วันจันทร์ ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ข่าว Like สาระ
‘สารเคมีเพื่อการเกษตร’  อันตรายแน่..หรือแค่ใช้ไม่เป็น?

‘สารเคมีเพื่อการเกษตร’ อันตรายแน่..หรือแค่ใช้ไม่เป็น?

วันอังคาร ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2561, 06.00 น.
Tag : สารเคมี การเกษตร
  •  

“กระดูกสันหลังของชาติ” เป็นนิยามของอาชีพ “เกษตรกร” โดยเฉพาะกับผืนแผ่นดินไทยที่ได้ชื่อว่าอุดมสมบูรณ์มากแห่งหนึ่งของโลก
คนไทยจึงผูกพันกับการเกษตรมาก ดังรายงาน การสำรวจแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2559ที่จัดทำโดย สำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในปีดังกล่าว ประเทศไทยมีแรงงานในภาคเกษตรถึง 11.8 ล้านคน และส่วนใหญ่หรือราว 11 ล้านคนเป็นแรงงานนอกระบบ แน่นอนว่าภาคเกษตรก็ไม่ได้แตกต่างจากภาคอื่นๆ ที่มีการปรับปรุงกระบวนการทำงานไปตามยุคสมัย จากวิธีธรรมชาติเพื่อยังชีพ ก็มีการใช้สารเคมีเพื่อเพิ่มผลผลิตเชิงการค้า

ดังที่ เปรม ณ สงขลา บรรณาธิการวารสารเคหการเกษตร ซึ่งเป็นผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมทั้งแบบ GAP และเกษตรอินทรีย์มาเกือบ 30 ปี กล่าวในเวทีเสวนา “สารเคมีกำจัดศัตรูพืช...อุปสรรคหรือตัวช่วยไทยแลนด์ 4.0?” เล่าย้อนไปในยุคทศวรรษที่ 1920’s-1930’s (ปี 2463-2482) เวลานั้นทั่วโลกยังเผชิญปัญหา “ความอดอยาก” ไม่ว่าในบราซิล เม็กซิโก อินเดีย มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากเพราะไม่สามารถหาอาหารมารับประทานได้


กระทั่งในเวลาต่อมา ช่วงทศวรรษที่ 1960’s(ปี 2503-2512) ชายชาวอเมริกันคนหนึ่งชื่อว่า นอร์แมน บอร์ล็อก (Norman Borlaug) ค้นพบวิธีการพัฒนา “พันธุ์พืชลูกผสม” เช่น ข้าวสาลี และได้นำไปปลูกในพื้นที่ต่างๆ พบว่าสามารถให้ผลผลิตที่มากขึ้นกว่าการทำเกษตรในอดีต ทำให้นอร์แมนได้รับ“รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ” (Nobel Peace Prize) ในปี 2513 อีกทั้งยังถูกยกย่องในฐานะ “บิดาแห่งการปฏิวัติเขียว” (Green Revolution) เพราะการค้นพบของเขาได้ช่วยให้มนุษยชาติไม่ต้องอดตายอย่างที่ผ่านมา

แต่การเพิ่มผลผลิตให้พอเลี้ยงคนจำนวนมหาศาล “สิ่งแลกเปลี่ยน” คือการเปิดยุคสมัยของ “เกษตรเคมี” โดยเริ่มจาก “ปุ๋ย” เป็นอย่างแรกควบคู่ไปกับการปรับปรุงระบบชลประทานให้พื้นที่เกษตรมีน้ำเพียงพอ โดยประเทศไทยนั้นก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเกษตรสมัยใหม่ในช่วงทศวรรษ 1960’s เช่นกัน เมื่อเพื่อนบ้านอาเซียนอย่าง ฟิลิปปินส์ มีการก่อตั้ง สถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (International Rice Research Institute “IRRI”) และไทยก็ไปรับพันธุ์ข้าวจากที่นั่นมาพัฒนาต่อยอดให้เหมาะสมกับการปลูกในประเทศอีกทอดหนึ่ง

“เราทำพันธุ์ข้าวของเราจากไวแสงเป็นไม่ไวแสง สามารถปลูกช่วงไหนก็ได้ นั่นคือวิวัฒนาการการปฏิวัติเขียวในประเทศไทย อย่างตอนนี้การปฏิวัติเขียวในข้าวก็ได้มาถึงยุคที่ 3 โดยยุคที่ 2 คือข้าวที่มีวิตามินทั้งหลาย และยุคที่ 3 ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากบิล เกตส์ (Bill Gates-มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งบริษัท Microsoft) ก็คือการเปลี่ยนพันธุ์ข้าวที่ต้องการน้ำเยอะ ไปเป็นแบบข้าวโพดหรือข้าวฟ่างที่ใช้น้ำใช้ปุ๋ยน้อย แต่ให้ผลผลิตสูงขึ้น 50 เปอร์เซ็นต์” เปรม ระบุ

คำถามต่อมา...ในเมื่อทั่วโลกต่างก็ใช้สารเคมีเกษตรกันทั้งนั้น แต่เหตุใดประเทศไทยถึงมีปัญหา “สารพิษตกค้าง” ให้ปรากฏเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง? เกษตรกรอาวุโสผู้นี้ กล่าวว่า ปัญหาคือ “ภาคเกษตรไทยไม่ใช่สังคมค้นคว้า แต่เป็นสังคมบันเทิง” นิยมสนุกสนานกันไปวันๆ หนึ่ง เช่น การนำตำรานำสื่อไปแจกจ่าย ที่ผ่านมาเท่าที่เคยไปร่วมประชุมจะพบว่า “มีเกษตรกรเพียงจำนวนน้อยนิดเท่านั้นที่สนใจศึกษาหาความรู้อย่างจริงจัง” แต่ในทางกลับกันเกษตรกรจะ“เชื่อร้านค้าที่ขายสารเคมีทางการเกษตร” มากที่สุด

นอกจากนี้เขายังเสนอแนะด้วยว่า สำหรับการยกระดับการผลิตในภาคเกษตรของไทยในภาพรวมให้ได้ “มาตรฐานเกษตรปลอดภัย” เป็นที่เชื่อมั่นของผู้บริโภค หรือ “GAP” (Good Agriculture Practices) ภาครัฐควรนำร่องจากกลุ่มที่มีศักยภาพก่อน นอกจากนี้ควรทำในรูปแบบสหกรณ์ที่ใช้ต้นทุนน้อยกว่าแต่ได้คนเข้าร่วมมากกว่าและทำในพื้นที่ที่มีความพร้อม โดยดึงภาครัฐอย่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาช่วย ต้องทำให้เกิดการมีส่วนร่วม หากทำได้ผลผลิตทางการเกษตรของไทยจะสะอาดและปลอดภัยอย่างแท้จริง การส่งออกก็จะทำได้มากขึ้น

ขณะเดียวกัน เกษตรกรที่เลือกทำเกษตรแบบอินทรีย์ ซึ่งจัดเป็น “วิถีอีกรูปแบบหนึ่ง” ที่แตกต่างไปจากเกษตรทั่วไป เป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มี
ความรักความชอบในการเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมีทุกชนิดจริงๆ ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค การสนับสนุนของภาครัฐคือ “ต้องมีตลาดที่ชัดเจน” ให้กับเกษตรกรกลุ่มนี้ รวมถึงต้องมีแหล่งวัตถุดิบสนับสนุน เพราะต้นทุนเกษตรอินทรีย์จะสูงกว่าเกษตรแบบทั่วไปที่ใช้สารเคมีถึง 3 เท่า

อีกด้านหนึ่ง จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย และผู้เชี่ยวชาญด้านวัชพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า หากจะแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย “ต้องทำทั้งระบบ” ในมุมหนึ่งแม้จะเป็นความจริงที่เกษตรกรขาดความรู้ แต่อีกมุม “ความรู้ได้ไปถึงอย่างตรงจุดแค่ไหน?” ดังตัวอย่างที่พบมา อาทิ เคยไปเป็นวิทยากรบรรยายเรื่องการใช้สารเคมีกับนาข้าวก็ไปพบเกษตรกร 2 ราย มานั่งฟังแบบไม่สนใจคุยกันไปเล่นกันไป

ซึ่งเมื่อเข้าไปสอบถามก็ทราบว่า “ทั้ง 2 คนไม่ได้ปลูกข้าว แต่ปลูกต้นชะอม” ส่วนที่มางานของชาวนาข้าว “เพราะมีผู้อื่นส่งมา” โดยทั้ง 2 รายนี้มักจะได้รับมอบหมายให้ไปฟังการอบรมต่างๆ เป็นประจำเรื่องนี้แม้จะเป็นจุดเล็กๆ แต่ตนมองว่าสำคัญ เพราะคนที่ควรจะได้รู้เรื่องเกี่ยวกับอาชีพของเขาจริงๆ กลับไม่ได้มารับรู้ ปัญหาก็จะตกอยู่กับเกษตรกรเอง เช่น สารเคมีแต่ละชนิดก็ใช้ “หัวฉีดพ่น” ที่แตกต่างกันไปด้วย

จรรยา ยกอีกตัวอย่างหนึ่งคือ “การแยกแยะศัตรูพืชแต่ละชนิด” เช่น ความแตกต่างระหว่าง “เพลี้ย” เป็นสัตว์ประเภท “แมลง”มี 6 ขา ส่วน “ไรแดง” นั้นเป็น “แมง” มี 8 ขาเมื่อไรแดงระบาดแต่เกษตรกรแยกไม่ออกก็ไปบอกร้านขายสารเคมีทางการเกษตรขอซื้อยากำจัดเพลี้ยมาใช้ ผลคือไรแดงระบาดหนักกว่าเดิมเพราะยากำจัดเพลี้ยนอกจากจะไม่ได้ฆ่าไรแดง ยังไปฆ่าสัตว์บางชนิดที่เป็นศัตรูตามธรรมชาติของไรแดงอีกต่างหาก

นักวิชาการด้านเกษตรผู้นี้ ยังกล่าวต่อไปถึง “ร้านค้า” ที่จำหน่ายเคมีภัณฑ์เกษตร แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเคยอบรมให้ความรู้เจ้าของร้านไปแล้ว แต่เอาเข้าจริงๆ “เจ้าของร้านไม่ได้ขาย...ให้ลูกจ้างมาเฝ้าแทน” ทั้งที่ลูกจ้างไม่เคยผ่านการอบรม ก็จะเกิดปัญหาเช่นกัน อาทิ เคยไปขอซื้อสารเคมีเกษตรที่ร้านค้าแห่งหนึ่งจะนำไปใช้ทำการทดลอง ลูกจ้างที่เฝ้าร้าน “เถียงคอเป็นเอ็น” ว่าที่ร้านไม่มีสารเคมีชนิดนั้นจำหน่าย และพยายาม “ยัดเยียด” ให้ซื้อสารอีกชนิดหนึ่งที่ “คิดเอาเองว่าคล้ายกัน” ทั้งที่ก็ชี้ให้ดูว่าสารเคมีที่ต้องการวางอยู่ในตู้หน้าร้านนั่นเอง

และนอกจากความไม่รู้แล้ว “ความไม่ตระหนัก” ก็เป็นอีกปัญหา อาทิ ใช้หมดก็โยนภาชนะบรรจุทิ้งตรงไหนก็ได้ตามสะดวก ไม่สวมชุดป้องกันสารเคมีโดยอ้างว่าร้อนบ้างอึดอัดบ้าง หรือฉลากระบุให้ใช้ 1 ส่วน ก็ขอแถมใส่เพิ่มเป็น2 ส่วน 3 ส่วน จึงเป็น “ที่มา” ของทั้งอันตรายต่อตัวเกษตรกรเองและทั้งกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงเสนอแนะว่า “สารเคมีเกษตรที่มีผลข้างเคียงเป็นอันตราย ผู้มีสิทธิ์ซื้อต้องผ่านการอบรมและสอบวัดความรู้ความเข้าใจ” เช่นใน สหรัฐอเมริกา ที่กำหนดให้ พาราควอต (Paraquat) เป็นสารที่ผู้ซื้อต้องได้รับใบอนุญาต

“เคยเชิญอดีตรัฐมนตรีเกษตรของญี่ปุ่นมาเป็นวิทยากร ก็ถามท่านว่าทำไมญี่ปุ่นใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากกว่าไทย 2-3 เท่า แต่ทำไมคนเชื่อว่าสินค้าเกษตรญี่ปุ่นปลอดภัย ท่านก็บอกคนญี่ปุ่นใช้สารเคมีเยอะจริง แต่เขาใช้อย่างถูกต้อง และเขาเริ่มจากระบบสหกรณ์ชุมชน เช่น สตรอเบอร์รี่จากหมู่บ้านนี้ ลงบาร์โค้ดเรียบร้อยก็ต้องปลอดภัย ถ้าปลายทางไปสุ่มตรวจเจอเกินค่ามาตรฐานก็โดนตีกลับทั้งหมู่บ้าน ทีนี้คนในหมู่บ้านเขาก็ตรวจสอบกันเอง พวกที่จะไปซื้อสารมาพ่นกันมั่วๆ ก็จะไม่เกิด ถามว่ามีพวกนอกคอกไหม มีแต่สุดท้ายก็อยู่ไม่ได้” จรรยา กล่าว

แม้จะเป็นความจริงที่ว่าการเกษตรแบบธรรมชาตินั้นปลอดภัยที่สุด แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้เช่นกันว่าการที่จะมีอาหารเลี้ยงคนจำนวนมาก
ในราคาถูก ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้สารสังเคราะห์ หรือก็คือเคมีเกษตร “ทว่าการใช้ก็ต้องใช้ตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วให้ความสำคัญ” ดังนั้นหากประเทศไทยมุ่งหวังจะพัฒนาภาคเกษตรสู่ความเป็น “Smart Farmer” นอกจากเรื่องเทคโนโลยีล้ำยุคทั้งหลายแล้ว

อย่าลืม “พื้นฐาน” หรือก็คือ “ความรู้ความเข้าใจ” ในการใช้สารเคมีอย่างถูกต้องด้วย!!!

ข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (www.oae.go.th) ระบุว่า ในปี 2559 ประเทศไทยนำเข้าปุ๋ยเคมีทั้งสิ้น 885,419 ตัน มูลค่า 12,654 ล้านบาท และนำเข้าสารกำจัดศัตรูพืชทั้งสิ้น 160,824 ตัน มูลค่า 20,618 ล้านบาท

“สารเคมีเกษตร” มีการใช้กันทั่วโลก
“สารเคมีเกษตร” มีการใช้กันทั่วโลก

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

  •  

Breaking News

ผอ.มูลนิธิมนุษยธรรมแห่งฉนวนกาซาประกาศลาออก อ้างขาดความเป็นอิสระ

สวยสง่าสมตำแหน่ง'หมูแฮม -โชตินภา'คว้ามง'นางสาวไทย 2568'คนที่56ของประเทศไทย

ผวา!โจรซอยจุ๊อาละวาดตระเวนชำแหละวัวชาวบ้านถึงคอก วอนตำรวจเร่งล่าตัว

'THX'สวยสะกดทุกสายตา!! ร่วมเดินบนพรมม่วงสุดลักชัวรี่

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved