5 ชาติยุโรปถอดบทเรียนสร้างชาติด้วยระบบนวัตกรรม – สตาร์ตอัปเวทีเสวนา “Innovation Ecosystem and National Competitiveness in the Face of Global Uncertainties” งาน SITE 2025 ขณะที่อธิบดีกรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ ชี้ไทยต้องเรียนรู้จากโมเดลความสำเร็จของยุโรปเพื่อสร้างสังคมนวัตกรรมที่แข็งแรง ยั่งยืนและแข่งขันได้ในระดับโลก
5 กรกฎาคม 2567 สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(องค์กรมหาชน) หรือ NIA จัดงาน Startup x Innovation Thailand Expo 2025 หรือ SITE 2025 ภายใต้แนวคิด “Global Innovation Partnership – AI & Sustainability: The Next Era of Innovation” ที่พารากอน ฮอลล์ โดยหนึ่งในไฮไลต์ของ SITE 2025 คือเวทีเสวนาระดับนานาชาติภายใต้หัวข้อ “Innovation Ecosystem and National Competitiveness in the Face of Global Uncertainties” ที่มีตัวแทนระดับสูงจาก 5 ประเทศยุโรป ได้แก่ ชิลี เช็ก ฟินแลนด์ สวีเดน และฮังการี และตัวแทนจากประเทศไทย ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การสร้างระบบนิเวศด้านนวัตกรรม เพื่อเสริมความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ในยุคที่โลกกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนอย่างต่อเนื่อง
โดยนายปาตริซิโอ เฟร์นันโด พาวเวลล์ โอโซริโอ (H.E. Mr. Patricio Fernando Powell Osorio) เอกอัครราชทูตชิลีประจำประเทศไทย กล่าวเปิดเวที ว่า การสร้างระบบนวัตกรรมต้องมีทั้งกรอบสถาบัน นโยบายที่ชัดเจน และความร่วมมือจากภาคประชาชน โครงการ “Startup Chile” ถือเป็นกรณีศึกษาสำคัญของการดึงดูดผู้ประกอบการจากทั่วโลกมาร่วมสร้างสรรค์ไอเดียในประเทศ เพื่อกระตุ้นผู้ประกอบการท้องถิ่น พร้อมขับเคลื่อนนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ทรัพยากรท้องถิ่น เช่น เหมืองแร่ เกษตร และประมง
ด้าน นายปาเวล ปีเตล (H.E. Mr. Pavel Pitel) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเช็ก กล่าวถึงการพลิกฟื้นเศรษฐกิจด้วยการสร้างระบบนวัตกรรมที่อิงกับรากฐานการศึกษากว่า 700 ปี ว่า เช็กประสบความสำเร็จในการสนับสนุนสตาร์ตอัปและเทคโนโลยีขั้นสูง ทั้งในอุตสาหกรรมการแพทย์ นาโนเทคโนโลยี และอวกาศ พร้อมใช้กลไก “Regulatory Sandbox” เพื่อให้สตาร์ตอัปฟินเทคสามารถทดลองนวัตกรรมในโลกความจริงได้อย่างปลอดภัย
ขณะที่นางเอวา กริสตีนา กูวายา-ซันโทปูโลส (H.E. Ms. Eeva Kristiina Kuvaja-Xanthopoulos) เอกอัครราชทูตฟินแลนด์ ชี้ว่า การพึ่งพาบริษัทเดียวอย่าง Nokia ทำให้ฟินแลนด์เผชิญวิกฤตอย่างหนักเมื่อธุรกิจล่มสลาย รัฐบาลจึงลงทุนใหม่ทั้งระบบ รวมมหาวิทยาลัย 3 แห่งก่อตั้ง Aalto University และบรรจุหลักสูตรผู้ประกอบการตั้งแต่ระดับประถม ส่งผลให้จำนวนสตาร์ตอัปเติบโตถึง 10 เท่าใน 15 ปี
ส่วน นางอันนา ฮัมมาร์เกรน (H.E. Mrs. Anna Hammargren) เอกอัครราชทูตสวีเดน ยกกรณีศึกษาเกี่ยวกับนวัตกรรมสีเขียว เช่น เหล็กไร้มลพิษ เรือไฟฟ้า และการดักจับคาร์บอน โดยเน้นว่าสวีเดนยังคงเป็นผู้นำด้าน R&D ระดับโลก ด้วยการลงทุนกว่า 3% ของ GDP และรักษาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อความคิดสร้างสรรค์
สำหรับนางสาวคามิลลา บัลลา (Ms. Kamilla Balla) ผู้แทนจากฮังการี ได้นำเสนอ “John von Neumann Programme” แผนยุทธศาสตร์นวัตกรรมแห่งชาติ ที่มุ่งพัฒนา 9 ด้าน เพื่อผลักดันฮังการีให้ก้าวสู่ 1 ใน 10 ประเทศผู้นำนวัตกรรมของโลกภายในปี 2040
ปิดท้ายด้วย นางครองขนิษฐ รักษ์เจริญ อธิบดีกรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ ที่สรุปว่า การเชื่อมโยงระหว่างประเทศจะเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานความรู้ของไทยในอนาคต พร้อมย้ำว่าประเทศไทยสามารถเรียนรู้จากโมเดลความสำเร็จของยุโรป และปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทท้องถิ่น เพื่อสร้างสังคมนวัตกรรมที่แข็งแรง ยั่งยืน และแข่งขันได้ในระดับโลก
-(016)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี