ทำความรู้จักพิบัติภัยแผ่นดินไหว : ความเสี่ยงของจังหวัดกาญจนบุรี กับ ดร. ปริญญา พุทธาภิบาล นักธรณีศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี
18 ม.ค.62 ดร.ปริญญา พุทธาภิบาล นักธรณีศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี กล่าวว่า ข่าวแผ่นดินไหวขนาดความรุนแรง 4.9 (แมกนิจูด) เมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 ธันวาคม 2561 เวลา 22.39 นาฬิกา จากกรมอุตุนิยมวิทยา โดยมีจุดเหนือศูนย์แผ่นดินไหวอยู่บริเวณอำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี ความลึกเพียงประมาณ 2 กิโลเมตรจากผิวดิน ณ ตำแหน่งที่เส้นละติจูด 14..9372 องศาเหนือ และเส้นลองติจูด 99.1370 องศาตะวันออก ห่างจากเขื่อนวชิราลงกรณไปทางตะวันออกประมาณ 59.88 กิโลเมตร ระดับค่าอัตราเร่ง (g) สูงสุดบริเวณเขื่อนวชิราลงกรณ มีค่าเท่ากับ 0.01860 g และได้มีรายงานการเกิดแผ่นดินไหวตาม หรืออาฟเตอร์ช็อก 2 ครั้ง ในวันจันทร์ที่ 31 ธันวาคม 2561 เวลา 00.01 และ 05.02 นาฬิกา ขนาด 1.6 และ 3.0 แมกนิจูด ตามลำดับ
นอกจากนั้น ยังเกิดแผ่นดินไหวขนาดความรุนแรง 3.3 (แมกนิจูด) มีจุดเหนือศูนย์แผ่นดินไหวอยู่ บริเวณใกล้เคียง ที่ ความลึก 5.9 กิโลเมตร อนึ่ง บริเวณดังกล่าว เป็นพื้นที่ ๆ เคยเกิดแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2526 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.3 และ วันที่ 22 เมษายน 2526 สองครั้ง ขนาด 5.9 และขนาด 5.2 (แมกนิจูด) ไม่รวมอาฟเตอร์ช็อก และล่าสุดเมื่อเวลา 17.48 น.ของวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา เกิดแผ่นดินไหวขึ้นอีกครั้งหนึ่งที่บริเวณ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ขนาด 2.1 แมกนิจูด ลึกจากผิวดิน 1 กม. Latitude (องศา) 14.9000 Longitude (องศา) 99.2200 ห่างจากเขื่อนศรีนครินทร์ ไปทางทิศเหนือ 55.59 ก.ม.ไม่มีรายงานความเสียหายรวมทั้งประชาชนไม่รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน
น่าดีใจ ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สื่อมวลชน สังคมและประชาชนทั่วไป ได้ให้ความสนใจ และติดตามข่าวสาร รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์ ในแง่มุมต่าง ๆ บนข้อเท็จจริงและฐานข้อมูลที่จำกัด โชคดีที่สังคมไทยมีภูมิคุ้มกันมากพอ จึงไม่ได้สร้างความกังวลและตื่นตระหนกแก่สังคมมากนัก บางคนถามผมว่า แผ่นดินไหวที่เมืองกาญจนบุรี เกิดถี่ขึ้นไหม ? แล้วเราจะทำอย่างไรกันดี ?? ช่วยวิเคราะห์ให้ฟังหน่อย
ผมโชคดีที่ได้มีโอกาสร่วมเดินทางไปศึกษาจุดเหนือศูนย์กลางแผ่นดินไหวข้างต้น โดยทางเรือ กับคณะทีมงานของนายช่างสุวิทย์ โคสุวรรณ นำโดยคุณเอกชัย แก้วมาตย์ จากกรมทรัพยากรธรณี และนายช่างอนนท์ โรจน์ณรงค์ ฝ่ายความปลอดภัยของเขื่อน กฟผ. และทีมงานของเขื่อนศรีนครินทร์
โดยเข้าไปสำรวจพื้นที่จุดเกิดเหตุแผ่นดินไหว และพื้นที่รอบ ๆโดยทางเรือ เมื่อวันศุกร์ที่ 4 มกราคม 2562 ในช่วงสั้น ๆ เพื่อร่วมประเมินความเสียหาย ผลกระทบ จากเหตุการณ์ข้างต้น ที่อาจส่งผลต่ออาคาร สิ่งปลูกสร้าง บ้านเรือนที่อยู่อาศัยหรือ พื้นที่ภูมิประเทศ จุดเหนือศูนย์แผ่นดินไหว อยู่ที่พิกัด 151/473 ในแผนที่ภูมิประเทศ มาตราส่วน 1:50,000 ลำดับชุด L7018 ระวาง บ้านปลายนาสวน (4838 IV)
ซึ่งเป็นส่วนปลายด้านใต้ของแขนงหนึ่ง ของโซนรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ที่วางตัวพาดในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ ความยาวของรอยเลื่อนนี้ประมาณ 9-10 กิโลเมตร อยู่ห่างออกไปทางทิศเหนือของสันเขื่อนศรีนครินทร์ประมาณ 55 กิโลเมตร
ชาวแพในระแวกนั้นซึ่งมีประมาณยี่สิบครอบครัวเศษ รับรู้และรู้สึกถึงการเกิดแผ่นดินไหว และได้ยินเสียงดังคล้ายระเบิดในช่วงเวลาดังกล่าว ไม่พบความเสียหายที่เกิดกับเรือนแพ อาคารกุฏิสงฆ์ และอุโบสถสแตนเลส ที่อยู่ใกล้ริมน้ำ เมื่อประเมินเบื้องต้นจากทิศทางการวางตัว และขนาดความยาวของรอยเลื่อน แขนงแนวนี้ คงไม่สามารถทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่จะสร้างความเสียหายในวงกว้างได้
กาญจนบุรี กับความเสี่ยงต่อพิบัติภัยแผ่นดินไหว เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ 9.2 แมกนิจูด เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ที่มีศูนย์กลางการเกิดใต้ทะเล บริเวณตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ได้สร้างผลกระทบไม่น้อยต่อชุมชนในเขตจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวคือมีอาคารเรียนหลายหลังของโรงเรียนบ้านดินโส (รูปที่ 1) และโรงเรียนบ้านหินดาด (รูปที่ 2) รวมทั้งบ้านเรือนของราษฎรในระแวกนั้นอีกจำนวนหนึ่งในเขตพื้นที่อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรีได้รับความเสียหายแตกร้าว น้ำในบ่อน้ำร้อนบ้านหินดาด ในเขตอำเภอทองผาภูมิ มีอุณหภูมิและความขุ่นเพิ่มขึ้นมาก และยังมีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของน้ำในบ่อน้ำชาวบ้านเขาหลาว ตำบลวังมะนาว อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นรอยต่อเนื่องส่วนปลายด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของแนวรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงการเกิดเปลี่ยนแปลงของระบบน้ำบาดาลในพื้นที่เขตอำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ด้วย เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในบริเวณรอยเลื่อนมีพลังเจดีย์สามองค์
มหาวิทยาลัยมหิดล ตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดจากรอยเลื่อนมีพลังในบริเวณดังกล่าว จึงได้สนับสนุนงบประมาณให้สาขาธรณีศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ทำการศึกษาวิจัยรอยเลื่อนมีพลังในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีและบริเวณใกล้เคียง เป็นเวลาต่อเนื่องในปีพ.ศ. 2550-2552 รวม 3 ปี
โดยมีภารกิจในศึกษาวิจัยเชิงพื้นในประเด็นดังกล่าว และสาขาฯได้ดำเนินการติดตามต่อเนื่องเป็นระยะๆ ถึงปัจจุบัน ในสี่หัวข้อหลักคือ 1.) การศึกษาแผ่นดินไหวในอดีตโดยการขุดร่องสำรวจทางธรณีวิทยา 2.) การตรวจวัดหาอัตราการเคลื่อนตัวของแผ่นดินสองฝั่งรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์และเจดีย์สามองค์ โดยใช้เครื่องวัดพิกัด จี พี เอส ความแม่นยำสูง 3) การติดตามตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงน้ำพุร้อน น้ำบาดาลตามแนวรอยเลื่อน และ 4) การเฝ้าสังเกตการณ์พฤติกรรมสัตว์
ผลการศึกษาวิจัยได้สรุปไว้ดังนี้ แผ่นดินไหวในอดีต ทั้งที่ดำเนินการเองและข้อมูลจากผลการดำเนินการโดยกรมทรัพยากรธรณีและส่วนอื่น ๆ พบว่า กลุ่มแผ่นดินไหวในอดีตของพื้นที่มีอายุค่อนข้างมาก อาจแบ่งได้เป็นสามกลุ่ม คือ กลุ่มแรกเกิดมากในช่วง 438,000 ปี – 1800,00 ปีที่แล้ว กลุ่มที่สอง ช่วง 70,000 ปี-22,200 ปีที่แล้ว และกลุ่มที่สามช่วง 90,000 ปี –2,000 ปีที่แล้ว โดยมีขนาดความรุนแรง 6.2, 6.4 และ 6.8 (แมกนิจูด) ตามลำดับ
ซึ่งอาจแปลความหมายได้ว่า การที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาดค่อนข้างรุนแรงในพื้นที่ ต้องใช้เวลาสะสมพลังงานเป็นเวลานานมาก สอดคล้องกับ (1) ข้อมูลการตรวจวัดหาอัตราการเคลื่อนตัวของแผ่นดินสองฝั่งรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์และเจดีย์สามองค์ ที่พบว่ามีความแตกต่างกันน้อยมากระดับมิลลิเมตร ซึ่งใกล้เคียงกับความคลาดเคลื่อนของเครื่องมือ
(2) ข้อมูลแสดงอัตราการเคลื่อนตัวของแผ่นดิน ณ. จุดวัดค่าพิกัดดาวเทียม เป็นมิลลิเมตรต่อปี โดย วิธี SEAMERGES GPS (Simon, et al., 2007) ซึ่งพบว่า พื้นที่ภาคเหนือ และบริเวณแหลมไทยการเคลื่อนอยู่ระหว่าง 2 มิลลิเมตรต่อปี และ 2-3 มิลลิเมตรต่อปีตามลำดับ
ส่วนบริเวณพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตก การเคลื่อนตัวอยู่ที่ ประมาณ 1 มิลลิเมตรต่อปี (รูปที่ 3) และข้อมูลแสดงการเคลื่อนที่ของแผ่นดินย่านหิมาลัยและข้างเคียง โดย Tectonics Observatory at Caltech แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ขณะที่อนุทวีปอินเดียยังคงถูกดันให้เคลื่อนไปทางทิศเหนือเฉียงตะวันออก ในอัตราประมาณ 3.5 เซนติเมตรต่อปี บริเวณตะวันตกและภาคกลางของไทยมีการเคลื่อนในระดับมิลลิเมตรต่อปีไปทางตะวันออก ส่วนภาคเหนือและแหลมไทยมีอัตราและทิศทางการเคลื่อนที่ซับซ้อนมากน้อยตามลำดับ ดาวน้ำเงินเป็นตำแหน่งที่เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.8 แมกนิจูด ที่เมืองเสฉวนเมื่อปี ค.ศ. 2551
ผลการติดตามตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงน้ำพุร้อน น้ำบาดาล ตามแนวรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์และเจดีย์สามองค์ ได้แก่ ระดับน้ำ อุณหภูมิ ค่าความเป็นกรดเบส และสมบัติทางกายภาพอื่นๆ ของบ่อบาดาล และบ่อน้ำผิวดินสังเกตการณ์ จำนวน 6 สถานี ตลอดระยะเวลาโครงการฯ และต่อมาอีกหลายปี ไม่พบค่าที่แสดงการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาข้อมูลแหล่งน้ำพุร้อนในประเทศไทยจำนวนกว่า 90 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคใต้ แหล่งน้ำพุร้อนข้างต้นทั้งหมดเกิดในบริเวณแนวรอยเลื่อนมีพลัง หรือมีความสัมพันธ์กับรอยเลื่อนมีพลังโดยตรง
ซึ่งความร้อนใต้พิภพเคลื่อนขึ้นมาตามรอยแตกนั้นๆจากระดับลึก ข้อมูลเกี่ยวกับอุณหภูมิของน้ำพุร้อนที่ผิวดินในแต่ละภูมิภาคจากกรมทรัพยากรธรณี ได้แสดงความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ อุณหภูมิของน้ำพุร้อนส่วนใหญ่ในแหล่งภาคเหนือ และภาคใต้คือ 80-100 องศาเซลเซียส และ 60-79 องศาเซลเซียส ตามลำดับ ส่วนอุณหภูมิของน้ำพุร้อนในแหล่งภาคกลางและภาคตะวันตก ต่ำกว่ามากเพียง 37-59 องศาเซลเซียส (รูปที่ ๕)
เมื่อพิจารณาร่วมกับข้อมูลความถี่และความรุนแรงของการเกิดแผ่นดินไหว โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ ลักษณะอุณหภูมิของน้ำพุร้อนที่ปรากฏแตกต่างเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นชัดเจน ว่า รอยเลื่อนมีพลังซึ่งสัมพันธ์กับการเกิดน้ำพุร้อนใน ภาคเหนือ และภาคใต้ มีการขยับตัวหรือไหวตัวของแผ่นดิน คือเกิดแผ่นดินไหวบ่อยกว่า และหรือรุนแรงกว่า รอยเลื่อนมีพลังที่รองรับอยู่ใต้น้ำพุร้อน ในพื้นที่ภาคตะวันตกและภาคกลางของประเทศ
นอกจากนั้น จากการศึกษาวิเคราะห์แนวการวางตัวของแหล่งน้ำพุร้อนตามแนวรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ และตำแหน่งที่ปรากฏความร้อนสูงผิดปรกติใต้พิภพในอ่าวไทย ยังพบว่าแนวการวางตัวของรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์พาดผ่านบ้านเขาหลาว อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ก่อนลงอ่าวไทยและจุดแรกที่ต่อเนื่องยาวลงไปในอ่าวไทยนั้น มีลักษณะเหลื่อมกันกับแนวจุดอื่น ๆ ที่อยู่ถัดลงไป ลักษณะเช่นนี้ชี้ชัดว่า ส่วนปลายของรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ในอ่าวไทย ถูกตัดผ่านด้วยรอยเลื่อนระนองที่วางตัวในแนวตะวันออกเฉียงเหนือ – ตะวันตกเฉียงใต้ (รูปที่ ๖) โครงสร้างทางธรณีวิทยาข้างต้น เป็นตัวกำหนดให้รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ไม่สามารถเคลื่อนตัวในแนวราบได้อย่างอิสระ
รอยเลื่อนสะกาย (Sagaing Fault) เป็นคุณต่อเขตทวาย และภาคตะวันตกของไทย รอยเลื่อนสะกายเป็นรอยเลื่อนเหลื่อมขวา (Right Lateral Fault) วางตัวในแนวประมาณ เหนือ – ใต้ ในทะเลอันดามัน อยู่ประมาณกึ่งกลางระหว่างแนวตะเข็บที่เกิดจากการมุดตัวของแผ่นธรณีอินเดียใต้แผ่นธรณียูเรเซีย และเทือกเขาตะนาวศรี โดยรอยเลื่อนสะกายและแนวตะเข็บฯอยู่ห่างจากจังหวัดกาญจนบุรีไปทางทิศตะวันตกประมาณ 250-300 กิโลเมตร และ 550-600 กิโลเมตร ตามลำดับ
แผ่นดินไหวรุนแรงและรุนแรงมากๆขนาด 7-9 แมกนิจูด ส่วนใหญ่จึงเกิดบริเวณระหว่างแนวตะเข็บดังกล่าวและรอยเลื่อนสะกาย หรือบริเวณซีกตะวันตกของรอยเลื่อนสะกาย โดยเฉพาะส่วนที่อยู่ติดกับเขตทวายในเมียนมา (รูปที่ ๗ & ๘) เนื่องจากระนาบรอยเลื่อนสะกาย (Sagaing fault plane) ในบริเวณนั้นเอียงเทไปทางทิศตะวันตก คลื่นแผ่นดินไหวจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเฉพาะในซีกตะวันตกของรอยเลื่อนสะกาย จึงถูกลดทอนความรุนแรงและถูกเบี่ยงเบนไปมาก ก่อนข้ามโซนรอยเลื่อนสะกายเข้าสู่เขตทวาย และประเทศไทย
ระนาบรอยเลื่อนสะกาย (Sagaing fault plane) ส่วนเหนือของอ่าวเมาะตะมะ ได้ถูกเปลี่ยนความลาดเอียงให้อยู่ในแนวดิ่ง รายงานการเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงในประเทศเมียนมาได้จากบันทึกการซ่อมเจดีย์เมืองพุกาม จำนวน 34 ครั้ง (ช่วง 2127 ปี ระหว่าง 197 ก่อน ค.ศ.–ค.ศ.1930) จากเมืองมัณฑะเลย์ เขาสกาย และอินวา จำนวน 19 ครั้ง (ช่วง527 ปี ระหว่าง ค.ศ. 1429-1956) และจากเครื่องบันทึกแผ่นดินไหวตั้งแต่ปี ค.ศ.1906 จำนวน 18ครั้ง (ช่วง 97 ปี ระหว่าง ค.ศ. 1906-2003)
เห็นได้ชัดเจนว่า ส่วนต่อของรอยเลื่อนสะกายในแผ่นดิน ได้ก่อให้เกิดพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวสูงสุดในเมียนมา อย่างกว้างขวาง โดยได้จัดให้เขตทวายที่อยู่ติดกับกาญจนบุรีไปทางตะวันตกเป็นพื้นที่ๆมีความเสี่ยงต่อพิบัติภัยแผ่นดินไหวต่ำสุดของประเทศ หรือ Seismic low zone คือ zone I (รูปที่ ๙)
สรุป : ความตั้งใจในการนำเสนอข้อมูลทั้งหมดข้างต้น ไม่ได้มีความประสงค์ที่จะเชิญชวนให้ท่านเชื่อ แต่ประสงค์ให้ท่านได้พิจารณาไตรตรองตามหลักกาลามสูตร ในส่วนของผมแล้ว ขอสรุปว่า สำหรับประเทศไทย ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันตก และภาคกลาง มีความเสี่ยงต่อพิบัติภัยแผ่นดินไหวน้อยลงเป็นลำดับ และในส่วนของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลนั้น ข้อน่าห่วงใยคือ ชั้นดินอ่อนหนาที่เรียกว่าชั้นดินกรุงเทพ ซึ่งเกิดจากสะสมตะกอนดินเลนบริเวณชายฝั่งทะเลในช่วงประมาณ 6,000 ถึง ประมาณ 1,000 ปีที่แล้ว ซึ่งชายฝั่งทะเลโบราณนี้ทอดยาวถึงปทุมธานี อยุธยา และดอนตูม บางเลน จังหวัดนครปฐม ในด้านตะวันตก รวมถึงชั้นตะกอนน้ำพาที่ปิดทับ อาจขยายคลื่นพื้นผิวที่เกิดขึ้น
หมายเหตุ : กรมโยธาธิการและผังเมือง ดำเนินการออกกฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนักความต้านทาน คงทนของอาคารและพื้นดินที่รับรองอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2550 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บังคับให้การก่อสร้างอาคาร บางประเภทที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวต้องออกแบบและก่อสร้างให้สามารถต้านทานแรงสั่นสะเทือน จากแผ่นดินไหวได้
ขอบคุณข้อมูล-ภาพ : ดร.ปริญญา พุทธาภิบาล
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี