เฉลิมพระเกียรติ “กรมสมเด็จพระเทพฯ” ทรงเจริญพระชนมายุ 70 พรรษา “เรือตัดน้ำแข็งเสว่หลง 2 (Xue Long 2)” เรือตัดน้ำแข็งเพื่อการวิจัยขั้วโลกที่ทันสมัยที่สุดของจีนเยือนไทยพร้อมฉลอง 50 ปีความสัมพันธ์ทางการฑูตไทย – จีน พิธีต้อนรับอบอุ่นครั้งแรกในน่านน้ำไทย เปิดให้เข้าชมแล้วถึง 23 พ.ค.นี้ ณ ท่าเรือจุกเสม็ด การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ขณะที่ อพวช.จัดนิทรรศการควบคู่ที่ท่าเรือและ Crystal Court ชั้น 2 ศูนย์การค้าสยามพารากอนตั้งแต่วันนี้ถึง 25 พ.ค.2568
19 พฤษภาคม 25687 ที่ท่าเรือจุกเสม็ด การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี มีพิธีต้อนรับ “เรือตัดน้ำแข็งเสว่หลง 2 (Xue Long 2)” เรือตัดน้ำแข็งเพื่อการวิจัยขั้วโลกที่ทันสมัยที่สุดของจีน ที่เดินทางมาจากขั้วโลกใต้และมุ่งตรงมายังประเทศไทยเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 70 พรรษา 2 เมษายน 2568 และเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 50 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีน ปี พ.ศ. 2568 โดยมี พล.ร.ต.ธำรง สุพรรณพงศ์ ผอ.กทส.ฐท.สส. เป็นผู้แทนฐานทัพเรือสัตหีบ พร้อมด้วย ศ.ดร. ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งคณะนักเรียนในพื้นที่ให้การต้อนรับนายเสียว ชื่อหมิง ผู้บังคับการเรือเสว่หลง 2 และคณะลูกเรือ โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคักท่ามกลางฝนที่ตกโปรยปราย
โดยเมื่อเรือตัดน้ำแข็งเสว่หลง 2 (Xue Long 2) จอดเทียบท่า วงโยธวาทิตบรรเลงเพลงให้การต้อนรับ คณะนักเรียนในพื้นที่ได้โบกธงชาติไทยและธงชาติจีนเพื่อแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน ขณะที่ พล.ร.ต.ธำรง สุพรรณพงศ์ ผอ.กทส.ฐท.สส.และ ศ.ดร. ไพรัช ธัชยพงษ์ ได้ทำพิธีคล้องพวงมาลัยให้กับเรือสำรวจขั้วโลกเสว่หลง 2 พร้อมกับคล้องพวงมาลัยให้กับนายเสียว ชื่อหมิง ผู้บังคับการเรือเสว่หลง 2 และจับมือทักทายเช่นเดียวกับนักวิจัยและกำลังพลที่เดินทางมากับเรือ
ศ.ดร.ไพรัช เปิดเผยว่า ปีนี้มี 2 เหตุการณ์สำคัญคือกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 70 พรรษา 2 เมษายน 2568 และเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 50 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีน ปี 2568 การมาเยือนของเรือตัดน้ำแข็งเสว่หลง 2 มาเพื่อร่วมเฉลิมฉลอง 2 วาระสำคัญดังกล่าว โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์ทอดพระเนตรเรือตัดน้ำแข็งเสว่หลง 2 ในวันที่ 20 พ.ค.นี้ และจะเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าเยี่ยมชมเรือซึ่งได้จอดเทียบท่าที่ท่าเรือจุกเสม็ด การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ตั้งแต่วันที่ 19 - 23 พ.ค. 2568
ศ.ดร.ไพรัช กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมพิเศษที่จะจัดขึ้นควบคู่กับการมาเยือนของเรือเสว่หลง 2 ได้แก่ การจัดนิทรรศการ "Xue Long 2 and See the Unseen in Polar Region" ระหว่างวันที่ 14 - 25 พ.ค.2568 ณ Crystal Court ชั้น 2 ศูนย์การค้าสยามพารากอน และการเสวนาระหว่างนักวิทยาศาสตร์ผู้มีประสบการณ์เดินทางไปสำรวจขั้วโลกใต้ด้วยเรือเสว่หลง 2 กับเยาวชนไทย, กิจกรรมเผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์สู่สาธารณชนของนักวิทยาศาสตร์ไทยและจีนที่เคยเดินทางไปสำรวจขั้วโลกใต้ด้วยเรือเสว่หลง 2, การประชุมวิชาการ “Thailand-China Polar Science Conference”, และพิธีอำลาเรือเสว่หลง 2 โดยในระหว่างที่เรือจอดเทียบท่าเรือจุกเสม็ด จะมีการนำคณะลูกเรือเข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและเยี่ยมชมความงดงามของศิลปวัฒนธรรมไทย ณ สวนนงนุช พัทยาอีกด้วย
ด้าน ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผอ. NSM กล่าวว่า NSM ได้ร่วมจัดนิทรรศการ “Xue Long 2 and See the Unseen in Polar Region” เพื่อเปิดโลกวิทยาศาสตร์ขั้วโลกและกระตุ้นความสนใจในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง นิทรรศการจัดแสดงที่สยามพารากอน ระหว่างวันที่ 14-25 พ.ค. 68 และท่าเรือจุกเสม็ด ระหว่างวันที่ 20 – 23 พ.ค. 2658 จากนั้น NSM มีแผนนำไปจัดแสดงต่อที่จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. เดอะ สตรีท รัชดา เพื่อให้ประชาชนที่พลาดโอกาสยังสามารถเข้าถึงความรู้เกี่ยวกับการสำรวจขั้วโลกใต้ เทคโนโลยี และงานวิจัยสำคัญได้
ขณะที่ นายเสียว ชื่อหมิง ผู้บังคับการเรือเสว่หลง 2 (Mr.XIAO ZHIMIN, Captain) กล่าวว่า เรือเสว่หลง 2 เป็นเรือสำรวจขั้วโลกลำที่ 4 ของจีนและเป็นเรือสำรวจขั้วโลกลำแรกของจีนที่สร้างขึ้นเองทั้งหมด เป็นเรือตัดน้ำแข็งขนาดกลางที่มีความทันสมัยและมีสมรรถนะสูงที่สุดลำหนึ่งของโลก ภารกิจหลักของเสว่หลง 2 คือการสนับสนุนการสำรวจวิจัยขั้วโลกในหลากหลายสาขา นอกจากนี้ เรือยังมีบทบาทสำคัญในการรับส่งนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย พร้อมเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงการขนส่งเสบียง อาหาร เชื้อเพลิง และอุปกรณ์ก่อสร้างสำหรับสถานีวิจัยของจีนทั้งที่ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ โดยจีนมีสถานีวิจัยหลายแห่งทั้งที่ขั้วโลกใต้ ได้แก่ สถานี Great Wall (1985), Zhongshan (1989), Kunlun (2009), Taishan Camp (2014) และสถานีล่าสุด Qinling (2024) และที่ขั้วโลกเหนือคือสถานี Yellow River (2004) ซึ่งเสว่หลง 2 มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินงานของสถานีเหล่านี้
-(016)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี