แม้ขบวนพาเหรด Pride ของกรุงเทพฯ จะกลายเป็นภาพจำที่คุ้นตาในหลายเมืองทั่วโลก แต่ทว่า "เมืองแห่งความหลากหลาย" ไม่ควรถูกนิยามด้วยแสงสีหรือการเฉลิมฉลองเพียงชั่วคราว แต่ควรถูกถามต่อว่า เมืองเหล่านั้นปลอดภัยและเป็นธรรมกับทุกเพศสภาพในชีวิตจริงเพียงใด? อีกทั้งหนึ่งในมุมสำคัญของการสร้าง Pride ที่แท้จริง คือการรับมือกับความรุนแรงและอคติที่ยังฝังแน่นในสังคม แม้จะมีความพยายามผลักดันกฎหมายเท่าเทียม แต่ในทางปฏิบัติ LGBTQ+ ทั่วโลกยังเผชิญความเสี่ยงสูงต่อการถูกละเมิด และถูกทำร้ายมากกว่าคนทั่วไป
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชวนสังคมเปิดมุมมองทั้งในศาสตร์ทางด้านนิติศาสตร์และสถาปัตยกรรม กับ รศ. ดร.อานนท์ มาเม้า อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ และ ผศ. วราลักษณ์ คงอ้วน อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง เพื่อชวนคิดลึกไปว่า ความหมายของ “Pride” ที่แท้จริงควรฝังอยู่ใน “นโยบายเมือง” ที่คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของทุกคนและทุกเพศอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบระบบบริการสาธารณะที่เข้าถึงได้ และความปลอดภัยในชีวิตประจำวันที่เป็นของทุกคน เพราะ
ในเมืองที่หลากหลายจริง กฎหมายต้องปกป้องทุกชีวิตได้จริง
“กฎหมาย” ควรเป็นมากกว่าตัวอักษรในกระดาษ หากต้องเป็นเครื่องมือที่ยืนอยู่ข้างประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มักถูกผลักออกจากระบบอย่างเงียบ ๆ เช่น ชุมชน LGBTQ+ คำกล่าวจาก รศ. ดร.อานนท์ มาเม้า โดยยังมีมุมที่ชวนคิดอีกว่า หากรัฐธรรมนูญคือสัญญาประชาคมที่กำหนดทิศทางของประเทศ ความเท่าเทียมทางเพศก็ต้องได้รับการยืนยันในทั้งตัวบทกฎหมายและทางการปฏิบัติในหลายกรณี แต่ความเป็นจริงในเมืองไทยวันนี้เผยให้เห็นช่องว่างที่น่ากังวล ระหว่างความก้าวหน้าของสังคมกับการเคลื่อนไหวเชิงนโยบายที่ยังล่าช้าและไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะเมื่อกล่าวถึงสิทธิของกลุ่ม LGBTQ+ ที่แม้รัฐธรรมนูญไทยจะรับรอง “ความเสมอภาค” ไว้ชัดเจน แต่ในทางปฏิบัติกลับมีเพียงไม่กี่กฎหมายที่ลงลึกและปกป้องสิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเหล่านี้อย่างแท้จริง
รศ. ดร.อานนท์ มาเม้า
“ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะรัฐไทยยังมีท่าทีรับฟังที่ไม่ทันท่วงทีพอ ในยุคที่พลวัตทางสังคมเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว หลายข้อเสนอเกี่ยวกับสิทธิพลเมืองของ LGBTQ+ ล้วนเกิดจากแรงผลักดันของภาคประชาชน ไม่ใช่จากความริเริ่มของรัฐ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อถึงมือผู้มีอำนาจ มักพบกับคำถามที่อิงอยู่กับ ‘ศีลธรรมอันดี’ หรือ ‘ค่านิยมไทย’ ทั้งที่หลักการพื้นฐานในรัฐธรรมนูญเองก็ระบุชัดว่า การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมย่อมขัดต่อหลักความเสมอภาคและศักดิ์ศรีของมนุษย์” รศ. ดร.อานนท์ ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติม
ปัจจุบันแม้จะมีกฎหมายบางฉบับ เช่น พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ที่ใช้มาแล้วกว่า 10 ปี และเคยรับรองสิทธิของบุคลากรข้ามเพศในการแสดงออกตามอัตลักษณ์ แต่ในทางปฏิบัติก็ยังมีปัญหามากมาย เช่น การที่หน่วยงานบางแห่งโต้แย้งคำสั่งของคณะกรรมการ ส่งผลให้สิทธิที่ควรได้รับการคุ้มครองกลายเป็นเรื่องยากลำบากในทางความเป็นจริง อย่างไรก็ดี การปฏิรูปกฎหมายไทยให้ทันกับยุคสมัยจึงต้องไม่หยุดแค่การบัญญัติกฎหมายใหม่ แต่ต้องรวมถึงการทบทวนกระบวนการบังคับใช้และกลไกการรับฟังเสียงของประชาชนอย่างจริงจัง รัฐต้อง “จมูกไว” ต่อสัญญาณและกระแสของสังคม พร้อมเปิดพื้นที่ให้สิทธิของคนทุกกลุ่มสามารถเบ่งบานได้อย่างเป็นธรรม ไม่ใช่เฉพาะในหน้ากระดาษ แต่ต้องจับต้องได้จริงในชีวิตของทุกคน
Smart City ต้องมาจาก Inclusive City “เมืองที่ฉลาดคือเมืองที่มองเห็นทุกคน”
การออกแบบเมืองที่ดีไม่ใช่แค่เรื่องของเทคโนโลยี การคมนาคม หรืออาคารสูงเสียดฟ้า หากแต่ต้องเป็นเมืองที่ “มองเห็นทุกคน” ในความแตกต่างหลากหลายอย่างเท่าเทียม เมืองอัจฉริยะ (Smart City) ที่แท้จริง จึงไม่อาจวัดได้จากเพียงโครงสร้างพื้นฐานทันสมัยหรือแอปพลิเคชันติดตามขยะ แต่ต้องสะท้อนถึงการออกแบบที่ครอบคลุมทุกมิติของมนุษย์ ตั้งแต่เพศสภาพ ความพิการ ไปจนถึงสถานะทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
ผศ. วราลักษณ์ คงอ้วน กล่าวว่า การออกแบบเมืองในมุมของสถาปัตยกรรม ไม่ได้มีเป้าหมายเพียงเพื่อความสวยงามหรือประสิทธิภาพในการใช้งาน แต่ต้องพิจารณาความหลากหลายของผู้คนเป็นหัวใจสำคัญ องค์ประกอบพื้นฐานของเมือง เช่น โครงสร้างพื้นฐาน ระบบคมนาคม พื้นที่สาธารณะ หรือสภาพแวดล้อม ต้องตอบโจทย์ผู้ใช้งานในทุกมิติ ทั้งด้านเพศสภาพ วัย ความสามารถทางร่างกาย และฐานะทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เมืองเป็นสถานที่ที่ "ใครก็อยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี" ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบทางลาดสำหรับผู้ใช้วีลแชร์ การจัดแสงสว่างที่เพียงพอเพื่อความปลอดภัย หรือแม้แต่ที่นั่งในสวนสาธารณะที่คำนึงถึงผู้สูงอายุ ทุกองค์ประกอบล้วนสะท้อนแนวคิด “การเข้าถึงได้ ความปลอดภัย และความเท่าเทียม” อย่างแท้จริง
ผศ. วราลักษณ์ คงอ้วน
“เมืองที่ดี เริ่มต้นจากการวางผังเมืองที่คำนึงถึงความหลากหลาย ไม่ใช่แค่การจัดการพื้นที่ให้เหมาะกับการใช้ประโยชน์ แต่ต้องเปิดโอกาสให้ทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงทรัพยากรของเมืองได้อย่างเท่าเทียม เพราะเมื่อเราพูดถึงความยั่งยืน เราไม่ได้พูดถึงแค่สิ่งแวดล้อม แต่พูดถึงชีวิตของคนทุกกลุ่มที่ต้องเติบโตไปพร้อมกันในเมืองเดียวกัน อย่างกรณี การออกแบบพื้นที่สาธารณะ เช่น ห้องน้ำทุกเพศ หรือห้องสมุดชุมชน ให้ตอบโจทย์ความหลากหลายโดยไม่ทำให้ผู้ใช้งานรู้สึก ‘ถูกแยก’ หรือ ‘ถูกตีตรา’ นั้น เป็นโจทย์ละเอียดอ่อนที่ต้องอาศัยความเข้าใจบริบททางสังคมและวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้ง อย่างไรก็ตาม การจะออกแบบให้ ‘แยกให้เห็น’ อย่างเคารพความแตกต่าง ขณะเดียวกันก็ ‘รวมให้กลมกลืน’ อย่างไม่ทำให้ใครรู้สึกเป็นอื่น จำเป็นต้องเริ่มจากการเรียนรู้พื้นที่และชุมชนนั้นอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่การวางผังให้สวยงาม แต่ต้องเข้าใจว่าคนในพื้นที่พร้อมหรือไม่ พร้อมอย่างไร และต้องการสิ่งใดจริง ๆ”
ด้าน Smart City ไม่ควรถูกจำกัดอยู่เพียงการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเมืองในเชิงโครงสร้าง เช่น การจราจรอัจฉริยะ ระบบไฟอัตโนมัติ หรือการจัดการพลังงาน แต่ควรเป็นแนวคิดที่วางเทคโนโลยีไว้บนฐานของ “มนุษย์” และ “ความเท่าเทียม” เป็นหลัก เมืองที่ชาญฉลาดจริงจึงต้องใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการลดความเหลื่อมล้ำ เข้าถึงผู้คนในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเพศสภาพ ฐานะ ความสามารถทางร่างกาย หรือวุฒิการศึกษา โดยเฉพาะในประเทศหรือเมืองที่มีข้อจำกัดด้านงบประมาณและบุคลากร ความชาญฉลาดของเมืองจึงไม่อาจวัดได้จากนวัตกรรมเพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องพิจารณาว่า เมืองนั้น “ใช้เทคโนโลยีเพื่อลดช่องว่าง” ได้มากน้อยเพียงใด
“การออกแบบ Smart City ที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังควรเริ่มต้นที่ ‘ความเข้าใจ’ ก่อนจะไปที่ที่นวัตกรรม ความเข้าใจในสังคม พฤติกรรมของผู้คน และข้อจำกัดเฉพาะพื้นที่คือจุดตั้งต้นของการสร้างระบบเมืองที่ไม่มีการเลือกปฏิบัติ หากเมืองใดมองเห็นเทคโนโลยีเป็นคำตอบโดยไม่ตั้งคำถามว่าใครเข้าถึงเทคโนโลยีนั้นได้บ้าง เมืองนั้นก็อาจกำลังกลายเป็น Smart City ที่ฉลาดเฉพาะกลุ่ม เมืองที่มีหัวใจจึงต้องเป็นเมืองที่สามารถใช้เทคฯในการจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรม และสร้างความรู้สึก ‘เป็นเจ้าของเมืองร่วมกัน’ ให้กับคนทุกกลุ่มในสังคม” ผศ. วราลักษณ์ กล่าว
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยืนยันเจตนารมณ์ที่จะเป็นพลังร่วมผลักดันสังคมไทยให้ก้าวสู่ความเป็นธรรมอย่างแท้จริง ทั้งในมิติของกฎหมายและการออกแบบเมือง โดยเชื่อมั่นว่า “ความหลากหลาย” ไม่ใช่เพียงคำขวัญ แต่ต้องแปรเปลี่ยนเป็นหลักการที่ปฏิบัติได้จริง ตั้งแต่การร่างกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิมนุษยชน ไปจนถึงการสร้างสภาพแวดล้อมเมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง พร้อมจะยังคงทำหน้าที่ของมหาวิทยาลัยในฐานะพื้นที่แห่งการเรียนรู้ เสียงสะท้อน และแรงขับเคลื่อน เพื่อให้ประเทศไทยเป็นเมืองที่คนทุกกลุ่มสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี ปลอดภัย และเท่าเทียม ไม่ใช่เพียงในนาม แต่ในทุกย่างก้าวของชีวิตจริง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี