ในปี 2025 ที่กำลังจะมาถึงพร้อมกับความท้าทายใหม่ๆ ที่ธุรกิจต้องเผชิญ การเตรียมตัวให้พร้อมและปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง นี่คือแนวทางในการรับมือกับความท้าทายที่อาจเกิดขึ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว, การปรับตัวกับเศรษฐกิจโลก, การสร้างความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม, การพัฒนาทักษะและความสามารถจะช่วยให้ธุรกิจสามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดและลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการจัดการวิกฤตเป็นทักษะที่ธุรกิจทุกขนาดต้องมี การเตรียมตัวล่วงหน้า การฝึกทีมงาน และการมีแผนฉุกเฉินเป็นสิ่งสำคัญ การใช้เทคโนโลยี เช่น AI และ Social Listening Tools ช่วยตรวจจับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ก่อนที่จะลุกลาม เป็นต้น
การเตรียมตัวให้พร้อมและปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงจะช่วยให้ธุรกิจสามารถรับมือกับความท้าทายและคว้าโอกาสใหม่ๆ ในปี 2025 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ข้อมูลจาก
อุกฤษฎ์ ตั้งสืบกุล ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เรียล สมาร์ท จำกัด และผู้บริหาร เรียล สมาร์ท อะคาเดมี่ (Real Smart Academy) เปิดเผยว่า เมื่อไม่นานนี้ ทาง บจ.เรียล สมาร์ท ได้จัดงานสัมมนาร่วมกับ ธนาคารไทยพาณิชย์ เรื่อง The Art of Brand Protection เพื่อร่วมแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับการปกป้องแบรนด์ให้กับผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อย จุดประกายไอเดียแนะกลยุทธ์การตอบสนองเมื่อเผชิญวิกฤต และการจัดการกับสถานการณ์วิกฤตที่อาจเกิดขึ้นกับแบรนด์ได้อย่างมืออาชีพ
บทความนี้ตั้งใจสรุปไฮไลท์ พลิกเกมธุรกิจ จากวิกฤตสู่ความสำเร็จ ด้วยเทคโนโลยี ข้อมูลและกลยุทธ์โมเดล 4R ที่นักธุรกิจและผู้บริหารองค์กรต้องรู้ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน
หากถามว่า “วิกฤตคืออะไร” หลายคนอาจนึกถึงภาพเหตุการณ์ใหญ่โต เสียหายรุนแรง แต่จริงๆ แล้ว วิกฤตอาจเริ่มจากประเด็นเล็กๆ ที่ไม่ได้คาดคิด เช่น การสื่อสารผิดพลาด ความเข้าใจไม่ตรงกัน หรือเหตุการณ์ที่ดูเหมือนเล็กน้อยแต่กลับขยายตัวกลายเป็นประเด็นใหญ่เพียงชั่วพริบตา โดยเฉพาะในยุคดิจิทัลที่ข่าวสาร
แพร่กระจายรวดเร็วเหมือนไฟลามทุ่ง การจัดการวิกฤตจึงไม่ใช่เรื่องของการ “แก้ปัญหา” เท่านั้น แต่คือการควบคุมไม่ให้เรื่องเล็กๆ บานปลายไปสู่ความเสียหายที่ใหญ่กว่า
ในปี 2025 ที่จะถึงนี้ การจัดการวิกฤตจะกลายเป็นทักษะที่ธุรกิจทุกขนาดต้องมีติดตัว ไม่ว่าคุณจะเป็นธุรกิจเล็กหรือองค์กรใหญ่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆที่เกิดขึ้น เช่น ความคาดหวังของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ปัญหาข้อมูลหลุดรั่วข่าวปลอม หรือแม้แต่คำวิจารณ์จากชาวเนต หรือผู้บริโภคที่อาจไม่ถูกต้องในโลกโซเชียล
วิกฤต..เพื่อนหรือศัตรู
หลายครั้งเราเห็นแบรนด์ที่กำลังไปได้สวยต้องสะดุดเพราะวิกฤตเล็กๆ ที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง แต่ในทางกลับกัน เราก็เคยเห็นธุรกิจที่กลับมาสดใสได้เพราะการจัดการวิกฤตที่ชาญฉลาด เช่น ร้านกาแฟที่ขอโทษลูกค้าและเสนอโปรโมชั่นคืนกำไรให้ชุมชน หรือบริษัทใหญ่ที่ใช้เหตุการณ์วิกฤตมาเป็นโอกาสในการแสดงถึงความโปร่งใสและความรับผิดชอบต่อสังคม คำถามคือ เราเลือกจะมอง “วิกฤต” เป็นศัตรูที่ทำลายความสำเร็จ หรือเป็นเพื่อนที่ทดสอบความแข็งแกร่งของเรากันแน่?
การจัดการวิกฤต..แค่ดับไฟหรือวางแผนเพื่ออนาคต?
ในเมื่อทุกสิ่งเกิดขึ้นได้ เราจะรับมือกับมันยังไง การจัดการวิกฤตไม่ได้หมายความว่าเราต้องคอย “ดับไฟ” ทุกครั้งที่มันลุกขึ้นมา แต่คือการเตรียมตัวให้พร้อมล่วงหน้า การฝึกทีมงาน การมีแผนฉุกเฉิน และที่สำคัญคือการเฝ้าระวัง (Monitoring) อย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถจับปัญหาได้ตั้งแต่ต้น
ลองนึกดูว่า หากวันหนึ่งสินค้าของคุณได้รับรีวิวเชิงลบจากลูกค้าบนโซเชียลมีเดีย สิ่งที่คุณต้องทำไม่ใช่แค่การออกมาขอโทษเท่านั้น แต่คือการสร้างกระบวนการรับมือที่มีระบบ เช่น การมีทีมตอบคำถามอย่างมืออาชีพ รวบรวมข้อมูลเพื่อปรับปรุงผลิตภัณฑ์ และเสนอทางเลือกใหม่ให้ลูกค้า การตอบสนองอย่างรวดเร็วและมีแผนเชิงรุกจะทำให้คุณสามารถควบคุมสถานการณ์และลดผลกระทบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เทคโนโลยีตัวเปลี่ยนเกมในปี 2025 ส่งผลต่อการจัดการวิกฤต
ทุกวันนี้เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในการจัดการวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นการใช้ AI ช่วยตรวจจับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการสืบค้นข้อมูลบนโซเชียลมีเดีย หรือการใช้ Social Listening Tools เพื่อเฝ้าระวังแนวโน้มและความคิดเห็นที่อาจเป็นตัวจุดประกายวิกฤต การใช้เทคโนโลยีช่วยให้ธุรกิจมีโอกาส “ตรวจจับ” วิกฤตได้ก่อนที่มันจะลุกลาม
เทคโนโลยีเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องของอนาคตอีกต่อไป แต่เป็นสิ่งที่ธุรกิจในปี 2025 จำเป็นต้องใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตัวอย่างเช่น การใช้ระบบอัตโนมัติ (Automation) เพื่อตอบคำถามลูกค้าอย่างทันท่วงที หรือ การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก (Data Analytics) เพื่อคาดการณ์พฤติกรรมผู้บริโภคและรับมือกับแนวโน้มที่อาจกลายเป็นวิกฤตได้
โซเชียลมีเดีย จุดเล็กๆ ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว
ทุกวันนี้วิกฤตส่วนใหญ่เกิดจากโซเชียลมีเดีย ข่าวสาร กระแส หรือคำวิจารณ์ที่เกิดขึ้นบนออนไลน์สามารถแพร่กระจายได้เร็วอย่างน่าทึ่ง ยกตัวอย่างง่ายๆ ร้านอาหารที่ถูกลูกค้าโพสต์ตำหนิเรื่องบริการ ลูกค้าคนหนึ่งอาจไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่ถ้าเกิดเรื่องนี้ถูกแชร์และมีคอมเมนต์มากมาย มันสามารถลุกลามเป็นประเด็นที่ใหญ่กว่าที่เราคิดได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง การจัดการกับโซเชียลมีเดียคือการเตรียมตัวและการตอบสนองอย่างมีสติ แบรนด์ที่สามารถยืนหยัดได้ในโลกออนไลน์ไม่ใช่แบรนด์ที่ไม่เคยโดนวิจารณ์แต่เป็นแบรนด์ที่รู้วิธีจัดการกับคำวิจารณ์นั้นอย่างโปร่งใสและสร้างสรรค์
โมเดล 4R แผนการจัดการวิกฤต เตรียมพร้อมรับมืออยู่เสมอ
โมเดล 4R จะช่วยกำหนดกรอบการทำงานที่ชัดเจน ทำให้คุณพร้อมรับมือกับวิกฤตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
1.Readiness (ความพร้อม) การเตรียมพร้อมทีมงานและระบบการจัดการตั้งรับเชิงรุกก่อนเกิดวิกฤตอยู่เสมอ
2.Radar (เรดาร์) การเฝ้าระวัง ตรวจจับสัญญาณ ติดตามสถานการณ์ในสื่อทั้งออนไลน์และออฟไลน์อย่างใกล้ชิด
3.Response (การตอบสนอง) การตอบสนองต่อประเด็นปัญหาและสถานการณ์วิกฤตได้อย่างรวดเร็วตามแบบฉบับมืออาชีพ
4.Recovery (การฟื้นฟู) การรวบรวมรายงานเพื่อออกแบบกลยุทธ์ และแนวทางการดำเนินการเพื่อฟื้นฟูชื่อเสียงและความเชื่อมั่นของแบรนด์ให้กลับมาอยู่ในสถานการณ์ปกติให้เร็วที่สุดโดยดำเนินงานตามแผนงานและติดตามประเมินผลสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
การก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงในโลกที่ไม่แน่นอน สิ่งที่แน่นอนที่สุดคือ “การเปลี่ยนแปลง” และการเตรียมตัวรับมือกับวิกฤตก็เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงนั้น การยอมรับว่าวิกฤตสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ และการสร้างแผนรองรับอย่างดีเป็นการป้องกันไม่ให้มันกลายเป็นจุดจบของธุรกิจเรา และอย่าลืมว่า การจัดการวิกฤตไม่ใช่แค่การแก้ไขปัญหาในปัจจุบัน แต่ยังเป็นการเรียนรู้เพื่อเติบโตในอนาคตด้วยติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Facebook.com/realsmartacademy
ผศ.(พิเศษ)ดร.อภิสิทธิ์ ฉัตรทนานนท์
ประธานกรรมการ มูลนิธิคุณแม่คุณภาพ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี