ขับเคลื่อน "เพชรบุรีอ่อนหวาน" รณรงค์ลดกินหวานทั้งจังหวัดอย่างเป็นระบบ ดันน้ำตาลโตนด เมืองเพชร สินค้า GI เป็นส่วนประกอบหลักเมนูขนมหวานน้อย ปรับขนาดไซส์เล็ก ตอบโจทย์คนรักสุขภาพ และช่วยหนุนสู่เมืองท่องเที่ยวระดับนานาชาติ
เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่ายลดการบริโภคหวาน จ.เพชรบุรี ร่วมกับหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นของจังหวัด งจัดกิจกรรมอ่อนหวานในพื้นที่ เพื่อลดการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มรสหวานในทุกรูปแบบ ทุกกลุ่มอายุ นอกจากนี้ ยังขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการปรับสูตรอาหาร หรือการรณรงค์ให้คนเพชรบริโภคอาหารหวานน้อยลงให้กลายเป็น “เพชรบุรีโมเดล”
ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้จัดการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน กล่าวว่า จ.เพชรบุรี เป็นอีกหนึ่งจังหวัดของเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ที่มีการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบโดยการร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในจังหวัดเพชรบุรี ทั้งภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการขับเคลื่อนที่เห็นความชัดเจน คือ การมีหน่วยย่อยที่เข้าถึงพื้นที่อย่างคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ทำให้เกิดการขับเคลื่อนไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นภาคประชา ชน หรือราชการ หนึ่งในโรงเรียนตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ หนองหญ้าปล้องวิทยา ที่ให้ความสำคัญตั้งแต่การผลิตและระบบอาหาร รวมทั้งภาครัฐอย่าง รพ. พระจอมเกล้า ที่มุ่งเน้นการดูแลการบริโภคอาหารของทั้งบุคลาการ และคนไข้ โดยมีโครงการผูกปิ่นโตถือเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นที่จะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับพื้นที่อื่นๆ
พร้อมกันนี้ ได้มีการปรับสูตรให้หวานน้อยลง ลดขนาดผลิตภัณฑ์ขนมหวาน พร้อมไปกับกับการพยายามพัฒนาน้ำตาลโตนดอินทรีย์ และนำมาใช้ให้ความหวานแทนน้ำตาลทรายในขนมหวานเมืองเพชรด้วย
ด้านณัฎฐชัย นำพูนสุขสันติ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี เล่าถึงการขับเคลื่อนนโยบายเพชรบุรีอ่อนหวานว่า จ.เพชรบุรี ได้ชื่อว่าเป็นเมืองขนมหวาน ที่ถูกหยิบไปเป็นของฝากเสมอ แต่ก็มักจะถูกถามเรื่องการกินขนมหวานมากอาจกระทบต่อสุขภาพได้ จังหวัดจึงขานรับแนวคิด จึงได้กลับมาทบทวนเรื่องน้ำตาลโตนด ผลิตภัณฑ์ GI ของเพชรบุรี ที่มีจุดเด่นให้ความหวาน แต่ร่างกายจะค่อยๆ ดูดซึม ไม่กระทบต่อสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวาน หรือความดันมาก แตกต่างจากน้ำตาลประเภทอื่นที่จะดูดซึมได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดสูง
ดร.เลิศจันทา สีเหลืองสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.เพชรบุรี อธิบายถึงการพัฒนาน้ำตาลโตนดว่า สภาอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับเรื่องขนมหวานเมืองเพชรเป็นอย่างมาก มีทั้งการพัฒนาเมนูที่ใช้สารให้ความหวานทางเลือก โดยนำน้ำตาลโตนดมาใช้แทนน้ำตาลทราย เพราะมีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำกว่าน้ำตาลประเภทอื่น รวมทั้งดูดซึมเข้าเลือดช้าจึงช่วยลดความเสี่ยงของโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และช่วยในการควบคุมน้ำหนัก
“ด้วยคุณสมบัติที่ถือเป็นน้ำตาลดี ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายหันกลับมาใช้น้ำตาลโตนดมากขึ้น และถือเป็นการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ GI ของจังหวัดไปด้วยในตัว อย่างขนมหม้อแกงก็มีการปรับสูตรให้หวานน้อยเพื่อตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ และคนรักสุขภาพ รวมถึงมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย คาเฟ่หลายแห่งใน จ.เพชรบุรีเองก็มีการนำน้ำตาลโตนดมาใส่ในเครื่องดื่มอย่างกาแฟแล้ว”
ทางด้าน นายประวิทย์ เครือทรัพย์ จากร้าน"ลุงอเนกขนมหวานเมืองเพ็ชร์" บอกว่า ทางร้านเองก็พยายามสืบทอดต่อยอดขนมหวานที่มีมาแต่ดั้งเดิมให้ดียิ่งขึ้นไป เพื่อเป็นการอนุรักษ์ และตอบโจทย์ความต้องการของตลาด อย่างขนมหม้อแกงเรามีการพัฒนาให้มีรสชาติที่หลากหลาย รูปลักษณ์ที่แตกต่างออกไป วันนี้มีรสมาตรฐาน 6 รส คือ เผือกหอม กล้วยหอมทอง ถัวทอง ฟักทอง เมล่อน ทุเรียน สาระสำคัญของเรา ก็คือ ลดหวาน ทานแต่พอดี ตามโจทย์ของคนรุ่นใหม่ที่อยากทานหมดภายในครั้งเดียว และมีรสชาติให้เลือกหลากหลาย ความเห็นเหล่านี้เราจึงนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ เป็นขนมหม้อแกงกระปุก และการปรับลดขนาดผลิตภัณฑ์ ลดหวาน และเพิ่มความหลากหลายของรสชาติทำให้กระแสตอบรับของขนมไทยดีขึ้นจากตลาดคนรักสุขภาพ และตลาดออนไลน์ นอกจากขนมหม้อแกงแล้ว ทางร้านก็อยู่ระหว่างพัฒนา ขนมไทยหวานน้อย ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นทองหยอด ทองหยิบ หรือ ฝอยทอง ที่ประวิทย์ยอมรับว่า ยังเป็นความท้าทายของร้านขนมอยู่
"อย่างฝอยทองถ้าเติมส่วนผสมน้ำตาลไม่ได้สัดส่วนก็จะไม่เป็นเส้น และขาดง่าย ส่วนทองหยอด ลูกอาจจะไม่แน่น เนื้อสัมผัสจะเละ ซึ่งตอนนี้ก็อยู่ระหว่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์"นายประวิทย์ กล่าว
ด้าน น.ส.จุฑารัตน์ ตั้งพาณิชย์ เจ้าของแบรนด์สุคันธา ข้าวตังสายสุขภาพ บอกว่า ขนมของทางร้าน เป็นสูตรดั้งเดิมที่ทำมากว่า 30 ปี โดยใช้น้ำตาลโตนดเมืองเพชรมาปรุงรส ไม่มีการใส่ผงชูรส สารปรุงแต่ง หรือสารกันบูด เพราะอยากให้ผู้บริโภคมีสุขภาพที่ดี
“เวลาที่ไปออกร้านมักจะเจอคำถามว่า หวานไหม จริงๆ สูตรดั้งเดิมต้องหวาน แต่ขนมเราหวานน้อยอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นหม้อแกงจะเน้นเลยว่าหวานน้อย เราอยากให้มีแนวคิดว่าทานยังไงให้ดีต่อสุขภาพ ทางร้านจึงน้ำตาลโตนดแท้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ ไม่ใส่แป้ง แต่จะใส่เผือกแทน เพราะเผือกก็เป็นแป้งชนิดหนึ่ง แต่เป็นคาร์โบไฮเดรทเชิงซ้อนที่ดีต่อสุขภาพ รวมถึงเรามีกระบวนการผลิตที่ไม่ซับซ้อน ไม่ปรุงแต่งเยอะ และลดไซส์ลงให้พอสำหรับทานคนเดียว แต่ยังคงเป็นขนมไทยสูตรดั้งเดิมที่ยังคงความละเมียดละไมในการปรุง เพื่อเป็นขนมหวานดีต่อสุขภาพแต่ยังคงความอร่อย สำหรับกิจกรรมเพชรบุรีอ่อนหวาน ถือเป็นการพลิกโฉม จ.เพชรบุรี เพื่อตอบรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น
ถึงแม้ขนมหวานเมืองเพชร จะหวานน้อยลง แต่ยังคงความอร่อยไว้เหมือนเดิม
-(016)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี