บทบัญญัติใน “รัฐธรรมนูญฉบับ 2560” ซึ่งมีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน กำหนดให้ “กระบวนการยุติธรรม” เป็นเรื่องสำคัญที่รัฐต้องอำนวยการให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงโดยสะดวกในราคาไม่แพงเกินไป แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมีประสิทธิภาพ โดยกล่าวถึงไว้ใน “มาตรา 68” หมวดแนวนโยบายแห่งรัฐ และใน “มาตรา 258” หมวดการปฏิรูปประเทศ นำมาซึ่งการหาแนวทางปรับปรุงกฎหมายและโครงสร้างองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังที่เห็นเป็นข่าวอยู่เนืองๆ
เช่น ปฏิรูปงานตำรวจ ปฏิรูปการประกันตัวที่ไม่จำเป็นต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันเสมอไป การแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา)เพื่อป้องกันการใช้เทคนิคทางกฎหมายปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นด้วยการฟ้องปิดปาก ซึ่งที่กล่าวมานี้จะเน้นไปในทาง “คดีอาญา” เสียเป็นส่วนใหญ่เพราะเข้าใจได้ว่าผลของคดีอาญาต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งติดคุกตะราง การดำเนินการจึงไม่ควรให้คนผิดลอยนวลส่วนคนบริสุทธิ์ตกเป็นแพะรับบาปที่ไม่ได้ก่อ แต่อีกด้านหนึ่ง “คดีแพ่ง” การฟ้องเรียกค่าเสียหายหรือเพื่อรับรองสิทธิต่างๆ ก็กำลังมีการปรับปรุงเช่นกัน
เมื่อไม่นานนี้ นณริฏ พิศลยบุตรนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยความคืบหน้า “โครงการวิเคราะห์ระบบค่าฤชาธรรมเนียมและค่าขึ้นศาลด้วยวิธีการทางเศรษฐศาสตร์” สืบเนื่องจากกระบวนการยุติธรรมตั้งอยู่บนหลักคิดคือ “หลักสิทธิมนุษยชน” เป็นสิทธิที่มนุษย์ทุกคนต้องเข้าถึง กับ “หลักบัญชี” ไม่จำเป็นต้องมีผู้เข้าถึงจำนวนมาก แต่ทุกกรณีที่เข้าถึงต้องได้ประสิทธิภาพสูงสุด ดังนั้นเพื่อให้เกิด “สมดุล” ของ 2 หลักข้างต้น จึงนำ “หลักเศรษฐศาสตร์” มาใช้ในการศึกษาครั้งนี้
ข้อค้นพบหลังการศึกษา 1.ยิ่งคดีมีมูลค่าสูงค่าธรรมเนียมในการขึ้นศาลไทยยิ่งแพง อาทิ คดีฟ้องเรียกค่าเสียหาย 1 แสนบาท ค่าธรรมเนียมศาลไทยอยู่ที่ 682.59 บาท ในคดีมูลค่าเดียวกันเมื่อเทียบกับอังกฤษอยู่ที่ 1,502.11 บาท และสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 1.034.31 บาท ถือว่าไม่แพงมากนัก แต่ยิ่งมูลค่าที่ฟ้องร้องสูงขึ้น ค่าธรรมเนียมศาลของไทยจะเพิ่มในอัตราสูงกว่าศาลสหรัฐค่อนข้างมาก
อาทิ คดีมูลค่าราว 1.4 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมศาลไทยอยู่ที่ราว 9,600 บาทศาลสหรัฐอยู่ที่ราว 3,000 บาท และจะหยุดในอัตรานี้ ขณะที่ศาลไทยยังเพิ่มไปอีก เช่น คดีฟ้องเรียกค่าเสียหายราว 35 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมศาลไทยขึ้นไปอยู่ที่ราว 8 หมื่นบาทเศษ อย่างไรก็ตามในอีกมุมหนึ่ง “การคิดค่าธรรมเนียมแบบไทยอาจช่วยป้องกันไม่ให้เรื่องที่ไม่น่าเป็นคดีความเข้าสู่ระบบศาลมากเกินไป” จนเป็นภาระต่อศาลก็ได้
“สมมุติไปหกล้มหน้าร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด หรือไปเจอกาแฟหก ต่างๆ นานาแล้วไปฟ้อง ได้สตางค์เยอะ กรณีแบบนี้อังกฤษกับอเมริกามันเกิดขึ้น มันอาจเป็นเหตุผลตัวหนึ่งที่บอกได้ว่าคดีทุนทรัพย์ (มูลค่าฟ้องเรียก) สูงๆ พอขึ้นศาลแล้วท้ายที่สุดค่าขึ้นศาลมันก็ไม่ได้แพงตาม เพราะฉะนั้นเขาก็มี Incentive (แรงจูงใจ) ที่จะทำแบบนั้น” นักเศรษฐศาสตร์จาก TDRI กล่าว
2.คดีแบบไหนควรมีการ “ยกเว้น-ลด” ค่าธรรมเนียมศาลอย่างไรบ้าง? คดีที่เป็นเรื่องใหม่ในสังคม อาทิ คดีที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น AI, Blockchain หรือคดีใหญ่โตสังคมให้ความสนใจมากอันจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน เพราะผู้เกี่ยวข้องกับคดีต้องทำงานหนักเพื่อสร้างหรือแก้ไขเรื่องนั้นๆ ให้เกิดความรู้ใหม่ขึ้นในกระบวนการยุติธรรม
รวมถึงคดีที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ เช่น คดีสิ่งแวดล้อม คดีคุ้มครองผู้บริโภค คดีแพ่งที่สืบเนื่องจากคดีอาญา ซึ่งถือเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม ควรลดค่าธรรมเนียมขึ้นศาลลง และอาจนำเกณฑ์ฐานะทางเศรษฐกิจของผู้ฟ้องคดี เช่น เส้นความยากจน รายได้ในครัวเรือน อีกทั้งน่าจะเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานที่ดูแลสวัสดิการต่างๆ เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ(ผู้ลงทะเบียนคนจน) เบี้ยว่างงาน เบี้ยผู้สูงอายุเพื่อใช้ประกอบการขอลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลได้
3.การผลักภาระค่าใช้จ่ายทางคดีมีผลต่อความสมเหตุสมผลของการตั้งมูลค่าฟ้อง ในทุกๆ คดีความย่อมมีค่าใช้จ่ายซึ่งคู่ความจะได้รับหรือต้องจ่ายโดยคิดจากมูลค่าคดีนั้น “หากผู้ฟ้องเป็นฝ่ายชนะผู้ถูกฟ้อง” คดีที่เรียกร้องค่าเสียหาย 25,000 บาท ฝ่ายผู้ฟ้อง (ชนะ) ได้ร้อยละ27.2 ฝ่ายผู้ถูกฟ้อง (แพ้) เสียร้อยละ 117.2แต่เมื่อเป็นคดีเรียกร้องค่าเสียหายราว 35 ล้านบาท ฝ่ายผู้ฟ้องจะได้ร้อยละ 70.9 ฝ่ายผู้ถูกฟ้องเสียร้อยละ 78
ในทางกลับกัน หากศาลตัดสินว่าไม่มีมูล “ให้ยกฟ้อง” (ผู้ฟ้องเป็นฝ่ายแพ้คดีผู้ถูกฟ้อง) พบว่าคดีมูลค่า 25,000 บาท ผู้ฟ้องจะเสียค่าใช้จ่ายร้อยละ 48.4 ของมูลค่าคดี เพราะไม่ชนะก็ไม่ได้อะไร ส่วนผู้ถูกฟ้อง (ถือเป็นฝ่ายชนะคดี) เสียร้อยละ 41.6 แต่เมื่อเป็นคดีมูลค่า 35 ล้านบาท แล้วศาลยกฟ้อง ผู้ฟ้องจะเสียค่าใช้จ่ายเพียงร้อยละ 4.7 ส่วนผู้ถูกฟ้องเสียเพียงร้อยละ 3.1 ทำให้หลายคน “ตั้งมูลค่าฟ้องสูงๆ ไว้ก่อน” แม้ว่าจะได้รับความเสียหายจริงหรือไม่ก็ตามเพราะ “หวังผลกำไร”ที่จะได้รับจากผู้ถูกฟ้องหากชนะคดี จนเกิดปัญหา “คดีล้นศาล” ส่งผลต่อความล่าช้าในกระบวนการ
ดังนั้น “การผลักภาระค่าใช้จ่าย” เช่น ค่าธรรมเนียมศาล ค่าทนายความ ที่ศาลมักจะตัดสินให้ฝ่ายผู้ถูกฟ้องที่แพ้คดีต้องจ่ายให้ผู้ฟ้องที่ชนะคดี “ควรลดลงในกรณีคดีที่มีมูลค่าฟ้องสูง” เพราะพบว่าการตั้งมูลค่าฟ้องไว้ต่ำ หากผู้ฟ้องชนะคดีผลตอบแทนที่ได้รับจะสอดคล้องกับความเสียหายจริงมากกว่า การแก้ไขเรื่องผลักภาระค่าใช้จ่ายจะทำให้การฟ้องคดีประเภทหวังประโยชน์อย่างไม่สมเหตุสมผลลดลง หรืออีกนัยหนึ่งจำนวนคดีในศาลก็ลดลงด้วย
“อยากให้สังเกตกรณีผู้ฟ้องฟ้องคดีมูลค่าเยอะแล้วเป็นคดีไม่มีมูลถ้าศาลยกฟ้องคนฟ้องก็จ่ายแค่ 4.7% แต่ถ้าเกิดชนะคดีขึ้นมาเขาได้ถึง 70.9% จะเห็นว่าความเสี่ยงมันมีแรงจูงใจให้ผู้ฟ้องอยากจะฟ้อง เพราะชนะคดีมันได้เยอะ เสียก็เสียแค่ 4.7% สำหรับผู้ถูกฟ้องถ้าชนะ (ศาลยกฟ้อง) ก็เสีย 3.1% ก็เช่นค่าทนายค่าขึ้นศาลเพื่อป้องกันตัวเอง แต่ถ้าแพ้ (ศาลตัดสินให้ผู้ฟ้องชนะ) เสียถึง 78.7%” นณริฏ ระบุ
นอกจากเรื่องการตั้งมูลค่าฟ้องคดีแล้ว ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่ต้องปรับปรุงให้สมเหตุสมผลด้วย เช่น “ค่าตอบแทนทนายความ” กรณีคดีที่มีความซับซ้อน เป็นเรื่องใหม่ในสังคม หรือเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ควรได้ค่าตอบแทนสูงกว่าการทำคดีทั่วๆ ไป “ค่าตอบแทนพยาน” ทั้งค่าเดินทาง ค่าเสียโอกาสตามอาชีพหลักที่ทำ ค่าประกันความเสี่ยง เพราะพยานในคดีแพ่งก็มีภาระและความเสี่ยงไม่น้อยไปกว่าพยานในคดีอาญา เป็นต้นเพื่อให้ทุกคดีที่เข้าสู่ระบบศาลมีคุณภาพ ผ่านกระบวนการพิจารณาที่มีประสิทธิภาพ และผลออกมาเป็นธรรมกับทุกฝ่ายอย่างแท้จริง!!!
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี