ปฏิเสธไม่ได้ว่า หัวใจ คือ อวัยวะสำคัญของร่างกาย เพราะหัวใจทำงานตลอดระยะเวลา 24 ชั่วโมง ไม่ได้หยุดพัก หลายคนมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เสี่ยงเป็นโรคหัวใจโดยไม่รู้ตัว ซึ่งจะเห็นได้ว่าในปัจจุบันพบผู้ป่วยกลุ่มโรคหัวใจ ทั่วโลกมีเพิ่มมากขึ้น และหนึ่งในโรคที่ถือเป็นภัยเงียบของโรคหัวใจที่สำคัญ คือ โรคลิ้นหัวใจ ด้วยเหตุนี้ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จึงได้จัดกิจกรรมเสวนาให้ความรู้เรื่อง นวัตกรรมการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว ภายใต้แนวคิด “SAVE YOUR HEART SAVE YOUR LIFE : เพราะหัวใจมีความหมายเท่ากับชีวิต” โดยมี รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กล่าวเปิดงาน พร้อมด้วย นพ.ดำรงค์ สุกิจปัญญาโรจน์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และทีมแพทย์เฉพาะทางศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก ร่วมกับแพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด นำโดย นพ.สุขสันต์ กนกศิลป์ หัวหน้างานศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก นพ.วิโรจน์ เมืองศิลปศาสตร์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์หัวใจและหลอดเลือด นพ.โกเมน เสนงาม แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก นพ.ชยวัน รุ่งกาญจนกุล แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก นพ.พิเชษฐ์ เลิศปันณะพงษ์ แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก นพ.ฆนากร แก้วกิติพงษ์ แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก และคุณรัตนา จุลสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายการพยาบาลโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เภสัชกรหญิงธนาภรณ์ มณีฉาย เภสัชกรหญิงศิรดา เจียมตน ทีมนักเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก ของงานศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ทีมนักกายภาพบำบัด เฉพาะด้านหัวใจ ปอดและหลอดเลือด โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และตัวแทนบริษัท เอ็ดวาร์ดส์ ไลฟ์ไซเอ็นซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เข้าร่วมพิธีเปิดงาน โดยมี หมอก้อง สรวิชญ์ สุบุญ เป็นพิธีกร ดำเนินรายการ ณ ชั้น 1 อาคารกรมพระศรีสวางควัฒน โรงพยาบาลจุฬาภรณ์
รศ. นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เปิดเผยว่า จากข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (Health Data Center) ปี 2566 ทั่วโลก มีผู้ป่วยกว่า 20.5 ล้านคนต่อปี ที่เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งในประเทศไทยพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยสะสมด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่า 2.5 แสนราย และเสียชีวิตมากถึง 4 หมื่นราย เฉลี่ยชั่วโมงละ 5 คน และหนึ่งในโรคที่ถือเป็นภัยเงียแบของโรคหัวใจที่สำคัญ คือ โรคลิ้นหัวใจ (Valvular Heart Disease) ทั้งนี้ เพื่อสืบสานพระปณิธานของ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานผู้ทรงก่อตั้งโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ให้เป็นที่พึ่งด้านสุขภาพแก่ผู้ป่วยในทุกระดับชั้นให้สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่างเท่าเทียม งานศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งเป็นหน่วยให้บริการดูแลรักษาโรคหัวใจและทรวงอกด้วยการผ่าตัดอย่างครบวงจร เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้จัดกิจกรรม “SAVE YOUR HEART SAVE YOUR LIFE : เพราะหัวใจมีความหมายเท่ากับชีวิต” เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจครบทุกมิติ และการดูแลเชิงป้องกัน ตลอดจนการกระตุ้นเตือนให้ทุกคนให้ตระหนักถึงความสำคัญของโรคลิ้นหัวใจซึ่งเป็นภัยเงียบให้กับประชาชนในประเทศไทย
นพ.สุขสันต์ กนกศิลป์ หัวหน้างานศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กล่าวว่า โรคลิ้นหัวใจรั่ว หรือตีบ ซึ่งมี 3 ระยะ คือ น้อย ปานกลาง รุนแรง ซึ่งระยะที่ต้องได้รับการผ่าตัด คือระยะปานกลางและระยะรุนแรง โดยการผ่าตัดลิ้นหัวใจแบ่งออกเป็น ลิ้นหัวใจที่ทำจากโลหะหรือเซรามิค กับลิ้นหัวใจที่ทำจากเนื้อเยื่อหุ้มหัวใจของหมูและวัว ซึ่งเลือกใช้ตามข้อบ่งชี้ของผู้ป่วย มีข้อดี-ข้อเสียต่างกัน กล่าวคือ ลิ้นโลหะหรือลิ้นเซรามิค สามารถใช้งานได้นานแต่ต้องกินยาละลายลิ่มเลือดคือยา warfarin ไปตลอดชีวิต ซึ่งยาละลายลิ่มเลือดจะมีอันตรายจากการใช้ยาได้ เช่น เลือดออกในสมองหรือทางเดินอาหาร ส่วนลิ้นเนื้อเยื่อหุ้มหัวใจของหมูและวัว กินยาละลายลิ่มเลือดเพียง 3 เดือนหลังจากนั้นเปลี่ยนไปกินยาแอสไพรินแทน ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการเกิดเลือดออกในสมองหรือทางเดินอาหาร กล่าวโดยสรุปคือมีข้อดี-ข้อเสียต่างกันตามความจำเป็นของคนไข้ สำหรับการผ่าตัดเปลี่ยนหรือซ่อมลิ้นหัวใจ ใช้ระยะเวลาผ่าตัดประมาณ 3-4 ชั่วโมง พักฟื้นในห้อง ICU 2-3 คืน เมื่อปลอดภัยแล้วก็จะย้ายมานอนที่หอผู้ป่วย รวมแล้วอยู่โรงพยาบาลประมาณ 7 วัน และเมื่อกลับบ้านสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ยังออกกำลังกายหนักหรือยกของหนักมากไม่ได้ ต้องรอให้กระดูกหน้าอกติดกันดีก่อน โดยแผลภายนอกใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ส่วนแผลข้างในใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และควรมีคนช่วยดูแลจนกว่าจะแข็งแรงดี
ปัจจุบัน เทคโนโลยีการผ่าตัดและการรักษาโรคหัวใจดีขึ้นกว่าเดิมมาก ช่วยลดอันตรายต่างๆ ที่เป็นความเสี่ยงลงได้ แม้จะยังไม่สามารถลดลงได้จนถึง 0% ก็ตาม โดยปัจจุบันมีเทคโนโลยีการผ่าตัดแผลเล็ก ที่เรียกว่า Minimally Invasive Surgery (MIS) ซึ่งช่วยลดขนาดบาดแผลผ่าตัดให้เล็กลงมาเหลือประมาณ 10 เซนติเมตร ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว แผลสวยงาม โดยค่าใช้จ่ายในบางรายการไม่ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะมีการนำหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดมาช่วยในการผ่าตัดแบบแผลเล็ก แต่ด้วยเทคโนโลยียังมีราคาแพง หากราคาลดลงมาในระดับที่เหมาะสมน่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ป่วยที่เข้ามารักษาในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์
สำหรับค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดลิ้นหัวใจ ขึ้นกับสิทธิการรักษาพื้นฐานของผู้ป่วย เช่น สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ประกันสังคม สิทธิข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือประกันสุขภาพ (เอกชน) โดยหลักแล้วค่ารักษาจะประกอบด้วยหลายส่วน เช่น ค่ายา ค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าอวัยวะเทียมหรือลิ้นหัวใจ เป็นต้น โดยที่ค่า ลิ้นหัวใจเทียมจะมีหลายแบบ หลายราคา แล้วแต่ความจำเป็นของผู้ป่วยตามคำแนะนำของแพทย์ อ้างอิงตามหลักเกณฑ์การรักษา เช่น ลิ้นหัวใจเทียมแบบมาตรฐาน อาจมีส่วนเกินประมาณเป็นหลักพันถึงหมื่นกว่าบาท และถ้าเป็นลิ้นหัวใจแบบที่พัฒนาออกมาใหม่ อาจมีส่วนเกินประมาณสองหมื่นถึงแสนกว่าบาท เมื่อรวมกับค่ารักษาโดยรวมแล้วอาจมีส่วนเกินได้ตั้งแต่หลักหมื่น ถึงหลักแสนบาท ตามชนิดของลิ้นหัวใจเทียมที่ใช้ ระยะเวลานอนโรงพยาบาล และภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น เป็นต้น
นพ.วิโรจน์ เมืองศิลปศาสตร์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์หัวใจและหลอดเลือด แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เผยถึง การเปลี่ยนลิ้นหัวใจผ่านสายสวน (TAVI) ซึ่งมีความแตกต่างจากการผ่าตัดเปิดอก ทั้งในแง่กระบวนการและผลลัพธ์ โดยการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด (TAVI) เป็นการผ่าตัดแบบไม่ต้องเปิดหน้าอก แผลเล็ก ฟื้นตัวเร็ว ลดความเสี่ยงจากการผ่าตัด นับเป็นนวัตกรรมการเปลี่ยนลิ้นหัวใจในผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ ที่เหมาะกับผู้ป่วยสูงอายุที่มักมีโรคประจำตัว ซึ่งมีโอกาสเสียชีวิตขณะผ่าตัด โดยมีข้อดี คือ ลดความเสี่ยง และภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการผ่าตัด ผู้ป่วยไม่มีรอยแผลผ่าตัดใหญ่ที่หน้าอก นอนพักที่โรงพยาบาลไม่นาน และผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว
พร้อมกันนี้ นพ.ชยวัน รุ่งกาญจนกุล แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้กล่าวเสริมถึง การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดที่ถูกต้อง ทิ้งท้ายด้วยความรู้ด้านการปฏิบัติตัวก่อน–หลังการผ่าตัด และการรับประทานยาของผู้ป่วยโรคหัวใจ โดยเภสัชกรหญิงธนาภรณ์ มณีฉาย และ เภสัชกรหญิงศิรดา เจียมตน โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และพบกับ คุณพิชัย บัวบาง และ คุณกรรณิการ์ รงค์ทอง แขกรับเชิญพิเศษที่มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์การเป็นผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจ โดยทั้งสองท่านได้เข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจจากโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ทั้งยังจัดให้มีบูทกิจกรรมอีกมากมาย อาทิ บูทให้คำปรึกษาการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ โดยศัลยแพทย์ และพยาบาลวิชาชีพ พร้อมบริการนัดหมาย บูทให้คำปรึกษาเรื่องการรับประทานยาด้านโรคหัวใจ โดยเภสัชกร บูธแนะนำโภชนาการสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ โดย นักกำหนดอาหาร และบูทแนะนำการออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยก่อน-หลังผ่าตัด โดยนักกายภาพบำบัด เฉพาะด้านหัวใจ ปอด และหลอดเลือดโรงพยาบาลจุฬาภรณ์
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่โทรศัพท์ 06 4586 2405 พยาบาลประสานงานโรคหัวใจ และสามารถอัปเดตข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสุขภาพสามารถแอดเพิ่มเพื่อนกับโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ทางไลน์ออฟฟิเชียลแอ็กเคานต์ (@chulabhornhospital) พร้อมทั้งกด LIKE กด share facebook โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และกด subscribe ช่อง youtube ซีอาร์เอจุฬาภรณ์แชนแนล ส่วนผู้รับบริการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ที่มีประวัติการรักษา หรือ HN เพื่อความสะดวกและไม่พลาดทุกการแจ้งเตือน ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน CHULABHORN HEALTH PLUS ได้ทาง App store และ Google Play store ได้แล้ววันนี้
-(016)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี