องค์การเภสัชกรรม (GPO) จัดกิจกรรม “สูงวัย เข้าใจโรค NCDs” รณรงค์ให้กลุ่มผู้สูงวัยตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพ ป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ผ่านการส่งเสริมความรู้ การใช้ยาอย่างถูกต้อง และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 200 คน ร่วมเรียนรู้และทำกิจกรรมที่ออกแบบมาเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการมีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน ณ สวนโมกข์กรุงเทพ
ภญ. วิลักษณ์ วังกานนท์ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงาน กล่าวว่า การจัดกิจกรรม “สูงวัย เข้าใจโรค NCDs” มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้ผู้สูงวัยหันมาดูแลใส่ใจสุขภาพของตนเองมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันและจัดการกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ในประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยจากรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) และกระทรวงสาธารณสุข พบว่า โรค NCDs เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากถึง 74–76% ของคนไทยทั้งหมดต่อปี หรือกว่า 320,000 คน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงวัยซึ่งมีแนวโน้มเป็นโรคเหล่านี้มากที่สุด เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง ซึ่งมีผู้ป่วยกว่า 14 ล้านคนในประเทศไทยมีภาวะความดันโลหิตสูง และอีก 6.5 ล้านคนเป็นเบาหวาน สะท้อนให้เห็นถึงภาวะโรคที่เกิดจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ทั้งการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม การขาดการออกกำลังกาย และการไม่เข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ (ที่มา: รายงาน NCDs ของ WHO ประจำประเทศไทย และแผนยุทธศาสตร์การจัดการโรคไม่ติดต่อ พ.ศ. 2565–2570 กระทรวงสาธารณสุข) การจัดงานในวันนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญในการส่งเสริมองค์ความรู้ และสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้สูงวัยหันมาใส่ใจสุขภาพของตนเองมากยิ่งขึ้น และสามารถดูแลตนเองได้อย่างเหมาะสมในระยะยาว”
ภายในงานจัดให้มีการเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ จากผู้เชี่ยวชาญทั้งในวงการการแพทย์ และอินฟลูเอนเซอร์สายสุขภาพ แบ่งออกเป็น 3 หัวข้อสำคัญ ได้แก่ 1) “การรักษาและดูแลโรค NCDs” โดย รศ.นพ.ชัยวัฒน์ วชิรศักดิ์ศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล มาร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือด ซึ่งถือเป็น 3 โรคฮิตที่มักพบในผู้สูงอายุ พร้อมวิธีการดูแลตนเองอย่างถูกต้อง และโภชนาการที่เหมาะสมเพื่อป้องกันโรค ตลอดจนมีการสอดแทรกการทำกิจกรรมประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน ให้ผู้ร่วมงานได้เช็คสุขภาพของตัวเองได้ง่ายๆ
2) “การใช้ยาให้ปลอดภัย ลดอาการของโรค NCDs” โดย ภก.รัฐพงษ์ พงษ์ประเสริฐ เภสัชกรจากองค์การเภสัชกรรม ซึ่งชวนผู้เข้าร่วมงานไปสำรวจพฤติกรรมของตัวเองว่าใครเคยหรือกำลังมีพฤติกรรมใช้ยาเหล่านี้หรือไม่ ได้แก่ ยาที่ใช้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด, ระดับไขมันในเลือด และความดันโลหิต และให้ความรู้เกี่ยวกับผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยาเพื่อให้ผู้ป่วยและผู้ดูแลผู้ป่วยมีความรู้เท่าทันการทำงานของยาผลข้างเคียง ตลอดจนสามารถสังเกตอาการผิดปกติของตัวเองได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ
3) “สร้างแรงบันดาลใจจากประสบการณ์จริง” โดย อรนรินทร์ มุณีรภัสสิทธิ์ TikToker วัย 60+ เจ้าของช่อง “อร ลูกเทรนแม่เล่นกล้าม” ที่ถ่ายทอดประสบการณ์จากชีวิตจริงที่เปลี่ยนแปลงสุขภาพด้วยการลุกขึ้นมาออกกำลังกาย พร้อมสาธิตท่าบริหารร่างกายง่าย ๆ สำหรับผู้สูงวัยที่สามารถทำได้เองที่บ้าน พร้อมปลุกพลังบวกให้ผู้สูงอายุหันมาใส่ใจสุขภาพเพื่อดูแลตัวเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาลูกหลาน
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมเพื่อสุขภาพมากมายให้ผู้เข้าร่วมงานได้มีส่วนร่วม อาทิ บริการตรวจสุขภาพเบื้องต้นฟรีโดยทีมกายภาพบำบัด จากคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล, Workshop DIY : น้ำมันจากไพล, บูธผลิตภัณฑ์สุขภาพ-อาหารเสริม รวมถึงกิจกรรมบิงโกสุขภาพที่สร้างความสนุกสนาน และลุ้นรับรางวัลสุขภาพมากมาย
ทั้งนี้ องค์การเภสัชกรรมมุ่งหวังว่ากิจกรรมครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้สูงอายุได้ตระหนักถึงภัยเงียบของโรค NCDs และหันมาใส่ใจสุขภาพอย่างต่อเนื่อง โดยองค์การเภสัชกรรม พร้อมเป็นศูนย์กลางในการให้ข้อมูลสุขภาพที่ถูกต้อง ปลอดภัย และเข้าถึงได้ง่ายผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามข่าวสารสุขภาพและกิจกรรมดี ๆ ได้ที่เว็บไซต์ www.gpo.or.th และช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ขององค์การเภสัชกรรม หรือสอบถามข้อมูลและปรึกษาปัญหาด้านยาได้ที่ Contact Center : 1648
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี