วันศุกร์ ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ข่าว Like สาระ
จัดระเบียบ‘ท่องเที่ยวธรรมชาติ’  จาก‘ถ้ำหลวง’ถึงเวลาทำทั้งระบบ

จัดระเบียบ‘ท่องเที่ยวธรรมชาติ’ จาก‘ถ้ำหลวง’ถึงเวลาทำทั้งระบบ

วันอังคาร ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2561, 06.00 น.
Tag : ถ้ำหลวง
  •  

ผ่านไปแล้วเดือนเศษกับปฏิบัติการช่วยเหลือนักฟุตบอลเยาวชนและโค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมี รวม13 ชีวิต หากนับจาก 10 ก.ค. 2561 อันเป็นวันที่สมาชิกทีมหมูป่ากลุ่มสุดท้ายพร้อมด้วยทีมซีล (SEAL) หน่วยปฏิบัติการพิเศษกองทัพเรือ ออกจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย อย่างปลอดภัยซึ่งภารกิจนี้ “โลกต้องจารึก” เพราะรวม “ยอดคน” โดยเฉพาะทีมนักดำน้ำระดับพระกาฬจากนานาชาติ ร่วมกับภาวะผู้นำของอดีตผู้ว่าฯ เชียงราย ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ และความสูญเสีย “จ่าแซม” น.ต.สมาน กุนัน อดีตหน่วยซีลที่ขออาสากลับมาร่วมภารกิจนี้

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ 23 มิ.ย. 2561 วันที่ทั้ง 13 เข้าไปในถ้ำแล้วไม่สามารถออกมาได้ จนถึง 10 ก.ค. ปีเดียวกัน “กลายเป็นบทเรียนกับทุกฝ่าย” ทั้งการเตรียมพร้อมของหน่วยงานด้านกู้ภัยทั้งของรัฐและมูลนิธิอาสาต่างๆ การทำข่าวของสื่อมวลชนที่ครั้งนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนเพราะผู้ประสบภัยเป็นเด็กและเป็นผู้ป่วย รวมถึง “การเตือนภัยสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ” ที่มีประเด็นเกี่ยวกับ “ป้ายหน้าถ้ำ” ระบุห้ามเข้าถ้ำช่วงเดือน ก.ค.-พ.ย. เนื่องจากเป็นฤดูน้ำหลาก แต่ทั้ง 13 คน เข้าถ้ำในเดือน มิ.ย. โดยไม่ได้คาดคิดว่าฝนจะมาเร็ว


เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมอุทยานแห่งชาติ จัดเสวนาเรื่อง “พลิกวิกฤติถ้ำหลวง สู่โอกาสการจัดการถ้ำไทย”ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (บางเขน) ซึ่งศ.(กิตติคุณ) เดชา บุญค้ำ ราชบัณฑิตประเภทวิชาสถาปัตยศิลป์ สาขาวิชาภูมิสถาปัตยกรรม สำนักศิลปกรรม กล่าวว่า การท่องเที่ยวเป็นเศรษฐกิจที่รัฐบาลสนับสนุน และจำนวนนักท่องเที่ยวก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่ตามมาคือผลกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวประเภทต่างๆ และเชื่อว่าเหตุการณ์ “13 ชีวิตติดถ้ำหลวง” จะทำให้ความนิยมการท่องเที่ยวถ้ำเพิ่มขึ้นผู้เกี่ยวข้องจึงต้องเตรียมความพร้อมให้ครบถ้วน

อาจารย์เดชา กล่าวถึงปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณาในการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว ประกอบด้วย 1.ธรรมชาติ ระบบนิเวศทั้งพืช สัตว์ สภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ โดยเฉพาะเรื่องอากาศนั้นสำคัญมาก เพราะถ้ำหลายแห่งเมื่อถึงฤดูฝนจะมีน้ำหลากท่วม จะบริหารจัดการอย่างไรเพราะผู้ไปเยือนก็มีหลายกลุ่ม ทั้งนักท่องเที่ยวทั่วไปประเภทเข้าไปถ่ายรูปนิดๆ หน่อยๆ แล้วก็กลับ นักท่องเที่ยวประเภทชอบผจญภัย รวมถึงกลุ่มคนที่ต้องการเข้าไปสำรวจถ้ำเพื่อการศึกษาโดยเฉพาะ

2.มนุษย์ นักท่องเที่ยวเองก็มีหลายประเภท ทั้งสายอนุรักษ์จริงๆ ถือถุงขยะเข้าไปเก็บขยะของตนออกมาด้วย ไม่แตะต้องวัตถุธรรมชาติ เชื่อฟังคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ผู้นำทาง ไปจนถึงกลุ่มที่อาจจะขาดความรู้ความเข้าใจ เข้าถ้ำเน้นสนุกสนานอย่างเดียว นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องเพศหรือวัยที่แตกต่าง ต้องมีข้อมูลเพียงพอเพื่อนำมาประกอบการบริหารจัดการองค์ประกอบต่างๆ ของสถานที่ท่องเที่ยวเช่น ที่จอดรถ ห้องสุขา ร้านขายของที่ระลึก ฯลฯ ให้กลมกลืนกับสภาพธรรมชาติ รวมถึงอาจต้องคิดถึงการ “จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว” ไม่ให้มากเกินพื้นที่รองรับได้ด้วย

“การกำหนดว่าสถานที่นั้นรองรับได้เท่าไหร่จึงจะไม่ไปทำลายคุณสมบัติที่ทุกคนฝันอยากไปเที่ยวไปดู แต่ได้มาแล้วก็ยังเกินอยู่ดี รัฐบาลก็ยังต้องการนักท่องเที่ยวเยอะๆ อยู่ดี สิ่งเหล่านี้จึงต้องได้รับการแจงนับ วิจัย สำรวจเก็บข้อมูล นำมาทำผังบริเวณ บางครั้งถึงกับต้องแนะนำว่าทำไมไม่ชะลอ เช่น คนเข้าถ้ำเยอะเกินพอดีแล้ว ก็หากิจกรรมอื่นให้เขาทำ เช่น Walking Trail (เดินป่า) ขึ้นอยู่กับการสำรวจโดยละเอียด ถ้ำทุกแห่งต้องได้รับการสำรวจว่ามีลักษณะทางธรรมชาติอย่างไรบ้าง จุดไหนเป็นจุดสนใจ กำหนดเป็นทางเลือกเพื่อแบ่งเบาพื้นที่ถ้ำ” อาจารย์เดชา กล่าว

ขณะที่ รศ.จามรี จุลกะรัตน์ อาระยานิมิตสกุล ผู้ทรงคุณวุฒิภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงเกณฑ์ในการวางผังบริเวณสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 1.ด้านการใช้งาน เช่น ระยะการเดิน ความปลอดภัยจากการพังถล่มหรือน้ำท่วม เส้นทางหนีภัย จุดรวมพล นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงการอนุรักษ์ด้วย เช่น มีแนวกั้นระหว่างพื้นที่ท่องเที่ยวกับพื้นที่ละเอียดอ่อนทางธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ รวมถึงกรณีพื้นที่นอกถ้ำ อาจต้องนำหลักคิดทุกคนเข้าถึงได้ (Universal Design)
มาประกอบด้วย

กับ 2.ด้านสุนทรียภาพ แหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ คนที่มาเที่ยวย่อมอยากสัมผัสความเป็นธรรมชาติ การเก็บข้อมูล เช่น จุดที่โดดเด่นมีความพิเศษของสถานที่นั้น หรือความคาดหวังของนักท่องเที่ยวที่ต้องการเห็นความงดงามของธรรมชาติตราบเท่าที่ระยะสายตามองเห็นทั้งใกล้และไกล อย่างไรก็ตามแม้จะเป็นจุดที่สวยงามที่สุด ก็อาจไม่จำเป็นต้องไปปลูกสิ่งก่อสร้างใดๆ เพื่อคงสภาพไว้ให้นักท่องเที่ยวรุ่นต่อๆ ไปได้เห็นทิวทัศน์เช่นนั้นบ้าง รวมถึงถ้ามีต้นไม้อยู่เดิมพยายามรักษาให้คงสภาพมากที่สุด ก็จะลดผลกระทบของการท่องเที่ยวกับธรรมชาติลงได้

ด้าน ศ.ดร.นิพนธ์ ตั้งธรรม ผู้เชี่ยวชาญการจัดการลุ่มน้ำ และอดีตอาจารย์คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงข้อคิดจาก Cahyo Rahmadi ผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยาของถ้ำจากอินโดนีเซีย ถึงปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงในการบริหารจัดการสถานที่ท่องเที่ยวประเภทถ้ำดังนี้ 1.ฤดูกาล โดยเฉพาะช่วงหน้าฝนถือว่ามีความเสี่ยง

2.ลักษณะของถ้ำ ซึ่งที่ผ่านมาในไทยยังไม่ค่อยมีการศึกษามากนักว่าถ้ำแต่ละแห่งมีสภาพเป็นอย่างไร เช่น กรณีถ้ำหลวง - ขุนน้ำนางนอน เป็นถ้ำที่มีทางน้ำใต้ดิน ก็ต้องสำรวจว่ายังมีถ้ำแบบเดียวกันอีกกี่แห่งในประเทศ 3.ผู้เชี่ยวชาญ การท่องเที่ยวหรือสำรวจในถ้ำจะเป็นการดีกว่าถ้ามีผู้ชำนาญการร่วมเดินทางไปด้วย 4.น้ำท่วมฉับพลัน แต่ก็เป็นข้อท้าทายเพราะแม้จะวัดปริมาณฝนได้ แต่การคำนวณเกี่ยวกับน้ำที่ท่วมในถ้ำนั้นก็ไม่ง่าย

ส่วนคำแนะนำจากแวดวงวิศวกรรมที่ต้องขุดเจาะลงไปใต้ดินของจีน เช่น มีกฎหมายที่ดี มีแผนบริหารความเสี่ยงด้านความปลอดภัย นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาสร้างระบบเตือนภัยล่วงหน้าและการจัดการความเสี่ยง ที่สำคัญคือ “ต้องกล้าลงทุน” ทั้งการวิจัย ความปลอดภัย การบริหารความเสี่ยง การพยากรณ์และป้องกันอุบัติเหตุจากการท่องเที่ยว ทั้งนี้รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอื่นๆ นอกเหนือจากถ้ำด้วย นอกจากนี้ “พฤติกรรมความปลอดภัย” ที่นักท่องเที่ยวต้องใส่ใจ จะปลูกฝังอย่างไร?

“ในวิกฤติยังมีโอกาส” ดังนั้นจึงมีความหวังกันว่า “เหตุเกิด ณ ถ้ำหลวง” คงกลายเป็นตัวอย่างให้นำไปสู่การจัดทำแผนบริหารจัดการสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติทั้งประเทศ เพื่อให้มีทั้งความปลอดภัยต่อผู้มาเยือน และทรัพยากรธรรมชาติดำรงอยู่อย่างยั่งยืนสืบไป!!!

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

  •  

Breaking News

เข้ม‘บัญชีวัด’! ชูศักดิ์จ่อพบ‘มส.’ ไขลาน‘พศ.’ลุย ชี้หน้าที่ไม่ได้มีแค่เรื่องพิธีกรรม

ฝนกระหน่ำพัทยา ‘น้ำท่วมขังหลายพื้นที่’ ส่งผลกระทบการจราจรหลายสาย

ละคร ‘พ่อจ๋าแม่อยู่ไหน’ ออกอากาศ 19-23 พ.ค. ทางช่องวัน31

‘ป.ป.ช. ย้ำชัดส่งหนังสือเรียก‘พีระพันธุ์’รับทราบข้อกล่าวหา ชอบด้วยกฎหมาย

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved