สุขภาพดีไร้พรมแดน! นายแพทย์ตนุพล วิรุฬหการุญ หรือ คุณหมอแอมป์ ประธานคณะผู้บริหาร บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก และ บีดีเอ็มเอส เวลเนส รีสอร์ท บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ได้รับเกียรติจาก สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ในงาน Health Talk ภายใต้หัวข้อ “Wellness Hub Thailand: The Future of Global Wellness” เพื่อส่งเสริมแนวคิดด้านการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม และนำเสนอศักยภาพของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางสุขภาพระดับโลก หรือ “Wellness Hub Thailand” เพื่อขยายความร่วมมือด้านสุขภาพระหว่างประเทศ เสริมสร้างเครือข่ายสุขภาพเชิงยุทธศาสตร์ และขับเคลื่อนบทบาทของประเทศไทยด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพบนเวทีโลก
ทั้งนี้ นางสาวปฤณัต อภิรัตน์ กงสุลใหญ่ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ และ นายจิรวัฒน์ เลียงคำ รองผู้อำนวยการ สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ณ นครเซี่ยงไฮ้ รวมทั้งผู้แทนจากสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ณ นครเซี่ยงไฮ้ หน่วยงานด้านการท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในประเทศจีน และโรงแรมระดับลักชัวรีในประเทศจีน เข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง
นางสาวปฤณัต อภิรัตน์ กงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ให้เกียรติกล่าวเปิดงาน โดยเน้นย้ำถึงศักยภาพของประเทศไทยและโอกาสในการขึ้นเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของผู้คนทั่วโลก รวมทั้งประชากรชาวจีน พร้อมระบุว่าการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพถือเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่ทั้งไทยและจีนสามารถต่อยอดความร่วมมือได้อย่างรอบด้าน โดยเฉพาะในวาระครบรอบ 50 ปี แห่งความสัมพันธ์ทางการทูตไทย–จีนในปี 2568
นายแพทย์ตนุพล วิรุฬหการุญ หรือ “คุณหมอแอมป์” ประธานคณะผู้บริหาร บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก และ บีดีเอ็มเอส เวลเนส รีสอร์ท บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) กล่าวบนเวที Health Talk ว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการแพทย์ได้มีบทบาทสำคัญในการยืดอายุขัย (Lifespan) ของมนุษย์ โดยเฉพาะในด้านการรักษาโรคต่าง ๆ ซึ่งช่วยให้ผู้คนมีชีวิตยืนยาวขึ้น โดยระหว่างปี พ.ศ. 2543 ถึง พ.ศ. 2562 อายุขัยเฉลี่ยของประชากรโลกเพิ่มขึ้นจาก 66.8 ปี เป็น 73.4 ปี เพิ่มขึ้นถึง 6.6 ปี อย่างไรก็ตาม “ช่วงชีวิตที่มีสุขภาพดี” หรือ Health Span ซึ่งหมายถึงระยะเวลาที่ทุกคนสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีโดยไม่เจ็บป่วย กลับเฉลี่ยอยู่เพียง 63.7 ปีเพียงเท่านั้น นั่นหมายความว่า หลายคนใช้ชีวิตในภาวะสุขภาพถดถอยเกือบหนึ่งทศวรรษก่อนเสียชีวิต
การที่มนุษย์มีอายุขัยยืนยาวขึ้นส่งผลให้โลกของเรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) โดยไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ความชรานั้นมักมาพร้อมกับโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งถือเป็นภัยสุขภาพที่สำคัญ โดยองค์การอนามัยโลก (WHO – World Health Organization) รายงานว่าในปี 2022 มีผู้คนทั่วโลกเสียชีวิตจากโรค NCDs กว่า 45 ล้านคนด้วยกัน
ในส่วนของประเทศจีน สถานการณ์ด้านสุขภาพกำลังก้าวเข้าสู่ความท้าทายที่สำคัญจากการเปลี่ยนแปลงสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” อย่างเต็มรูปแบบ โดยปัจจุบันมีประชากรจีนประมาณ 20% ที่มีอายุเกิน 60 ปี ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างประชากรนี้ได้นำไปสู่การตื่นตัวด้าน “การดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน” อย่างแพร่หลาย โดยมุ่งหวังเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตควบคู่ไปกับการมีอายุยืนยาวในสภาพสุขภาวะที่ดี
ปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดความตระหนักรู้ด้านการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันในวงกว้างนั้น คือการเพิ่มขึ้นของโรคNCDS ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกขณะอย่างมีนัยสำคัญ โดยในปี พ.ศ. 2565 โรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้กลายเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตถึง 90% ของประชากรจีน คิดเป็นจำนวนกว่า 9,058,000 รายต่อปี หรือเฉลี่ยประมาณ 1,034 รายต่อชั่วโมง โดย 6 โรคหลักที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจขาดเลือด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง และโรคอัลไซเมอร์
“อีกหนึ่งประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือภาวะโรคอ้วนในประเทศจีน ซึ่งพบว่าในปี 2022 ประชากรกว่า 38.9% หรือประมาณ 549,268,000 คน กำลังเผชิญกับภาวะโรคอ้วน ซึ่งไม่เพียงแค่เป็นปัญหาด้านรูปลักษณ์ภายนอกเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญญาณเตือนถึงความเสี่ยงทางสุขภาพในระยะยาว ภาวะโรคอ้วนยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและการเสียชีวิต โดยเฉพาะในช่วงที่โลกเผชิญกับเหตุการณ์ไม่ปกติ เช่น การระบาดของโรค COVID-19 โดยผลการศึกษาพบว่า ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง ขณะที่ผู้ป่วยโรคหัวใจหรือเบาหวานมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า ใขขณะที่ผู้ที่มีภาวะโรคอ้วนมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตสูงกว่าคนทั่วไปถึง 7 เท่าด้วยกัน” นายแพทย์ตนุพล กล่าวเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม จากรายงานล่าสุดจากสถาบัน Global Wellness Institute (GWI) ระบุว่า เศรษฐกิจเวลเนส (Wellness Economy) ของประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ. 2565–2566 มีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดในโลก โดยขยายตัวสูงถึงร้อยละ 28.4 คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 40.54 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.4 ล้านล้านบาทไทย โดยในจำนวนนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูงสุด ได้แก่ “การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ” (Wellness Tourism) ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 415,000 ล้านบาท และมีอัตราการเติบโตถึงร้อยละ 119.5 ถือเป็นอันดับสองของโลก รองจากสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี พ.ศ. 2566”
“ตัวเลขดังกล่าวไม่เพียงสะท้อนถึงความสำเร็จในเชิงเศรษฐกิจของประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ตอกย้ำถึงศักยภาพและความพร้อมของประเทศในการก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านเวลเนสในระดับโลก ทั้งใน ทั้งด้านภูมิศาสตร์และสิ่งแวดล้อมที่งดงามอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ผสานกับอัตลักษณ์ของอาหารไทยที่มีความหลากหลายทางรสชาติและคุณค่าทางโภชนาการ อีกทั้ง ยังมีจุดแข็งด้านการบริการที่อบอุ่นและเปี่ยมด้วยเสน่ห์แห่งอัธยาศัยแบบไทย นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีจุดเด่นด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทยซึ่งได้รับการสืบทอดอย่างยาวนานและเริ่มเป็นที่สนใจของผู้บริโภคทั่วโลกในฐานะศาสตร์แห่งสุขภาวะควบคู่กับธรรมชาติ ตลอดจนศักยภาพด้านการแพทย์สมัยใหม่ที่มีมาตรฐานและได้รับการยอมรับในระดับสากล ซึ่งทั้งหมดนี้หลอมรวมกันเป็นจุดแข็งสำคัญที่ผลักดันให้ประเทศไทยสามารถยกระดับสู่การเป็นผู้นำด้านสุขภาพและเวลเนสในระดับโลกได้อย่างยั่งยืน”นายแพทย์ตนุพล กล่าวทิ้งท้าย
จากความร่วมมือในครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นและยั่งยืนระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีจุดมุ่งหมายร่วมกันในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางด้านสุขภาพ เสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ และยกระดับสุขภาวะของประชากรทั้งสองชาติให้ดียิ่งขึ้นอย่างยั่งยืน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี