เจ้าหน้าที่ทหารถ่ายภาพร่วมกับสาวประเภทสอง 4 คน ที่มาเข้ารับการตรวจเลือกเพื่อเป็นทหารกองประจำการ ณ หอประชุมอำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง เมื่อ 4 เม.ย. 2561
เข้าสู่ช่วงต้นเดือนเมษายนของทุกปี สำหรับ “ชายไทย” แล้วมันคือการ “ลุ้น” ครั้งสำคัญหนหนึ่งในชีวิต เพราะต้องไป “เกณฑ์ทหาร” แน่นอนภาพที่ปรากฏผ่านสื่อต่างๆ ตลอดมา คือใครที่ได้ “ใบดำ” ไม่ต้องเป็นทหารคือออกอาการ “ดีใจ” สุดชีวิต ส่วนผู้ที่ได้ “ใบแดง” ต้องไปเป็นทหารบางรายถึงกับ “ช็อก” เป็นลมหมดสติ ณ บัดนั้นเลยก็มี นอกจากนี้ยังมีการจับตามอง “ดารา-ไฮโซ” คนเด่นคนดังที่เข้ามารับการตรวจเลือก ซึ่งก็มีทั้งที่ผ่อนผัน จับสลากใบดำใบแดง หรือบางราย“โชว์แมน” ด้วยการยืดอกสมัครเข้ารับใช้ชาติก็มีให้เห็นเช่นกัน
“สีสัน” อีกอย่างหนึ่งที่พบได้ทุกปียามถึงฤดูการเกณฑ์ทหาร คือบรรดา “สาวประเภทสอง” แม้กายเป็นชายแต่ใจเป็นหญิง มารับการตรวจเลือกตามหน้าที่ ในมุมหนึ่งแม้ทางกฎหมายจะมีการแก้ไขถ้อยคำให้สาวประเภทสอง “ไม่ถูกตีตรา” ว่าเป็น “โรคจิตเภท” อย่างในอดีต แต่ในทางปฏิบัติแล้วก็พบว่าสังคมไทยยังมองคนกลุ่มนี้เป็น “ของแปลก” เป็นที่จับจ้องของสื่อมวลชนและคนทั่วไปทุกปี และเรียกเสียงฮือฮาได้ทุกครา
รณภูมิ สามัคคีคารมย์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวในเวทีเสวนา “ตามต่อกะเทยเกณฑ์ทหารผ่านสื่อ ปีที่ 2” ถึงการนำเสนอข่าวสาวประเภทสองไปเกณฑ์ทหาร ว่าพบรูปแบบดังนี้ 1.การเกณฑ์ทหารของกะเทยเป็นสิ่งแปลก เช่นฮือฮาแก๊งนางฟ้ามาเกณฑ์ทหาร, สื่อนอกตกใจ กะเทยไทยต้องเกณฑ์ทหาร 2.การเกณฑ์ทหารของกะเทยคือกระบวนการเปิดโปงความเป็นกะเทย เช่น สาวนะยะ,นางฟ้า, เธอสวยที่สุด, กะเทยสวย
3.การเกณฑ์ทหารของกะเทยคือสีสัน สร้างความคึกคัก เช่น แห่กันมาประชันโฉม, หอบความเซ็กซี่มาสร้างสีสัน, จัดเต็ม! หอบความสวยมาเกณฑ์ทหาร และ 4.การเกณฑ์ทหารของกะเทยคือกระบวนการเหยียดเพศ เช่น ยกมดลูกให้เลย,ผู้หญิงชิดซ้าย, ชะนีหลบไป, หญิงแท้ยังอาย,น่ารักไม่แพ้หญิงแท้ มีเพียงส่วนน้อยที่“นำเสนอในเชิงบวก” เช่น การเตรียมตัวของสาวประเภทสอง และเนื้อหาของการเกณฑ์ทหาร โดยปีล่าสุดเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 8.7 จากปีก่อนหน้าที่มีเพียงร้อยละ 3ของข่าวทั้งหมด
เช่นเดียวกับ ฐิติญานัน หนักป้อง ตัวแทนมูลนิธิซิสเตอร์ กล่าวว่า พาดหัวและเนื้อข่าวที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ ตอกย้ำว่าการเกณฑ์ทหารของกะเทยเป็นสิ่งแปลก ถูกมองว่าเป็นสีสัน ลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ รวมถึงการเหยียดเพศ โดยร้อยละ 91 ของข่าวกะเทยเกณฑ์ทหารทั้งหมด เน้นนำเสนออัตลักษณ์ทางเพศและความงามของกะเทยมากกว่ากระบวนการ และข้อเสนอแนะต่อการเกณฑ์ทหาร ส่งผลให้คนที่เป็นกะเทย ถูกจับจ้อง เปรียบเทียบ ล้อเลียน จนรู้สึกเครียด กังวล และไม่อยากเข้ารับการเกณฑ์ทหาร
ด้าน รมิดา จรินทิพย์พิทักษ์ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการแข่งขันและกำกับดูแลกันเอง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แนะนำว่า สื่อควรใช้ถ้อยคำอย่างระมัดระวังในการสัมภาษณ์กลุ่มข้ามเพศ ไม่ควรเสนอเรือนร่าง หรือเพียงเป็นสีสันในการเกณฑ์ทหารเท่านั้น แต่ควรเสนอการเตรียมตัวของผู้เข้ารับคัดเลือกและบริบทแวดล้อมอื่นๆ ทั้งระบบรองรับหรือการจัดการของทางการต่อกะเทยในการเกณฑ์ทหารด้วย
ย้อนไปเมื่อเดือนก.ย. 2554 ศาลปกครองมีคำสั่งให้ยกเลิกการใช้คำว่า “เป็นโรคจิตถาวร” ในเอกสารตรวจเลือกเข้ารับราชการทหาร ซึ่งคดีดังกล่าว สามารถ มีเจริญพร้อมกับพวกที่เป็นสาวประเภทสองด้วยกันกลุ่มหนึ่ง เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกระทรวงกลาโหมและหน่วยทหารที่เกี่ยวข้องขอให้ศาลปกครองเพิกถอนการใช้ข้อความข้างต้น ซึ่งศาลก็ได้พิจารณาแล้วมีความเห็นสอดคล้องกัน โดยอ้างอิงการให้ข้อมูลจากแพทย์และผู้แทนกรมสุขภาพจิต ว่า
“...ผู้มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนที่ยังไม่ผ่าตัดแปลงเพศ แต่มีการเสริมหน้าอกไม่ถือเป็นโรคจิต เพียงแต่มีพฤติกรรมที่เบี่ยงเบน ซึ่งการวินิจฉัยทั่วโลกได้มีการยอมรับในมาตรฐานการจำแนกโรคแล้วว่า ผู้ที่เบี่ยงเบนทางเพศไม่ถือว่าเป็นความผิดปกติ และมนุษย์ที่มีพฤติกรรมทางเพศโดยพึงพอใจในเพศเดียวกันหรือต่างเพศก็ตาม ถือว่าเป็นสิทธิส่วนตัวและความพอใจส่วนตัว
อีกทั้งเมื่อพิเคราะห์จากกรณีที่องค์การอนามัยโลกได้ตัดลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างคนรักเพศเดียวกันออกจากกลุ่มคนที่มีความผิดปกติทางจิตด้วยแล้ว กรณีนี้จึงรับฟังได้ว่า ไม่มีความสัมพันธ์กันระหว่างลักษณะสภาพร่างกายของผู้เข้ารับการตรวจเลือกที่มีเพศกำเนิดเป็นชายแต่มีเต้านมแบบสตรีและมีบุคลิกลักษณะเป็นหญิง กับการเป็นผู้มีความผิดปกติทางจิต...”
หลังมีคำสั่งดังกล่าวจากศาลปกครอง กระทรวงกลาโหมก็ได้แก้ไขโดยให้ใช้คำว่า “ผู้มีภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด” แทน โดยระบุไว้ใน
กฎกระทรวงฉบับที่ 75 ออกตามความใน พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ.2497
ขณะที่ในทางปฏิบัติในส่วนของกองทัพก็ “เป็นมิตรกับกะเทย” มาตามลำดับ เช่น มีการแยกพื้นที่ตรวจร่างกายเป็นห้องมิดชิด เจ้าหน้าที่ไม่ใช้คำพูดเชิงดูหมิ่นอย่างในอดีต เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม “การมองกะเทยเป็นตัวตลก” เป็นสีสันเรียกเสียงหัวเราะและความสนุกสนานจากผู้พบเห็น ยังคง
“ฝังรากลึก” ในสังคมไทยด้วยการ
“ผลิตซ้ำ”จากสื่อต่างๆ รวมถึงการนำเสนอข่าวสาวประเภทสองไปเกณฑ์ทหารด้วย แน่นอนส่วนใหญ่เชื่อได้ว่า “ทำไปโดยไม่มีเจตนาร้าย” เพราะเคยชินกับความที่คนไทยมัก “ล้อเลียนรูปลักษณ์” กันเป็นปกติไม่ค่อยจะถือโทษโกรธเคืองกันเท่าไรนัก ทว่าในอีกมุมหนึ่ง ในมุมของผู้ที่ถูกนำเสนอในเชิงล้อเลียนหรือทำเป็นเรื่องขำขัน
เขาอาจ “ไม่สนุกเลย” ก็เป็นได้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี