เกษตรกรชาวสังคม เมืองหนองคาย เปลี่ยนจากสวนกล้วยมาปลูกละมุดและไม้ผลอีกหลายชนิด โดยเฉพาะละมุดพันธุ์ไข่ห่าน หรือพันธุ์มาเล ที่ผลใหญ่รสชาติหวานกรอบผิวเปลือกสวย เป็นที่ถูกใจของลูกค้าทั้งชาวไทยและชาวลาว ส่งขายตลาดจุดผ่อนปรนไทย-ลาวไม่พอขาย ในขณะที่เกษตรจังหวัดเผยหนองคายเหมาะสำหรับการปลูกไม้ผลทุกชนิด และได้เปรียบในเรื่องการตลาด เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านมีความต้องการผลไม้สูง
นายธงชัย ศรีงาม อายุ 43 ปี เกษตรบ้านงิ้ว ต.นางิ้ว อ.สังคม จังหวัดหนองคาย ที่ปลูกละมุดพันธุ์ไข่ห่านหรือพันธุ์มาเล เล่าให้ฟังว่า เดิมนั้นตนทำสวนกล้วยเช่นเดียวกับเกษตรกรในพื้นที่อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย แต่ในช่วงหลังพบว่าการปลูกกล้วยซ้ำที่เดิมหลายครั้งจะทำให้เกิดโรค เมื่อ 4 ปีที่ผ่านมาจึงได้นำละมุดมาปลูกแซมระหว่างต้นกล้วย ในพื้นที่ 5 ไร่ เป็นต้นละมุดจำนวน 160 ต้น เป็นละมุดพันธุ์ไข่ห่านที่มีผลโต รสชาติหวานกรอบและผิวเปลือกสวย หลังจากเห็นว่าต้นละมุดที่ปลูกเจริญเติบโตเร็วและเริ่มให้ผลผลิตในปีนี้จึงได้ตัดต้นกล้วยออก ดูแลต้นละมุดเพียงอย่างเดียว ผลผลิตที่ได้นำไปขายที่ตลาดจุดผ่อนปรนไทย-ลาว ในเขตตำบลบ้านม่วง อ.สังคม ที่อยู่ไม่ไกลจากสวนนัก
ปรากฏว่าละมุดที่ตนนำไปขายรสชาติเป็นที่ถูกใจของลูกค้าทั้งชาวไทยและชาวลาว ผลผลิตที่ออกมาไม่เพียงพอกับความต้องการ ส่วนราคาก็ได้สูงกว่าละมุดที่มาจากที่อื่น ราคาขายไม่ต่ำกว่า 20 บาท/กิโลกรัม แต่โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 30-40 บาท/กิโลกรัม เนื่องจากละมุดที่ตนนำไปขายมีความสดและรสชาติอร่อยกว่า ที่สำคัญสามารถเก็บขายได้ทุกวัน การดูแลก็ง่าย โรคแมลงน้อย นอกจากปลูกละมุด 5 ไร่แล้ว ที่พื้นที่เหลืออีกกว่า 40 ไร่ ก็เริ่มปลูกไม้ผลอื่น ๆ โดยเฉพาะทุเรียน ปลูกรวม 300 ต้น นอกจากนี้ยังมีการปลูกเงาะ ลิ้นจี่ ลำไย มะพร้าว มะกอกน้ำ และมะยมชิด เป็นต้น
นายเวียน ธรรมสอน นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการพิเศษ/หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร สำนักงานเกษตรจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า พื้นที่ของอำเภอสังคม เป็นพื้นที่ๆ เหมาะในการปลูกไม้ผล ละมุดก็ถือเป็นพืชทางเลือกที่เกษตรกรเลือกปลูก เพราะไม่มีปัญหาในเรื่องของการตลาด ที่เรามองไปที่ตลาดจากประเทศเพื่อนบ้าน คือที่จุดผ่อนปรนไทย-ลาว ซึ่งชาวลาวนิยมรับประทานผลไม้จากประเทศไทย เพราะฉะนั้นผลไม้ที่ปลูกในอำเภอสังคม ไม่ว่าจะเป็นละมุด ทุเรียน เงาะ ลิ้นจี่ หรือลำไย ก็จะได้รับความนิยมจากชาวลาวเป็นอย่างดี ซึ่งสภาพพื้นที่โดยรวมก็จะเหมาะในการปลูกไม้ผล
"ส่วนเดิมพื้นที่อำเภอสังคม นิยมปลูกกล้วยนั้น ขณะนี้ก็ยังมีพื้นที่ ๆ ปลูกกล้วยอยู่ แต่ขณะนี้ได้เริ่มลดลง ซึ่งตลาดของกล้วยก็จะเป็นตลาดเฉพาะ เดิมมีพื้นที่ปลูกกล้วยอยู่ประมาณ 10,000 กว่าไร่ ขณะนี้เหลือพื้นที่ ๆ ปลูกอยู่ประมาณ 5 – 6 พันไร่"
เมื่อเปรียบเทียบระหว่างการปลูกไม้ผลกับการปลูกกล้วยนั้น นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการพิเศษ/หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร สำนักงานเกษตรจังหวัดหนองคาย บอกว่า การปลูกไม้ผลจะลดความเสี่ยงเนื่องจากมีอายุยืนยาวกว่ากล้วยที่มีอายุปีต่อปี ซึ่งปีไหนที่ได้รับผลกระทบจากโรคกล้วยก็จะประสบปัญหาเรื่องผลผลิต แต่ไม้ผลยืนต้นได้ยาวนานกว่า ยกตัวอย่างเช่นละมุดสามารถอยู่ได้ถึง 20 ปี ความเสี่ยงเรื่องการตลาดก็จะมีความเสี่ยงน้อยกว่า
ในส่วนของทะเรียนนั้น พื้นที่อำเภอสังคม ถือว่ามีความเหมาะสมในการปลูกทะเรียน ด้วยสภาพอากาศและภูมิประเทศที่เป็นภูสูงสลับกับพื้นที่ราบ จึงมีความเหมาะสมในการปลูกทุเรียนเป็นอย่างมากเมื่อเทียบกับพื้นที่ของจังหวัดศรีสะเกษ เดิมนั้นจังหวัดหนองคายเองก็มีการปลูกทุเรียนในพื้นที่ของอำเภอปากคาด ปัจจุบันเป็นจังหวัดบึงกาฬ พบว่าคุณภาพผลผลิตและรสชาติของทุเรียนที่ปลูกดี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี