ปิดคอร์สมอบประกาศนียบัตรกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับหลักสูตรพัฒนาผู้บริหารผู้ผลิตสื่อมืออาชีพ (ระดับสูง) “Lead Senior Executive: นำองค์กรสื่อสู่อนาคตอย่างยั่งยืน” จัดโดย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและยกระดับวิสัยทัศน์ของผู้บริหารผู้ผลิตสื่อมืออาชีพ (ระดับสูง) ให้สามารถขับเคลื่อนองค์กรและอุตสาหกรรมสื่อไปสู่อนาคตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยเชื่อมั่นว่าบรรดาผู้บริหารสื่อระดับสูงทั้ง 30 คนที่ได้รับการอบรมและผ่านการทำกิจกรรมเรียนรู้ร่วมกันทั้งแบบออนไลน์และออนไซต์ เป็นเวลา รวม 38 ชั่วโมงจนจบหลักสูตรนั้น จะสามารถยกระดับความรู้และวางแผนเชิงรุกด้วยยุทธศาสตร์ระดับสูง พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยนวัตกรรมบนพื้นฐานจริยธรรมและสร้างผลกระทบเชิงบวกทางวัฒนธรรม สังคม และเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่กองทุนพัฒนาสื่อฯ ได้พัฒนาหลักสูตรสำหรับผู้บริหารสื่อมืออาชีพระดับสูงขึ้นมา มีทั้ง LEAD WORKSHOP ที่เน้นการลงมือปฏิบัติจริงในการวางแผนยุทธศาสตร์และออกแบบโมเดลธุรกิจด้วยแคนวาส LEAD TALK เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์จากผู้บริหารสื่อที่มีความสำเร็จในวงการสื่อที่หลากหลาย และ Networking & Case Studies การเรียนรู้จากกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จและการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในวงการสื่อ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาผู้นำที่มีภาวะผู้นำเชิงนวัตกรรมและสามารถบริหารจัดการองค์กรสื่ออย่างยั่งยืน ทั้งด้านการวางแผนยุทธศาสตร์ การรักษาจริยธรรม การบริหารจัดการภายใน และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในระดับทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เป็นการสร้าง ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ มีจริยธรรม และสามารถบริหารองค์กรสื่อให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการผลิตสื่อ ที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์
สุทธิดา ม่วงรอด ผู้บริหารบริษัทผลิตสื่อจากงานศึกษาวิจัยเชิงวิชาการ หนึ่งในผู้เข้าร่วมอบรม กล่าวว่า ที่สนใจสมัครมาร่วมหลักสูตรผู้บริหารสื่อมืออาชีพระดับสูงในครั้งนี้ ก็เพราะ หลังจากสื่อเกิดการดิสรัปชั่น เกิดช่องทางการสื่อสารมากมาย จึงอยากหาแนวทางมาช่วยพัฒนาองค์กรของเราให้ยั่งยืนได้ ซึ่งหลักสูตรนี่นับว่าตอบโจทย์อย่างมาก เพราะมีหลากหลายวิชา ทักษะของวิทยากรที่มาให้ความรู้ ให้แรงบันดาลใจ ทำให้ได้ไอเดียใหม่ๆ สามารถช่วยเพิ่มองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้เรานำกลับไปปรับใช้การบริหารองค์กรของเราได้ ทำให้เราสามารถตั้งรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับวงการสื่อโลก หลักสูตรนี้ทำให้เราเข้าใจโลกของสื่อมากขึ้น เราไม่ได้มองในฐานะเราเป็นแค่ผู้ผลิตสื่อ แต่เรามองมากกว่านั้นว่าถ้าเราจะพาองค์กรเราให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงยั่งยืน เราจะทำอย่างไรได้บ้าง เพราะปัจจุบันถ้าเราผลิตสื่อแค่อย่างเดียว เราจะอยู่ไม่ได้ ถ้าเราจะยังทำสื่ออยู่ เราต้องขยับตัวเองไปทำอย่างอื่นที่หลากหลายควบคู่ไปด้วย ปรับตัวเอง และมองหาโอกาสใหม่เสมอ
“ผู้บริหารสื่อระดับสูงที่ดีในปัจจุบัน ส่วนตัวมองว่า ต้องรู้จักมองหาโอกาสใหม่ๆให้ตัวเอง และมอบโอกาสให้กับคนอื่นด้วย คือ ถ้าเรายังอยู่กับที่ไม่มองหาโอกาสใหม่ๆ ชื่อขององค์กรเราก็จะหายไป ต้องรู้จักเปิดตัว รู้จักมองหาเนื้อหาองค์ความรู้ใหม่ๆ รวมถึง ให้โอกาสคนรุ่นใหม่ๆเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน เปิดใจรับฟังไอเดียใหม่ๆจากคนรุ่นใหม่ อีกข้อคือ มีความเข้าอกเข้าใจกันในการทำงานร่วมกัน ตนเชื่อว่าจะช่วยได้ในการทำงานสื่อ ถ้อยทีถ้อยอาศัยในการทำงาน ก็จะช่วยลดช่องว่างระหว่างเจเนอเรชั่นได้พอสมควร นอกจากนี้ คนทำงานสื่อ ควรให้ความสำคัญกับเรื่อง Partnership เพราะยุคนี้ทำเองคนเดียวจะเหนื่อยมาก ควรหาพาร์ทเนอร์ที่มาช่วยเสริมจุดเด่นลบจุดด้อยของเรา มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กัน และในอนาคตอาจจะร่วมกันพัฒนางานของสื่อต่อไปได้ ก็จะช่วยทำให้วงการสื่อไทยเข้มแข็งและยั่งยืนมากขึ้น” สุทธิดา กล่าว
เนติพิกัติ ตังคไพศาล ผู้บริหารสายงานเทคโนโลยีบริษัทสื่อยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง กล่าวว่า รู้จักหลักสูตรนี้จากการติดตามกองทุนพัฒนาสื่อฯว่า มีการเปิดหลักสูตรนี้ซึ่งดูแล้วมีประโยชน์กับผู้บริหารสื่อระดับสูง จึงคิดว่าถ้าได้เข้าร่วมคงมีประโยชน์ในการนำความรู้มาใช้กับการทำงานในองค์กร ซึ่งปัจจุบันสื่อมีการดิสรัปชั่นค่อนข้างเยอะ ปัจจัยแวดล้อมในการดำเนินงานธุรกิจในแต่ละปีก็ค่อนข้างยากขึ้น ดังนั้น การมาเข้าร่วมอบรมหลักสูตรนี้ จึงมีความตั้งใจว่า จะได้พบปะพูดคุยกับคนที่ผลิตสื่อด้วยกันจากหลากหลายแวดวง อย่างน้อย เราจะได้เห็นว่าภูมิทัศน์ หรือ แลนด์สเคปของสื่อแต่ละที่เป็นอย่างไร จะได้นำความรู้ที่ได้มาปรับใช้กับองค์กรต่อไป
“ส่วนตัวมองว่า ผู้บริหารสื่อระดับสูงในยุคนี้ ควรยึดติดกับวิธี หรือ แนวทางการดำเนินงานแบบเดิมให้น้อยลง เราต้องปรับตัวเร็วขึ้น ต้องมีเรดาร์ที่เท่าทันต่อสื่อรอบนอก เพื่อจะได้ปรับตัวได้เท่าทัน เพราะทั่วโลกค่อนข้างปรับตัวเร็ว และมีผลต่อสื่อค่อนข้างเยอะ ที่สำคัญ คือ เราต้องรู้ให้เท่าทันว่าตอนนี้โลกดำเนินไปในทิศทางไหน มีผลปัจจัยแวดล้อมต่อวิธีการทำงานของเราอย่างไร แน่นอนว่า เราต้องปรับตัว ทั้งปรับตัวเอง จะทำงานแบบเดิมไม่ได้ ขณะเดียวกัน เราต้องนำสิ่งที่เราปรับให้กับองค์กรได้ปรับตัว ไม่เช่นนั้นนอกจากเราจะตามไม่ทัน คนในองค์กรก็จะตามไม่ทันด้วยเช่นกัน ก็จะยิ่งทำให้เราแข่งขันกับโลก หรือ ธุรกิจได้ยากขึ้น” ผู้บริหารสื่อสายงานเทคโนโลยี กล่าวเสริม
เนติพิกัติ ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่มีการหยิบยกมาพูดคุยในการอบรมครั้งนี้ คือ บทบาทของสื่อที่จะมีผลต่อโลกในอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป ซึ่งสิ่งที่เราได้เป็นผลลัพธ์ออกมา คือ การสร้าง Trust Economy ให้เกิดขึ้นในสังคม ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมากๆ เพื่อจะได้เป็นภูมิต้านทานต่อกระแสไวรัลดราม่าและสร้างทิศทางใหม่ให้กับองค์กรสื่อในอนาคตได้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี