ปัจจุบันคนไทยป่วยด้วยโรคไตเรื้อรังกว่า 8 ล้านคน เข้าขั้นระยะสุดท้ายกว่า 100,000 คนที่ต้องรับการฟอกเลือดหรือล้างไตทางช่องท้อง และมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องร้อยละ 15-20 ต่อปี เป็นอันดับ 3 ของอาเซียนรองจากมาเลเซียและสิงคโปร์ ซึ่งรัฐต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาปีละกว่า 20,000 ล้านบาท สาเหตุของการเกิดโรคไตมาการบริโภคเค็ม การทานหวานและความดันโลหิตสูง นอกจากนี้พฤติกรรมการรับประทานที่เปลี่ยนไป ทำให้พบโรคไตในเด็กอีกด้วย เพราะมักรับประทานขนมกรุบกรอบ ฟาสต์ฟู้ด เป็นประจำ
ตำบลเจริญราษฎร์ อ.แม่ใจ จ.พะเยา เป็นตำบลที่มีอัตราความชุกตัวของผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังสูงที่สุดของอำเภอ และ “บ้านสันดอนแก้ว” เป็นหมู่บ้านที่วิกฤติเข้าขั้นรุนแรงที่สุด โดยมีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายมากถึง 10 ราย ซึ่ง ทพ.ธิติพันธุ์ อวนมินทร์ทันตแพทย์ชำนาญการ โรงพยาบาลแม่ใจกล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลพบมีการ “ปรุงอาหารด้วยน้ำปลามากถึง 4,800 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งเกินค่าโซเดียมที่เหมาะสมให้บริโภคได้เพียงวันไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน”ขณะที่แกงถุงหรือร้านอาหารตามสั่งภายในหมู่บ้านส่วนใหญ่ก็มีรสเค็ม
“ไตวายไม่ได้มาจากการกินเค็มทั้งหมด อาจมาจากนิ่วในไต หรือจากการกินยาต้านการอักเสบ หรือ NSAIDs ก็ได้ แต่ในทางทฤษฎีสาเหตุของโรคไตคือร่างกายได้รับโซเดียมเกินความจำเป็น ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการเติมระหว่างทำอาหารและการปรุงเพิ่มตอนรับประทาน การลดอัตราผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังให้น้อยลงและป้องกันไม่ให้เกิดผู้ป่วยรายใหม่ให้ได้ผล ด้วยการปรับลดพฤติกรรมการบริโภคส่วนบุคคลเป็นสิ่งสำคัญ” ทพ.ธิติพันธุ์ กล่าว
ทันตแพทย์ชำนาญการ รพ.แม่ใจ กล่าวต่อไปว่า เมื่อทราบถึงสาเหตุของการรับโซเดียมเกินความจำเป็นนั้นมาจากอาหารที่รับประทาน ทาง รพ.แม่ใจจึงต้องเข้าไปปรับส่วนนี้ แต่จะให้ลดรสชาติใดรสชาติหนึ่งไม่ได้ เพราะ “ในวิถีชีวิตคนไทยชอบทานอาหารหลายรสชาติรวมๆ กัน ฉะนั้นจึงต้องให้ลดหวาน มัน เค็ม ไปพร้อมๆ กัน” โดยนำร่องด้วยการลดเครื่องปรุงอาหารในผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายจำนวน 4 คนเป็นเวลา 6 เดือน พบว่า ค่าไตทำงานดีขึ้น และขยายผลไปเป็น 25 ราย ก็พบว่าค่าไตดีขึ้นเช่นกัน
จึงเป็นที่มาของ “หมู่บ้านกินจืดยืดชีวิต” แนวปฏิบัติคือ “ให้แต่ละครัวเรือนลดเครื่องปรุงในอาหาร” โดยเฉพาะรสเค็ม ลงครึ่งหนึ่งจากปกติ และให้มีปฏิทินเตือนตัวเอง วันไหนลดได้ก็ให้บันทึกไว้โดยจะมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ไปตรวจเยี่ยม ส่วนร้านก๋วยเตี๋ยวและอาหารตามสั่งก็ให้มีจุดบริการเครื่องปรุงเพียงจุดเดียว ไม่ต้องมีครบทุกโต๊ะ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อผู้มารับประทานอาหารในการปรุง
“การเป็นตำบลกินจืดมีแนวทางที่เข้มข้นโดยมี 4 ข้อกำหนด ได้แก่ 1.ครัวเรือนต้องลดเครื่องปรุงลงครึ่งหนึ่ง รับประทานขนมขบเคี้ยวได้ไม่เกิน 2 ซองต่อวัน 2.ครัวชุมชนในงานบุญ งานประเพณี ต้องมีการลดเครื่องปรุงและมีเครื่องดื่มอ่อนหวาน 3.ร้านขายเครื่องดื่มต้องมีเมนูอ่อนหวาน และ 4. ร้านค้า ร้านขายของชำต้องมีขนมสีเขียวจำหน่าย” ทพ.ธิติพันธุ์ ระบุ
โครงการนำร่องนี้ตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่า “ถ้าลดความเค็มลงได้ก็ลดความหวานได้เช่นกัน” ทพ.ธิติพันธุ์ กล่าวอีกว่า แม้ไม่ได้ไปตรวจวัดว่าแต่ละครัวเรือนใส่ไปปริมาณเท่าไหร่ แต่วัดได้ที่ผลลัพธ์ของพฤติกรรม เพราะถ้าชาวบ้านไม่ทำ ผลตรวจสุขภาพไตก็คงไม่ดีขึ้นอย่างแน่นอน โดยภายหลังมีการคืนข้อมูลด้านสุขภาพให้ชุมชน คนในหมู่บ้านก็เริ่มตื่นตัว ซึ่งทั้งหมดจะประสบความสำเร็จไม่ได้เลยหากขาดความร่วมมือจากชุมชน รวมถึง อสม. ที่ทำงานกันอย่างขยันขันแข็ง
ขณะที่ จ.ส.ต. (หญิง) สุขนภัสสร พรมมา พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เจริญราษฎร์ กล่าวเสริมว่า อสม. จะมี “เครื่องมือวัดความเค็ม” สำหรับออกตรวจวัดความเค็มในอาหารของครัวเรือนและร้านอาหาร โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ “สีแดง” เค็มมาก “สีส้ม” เค็มปานกลาง และ“สีเหลือง” เค็มปกติ ซึ่งไม่ง่ายในการไปบอกให้เปลี่ยนพฤติกรรม เพราะชาวบ้านเองก็เชื่อว่าตัวเองกินเค็มพอดีแล้วหรือคิดว่ารสจืดอยู่แล้ว แต่เมื่อมีเครื่องมือวัดผลให้เห็นชัด ชาวบ้านก็เข้าใจและให้ความร่วมมือ
ด้าน ถนอม เครื่องสนุก ชาวบ้านรายหนึ่งที่ป่วยเป็นโรคไตมากว่า 2 ปี เล่าว่า ก่อนหน้านี้ตรวจสุขภาพไตแล้วพบว่าแย่มาก พอมีโครงการตำบลกินจืดเกิดขึ้นจึงเข้าร่วม มีการปรับเปลี่ยนการทานอาหารให้เค็มน้อยลง ไม่เพียงกับตนเองแต่ลดเค็มกันทั้งครอบครัว เพราะปกติมีหน้าที่ทำอาหารให้คนในครอบครัวรับประทานอยู่แล้ว จึงทำอาหารโดยลดระดับความเค็มลงมาให้อยู่ในระดับสีเหลือง ซึ่งพบว่าเมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งแล้วไปตรวจสุขภาพพบว่าสภาพของไตค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ
จากความสำเร็จข้างต้น ต.เจริญราษฎร์ ร่วมกันประกาศเป็น “ตำบลต้นแบบ กินจืด ยืดชีวิต พิชิตโรค” โดยในอนาคตอันใกล้นี้ชาว ต.เจริญราษฎร์ นำโดยเจ้าหน้าที่ รพ.สต.เจริญราษฎร์ และ อสม. จะจัดตั้ง “ชมรมคนรักไต” ขึ้น เพื่อมาช่วยกันอีกทางหนึ่ง ซึ่งการประกาศตัวของชาวตำบลเจริญราษฎร์ อ.แม่ใจ ในการกินจืดทั้งตำบล ย่อมเป็นแบบอย่างที่ควรจะดำเนินการตาม เชื่อว่าชาวอำเภอแม่ใจหรือทั้งจังหวัดพะเยา ย่อมเห็นดีด้วย
และน่าจะยกระดับการกินจืดให้ได้ทั้งจังหวัดในไม่ช้า!!!
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี