“เหตุการณ์ดินโคลนถล่มเกิดขึ้นได้ไม่ยากโดยเฉพาะยิ่งในหน้าฝนและในบางพื้นที่ เช่นทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ ซึ่งมีแนวภูเขาอยู่มาก ถ้าเข้าไปปลูกบ้านที่อยู่อาศัยตรงพื้นที่ราบเชิงเขาที่มีภูเขาติดกับที่ราบ ก็เป็นไปได้ว่า ภูเขาที่เป็นดิน หิน ทราย นานๆ ตามกาลเวลา ย่อมผุพัง ยิ่งเมื่อเจอน้ำฝนในปริมาณมาก เมื่อดินเหล่านั้นจะอุ้มน้ำไม่ไหว ไหลตกลงมาตามทางราบ ปัญหาจะเกิดขึ้นถ้ามีบ้านเรือนประชาชนอยู่ตรงบริเวณนั้น ก็จะได้รับผลกระทบจากดินโคลน เศษหินดินทราย รวมถึงการตัดไม้ทำลายป่า ก็จะทำให้เกิดเป็นทะเลโคลนขึ้นได้ง่าย”
ไม่นานนี้เพิ่งเกิดเหตุดินถล่มที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวของผู้หนีภัยจากการสู้รบที่บ้านแม่ละอูนจ.แม่ฮ่องสอน เช่นเดียวกับเมื่อเดือน ก.ค. 2561 ที่เกิดเหตุในพื้นที่ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน รวมถึงเหตุการณ์ที่เป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ เมื่อปี 2531 ที่ อ.พิปูน จ.นครศรีธรรมราช มีผู้เสียชีวิต 230 คน ถือเป็นภัยอันตรายที่น่ากลัวมาก ประเด็นคือ “เรื่องของที่ตั้งซึ่งอยู่ติดกับภูเขา” ถ้าภูเขามีความลาดชันจะมีโอกาสที่เศษหิน ปูน ทรายสามารถไหลลงมาได้ง่าย
แต่เหตุที่เกิดขึ้นในกรณีต่างๆ มักมีเงื่อนไขในการเกิด เช่น “กรณีที่ 1” ปริมาณน้ำฝนมันตกหนักมาก ตกหลายวันต่อเนื่องกัน “กรณีที่ 2” ภูเขาในบริเวณนั้นที่มีความลาดชันสูง คือ 30 องศาขึ้นไป ซึ่งตรงบริเวณนี้ต้องระมัดระวังอย่างมาก หากถ้ามีน้ำฝนในปริมาณมาก เช่น เกิน 100 มิลลิเมตร (มม.) ต่อวันขึ้นไป โดยสามารถดูข้อมูลน้ำฝนได้จากรายงานของทางกรมอุตุนิยมวิทยา
“ดินถล่มเป็นภัยพิบัติที่สามารถแจ้งเตือนล่วงหน้าเพื่อลดความสูญเสียได้” เฉกเช่นเดียวกับภัยพิบัติหลายๆ อย่าง โดย “ดูจากปริมาณน้ำฝนจากเครื่องวัดปริมาณน้ำฝน” ซึ่งราคาไม่แพง ทางการควรนำเครื่องวัดน้ำฝนไปติดตั้งตามจุดต่างๆ“บริเวณติดตั้งเครื่องที่ดีที่สุดก็คือบริเวณที่เป็นภูเขา” และต้องมีระบบการส่งสัญญาณ มีการจัดเวรยามเฝ้าดูเหตุการณ์ต่างๆ ด้วย
นอกจากการดูที่เครื่องวัดปริมาณน้ำฝนแล้วยังสามารถสังเกตปัจจัยผิดปกติอื่นๆ ประกอบกันด้วยได้ เช่น “ระดับน้ำในลำน้ำ” หากอยู่ดีๆ ระดับน้ำเพิ่มสูงอย่างรวดเร็วก็อาจเป็นไปได้ที่น้ำหลากกำลังมา “สีของน้ำ” จากปกติที่ใสหรือไม่ขุ่นมากนักหากกลายเป็นสีขุ่นข้นก็อาจเป็นไปได้ว่าน้ำกำลังพัดพาโคลนมาด้วย รวมถึง “เสียงดัง” ที่อาจมาจากเศษซากต่างๆ ที่ถูกกระแสน้ำพัดมา เมื่อพบสิ่งผิดปกติเหล่านี้ขอให้รีบแจ้งทุกคนในหมู่บ้านให้ทราบโดยเร็ว
อย่างไรก็ตาม “ต้องย้ำว่าที่ราบเชิงเขา-พื้นที่ติดภูเขาไม่เหมาะกับการอยู่อาศัย” โครงสร้างของบ้านทั่วไปจะรับดินถล่มไม่ได้เนื่องจากส่วนมากมักสร้างด้วยไม้ ปูน โครงสร้างมีขนาดไม่ใหญ่มาก หรือบางทีก็ซื้อเป็นเสาสำเร็จรูปมาก่อสร้าง ไม่มีทางที่จะต้านทานต่อแรงที่เกิดจากน้ำหนักของดินที่ไหลลงมาได้เลย ดินก็เกิดจากหินที่เป็นภูเขาแต่ว่าผุพังไม่แข็งแรงแล้ว เพียงแต่ดินนั้นตั้งอยู่ได้ถ้าดินนั้นแห้งอยู่ ซึ่งหากมีน้ำมาก น้ำก็ไปเพิ่มน้ำหนักจนดินไหลลงมาทั้งก้อนได้ ที่ผ่านมามีเหตุการณ์มากมายกรณีดินไหลมาทำให้กำแพงบ้านล้มทับคนที่อยู่ในบ้านเสียชีวิต
“ดินถล่มนอกจากเกิดปัจจัยตามธรรมชาติ เช่น น้ำฝนมากแล้ว ยังเกิดจากปัจจัยที่มนุษย์ทำเองด้วย” กล่าวคือ ภูเขามีความลาดชันในระดับหนึ่ง แต่บางครั้งเกิดจากการที่ชาวบ้านต้องการไปตัดถนน ตัดลาดภูเขา ไปทำเกษตรกรรม ไปทำการเพาะปลูก ไปปรับพื้นที่ดิน ทำให้เป็นการเพิ่มความลาดชันมากขึ้นไปอีก และบางทียังมีการเอาดินไปถมข้างบนอีก ก็ยิ่งเพิ่มน้ำหนักในการกดทับลงมา
“หลายๆ ครั้ง เราจึงพบว่า การที่ดินโคลนถล่มลงมาเป็นสิ่งที่เกิดจากมนุษย์เราทำเองทั้งสิ้น ยังรวมถึงเรื่องการตัดไม้ทำลายป่าอีกด้วยเพราะปกติภูเขามีต้นไม้ ต้นไม้มีราก รากยึดดินเอาไว้ ถึงแม้ว่ามีน้ำเยอะ มันก็ไม่ปล่อยให้ดินไหลไปง่ายๆ แต่พอเราไปตัดไม้ทำลายป่าไปเรียบร้อยแล้ว ไม่มีอะไรที่จะเป็นตัวยึดตัวดินเอาไว้ เมื่อมันเจอน้ำ เจอน้ำหนักน้ำมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เกิดถล่มลงไป ปัจจัยที่เกิดจากธรรมชาติจริงๆ แล้วไม่เยอะมาก ส่วนใหญ่ดินถล่มต้นเหตุเกิดจากมนุษย์ที่เป็นคนทำให้สิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นมากกว่า”
ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันตก เป็นบริเวณที่มีความเสี่ยงมากกว่า เพราะว่ามีภูเขาที่มีความลาดชัน แต่ถ้าไปดูภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกส่วนใหญ่จะเป็นที่ราบก็จะมีความเสี่ยงน้อยกว่า ส่วนพื้นที่ตรงไหนเสี่ยงมากกว่ากัน ต้องดูแผนที่เสี่ยงภัยแผ่นดินถล่มว่าหมู่บ้านของเราอยู่ตรงจุดไหน ในแผนที่นี้จะบอกเป็นสี แบ่งเป็น “สีแดง” คือเสี่ยงมากที่สุดมีปริมาณน้ำฝนเพียง 100 มม./วัน ขึ้นไปก็อาจเกิดดินถล่มได้ “สีเหลือง” เสี่ยงรองลงมา ต้องมีปริมาณน้ำฝนเกิน 200 มม./วัน ขึ้นไปจึงอาจเกิดดินถล่ม และ “สีเขียว” มีความเสี่ยงน้อยที่สุด
“การป้องกันความสูญเสียจากเหตุการณ์ที่เกิดต่อเนื่องจากภัยพิบัติก็เป็นเรื่องสำคัญ” สืบเนื่องจากทางสภาวิศวกรได้มีการรณรงค์ช่วยประชาชนตอนเกิดน้ำท่วม แล้วพบว่าปัญหาที่เกิดขึ้น
คือคนไม่ได้ตายเพราะจมน้ำแต่มักตายเพราะถูกไฟฟ้าช็อต เพราะฉะนั้นก่อนที่จะกลับเข้าบ้าน วิศวกรอาสา สถาปนิกอาสา ก็จะไปตรวจสอบบ้านให้เขาว่ามีความปลอดภัยเพียงพอที่จะเข้าบ้านได้หรือไม่?โครงสร้างที่เกิดขึ้นมีความเสียหายหรือเปล่า?และก็ส่งสัญญาณว่าถ้าทุกอย่างปลอดภัย การไฟฟ้าจ่ายไฟได้ จะเป็นส่วนช่วยรักษาชีวิตประชาชนไว้ได้
“สำหรับเหตุดินถล่มนั้น เมื่อน้ำลดแล้วก็มีโอกาสที่โครงสร้างอาคารจะได้รับความเสียหาย”อย่างเช่น บ้านของชาวบ้านที่เป็นบ้านหลังเล็ก “เวลาน้ำมาพาเอาทรายที่เป็นฐานรากไปด้วยกับน้ำ ทำให้ฐานรากอาจเกิดการทรุดตัว บางบ้านพบว่าฐานรากลอยขึ้นมามากซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัว”เพราะพอฐานรากลอยแล้วก็มีโอกาสเกิดรอยร้าวขึ้นและนำไปสู่การถล่มได้ เพราะฉะนั้นต้องเข้าไปให้คำแนะนำและหาโครงสร้างไปค้ำยันชั่วคราวก่อนเพื่อไม่ให้ถล่มลงมา ตลอดจนถึงขั้นแนะนำวิธีการซ่อมให้กับชาวบ้านด้วย
ขณะนี้ทราบว่า กรมโยธาธิการและผังเมืองกำลังออกกฎหมายขึ้นมาบังคับในเรื่องของการก่อสร้างอาคารที่อยู่ติดกับเชิงเขาให้ต้องมีระยะร่น-ระยะห่างจากเชิงเขาอยู่พอสมควร โดยจะบอกให้เว้นระยะห่างจากตัวภูเขาหรือที่ลาดชัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างมาก เพราะบางทีประชาชนไม่รู้ คิดว่าภูเขาแข็งแรงมั่นคง แต่จริงๆ แล้วอะไรก็สามารถตกลงมาใส่หลังคาบ้านเราได้ จึงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง
บทสรุปของการป้องกันและลดความสูญเสียจากเหตุดินถล่ม..กรุณาดูว่าในแผนที่เสี่ยงภัยบ้านของเราอยู่ตรงไหน เป็นพื้นที่สีแดง สีเหลือง หรือสีเขียว และถ้ารู้ว่าเสี่ยงก็อย่านิ่งนอนใจฝนตกหนักๆ อย่านอนหลับเพลิน ต้องคอยสังเกตสิ่งรอบข้าง หากเป็นหมู่บ้านต้องร่วมกันจัดเวรยามเพราะไม่มีทางที่คนส่วนกลางจะมาอยู่กับเราได้ตลอดเวลา สุดท้ายต้องพึ่งพาตนเอง และต้องมีการจัดระบบด้วยว่าเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วพวกเราจะไปอยู่ตรงไหนกัน จะขึ้นที่สูงตรงไหนที่จะทำให้ปลอดภัยจากแนวที่ดินโคลนถล่มจะตกลงมา!!!
ศ.ดร.อมร พิมานมาศ
เลขาธิการสภาวิศวกร
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี