สัปดาห์ก่อนเขียนเรื่องความเครียดและการจัดการแก้ความเครียดไปแล้ว ก็มีคำถามว่า ผู้ที่ต้องใช้ยาตัวนี้มีความกังวลว่าใช้ยาแล้วจะมีผลเสียต่อร่างกายในระยะสั้นและยาวอย่างไรบ้าง สัปดาห์นี้จะขยายความเรื่องยาคลายเครียด เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น
ก่อนอื่นต่องย้ำว่า ยาคลายเครียดหรือยารักษาอาการวิตกกังวล ต้องสั่งโดยแพทย์หรือจิตแพทย์เท่านั้น คนที่กำลังเครียดและอยากจะใช้ยาคลายเครียดจึงต้องไปพบแพทย์ เพื่อประเมินความจำเป็น และการเลือกใช้ยาให้เหมาะสมที่สุด เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีข้อห้ามใช้ยาตัวนี้
ยาคลายเครียดมีหลายกลุ่ม และแต่ละกลุ่มมีข้อห้าม หรือข้อควรระวังการใช้แตกต่างกัน ยาบางชนิด เช่น ยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (benzodiazepine) ห้ามใช้กับคนที่มีประวัติติดสารเสพติด หรือแอลกอฮอล์ เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หญิงตั้งครรภ์ (โดยเฉพาะช่วงไตรมาสแรก) หญิงให้นมบุตร และผู้ป่วยตับทำงานผิดปกติรุนแรง
ยาอีกกลุ่มที่ถูกใช้สำหรับผู้ที่มีภาวะเครียดหรือวิตกกังวล ได้แก่ ยาต้านเศร้ากลุ่มเอสเอสอาร์ไอ (SSRI, selective serotonin reuptake inhibitors) รวมถึง โรคต้านเศร้ากลุ่มเอสเอ็นอาร์ไอ (SNRI, serotonin and norepinephrine reuptake inhibitors) ซึ่งมียาหลากหลายรายการที่อยู่ในกลุ่มนี้ แต่ละตัวก็มีข้อควรระวังและข้อห้ามใช้แตกต่างกัน บางตัวห้ามใช้ในหญิงมีครรภ์ บางตัวห้ามใช้เมื่อตับไตผิดปกติ บางตัวห้ามใช้ในคนที่มีคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ หรือมีโรคต้อหิน เป็นต้น
ส่วนผู้ที่กำลังใช้ยาอยู่ เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ ก็อย่าเพิ่งกังวลใจแล้วเลิกใช้ยาด้วยตัวเอง เพราะกลัวตับอักเสบ ไตวาย เพราะการจะเลิกใช้ก็ต้องปรึกษาแพทย์ก่อน และต้องบอกว่าถ้าได้รับยาจากแพทย์ แล้วไปตรวจตามนัดสม่ำเสมอ ก็ไม่ต้องกังวล เพราะทุกครั้ง แพทย์ต้องเช็คสิ่งที่ต้องตรวจตามระยะเวลาที่เหมาะสม แต่ถ้าต้องได้ยาจากแพทย์ แต่ไม่สะดวกไปพบแพทย์ แล้วดันไปซื้อยาจากร้านยาเอง ซึ่งยาบางชนิดสามารถซื้อได้ แต่อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่าต้องกลับไปพบแพทย์เพื่อประเมินอาการตามแพทย์นัดอย่างเคร่งครัด
สำหรับภาวะวิตกกังวลที่จำเป็นต้องใช้ยา โดยแต่ละคนอาจได้รับการรักษา และใช้ยาแตกต่างกันไป โดยระยะเวลารักษาอาจกินเวลานาน บางรายอาจเป็นเดือนไปจนถึงเป็นปี ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ บางคนพอรู้สึกดีขึ้นเพียงเล็กน้อย ก็เลิกกินยาเอง แต่ที่จริงแล้วยาเพิ่งจะปรับสมดุลสารเคมีในสมอง หรือควบคุมอาการเท่านั้น แต่เมื่อหยุดยาเอง อาการก็กลับเป็นซ้ำ แล้วอาจรุนแรงมากขึ้น แต่ตามปกติ เมื่อแพทย์พิจารณาแล้วเห็นควรให้หยุดยา ก็ไม่ได้ให้หยุดยาทันที เพราะแพทย์ต้องค่อย ๆ ลดการใช้ยาลงตามความเหมาะสม เพื่อป้องกันอาการขาดยา
โดยสรุป เมื่อจำเป็นต้องใช้ยาคลายเครียด โดยใช้ยาอย่างมีประสิทธิผลและปลอดภัยสูงสุด จำเป็นต้องทำดังนี้ (1) ใช้ยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ลืม ไม่ลด ไม่งด ไม่หยุดยา หรือเพิ่มขนาดยาเอง แต่ในกรณีลืมจริง ๆ ให้กินยาทันทีเมื่อนึกได้ แต่ถ้านึกได้เมื่อใกล้กับการกินยามื้อถัดไป ให้กินยามื้อถัดไปตามปกติ แต่ห้ามกินยาเป็น 2 เท่าเพราะอาจเกิดอันตรายจากขนาดยาสูงเกินไป
(2) สังเกตอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการใช้ยา เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ง่วงนอน ใจสั่น แล้วปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อปรับการใช้ เพราะอาการบางอย่างอาจเกิดขึ้นในช่วงแรก เมื่อใช้ยาไปสักพักก็จะดีขึ้น อาการบางอย่างอาจแก้ไขได้โดยการปรับเปลี่ยนเวลากินยาให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย
(3) ไม่หยุดยาเองกะทันหัน ไม่ว่าจะเป็นด้วยสาเหตุยาหมด หรือรู้สึกว่าอาการดีขึ้น แล้วอยากรู้ว่าเมื่อหยุดยาแล้วจะมีอาการอย่างไร เพราะเสี่ยงต่อการรักษาไม่ได้ผล
(4) ไม่นำยาของคนอื่นมาใช้ หรือเอายาของตนเองไปให้คนอื่นใช้ เพราะอาจไม่ตรงกับโรค ไม่เหมาะกับสภาวะบางอย่างของผู้ป่วยแต่ละราย ที่สำคัญคือการทำเช่นนั้นอาจจะทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ
(5) ไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอเพื่อติดตามผลการรักษา
(6) ถ้าจำเป็นต้องใช้ยาอื่นร่วมด้วยในการรักษาโรคหรือภาวะอื่นใด ต้องแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อประเมินว่ายาคลายเครียดที่ใช้อยู่นั้นตีกับยาอื่นที่ต้องใช้หรือไม่
(7) ห้ามกินยาร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และหากยามีผลทำให้ง่วง ก็ต้องหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือควบคุมเครื่องจักร
รศ. ภญ. ดร.ณัฏฐดา อารีเปี่ยม และ รศ. ภก. ดร. บดินทร์ ติวสุวรรณ
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี