สองนักออกแบบรุ่นใหม่ตัวแทนประเทศไทย สร้างชื่อเสียงบนเวทีระดับนานาชาติ น้องฌล-นายฌล วรดี จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คว้ารางวัล Best Sustainable Design ในสาขาการออกแบบตกแต่งภายใน (Interior Design) พร้อมเงินรางวัล 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ จากผลงาน “Food Waste Transformation Project Creating New Value for Tai Market” และ น้องนนท์-นายชยานนท์ ชินวงศ์ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น คว้ารางวัล Honorary Mention ในสาขาสถาปัตยกรรม (Architectural) จากผลงาน “Grow from the earth….Return to the earth” จากงานประกวดออกแบบระดับนานาชาติ AYDA International Awards 2024/2025 รอบชิงชนะเลิศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
(ซ้าย) ฌล วรดี และ ชยานนท์ ชินวงศ์ คว้ารางวัลจากงาน AYDA International Awards 2024/2025
งานประกวดออกแบบระดับนานาชาติ AYDA International Awards 2024/2025 จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 17 ภายใต้โครงการความรับผิดชอบต่อสังคมระดับโลก (Global CSR Program) ของนิปปอนเพนต์ (Nippon Paint) แบรนด์สีอันดับ 1 ของเอเชีย และอันดับ 4 ของโลก จากประเทศญี่ปุ่น โดยปีนี้มีผลงานส่งเข้าประกวดกว่า 8,000 ผลงาน จากนักออกแบบรุ่นใหม่ทั้งด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบตกแต่งภายในที่เต็มเปี่ยมด้วยพรสวรรค์จากกว่า 16 ประเทศทั่วโลก ผลงานทั้งหมดล้วนถ่ายทอดมุมมองที่สร้างสรรค์และลึกซึ้งภายใต้ธีมประจำปี “CONVERGE: Glocal Design Solutions” ที่ส่งเสริมให้นักออกแบบมองปัญหาในระดับท้องถิ่นด้วยวิสัยทัศน์ระดับโลก ครอบคลุมทั้งด้านสังคม การพัฒนาเมือง และสิ่งแวดล้อม
ผลงานของ ฌล วรดี
นายฌล วรดี จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เจ้าของรางวัล Best Sustainable Design ในสาขาการออกแบบตกแต่งภายใน (Interior Design) พร้อมเงินรางวัล 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยการนำเศษขยะอินทรีย์จากตลาดไท จังหวัดปทุมธานี มาสร้างมูลค่าเพิ่มแปรรูปเป็นอิฐสีธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังร่วมมือกับเรือนจำในท้องถิ่นเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังได้มีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตโดยไม่จำเป็นต้องมีทักษะมาก่อน
“ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ผลงานการออกแบบได้รับรางวัลและการยอมรับจากคณะกรรมการ ซึ่งรางวัลนี้สะท้อนถึงความตั้งใจในการต่อยอดระบบจัดการขยะของตลาดไทให้ก้าวล้ำขึ้นไปอีกขั้น ผ่านจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ การแปรสภาพเศษวัสดุเหลือใช้ให้กลายเป็นอิฐที่ใช้งานได้จริงและสวยงาม ทำให้ความยั่งยืนและเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นหัวใจสำคัญของโครงการนี้ นอกจากนี้ การได้เห็นผลงานที่ยอดเยี่ยมจากผู้เข้าประกวดคนอื่นๆ ทำให้ผมมีแรงบันดาลใจที่จะสร้างสรรค์งานออกแบบที่ไม่เพียงใส่ใจสิ่งแวดล้อม แต่ยังสามารถร่วมกำหนดทิศทางของพื้นที่อยู่อาศัยในอนาคตให้ดียิ่งขึ้นด้วย” นายฌล กล่าว
ผลงานของ ชยานนท์ ชินวงศ์
อีกหนึ่งความภาคภูมิใจของประเทศไทย คือ นายชยานนท์ ชินวงศ์ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ได้รับรางวัล Honorary Mention ในสาขาสถาปัตยกรรม (Architectural) จากผลงาน “Grow from the earth….Return to the earth” ศูนย์ชุมชนปลอดขยะที่แปรรูปเศษซากอ้อยเหลือทิ้งทางการเกษตรให้กลายเป็นวัสดุก่อสร้างยั่งยืน ตั้งอยู่ในหมู่บ้านหนองแค อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกอ้อยขนาดใหญ่ โครงการนี้มุ่งแก้ปัญหามลพิษและผลกระทบต่อสุขภาพจากการเผาไร่อ้อย
“ผมดีใจและภูมิใจมากที่ได้รับรางวัล Honorary Mention ซึ่งแสดงถึงการยอมรับแนวคิดและผลงานของผมในระดับสากล ความคิดริเริ่มของโครงการนี้เกิดขึ้นจากการมองออกไปข้างนอกแล้วเห็นหมอกควันปกคลุม ผมจึงตั้งใจใช้ความรู้ด้านสถาปัตยกรรมมาคิดหาวิธีแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างสร้างสรรค์ รางวัลนี้เป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ผมอยากพัฒนางานออกแบบซึ่งไม่เพียงช่วยปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น แต่ยังสะท้อนถึงอนาคตยั่งยืนที่เราทุกคนอยากร่วมกันสร้าง แม้โครงการนี้อาจเป็นเพียงก้าวเล็กๆ แต่ผมเชื่อมั่นว่าพลังของงานสถาปัตยกรรมจะมีส่วนช่วยให้โลกของเรายั่งยืนมากยิ่งขึ้นได้จริง” นายชยานนท์ กล่าว
สำหรับผู้ชนะรางวัล Designers of the Year 2024/2025 ได้รับโอกาสเข้าเรียนในหลักสูตรพิเศษ “Design Discovery Program” ที่ Harvard’s Graduate School of Design ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์ โดยได้รับทุนสนับสนุนเต็มจำนวน มูลค่าสูงสุดกว่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยผู้ชนะในปีนี้ ได้แก่ Mike Huang จากประเทศจีน กับผลงาน “18+1 Sewing Plan” ในสาขาสถาปัตยกรรม และ Adelia Meysa จากประเทศอินโดนีเซีย ด้วยผลงาน “Mayungan Teh” ในสาขาการออกแบบตกแต่งภายใน นอกจากนี้ ยังได้มอบรางวัลให้แก่นักออกแบบรุ่นใหม่ในสาขาอื่นๆ โดยผู้ชนะจะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ รวมถึงผู้ได้รับรางวัลชมเชยและรางวัลที่คณะกรรมการคัดเลือก จะได้รับเงินรางวัล 500 ดอลลาร์สหรัฐฯ
วัชระ ศิริฤทธิชัย General Manager บริษัท นิปปอนเพนต์ เดคโคเรทีฟ โคทติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด
ด้าน นายวัชระ ศิริฤทธิชัย General Manager บริษัท นิปปอนเพนต์ เดคโคเรทีฟ โคทติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวทิ้งท้ายว่า “เวทีประกวด AYDA Awards ให้ความสำคัญกับงานออกแบบที่ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม พร้อมยกย่องผู้เข้ารอบทุกคนที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์จนเกิดเป็นผลงานที่สามารถแก้ไขปัญหาปัจจุบันและสร้างความเปลี่ยนแปลง เวทีนี้จึงไม่ใช่แค่เวทีประกวดแต่เป็นพื้นที่สำหรับนักออกแบบรุ่นใหม่จากหลายประเทศได้มารวมพลังกันเพื่อสร้างอนาคตที่ดีขึ้น พวกเรารู้สึกภูมิใจอย่างยิ่งที่น้องฌลและน้องนนท์ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยในครั้งนี้ และขอแสดงความยินดีอย่างจริงใจต่อความสำเร็จของทั้งสองคน”
ทั้งนี้ เวทีประกวด AYDA Awards 2025/2026 เปิดโอกาสให้น้องๆ นักออกแบบรุ่นใหม่ร่วมส่งผลงานเพื่อเข้าประกวดได้แล้วตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2568 ภายใต้ธีม “CONVERGE: Crafting Cultural Legacies” หรือ “สร้างสรรค์อนาคตผ่านการออกแบบที่สะท้อนมรดกทางวัฒนธรรม” มุ่งเน้นการผสมผสานอัตลักษณ์ท้องถิ่นกับแนวทางออกแบบระดับโลก เพื่อแก้ไขปัญหาสังคม การพัฒนาเมืองและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล โดยผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.aydathailand.com
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี