“เราไม่ได้ตั้งเป้าว่า นักเรียนทุกคนจะต้องเป็นนักคอมพิวเตอร์ แต่โค้ดดิ้ง คือการแจกลำดับขั้นตอนในการทำงานสักชิ้นให้คนอื่นสามารถทำตามได้ ซึ่งถ้าเด็กๆ ได้มีทักษะในการคิดวิเคราะห์สามารถแตกปัญหาใหญ่ๆ ให้เป็นปัญหาย่อยๆ ได้เป็นขั้นตอน ก็จะเป็นการเสริมสร้างทักษะให้กับเด็กมีความคิดวิเคราะห์และสามารถนำทักษะนี้ไปแก้ปัญหาอื่นๆ ได้ ทั้งปัญหาชีวิตประจำวัน และปัญหาการทำงานที่สามารถแก้ได้ ซึ่งเรามองว่าเป็นทักษะที่สำคัญในศตวรรษที่ 21”
คำกล่าวของ รศ.ดร.สัญญา มิตรเอม รองผู้อำนวยการ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.) ในการประชุมหารือ “ความร่วมมือการสอนโค้ดดิ้ง (Coding)” ร่วมกับหลากหลายภาคส่วน ณ กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อ 30 ม.ค. 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งจากที่ได้ทบทวนหลักสูตรจากต่างประเทศก็พบว่ามีการนำมาบรรจุในหลักสูตรของนักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว ดังนั้นจึงเห็นว่า “โค้ดดิ้ง” หรือหมายถึง “การเรียนภาษาการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์” เป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องปูพื้นให้นักเรียนของไทยได้มีทักษะในด้านนี้ด้วย
เช่นเดียวกับ รศ.นพ.โศภณ นภาธร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า โค้ดดิ้งถือเป็น เรื่องสำคัญเพราะในอนาคตไอซีทีจะมีบทบาทสำคัญทางการศึกษา และความจริง “ไม่ใช่เรื่องใหม่” เพราะ สสวท.ได้เริ่มทำมาแล้วระยะหนึ่ง โดยทาง ศธ. กำลังคิดว่าจะทำอย่างไรให้นำเรื่องโค้ดดิ้งเข้ามาในระบบการศึกษา เพื่อให้นักเรียนของไทยได้มีโอกาสเรียนรู้ในเรื่องนี้
“เรามักจะเป็นผู้ใช้คอมพิวเตอร์ ซึ่งโค้ดดิ้งจะเป็นภาษาของคอมพิวเตอร์ในอนาคต หากเด็กมีความรู้ความสามารถก็จะเข้าใจในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และการใช้ประโยชน์ได้มาก”นพ.โศภณ ระบุ
สำหรับสังคมไทย โค้ดดิ้งหรือทักษะการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้นอาจมองว่าดู “ไกลตัว” และเป็นเรื่อง “เฉพาะทาง” สำหรับผู้สนใจประกอบอาชีพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) เช่น นักพัฒนาซอฟต์แวร์ เท่านั้น แต่ในต่างประเทศนั้นมีความเห็นว่า “โค้ดดิ้งเป็นเรื่องของทุกคน” ไม่ว่าจะไปประกอบอาชีพใดๆ ก็ตาม โดยประเทศแรกที่ “จุดกระแส” เรื่องนี้คือ เอสโตเนีย ที่มีการสอนโค้ดดิ้งให้กับเยาวชนอายุ 7-19 ปี ในระบบโรงเรียน เพื่อให้ทุกคน “มีความสัมพันธ์อย่างชาญฉลาดกับเทคโนโลยี” จากนั้นจึงขยายไปอีกหลายประเทศ
ที่ฮือฮากันมากเห็นจะเป็น สหรัฐอเมริกา ในยุคสมัยประธานาธิบดี บารัค โอบามา (Barack Obama) ถึงขั้นมีการเปิดโครงการ “CS (Computer Science) for All” ส่งเสริมให้มีการสอนทักษะการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือโค้ดดิ้งกับเด็กๆ ตั้งแต่อนุบาลถึงมัธยม เนื่องด้วยเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับโลกยุคใหม่ เป็นโอกาสสำคัญทั้งในแง่เศรษฐกิจและสังคม พลเมืองอเมริกันจะไม่เป็นเพียงผู้บริโภค แต่เป็นผู้สร้างสรรค์ในยุคเศรษฐกิจดิจิตอลด้วย
ด้วยเหตุนี้ ศธ. และ สสวท. แนวคิดการนำโค้ดดิ้งไปสอนในโรงเรียนต่างๆ ได้รับการสนับสนุนจาก กลุ่มบริษัทซีดีจี (CDG) ผู้นำด้านเทคโนโลยีสารสนเทศครบวงจร ที่จัดโครงการ “Code Their Dreams”ออกเดินสาย “ให้ความรู้และสร้างแรงบันดาลใจ” กับเด็กๆ ในโรงเรียนประถมศึกษามาแล้วหลายแห่ง ผ่านกิจกรรมทั้ง 5 ฐาน ประกอบด้วย
รศ.นพ.โศภณ นภาธร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และ ม.ล.ปริยดา ดิศกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
1.สมองกล นำเครื่องคอมพิวเตอร์มาถอดแยกชิ้นส่วนภายในให้ดู พร้อมอธิบายว่าชิ้นส่วนแต่ละชิ้นทำหน้าที่อะไรเพื่อให้คอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งสามารถใช้งานได้ 2.วาดภาพตามสั่ง กำหนดให้ผู้เข้าร่วม 1 คน รู้ว่าจะต้องวาดภาพอะไร แล้วให้บอกเพื่อนๆ “แต่ห้ามบอกว่าเป็นสิ่งนั้นทันที” โดยให้บอกเป็นขั้นตอน เช่น เมื่อได้โจทย์ให้บอกเพื่อนๆ วาดรูปบ้าน ครั้งแรกอาจจะบอกว่าวาดรูปสี่เหลี่ยม จากนั้นก็บอกให้วาดรูปสามเหลี่ยมให้อยู่ด้านบนรูปสี่เหลี่ยม ฯลฯ ไปทีละขั้นจนเป็นบ้านทั้งหลัง เป็นการจำลองรูปแบบการเขียน “ชุดคำสั่ง” ของโปรแกรมคอมพิวเตอร์
3.หอคอยแก้วน้ำ จุดประสงค์ของฐานนี้เหมือนกับฐานวาดภาพตามสั่ง คือเรียนรู้ชุดคำสั่งของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ แต่จะซับซ้อนขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง 4.ฝึกใช้โปรแกรม “สแครช” (Scratch) โปรแกรมนี้ใช้สำหรับสร้างชิ้นงานประเภทภาพเคลื่อนไหวง่ายๆ จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ไม่มีพื้นฐานใดๆ มาก่อนแต่ต้องการเรียนรู้หลักการเบื้องต้นในการเขียนชุดคำสั่งของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และ 5.ส่งน้อง “โรบอท” (Robot) ให้ถึงฝั่ง ผ่านการเขียนชุดคำสั่งบนแท็บเลตเพื่อให้หุ่นยนต์เคลื่อนที่ไปยังเป้าหมายที่กำหนด
พราว เนื่องจำนงค์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร กลุ่มบริษัทซีดีจี กล่าวว่า ตลอด 20 กว่าปีที่ซีดีจี ได้สนับสนุนด้านการศึกษาโดยการนำเครื่องคอมพิวเตอร์ไปแจกตามโรงเรียนต่างๆ ต่อมาทางบริษัทมองว่ามีศักยภาพพอที่จะทำอะไรที่ยั่งยืนกว่า จึงยกระดับมาเป็นกิจกรรมโค้ดดิ้ง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในโรงเรียนทั้งของ กทม. และโรงเรียนในสังกัดภาครัฐ แต่ไม่มีโอกาสเข้าถึงหรือรู้เรื่องเกี่ยวกับโค้ดดิ้งเท่ากับเด็กในโรงเรียนเอกชน “ลดช่องว่าง” ให้เด็กทุกคนมีโอกาสเรียนรู้อย่างเท่าเทียม
“ในปี 2559 ทางบริษัทได้เข้าไปทดลองในโรงเรียนวัดย่านพระราม 3 เป็นโรงเรียนในสังกัดกทม. ซึ่งแถวนั้นมีโรงเรียนวัดเยอะมากในระดับประถมและมัธยมต้นที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงการเรียนโค้ดดิ้ง แต่ทางบริษัทนั้นมีบุคลากรด้านโค้ดดิ้งอยู่แล้ว จึงได้ทำโครงการ CDG Code Their Dreams เพื่อจุดประกายความฝันของเด็กๆ” พราว กล่าว
นาถ ลิ่วเจริญ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทซีดีจี และ ไกรรพ เหลืองอุทัย ผู้จัดการทั่วไป บริษัท จีไอเอส จำกัด
จากจุดเริ่มต้นที่พระราม 3 นำไปสู่การต่อยอดด้วยการ “ฝึกสอนทั้งครูและผู้ปกครอง” เพื่อให้สามารถนำความรู้ไปพัฒนาศักยภาพของเด็กๆ ได้อย่างต่อเนื่อง โดยทางซีดีจี เล็งเห็นว่าโครงการนี้เป็นประตูที่จะเปิดโอกาสให้กับเด็กไทยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ “สามารถทำอะไรได้มากกว่าที่เป็นอยู่” แต่สิ่งนั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยแม้เด็กๆ จะให้ความสนใจ หากไม่มีครู หรือผู้ปกครองที่มีความรู้ที่จะค่อยแนะนำให้เด็กๆ ไปต่อได้
ด้าน สุกัญญา งามบรรณจง รองเลขาธิการ กพฐ. ให้ความเห็นภายหลังการหารือร่วมว่า ถือเป็นโครงการที่ดีเพราะจะทำให้เด็กได้มีโอกาสทำกิจกรรมที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และเป็นเรื่องที่อยู่ในยุคสมัยและเป็นเรื่องที่เด็กต้องเรียนรู้อยู่แล้ว อีกทั้งในหลักสูตรใหม่ที่ปรับปรุงปี 2560 ซึ่งอยู่ในส่วนของกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ เป็นสาระที่ 4 เรียกว่าเทคโนโลยี ในนั้นจะมีเรื่องวิทยาการคำนวณ แน่นอนว่าโค้ดดิ้งก็อยู่ในวิทยาการคำนวณด้วย
“โค้ดดิ้งจะตรงกับหลักสูตรใหม่ที่กำลังจะใช้ในโรงเรียนของ สพฐ.ในปีการศึกษา 2561 นี้ โดยวางฐานไว้ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แต่ปีการศึกษาหน้า
จะเริ่มใช้ตั้งแต่ชั้น ป.1, ป.4 และ ม.1 กับ ม.4 ก่อน แล้วค่อยๆ ขยับขึ้นไป” สุกัญญา ระบุ
รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาบริษัทซีดีจี ได้มีการนำร่องหรือทดลองใช้ในโรงเรียนสังกัด กทม.ซึ่งอยู่ใกล้ๆบริษัท จำนวน 55 โรงเรียน มีเด็ก 528 คน ได้เรียนรู้ในหลายๆ กิจกรรม หลังประเมินผลพบว่าทำให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ มีจินตนาการ สามารถคิดวิเคราะห์ได้ แก้ปัญหาได้ นอกจากนั้นยังมีการอบรมเทรนเนอร์ให้กับครู ผู้ปกครอง จิตอาสา รวมทั้งได้ทำงานร่วมกับ ม.มหิดล ด้วย
จึงคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับการนำโค้ดดิ้งมาใช้ในโรงเรียน โดยผู้ช่วยรัฐมนตรีและเลขานุการรัฐมนตรี ได้สะท้อนว่าแนวคิดที่มีการนำมาเสนอในวันนี้น่าจะได้ประชาสัมพันธ์ในวงกว้าง ส่วนเรื่องการอบรมครู ทางเลขานุการรัฐมนตรี ก็ได้เสนอว่าน่าจะเป็นหลักสูตรที่ต้องเสนอให้สถาบันคุรุพัฒนารับรอง เพื่อให้ครูได้มีโอกาสเข้ารับการอบรมเพื่อรับคูปองครูต่อไป
“โค้ดดิ้ง เหมือนให้เด็กได้เรียนรู้ภาษาที่จะใช้สื่อสารกับคอมพิวเตอร์ หรือลำดับขั้นตอน ซึ่งเมื่อ สพฐ. มีหลักสูตรที่มีสาระเทคโนโลยีใช้ จึงเห็นพร้อมต้องกันว่ากิจกรรมที่เด็กจะเรียนรู้
เกี่ยวกับโค้ดดิ้งจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ดังนั้นจะมีการหารือถึงรายละเอียดและจะมีการวางแผนร่วมกันระหว่าง สพฐ. สสวท. และบริษัทซีดีจี ถึงการนำมาใช้” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวย้ำ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี