึกษาวิจัย จนกระทั่งเกิดเป็นองค์ความรู้ที่เหมาะสมของประเทศ ในการพัฒนากีฬาแต่ละประเภทได้
“ถ้าคนหนึ่งต้องไปดูแลหลายกีฬา ความรู้มันจะไม่ลึกแต่ถ้าเรามีหลายๆ คนที่สนใจในกีฬาชนิดเดียวกัน เข้ามาเรียนรู้ เข้ามาศึกษาร่วมกันว่าต้องทำอะไร ฝึกอย่างไรเล่นท่าไหน เราก็จะเกิดองค์ความรู้ที่ลงลึก กระทั่งอาจเกิดเป็นตำราเฉพาะของการฝึกฝนแต่ละประเภทกีฬานั้นๆเพราะในโรงเรียนแพทย์เองก็ไม่ได้มีการสอนลึกแบบนี้ แต่มันเป็นศาสตร์ที่ต้องมาเรียนรู้ต่อและในตอนนี้เราก็อยากชวนแพทย์ที่มีความสนใจเข้ามาเรียนรู้ไปด้วยกันกับเรา เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลความรู้ของประเทศในด้านนี้” นพ.พินิจ ระบุ
นพ.พินิจเสริมว่า นอกจากองค์ความรู้แล้วเรื่องของงบประมาณจากภาครัฐเองก็ควรจะต้องมีการสนับสนุนรวมไปถึงสภาวะแวดล้อม โครงสร้างต่างๆ ทั้งโรงเรียน สนามกีฬา ตลอดจนการสนับสนุนทางนโยบายที่เอื้อให้วงการกีฬาของประเทศพัฒนาต่อไปได้มากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ก็จะไม่ได้เป็นประโยชน์ในแง่ของการกีฬาเท่านั้น แต่ยังจะส่งผลไปถึงภาพรวมด้านสุขภาพของประชาชน ทั้งการแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อ (NCDs) การทำให้เด็กไทยตัวสูงใหญ่ และอีกมากมาย
“วงการกีฬาไทยเรายังต้องการสนับสนุนด้านนี้เยอะ แต่ที่ผ่านมายังไม่ได้รับการสนับสนุนหรือลงทุนให้ในด้านนี้เท่าไรนัก ดูจากนักกีฬาที่ไปแข่งชนะเหรียญโอลิมปิกกลับมาแล้วเราให้สิบล้านแต่กลับไม่ได้ให้เงินมาพัฒนานักกีฬาเพื่อให้ไปถึงจุดนั้นอย่างเวชศาสตร์การกีฬาที่หมอเราก็มาหาความรู้กันเอง ซึ่งผมเองก็อยากพยายามให้เกิดระบบโครงสร้างขึ้นเพื่อพัฒนาศาสตร์ด้านนี้ต่อไป” นพ.พินิจทิ้งท้าย
อนึ่ง สมาคมกีฬาเวชศาสตร์แห่งประเทศไทย ปัจจุบันอยู่ในวาระของกรรมการชุดปี 2565-2568 จำนวน 15 ท่าน ประกอบด้วย 1. นพ.พินิจ กุลละวณิชย์ นายกสมาคม 2. นพ.ไพศาล จันทรพิทักษ์ อุปนายกฝ่ายบริหาร 3. นพ.อรรถ นานา อุปนายกฝ่ายวิชาการ 4. นพ.บวรฤทธิ์ จักรไพวงศ์ กรรมการ 5. นพ.ชนะการ พรพัฒน์กุล กรรมการ 6. นพ.ฉกาจ ผ่องอักษร กรรมการ 7. นพ.พิชญา นาควัชระ กรรมการ 8. นพ.อดินันท์ กิตติรัตนไพบูลย์ กรรมการ 9. พญ.กันยิกา ชำนิประศาสน์ กรรมการ 10. นพ.เมษัณฑ์ ปรมาธิกุล กรรมการ 11. นพ.จตุรพร ณ นคร กรรมการและบรรณารักษ์ 12. นพ.มีชัย อินวู๊ด กรรมการและปฏิคม 13. นพ.พงศ์ศักดิ์ ยุกตะนันทน์ กรรมการและนายทะเบียน 14. นพ.เรืองศักดิ์ ศิริผล กรรมการและเหรัญญิก 15. นพ.อี๊ด ลอประยูร กรรมการและเลขาธิการ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี