บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สานต่อความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างศักยภาพให้คนรุ่นใหม่ด้วยการนำเอาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมไปประยุกต์ใช้ในการดูแลรักษาและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ผ่านโครงการ “ค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมเพาเวอร์กรีน” (Power Green Camp) ครั้งที่ 20 ภายใต้แนวคิด “ดีค้าบ – The Decarb Mission” ลดคาร์บอน ให้โลกคูลล์ เน้นสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการลดและหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonization) ในชีวิตประจำวันและในสังคมที่อาศัยอยู่
นายรัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสายอาวุโส - สื่อสารองค์กร บมจ.บ้านปู กล่าวว่า กว่า 2 ทศวรรษแห่งความร่วมมือระหว่างบ้านปู และคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล เราไม่ได้พัฒนาแค่รูปแบบกิจกรรมการเรียนรู้ภายในค่ายให้เข้มข้นแต่เพียงเท่านั้น เราสร้างมุ่งพัฒนาศักยภาพและสร้างเครือข่ายผู้นำเยาวชนที่กล้าคิด กล้าทำ และกล้าสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสิ่งแวดล้อม เยาวชนไม่ได้เป็นเพียงแค่ ‘ผู้เรียน’ แต่คือ ‘ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง’ เราเชื่อว่าเยาวชนที่ผ่านค่ายเพาเวอร์กรีนไปจะเป็นฟันเฟืองสำคัญของการขับเคลื่อนสังคมสู่ความยั่งยืน
“ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ค่ายเพาเวอร์กรีนได้บ่มเพาะเยาวชนกว่า ,185 คน ในการสร้างการตระหนักรู้เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมและก้าวขึ้นมาเป็นพลังสำคัญในการดูแลและช่วยแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ในปีนี้ ค่ายเพาเวอร์กรีนได้รับความสนใจจากนักเรียนระดับมัธยมปลายทั่วประเทศกว่า 515 คน จาก 304 โรงเรียน ถือเป็นสัญญาณที่สะท้อนว่า เยาวชนไทยจำนวนมาก ‘ตื่นรู้’ และพร้อมจะเข้ามามีบทบาท เพื่ออนาคตของโลกใบนี้” นายรัฐพล กล่าวเสริม
ด้าน รศ.ดร.นพพล อรุณรัตน์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานโครงการค่ายเพาเวอร์กรีน ครั้งที่ 20 กล่าวว่า การศึกษาก็ไม่ควรหยุดอยู่แค่ห้องเรียน ค่ายเพาเวอร์กรีนจึงให้ความสำคัญกับการออกแบบค่ายฯ ให้เป็น ‘ห้องเรียนแห่งอนาคต’ ที่ไม่ใช่แค่เรียนทฤษฎี แต่ต้องลงมือแก้ปัญหาจริง เข้าใจบทบาทของธรรมชาติ และใช้วิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น เราต้องการให้เยาวชนเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนในการดูแลและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม หากเราให้อาวุธทางความคิด ทักษะที่จำเป็น และประสบการณ์ที่เข้มข้น พวกเขาจะเติบโตเป็นกำลังสำคัญในการดูแลประเทศและโลกต่อไป
สำหรับปีนี้ทางโครงการฯ ปักหมุดกิจกรรมภาคสนามที่ จ.นครราชสีมา เพราะเป็นพื้นที่ที่เยาวชนสามารถเรียนรู้ความสำคัญของป่าไม้ในฐานะแหล่งดูดซับคาร์บอนในหลากหลายบริบท ทั้งในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ป่าชุมชน พื้นที่เกษตรชุมชน รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยเยาวชนทั้ง 50 คนมีภารกิจวางแปลงสำรวจการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าไม้ เพื่อศึกษาโครงสร้างสังคมพืช และฝึกฝนการประยุกต์ใช้นวัตกรรมไปวิเคราะห์ ดูแล และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ด้วยอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle - UAV) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในหลากหลายด้าน เช่น การเฝ้าระวังป่าไม้และสัตว์ป่า การตรวจวัดมลภาวะ การติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และฟื้นฟูพื้นที่ป่า ไม่เพียงเท่านั้น เยาวชนยังได้เรียนรู้การจัดการท่องเที่ยวแบบชุมชนที่ “บ้านท่ามะปรางค์ – บ้านคลองเพล” ซึ่งใช้โมเดล “Local Low Carbon” และร่วมฝึกการทำเกษตรอินทรีย์แบบลดคาร์บอน สะท้อนให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงระดับโลกเริ่มต้นได้จากชุมชนเล็กๆ
“บ้านปูยังคงเดินหน้าเสริมศักยภาพ สร้างพลังแห่งอนาคต ผ่านการเสริมศักยภาพ ‘คนรุ่นใหม่’ เพื่อสร้าง ‘พลังในการลงมือทำ’ เพราะเราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า เยาวชนที่สำเร็จการศึกษาจาก ‘ค่ายเพาเวอร์กรีน’ ห้องเรียนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมนอกตำราแห่งนี้จะกลายเป็นกำลังสำคัญในการดูแลฟื้นฟูโลกใบนี้ ผ่านการนำองค์ความรู้วิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี ตลอดจนประสบการณ์ที่ได้รับไปต่อยอดเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก ตลอดจนสร้างอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับคนรุ่นถัดไป” นายรัฐพล กล่าวทิ้งท้าย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี