ทำไมเด็กบางคนถึงร้องไห้ฟูมฟายไม่ยอมไปโรงเรียน หรือผู้ใหญ่ทำงานไม่ได้เพราะคิดถึงลูกตลอดเวลา ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากความดื้อรั้น แต่อาจเป็นอาการแสดงของ โรคกลัวการแยกจาก (Separation Anxiety Disorder)ซึ่งเป็นภาวะทางจิตที่ซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลังความกลัวที่สามารถส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก
นายแพทย์ณชารินทร์ พิภพทรรศนีย์ จิตแพทย์โรงพยาบาล BMHH - Bangkok Mental Health Hospital กล่าวว่า โรคกลัวการแยกจาก (Separation Anxiety Disorder)เป็นภาวะทางจิตที่ผู้ป่วยจะรู้สึกกลัวหรือมีความวิตกกังวลอย่างรุนแรงเมื่อต้องแยกจากบุคคลที่ตนรักหรือสถานที่ที่คุ้นเคย เช่น กลัวว่าจะถูกทิ้ง กลัวว่าจะเกิดเรื่องร้ายแรงกับคนที่ตนรัก กลัวว่าตัวเองจะหลงทาง ซึ่งอาการกลัวการแยกจากพบบ่อยในเด็กเล็กที่อายุระหว่าง 6 เดือน ถึง 2 ขวบ แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้ในวัยผู้ใหญ่เช่นกันบางคนที่อาการรุนแรงอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การทำงาน การเรียน และความสัมพันธ์กับผู้อื่น
โรคกลัวการแยกจากจะมีอาการดังต่อไปนี้ กังวลและกลัวเป็นอย่างมากเมื่อต้องแยกจากคนที่รัก กลัวว่าคนที่รักจะเป็นอันตรายเมื่อต้องแยกจากกัน รู้สึกเหงา โดดเดี่ยวเมื่ออยู่คนเดียว อยากรู้ว่าอีกฝ่ายทำอะไร อยู่ที่ไหน ตลอดเวลา กลัวการอยู่คนเดียว ตื่นตระหนก อารมณ์ฉุนเฉียว ในเวลาที่ต้องแยกจากพ่อแม่หรือคนที่รัก แสดงอาการเจ็บป่วยทางกาย เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน นอนไม่หลับ
สาเหตุของโรควิตกกังวลจากการแยกจากกัน อาจเกิดจากปัจจัยทางชีวภาพ เช่น พื้นอารมณ์ของเด็กที่ติดตัวมาแต่กำเนิด ปัจจัยทางจิตใจและสิ่งแวดล้อม เช่น เหตุการณ์ความเครียดที่ทำให้ต้องแยกจากพลัดพราก สูญเสียคนที่รัก การย้ายบ้านหรือเปลี่ยนโรงเรียน การถูกเลี้ยงดูในลักษณะปกป้องหรือประคบประหงมมากเกินไป สมาชิกในครอบครัวมีความวิตกกังวลหรือความผิดปกติทางจิตอื่นๆ และการที่เด็กไม่สามารถสร้างความผูกพันที่มั่นคงปลอดภัยกับพ่อแม่หรือผู้ดูแลได้
การรักษาโรคกลัวการแยกจากขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค และปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีวิธีการรักษาหลายวิธี ได้แก่ จิตบำบัด (Psychotherapy) เพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้าใจการเจ็บป่วยและลดความวิตกกังวล ปรับตัวต่อภาวะแยกจากได้ทั้งนี้ อาจใช้วิธีการปรับความคิดและพฤติกรรม (Cognitive behavioraltherapy) เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้ที่จะจัดการกับความคิดและความรู้สึกที่ก่อให้เกิดความวิตกกังวล และพัฒนาทักษะในการเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ตนกลัว ในบางรายอาจมีการพิจารณาใช้การรักษาด้วยยาเพื่อควบคุมอาการวิตกกังวล เช่น ยาต้านเศร้า หรือยาลดความวิตกกังวล เพื่อให้สามารถเผชิญกับสถานการณ์ และร่วมมือกับการทำจิตบำบัดได้ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม โรคกลัวการแยกจาก หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม สามารถนำไปสู่การเกิดโรคทางจิตเวชอื่นๆ ได้ เช่น โรคแพนิก หรือ โรควิตกกังวล ดังนั้นหากสังเกตพบว่า บุตรหลานมีอาการวิตกกังวลมากจนเริ่มมีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน แนะนำให้รีบมาพบจิตแพทย์ นักจิตวิทยา เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี