วันเวลามันช่างล่วงเลยผ่านไปรวดเร็วปานดั่งสายลมพัด เช่นเดียวกับ “คนมายา” ผู้เคยมีชื่อเสียงโด่งดังคับฟ้าในวันวาน ซึ่ง ณ วันนี้วันเวลาได้พลักพรากความอ่อนวัย และ ความสำเร็จ อันหอมหวานให้ผ่านพ้น บ้างก็ล้มหายตายจาก หลงเหลือฝากไว้เพียงแค่ชื่อให้จดจำ คุณงาม ความดี และผลงานอันลือชา
แต่หลายท่าน ยืนหยัด ต่อสู้กับกาลเวลา ผ่านร้อน ผ่านหนาว เฝ้าดูการเปลี่ยนแปลของยุคสมัย เพื่อมาบอกเล่าถึงอดีตอันรุ่งโรจน์ ให้คนรุ่นหลังได้สัมผัสกับวันวาน
ซึ่ง “ทีมข่าวบันเทิงแนวหน้า” ยังคงนำ “คุณผู้อ่าน” สำราญไปกับความอลังการที่เรานำมาเสนอให้กับท่านผู้ที่ชื่นชอบ ศิลปินดารา นักร้องเก่า มาให้หวนรำลึกถึงวันวาน
แหละนี่คือช่วงเวลาของการฉลอง 74 ปีให้กับวงดนตรีที่มีคนรู้จักหัวหน้าวงในระดับโลก ครูเอื้อ สุนทรสนาน ท่านเป็นทั้งศิลปินแห่งชาติ และบุคคลดีเด่นด้านวัฒนธรรมของโลก ที่คนไทยยอมรับกับความเป็น สุดยอดของศิลปินอย่างแท้จริง
ซึ่ง“บันเทิงแนวหน้า” กับ “มูลนิธิสุนทราภรณ์” โดย “หมึกดำ” บรรณาธิการฝ่ายข่าวบันเทิง กับ คุณ อติพร สุนทรสนาน เสนะวงศ์ ขอส่งความสุขให้กับ แฟน RETRO เปิดตัวศิลปินที่นับเป็นสมาชิกทั้งการก่อตั้งวงสุนทราภรณ์ หลากหลายรุ่นมาให้อ่าน โดยสัปดาห์นี้พบกับนักร้องชายผู้ล่วงลับ..
สมศักดิ์ เทพานนท์ ชื่อจริงว่า สมศักดิ์ ทัพทัต เป็นบุตรของนายทองย้อย กับนางระเบียบ ทัพทัต เกิดที่บ้านย่านสำราญราษฎร์ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2467
เรียนจบชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนวัดสุทัศน์ จบชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนวัดสระเกศ แล้วเรียนต่อเตรียมเภสัชกร ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เรียนไม่จบเนื่องจากไม่มีผู้อุปการะ จึงหันมาสนใจด้านดนตรี และเริ่มเรียนกีต้าร์กับครูฮอน หาญบุญตรง เจ้าของวงดนตรีสไตล์ฮาวายที่มีชื่อเสียงมากในขณะนั้น
สมศักดิ์ เริ่มเข้าสู่วงการดนตรีอย่างจริงจัง โดยเริ่มจากวงหัสดนตรีกองทัพเรือ ของกองดุริยางค์ทหารเรือ ในตำแหน่งนักดนตรี รุ่นเดียวกับ สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ และ สมยศ ทัศนพันธุ์ จากนั้นก็ย้ายไปอยู่กับวงดนตรีของคณะละครนิยมไทย ทั้งเล่นดนตรี ร้องเพลง และแสดงละครอีกด้วย
เมื่อย้ายมาอยู่วงดนตรีเทศบาลนครกรุงเทพ ของครูมงคล อมาตยกุล ได้ 4 ปี ก็ได้แต่งให้กับวงดนตรีฯ เป็นเพลงแรก คือเพลง “ค่อนคืน” จากนั้นจึงย้ายไปอยู่กับวงดนตรีคณะดุริยะโยธิน ซึ่งมีประยูร ชีรานนท์ เป็นหัวหน้าวง ซึ่งได้รับตำแหน่งให้เป็นนักร้องและนักแต่งเพลง เมื่อเพื่อนร่วมวงเดินทางไปราชการที่ประเทศเกาหลี
สมศักดิ์ เข้ามาสู่วงดนตรีสุนทราภรณ์ ด้วยการชักชวนของครูเวส สุนทรจามร โดยได้รับตำแหน่งให้เล่นกลอง เป็นงานชิ้นแรก หลังจากนั้นก็ได้รับตำแหน่งให้เป็นนักร้องประจำวง และยังได้ร่วมแต่งเพลงกับครูเอื้อ สุนทรสนาน โดยครูเอื้อ จะเป็นผู้แต่งทำนองเพลงก่อน แล้วให้สมศักดิ์ มาใส่เนื้อร้องทีหลัง
ซึ่งบทเพลงหลายบทเพลงที่สมศักดิ์ เป็นผู้แต่งคำร้องนั้น มีชื่อเสียงโด่งดังและได้รับความนิยมอย่างมาก อาทิ “ขวัญใจเจ้าทุย”, “ไม่ใกล้ไม่ไกล”, “ขอรักคืน”, “หวงรัก”, “มั่นใจไม่รัก”, “ขอทานรัก” ฯลฯ
ทั้งนี้ สมศักดิ์ เทพานนท์ ยังมีโอกาสได้ร่วมแต่งเพลงกับครูธนิต ผลประเสริฐ ในแนวของเพลงไทยเดิม หรือที่เรียกกันว่า “สังคีตสัมพันธ์” เช่นเพลง “พุ่มพวงดวงใจ”, “พายเรือพลอดรัก”, “พี่รักจริง” และเพลงรำวงอื่น ๆ อีกหลายเพลงและได้ขับร้องเพลงแนวสนุกสนาน คู่กับศรีสุดา รัชตะวรรณ และเลิศ ประสมทรัพย์ อีกมากมาย เช่น จุดไต้ตำตอ, หนีไม่พ้น, รักใครกันแน่, ไม่มีหวัง, ไม่รักใครเลย ฯลฯ
ในปี พ.ศ. 2508 สมศักดิ์ เทพานนท์ ได้รับพระราชทานแผ่นเสียงทองคำ จากเพลงรักเธอเสมอ ซึ่งขับร้องคู่กับ รวงทอง ทองลั่นธม
ซึ่งเพลง "รักเธอเสมอ" เกิดขึ้นจากบทประพันธ์ของ "อิงอร" นำเสนอทางโทรทัศน์ช่อง 4 เพลงนี้ผู้ฟังชอบมาก เพราะมีช่วงดนตรีหยุด ร้องคนเดียว แล้วเปียโนโดดเด่นมาก ออกร้องบนเวที ช่วงดนตรีหยุด คนฟังเหมือนหยุดหายใจ แล้วมาถอนใจตอนดนตรีมา
บุษป์ บางกอก เขียนไว้ในหนังสือรวมเพลงสุนทราภรณ์ เล่ม 3 ดังนี้ สมศักดิ์ เทพานนท์ ทั้งร้อง...ทั้งประพันธ์เพลง ได้ในเวลาเดียวกัน ร่างและหน้าตาของเขาสมชายชาตรี ไฝดำและผมหยักโศกจากธรรมชาติทำให้แลดูมีเสน่ห์พอดู แต่บุคลิกพิเศษที่เรารู้กว่าสิ่งที่ธรรมชาติประทานให้เหล่านั้นซิ ที่ทำให้ผมต้องสนใจเขามากขึ้นอีก
ไม่ใช่แต่เพียงเขาเป็นนักร้อง หรือนักดนตรีคนหนึ่งเท่านั้น ที่ผมควรจะสนใจ หากแต่เวลานี้เขาเป็นกำลังสำคัญของ “สุนทราภรณ์” ทีเดียว ในด้านผลิตเพลงรุ่นใหม่ ๆ ออกมาสู่ประชาชน
หลายเพลงในยุคนี้ ผมทราบว่ามาจากสมองของหนุ่มนักร้องคนนี้ และขอชมเชยในอัจฉริยะทางวงดนตรีที่เขามีอยู่อย่างแท้จริง เพลงของเขาที่ผลิตออกมาเข้าได้ทุกวงการอย่างเป็นกลาง ๆ และบางครั้งเราก็ได้ยินเสียงของเขาร้องเองในเพลงร้องคู่ต่าง ๆ ที่ประกอบท่าทางตามอารมณ์สนุกสนานของเขาเป็นประจำ และบางครั้งเขาก็โดไปเล่นกีต้าร์ หรือบางครั้งก็รัวกลอง หรือเขย่าจังหวะลาตินอเมริกันต่าง ๆ ร่วมไปกับวงดนตรี “สุนทราภรณ์” จนทำให้คิดว่าคน ๆ นี้อยู่เพื่องานเพลงโดยแท้จริง
ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับ สมศักดิ์ เทพานนท์ มีดังนี้ โกรธ, กุหลาบงาม, กระท่อมรัก, เกษตรสามัคคี, ขอรักคืน, ขอให้ได้ดั่งใจนึก, ขวัญใจเจ้าทุย, ขอทานรัก, ขอลาที, ใครจะรักเธอจริง, ครูสอนรัก, คืนนั้นวันนี้, คลื่นสวาท, ใครลิขิต, งามลำปางเขลางค์นคร, จำปีฟ้า, ใจหาย, จุดไต้ตำตอ, จะทำยังไง, จากไปใจอยู่, ใจคู่ใจ, ชะชะช่ากล่อมใจ, ดอนทรายครวญ, เดือนประดับใจ, แดนดินถิ่นรัก, ตลุงสากล, ตลุงเริงใจ, ตัดสวาท, ตามทุย, ตลุงลำนำ, ทำนายฝัน, ไทยเพื่อไทย, ทุงยาเล, นกเขาไพร, ตลุงโนราโนรีศรีธรรมราช, บ่าวสาวรำวง, ใบ้คลั่ง, บัวกลางบึง (ชาย), บ่อโศก, ปลอบใจเจ้าทุย, ปลูกรัก, ป่วยการรัก, เปลี่ยวใจ, ผู้ครองฟ้า, ฝันหวาน, ฝนมาทุยหาย, เพลินเพลงแมมโบ้, พายเรือพลอดรัก, พุ่มพวงดวงใจ, เพ็ญโฉม, พระจันทร์วันเพ็ญ, เพลงพาสุข, เพลงเนรมิต, เพชรน้อย, พักร้อน, พี่รักจริง, ไพรพิสดาร, มั่นใจไม่รัก, ไม่มีหวัง, ไม่ใกล้ไม่ไกล, ม่านมงคล, มาร์ชนายเรืออากาศ, มาร์ชวิทยาศาสตร์การแพทย์, ม่านฟ้า, มนต์นางรำ, ไม่รักใครเลย, ยอดเทพี, รำวงรอคู่, รำวงฝากรัก, รั้วแดงกำแพงเหลือง, รำวงปูจ๋า, รักต่างแดน, เริงตลุง, รักจ๋า, รอคำรัก, รักแท้, รักเถอะรักกันไว้, รำวงบ้านป่าพาสุข, รักเธอเสมอ, รักจริงไหม, รำวงชวนรำ, รำวงใต้แสงจันทร์, รำวงบ้านใกล้ใจรัก, รำวงไม่ลงเอย, รำวงลำโขงลำรัก, รำวงเฮฮา, รำวงมาลัยรจนา, รำวงเดือนลอยฟ้า, รำวงชมสวรรค์, รักใครกันแน่, รักฉันคนเดียว, รักฉันสักคน, รักที่หวัง, เริงเพลงลิมโบ้, รำวงหมองู, เริงเพลงกลองยาว, รำวงลูกไม้เก่า
สมศักดิ์ เกษียณอายุราชการเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2528 หลังจากนั้น ก็ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย มีความสุขอยู่บ้านกับลูกหลาน เริ่มมีอาการป่วยเกี่ยวกับโรคเบาหวานมากขึ้น แต่ว่ามีใจรักทางดนตรี เมื่ออยู่บ้านก็แต่งเพลงทั้งคำร้อง และทำนองด้วยตนเอง อีกหลายเพลง จะเป็นงานที่สำคัญ งานการกุศล และโทรทัศน์บ้างเป็นบางครั้งในที่สุด เมื่อมีอาการป่วยหนักขึ้น ประกอบกับมีโรคแทรกซ้อนหลายอย่าง จึงได้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว และเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2537 สิริอายุได้ 70 ปี 4 เดือน 21 วันสมศักดิ์ เทพานนท์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลิงศพ ณ ฌาปนสถานกองทัพบก วัดโสมนัสวรวิหาร กรุงเทพมหานคร เมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม 2537
ขอทานรัก
ทำนอง ครูเอื้อ สุนทรสนาน คำร้อง ครูสมศักดิ์ เทพานนท์
แต่วันที่เห็นไม่เว้นคะนึงรำพึงฝัน
ใคร่ฝากชีวันหมายมั่นใจปองครองแก้วตา
ใจรักเดียวหญิงใดไม่เกี่ยวไม่หา
พี่สัญญารักยิ่งกว่าใคร
โปรดฟังสักนิดอย่าคิดรำคาญเคืองอุรา
กลับมาเมตตานึกว่าทำบุญคุณแก่ใจ
จงรับรักของพี่สักคนได้ไหม
ฝากกายใจคล้ายทาสของเธอ
เธอทำบุญดวงใจให้พี่ไว้
เป็นไรเจียวเออ
คนจนจนทนเพ้อ
หลงคอยเสมอขอทานใจเธอให้ฉัน
พี่ปฏิญาณจะรักยืนนานไม่เสื่อมคลาย
ตราบจนวันตายมิหน่ายดวงใจเลยสักวัน
จงเกื้อกูลนึกว่าทำบุญแก่ฉัน
โปรดทำทานรักให้ฉันเอย
(ข้อมูลรวบรวมจากหนังสือรวมเพลงต่างๆ ของสุนทราภรณ์)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี