30 มี.ค.61 ผู้สื่อข่าวรายงาน จากกรณีที่โลกออนไลน์ได้มีการแชร์ภาพผู้ใช้เฟสบุ๊คท่านหนึ่งขณะกำลังยกปลารูปร่างประหลาด มีส่วนหัวคล้ายปลากระเบน และมีส่วนหางคล้ายปลาฉลาม ขึ้นมาถ่ายรูปภายในเรือประมงพื้นบ้านหลังจากสามารถตกได้ด้วยเบ็ด ก่อนจะทำการโพสเฟสบุ๊ค พร้อมระบุ สถานที่ “กลางทะเลอันดามัน” และข้อความว่า “แบบนี้ จึงผ่าน” ทำให้มีผู้ใช้เฟสบุ๊คท่านอื่นๆ เข้ามาวิภาควิจารณ์ต่อท้ายจำนวน 3 คน โดยคนแรกพูดว่า “ฉลามเสือ555ปล่อยๆ” ส่วนคนที่ 2 และ 3 พูดว่า “เอาแกงกะทิเลยไต๊” ”มันละพระเจ้าค่ะ” ทำให้เหล่านักอนุรักษ์เกิดความไม่พอใจ และวิภาควิจารณ์ถึงเหตุการณ์ดังกล่าว เนื่องจากปลาลักษณะดังกล่าวเป็นปลาที่หายากใกล้สูญพันธุ์ และอยู่ในระหว่างที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกำลังผลักดันให้ปลาดังกล่าวมีสถานภาพสัตว์ป่าเป็นสัตว์น้ำตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 แต่อย่างไรก็ดียังไม่พบรายงานว่า หลังจากที่กลุ่มนักตกปลาถ่ายรูปเสร็จแล้วได้มีการปล่อยกลับคืนสู่ทะเล หรือนำกลับมาปรุงเป็นอาหารรับประทาน หรือนำไปแร่เพื่อเอากระดูกมาทำเครื่องประดับและเครื่องรางของขลัง
ด้านนายวิชัย สมรูป ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 8 (สบทช8) เปิดเผยว่า ปลาในภาพดังกล่าวเป็น "ปลาโรนิน" จะรู้จักกันในชื่อ Bowmouth guitarfish, Mud skate, Shark ray เป็นปลากระดูกอ่อนชนิดหนึ่ง มีรูปร่างคล้ายกับปลาโรนัน (Rhinobatidae) แต่ปลาโรนินจะมีส่วนหัวขนาดใหญ่ รูปทรงแบนกลมโค้งมน ปากกลม ครีบอกแผ่กว้าง ครีบหลังตั้งสูงเหมือนฉลามมีสองตอน บริเวณเหนือตามีสันเป็นหนาม ตรงกลางหลังก็มีสันเป็นหนามเรียงตัวกันเป็นแถวชัดเจนสามแถว พื้นผิวลำตัวสีเทาอมน้ำตาล มีแต้มจุดสีขาวจางๆกระจายทั่วตัว ด้านท้องสีขาว ขนาดโตเต็มที่มีความยาวได้ถึง 3 เมตร หนักได้ถึง 135 กิโลกรัม พบอาศัยอยู่ตามบริเวณพื้นทะเลที่เป็นดินทรายปนโคลน จัดเป็นปลาที่พบเห็นได้ยากมากในปัจจุบัน พบได้ในทะเลแดง, แอฟริกาตะวันออก, ญี่ปุ่นตอนใต้, ปาปัวนิวกินี, ในน่านน้ำไทยพบที่ฝั่งอันดามัน โดยมีชื่อที่ชาวประมงเรียกว่า “ปลากระเบนพื้นน้ำ” หรือ “ปลากระเบนท้องน้ำ” และมีความเชื่อว่าหนามบนหลังนั้นใช้เป็นเครื่องรางของขลังในทางไสยศาสตร์ได้ โดยนิยมนำมาทำเป็นหัวแหวน หรือนำมาห้อยคอ ซ้ำยังมีราคาซื้อขายที่ไม่แพง จึงทำให้ปริมาณของปลาฉลามโรนินลดลงอย่างรวดเร็ว
ซึ่งขณะนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดสัตว์ป่าที่หายาก (สัตว์ทะเล) เป็นสัตว์ป่าสงวนเพิ่ม 4 ชนิด คือ เต่ามะเฟือง ปลาฉลามวาฬ วาฬบรูด้า และวาฬโอมูระ พร้อมร่างกฎกระทรวงกำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง รวม 12 ชนิด ครอบคลุมกลุ่มปลากระเบนปีศาจ กระเบนแมนต้า กระเบนเจ้าพระยา ปลาโรนิน ปลาฉนาก และ ร่างกฎกระทรวงกำหนดชนิดสัตว์ป่าคุ้มครองเป็นชนิดที่เพาะพันธุ์ได้ (กรณีกระเบนเจ้าพระยา) ซึ่งอยู่ระหว่างการยืนยันความถูกต้อง ก่อนจะเสนอร่างทั้งหมดให้ ครม. เห็นชอบ และทูลเกล้าเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อลงพระปรมาภิไธย และเสนอร่างกฎกระทรวง 2 ฉบับ ให้ รมว.ทส. ลงนาม ก่อนที่จะประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป จึงอยากให้ผู้ที่สามารถจับได้หรือมีการพบเห็นโปรดอย่าไปทำร้าย หรือ ทำลาย เนื่องจากเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ และหาก ครม. เห็นชอบ หากพบเห็นผู้ที่กระทำความผิดจะมีความผิดตามตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 อีกด้วย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี