พระพุทธรูปปางนิพพานแห่งเดียวในไทย
การเรียนรู้ตามหลักฐานที่ปรากฏนั้นย่อมสร้างความเข้าใจในเรื่องโบราณสถานและงานศิลปกรรมเป็นอย่างดียิ่ง อาทิตย์นี้ขอตามคุณสุนิสา จิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง กรมศิลปากร เจ้าของโครงการเผยแพร่มรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติไปศึกษาดูงานแหล่งโบราณคดี โบราณสถานฯและการอนุรักษ์โบสถ์ที่ถูกน้ำท่วมในจังหวัดนนทบุรี ครั้งนี้ไปวัดเกาะพญาเจ่ง หรือวัดเกาะรามัญ อีกชื่อหนึ่งคือวัดเกาะบางพูด
เดิมนั้นสถานที่แห่งนี้ พญาเจ่ง อดีตแม่ทัพ มอญได้นำไพร่พลเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารและได้รับพระราชทานที่ดินตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บางพูดเมื่อครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสินราวพ.ศ. ๒๓๑๗ ต่อมาได้สร้างวัดขึ้นในชุมชนเมื่อพ.ศ.๒๓๑๘ พญาเจ่งนั้นมีความชอบในการช่วยไทยรบพม่าจนได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพระยามหาโยธานราธิบดีศรีพิชัยณรงค์ ดูแลฝ่ายรามัญ เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๑ ตั้งกรุงเทพฯราชธานีและสถาปนาราชวงศ์จักรี
ต่อมาบุตรชายคนโตของพญาเจ่งชื่อทอเรียะนั้นได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยามหาโยธาฯเช่นกัน จึงสร้างวัดต่อจากบิดาโดยขอพระราชทานวิสุงคามสีมาสร้างโบสถ์ขึ้นใหม่จากโบสถ์เดิมเมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๐เจ้าพระยามหาโยธา(ทอเรียะ)ผู้นี้ ถึงแก่อสัญกรรมในสมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นสกุล "คชเสนี" ลักษณะโบสถ์เป็นอาคารทรงไทยก่ออิฐถือปูน หลังคาลดระดับ ๒ ชั้น มีขนาดกว้าง ๑๐.๕๐ เมตร ยาว ๒๒ เมตร มีฐานแอ่นโค้งเป็นรูปเรือสำเภา ซุ้มประตูและหน้าต่างเป็นแบบปูนปั้นลอยตัวลายดอกไม้ภายในพระอุโบสถภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปปางมารวิชัยหล่อด้วยโลหะหุ้มด้วยปูนปั้นปิดทองงดงาม สูงถึงรัศมี ๒.๗๐ เมตรบนฐานชุกชีรูปดอกบัวคว่ำบัวหงายนูนเด่น สูง ๑.๔๐ เมตร ด้านล่างมีรูปปั้นพระโมคคัลลาน์และพระสารีบุตรอัครสาวกคู่ นั่งประนมมืออยู่ทางซ้ายและขวา บนฐานสูง ๘๐ ซม. นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปปางห้ามญาติอีก ๓ องค์สูงประมาณ ๒ เมตร รวมทั้งพระพุทธรูปนอนสมัยรัตนโกสินทร์ แสดงถึงปาฏิหาริย์ของพระพุทธเจ้าที่ทรงยื่นพระบาทให้พระมหากัสสปะได้ถวายอภิวาทเป็นองค์สุดท้าย ก่อนทำพิธีฌาปนกิจพระสรีระซึ่งสามารถเปิดด้านข้างให้เห็นพระนอนได้นัยว่ามีแห่งเดียว และมีพระพุทธบาทจำลองหล่อด้วยโลหะขนาดยาวประมาณ ๑.๒๐ เมตร
ผอ.สุนิสา จิตรพันธ์ วิทยากรให้ความรู้
นอกจากนี้ยังมี จิตรกรรมฝาผนัง ศิลปะสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เรื่องทศชาติหรือพระเจ้าสิบชาติ ลักษณะจิตรกรรมเป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ ๑ - ๓ โดยได้จัดระเบียบเป็นแบบอย่างที่ยึดถือกันมาเป็นหลัก ภาพที่นิยมเขียนกันมากที่สุดคือผนังด้านข้างช่วงบนติดฝ้าเพดาน เขียนวิทยาธรมีสินเทาคั่น แล้วมีเทพชุมนุม ๑ - ๕ ชั้น ตามความสูงของฝาผนังช่วงเหนือหน้าต่างขึ้นไป ระหว่างช่องหน้าต่างและประตูเป็นภาพชาดกหรือพระพุทธประวัติเป็นตอน ๆ เรียงลำดับกันไปผนังด้านหน้าเขียนภาพมารผจญ ด้านหลังเขียนไตรภูมิหรือเสด็จจากดาวดึงส์
เจ้าพระยามหาโยธา ผู้สร้างวัด
สำหรับพระอุโบสถพร้อมพื้นที่โดยรอบนั้นรวม ๑ ไร่ ๔๗ ตารางวา กรมศิลปากรได้ประกาศเป็นเขตโบราณสถาน ตามราชกิจจานุเบกษาลงวันที่ ๑๓ มกราคม พ. ศ ๒๕๔๑ เมื่อคราวน้ำท่วมที่ผ่านมาพระอุโบสถ์แห่งนี้ถูกน้ำท่วมทำลายภาพเขียนบางส่วนจึงต้องอนุรักษ์ด้วยการยกโบสถ์ขึ้นสูงทำพื้นเสริมเพื่อรักษาภาพจิตรกรรมฝาผนังให้คงอยู่ต่อไป
หลักคู่สำหรับตั้้งเสาหงส์หน้าวัดของเดิม
สิ่งที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งที่หลบสายตาอยู่คืออนุสาวรีย์พระพุทธรูปสี่องค์หันหลังชนกัน ซึ่งเป็นอนุสรณ์สถานของพระนางสุนันทากุมารีรัตน์เรือล่มแล้วนำขึ้นจากแม่น้ำตรงหน้าวัดก่อนอัญเชิญพระศพเข้าพระบรมมหาราชวัง จึงมีการสร้างเจดีย์ไว้ตรงที่นำพระสรีระพระนางขึ้นมาจากน้ำ
เจดีย์อนุสาวรีย์พระนางเรือล่ม
ตรงบริเวณเรือล่มในสมัย ร.5
เมื่อทุกคนเห็นกันอย่างนี้ก็ไม่ต้องว่าอะไรกันอีกแล้วถึงเรื่องราว”พระนางเรือล่ม “หากยืนตรงหน้าวัดเกาะพญาเจ่ง แห่งนี้ก็จะเห็นสายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาไหลไปทางปากเกร็ด-หน้าวัดปรมัยฯ ก็คงไม่ต้องบอกอีกว่าจุดเรือล่มกลางแม่น้ำที่ตำบลบางพูด นั้น ตรงใหน เพราะวัดเกาะพญาเจ่งแห่งนี้เป็นอยู่ใกล้จุดที่เรือล่มที่สุดจึงมีอนุสาวรีย์สำคัญเป็นหลักฐาน
ภูมิบ้านภูมิเมือง/พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ Paladisai@siamrecorder.com
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี