วันอาทิตย์ ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ข่าว Like สาระ
‘ประชาธิปไตย’  ในมุมมอง‘คนรุ่นใหม่’

‘ประชาธิปไตย’ ในมุมมอง‘คนรุ่นใหม่’

วันพฤหัสบดี ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2562, 06.00 น.
Tag : คนรุ่นใหม่ ประชาธิปไตย
  •  

“การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เมื่อ 24 มี.ค. 2562” นอกจากจะเป็น “การเลือกตั้งครั้งแรกในรอบเกือบ 5 ปี” นับตั้งแต่กองทัพทำการยึดอำนาจในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อ 22 พ.ค. 2557 แล้ว ยังมีความหมายในฐานะ “การเลือกตั้งครั้งสำคัญของกลุ่มคนรุ่นใหม่” อันหมายถึงเยาวชนอายุ 18-25 ปีที่เป็นกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในชีวิต ซึ่งมีมากถึง 7.3 ล้านคน

ที่งานครบรอบ 70 ปี แห่งการสถาปนาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) เมื่อกลางเดือนมิ.ย. 2562ที่ผ่านมา มีการเปิดเผยผลสำรวจ “การเลือกตั้งและทัศนคติต่อประชาธิปไตย และการเมืองไทยของผู้เลือกตั้งครั้งแรก (First-timevoters)” ซึ่งจัดทำโดย ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว อาจารย์สาขาวิชาการเมืองการปกครอง ร่วมกับทีมงานคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สอบถามความคิดเห็นจากกลุ่มตัวอย่างเป็นคนอายุ 18-23 ปี ในระบบการศึกษา จำนวน 1,061 คน จากทั่วประเทศ


พบว่า 1.คนรุ่นใหม่สนใจการเลือกตั้งในระดับปานกลางไปถึงสนใจมาก โดยหากแบ่งคะแนนเป็น 10 ระดับ 0 คือไม่สนใจเลยและ 10 คือ สนใจมากที่สุด กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 18.9 ระบุว่าอยู่ที่ 6 คะแนน รองลงมาร้อยละ 17.9 ระบุว่าอยู่ที่ 10 คะแนน และอันดับ 3 ร้อยละ 17.4 ระบุว่าอยู่ที่ 8 คะแนน 2.อนาคตใหม่คือขวัญใจวัยรุ่นอย่างแท้จริงโดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 43.9 ตอบว่าหากให้นึกถึงพรรคการเมืองจะนึกถึงพรรคอนาคตใหม่เป็นชื่อแรก ทิ้งห่างอันดับ 2 อย่างพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 28.3 และอันดับ 3 คือพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 13.1

ความเห็นดังกล่าวยิ่งชัดเจนเมื่อถามต่อไปว่าพรรคการเมืองใดคือตัวแทนของคนรุ่นใหม่เพราะกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เกินครึ่ง หรือร้อยละ 54.2 ตอบว่าพรรคอนาคตใหม่ ทิ้งห่างอันดับ 2 อย่างพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 18.6 และอันดับ 3 พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 8.5 ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 44.8 ตัดสินใจลงคะแนนโดยดูจากพรรค รองลงมา ร้อยละ 34.8 ดูจากผู้สมัครรับเลือกตั้ง และร้อยละ 20.4 ดูจากรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอเพื่อชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

และยิ่งชัดขึ้นเมื่อถามว่าจะเลือกผู้สมัคร สส. ของพรรคใด พบว่า “กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เทคะแนนให้พรรคอนาคตใหม่” มากถึงร้อยละ 61.9 ทิ้งห่างอันดับ 2 อย่างพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 19.1 และอันดับ 3 พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 6.6 ทั้งนี้ “คนรุ่นใหม่ในกรุงเทพฯ และภาคกลาง ชื่นชอบพรรคอนาคตใหม่มากอย่างมีนัยสำคัญ” โดยหากแยกเป็นรายภาค กลุ่มตัวอย่างในกรุงเทพฯ เลือกพรรคอนาคตใหม่ถึงร้อยละ 77.4 และภาคกลางร้อยละ 73.2 ส่วนภาคเหนือ ภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ร้อยละ 56.6 ร้อยละ 46.7 และร้อยละ 45.7 ตามลำดับ

3.คุณสมบัติของนายกฯ ที่คนรุ่นใหม่ต้องการ 3 อันดับแรกคือ อันดับ 1 มีความเป็นผู้นำ สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ อันดับ 2 เป็นผู้ที่แก้ปัญหาทางการเมืองด้วยวิถีทางประชาธิปไตย อันดับ 3 มีวิสัยทัศน์ในการบริหารประเทศ 4.คนรุ่นใหม่มีความรู้ทางการเมืองไม่มากนัก โดยวัดจาก 5 คำถามคือ 4.1 ท่านทราบหรือไม่ว่าใครคือประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติคนปัจจุบัน 4.2 ท่านทราบหรือไม่ว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีกี่คน 4.3 ท่านทราบหรือไม่ว่าจำนวน สส. ทั้งหมดในสภาผู้แทนราษฎรมีกี่คน (ตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2560)

4.4 ท่านทราบหรือไม่ว่านายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของประเทศจีน มีชื่อว่าอะไร และ 4.5 ท่านทราบหรือไม่ว่าประชาคมอาเซียนมีสมาชิกกี่ประเทศ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 53.1 ตอบได้เพียง 1 ข้อ รองลงมา ร้อยละ 32 ตอบไม่ได้แม้แต่ข้อเดียว 5.คนรุ่นใหม่เชื่อว่าการไปเลือกตั้งจะเปลี่ยนแปลงประเทศได้ แต่ก็เห็นว่าภาครัฐไม่ค่อยสนใจความคิดเห็นของประชาชน และไม่มั่นใจว่าตนเองจะมีส่วนร่วมทางการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคณะผู้สำรวจตั้งคำถาม 6 ข้อให้กลุ่มตัวอย่างเลือกตอบโดยแบ่งคะแนนเป็น 10 ระดับ 0 คือน้อยที่สุด 10 คือมากที่สุด

ได้แก่ 5.1 ถ้ามีคนแบบเราไปลงคะแนนเลือกตั้ง เราสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 7.37 คะแนน 5.2 เจ้าหน้าที่ของภาครัฐไม่เคยสนใจว่าประชาชนอย่างท่านจะคิดเช่นไร ค่าเฉลี่ย 6.57 คะแนน 5.3 บางครั้งท่านคิดว่าท่านไม่เข้าใจการเมือง ค่าเฉลี่ย 6.55 คะแนน 5.4 ประชาชนธรรมดาอย่างเราไม่มีอิทธิพลใดๆ ต่อความเป็นไปทางการเมือง ค่าเฉลี่ย 5.60 คะแนน

5.5 ท่านคิดว่าตัวท่านเองสามารถมีส่วนร่วมในการเมืองอย่างมีประสิทธิภาพค่าเฉลี่ย 6.82 คะแนน และ 5.6 ท่านคิดว่าท่านมีความรู้ความเข้าใจในการเมืองมากกว่าคนอื่นๆ ค่าเฉลี่ย 4.83 คะแนน 6.คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยพอใจกับประชาธิปไตยในประเทศไทย โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 45.7 แสดงความคิดเห็นในทางดังกล่าว รองลงมา ร้อยละ 33.4 ระบุว่าค่อนข้างพอใจ ร้อยละ 18.1 ไม่พอใจและมีเพียงร้อยละ 2.9 ตอบว่าพอใจมาก

7.คนรุ่นใหม่ “เสียงแตก” ในประเด็นการต้องเลือกระหว่าง “เสรีภาพกับความเป็นระเบียบ” โดยคณะผู้สำรวจตั้งคำถาม “คิดเห็นอย่างไรกับคำกล่าวที่ว่า การอาศัยอยู่ในสังคมที่มีระเบียบดีกว่าการอาศัยอยู่ในสังคมที่ให้อิสระแก่ประชาชนมากเกินไปจนทำลายความความมั่นคงและการพัฒนา?” แบ่งคะแนนเป็น 10 ระดับ 1 คือเห็นด้วยมากที่สุด 10 คือไม่เห็นด้วยเลย พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 18.3 ตอบ 1 คะแนน แต่รองลงมาคือร้อยละ 17.7 ตอบ 6 คะแนน ถือว่าใกล้เคียงกันมาก

8.คนรุ่นใหม่มีแนวโน้ม “ไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร” เมื่อคณะผู้สำรวจตั้งคำถาม “คิดเห็นอย่างไรกับคำกล่าวที่ว่าแม้ว่ารัฐบาลจะมาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย แต่ถ้ามีการคอร์รัปชั่นมาก ฝ่ายทหารควรเข้ามาแทรกแซงเพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้น?” แบ่งคะแนนเป็น 10 ระดับ 1คือเห็นด้วยมากที่สุด 10 คือไม่เห็นด้วยเลยพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 18.3 ตอบ 10 คะแนน รองลงมา ร้อยละ 18.0 ตอบ6 คะแนน

9.คนรุ่นใหม่มีแนวโน้ม “มองว่าความคิดแม้จะสวนกระแสสังคมก็ถือเป็นสิทธิ์” จากคำถาม “คิดเห็นอย่างไรกับคำกล่าวที่ว่า เราไม่ควรยอมรับความคิดเห็นทางการเมืองที่ต่างไปจากความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่?” แบ่งคะแนนเป็น 10 ระดับ 1 คือ เห็นด้วยมากที่สุด 10 คือไม่เห็นด้วยเลย พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 30.8 ตอบ 10 คะแนน ทิ้งห่าง
อันดับ 2 ที่ตอบ 6 คะแนน ร้อยละ 15.4

10.คนรุ่นใหม่รักประชาธิปไตย..แต่ลังเลถ้าต้องเลือกโดยเทียบกับการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 37.6 ไม่เห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่าจะมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ก็ไม่สำคัญ เช่นเดียวกับร้อยละ 49.7 ที่ค่อนข้างเห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่น่าพึงพอใจมากกว่าการปกครองระบอบอื่นๆ แต่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ39.1 กลับเห็นความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจหรือการยกระดับมาตรฐานการครองชีพมากกว่า และรองลงมา ร้อยละ 34.8 ก็ค่อนข้างเห็นความสำคัญในเรื่องเดียวกัน

ภายในงานเดียวกัน ยังมีการให้มุมมองจากคนรุ่นใหม่ อาทิ นายจักรี เสาวภา ประธานสหภาพนักเรียน นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ที่เล่าว่า หากเป็นเป็นกลุ่มเพื่อนระดับมัธยมที่เคยไม่สนใจการเมืองมาก่อน ในช่วงแรกๆ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามายึดอำนาจและบริหารประเทศในนาม คสช. พบว่าคนกลุ่มนี้รู้สึกยินดีด้วยซ้ำที่วิธีแบบเผด็จการสามารถแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นและความรุนแรงในบ้านเมืองที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความรู้สึกของคนกลุ่มเดียวกันก็เริ่มเปลี่ยนไป

“พอเวลาผ่านไปเขาเห็นข้อแตกต่างเกิดขึ้น เพราะเวลากว่า 5 ปีที่ผ่านมา คนรุ่นใหม่มองเห็นความไม่แน่นอน จึงเกิดการเทใจไปทางอนาคตใหม่ เพราะนโยบายของพรรคมันใกล้ตัวที่กลุ่มคนเหล่านี้เข้าถึงในฐานะที่ทำงานในเครือข่าย สนท. โดยเฉพาะในช่วงระยะที่มีการเลือกตั้ง รู้สึกดีใจที่คนรุ่นใหม่สนใจทางการเมืองมองเป็นเรื่องใกล้ตัว”ประธาน สนท. กล่าว

ขณะที่ น.ส.ธัญชนก คชพัชรินทร์ เลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท กล่าวถึงผลสำรวจในประเด็นคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจสำคัญกว่าประชาธิปไตย ว่าเป็นเพราะคนรุ่นใหม่เห็นว่าเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่กระทบกับแต่ละคนโดยตรง แต่ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างความเข้าใจกันต่อไป เพราะการที่มีความคิดว่ากองทัพสามารถเข้าแทรกแซงได้หากรัฐบาลเลือกตั้งมีปัญหาทุจริต นั่นหมายถึงยังมองไม่เห็นความน่ากลัวของเผด็จการ อย่างไรก็ตามยังพบความหวังจากบางปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

“ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจจากเรื่องการเลือกตั้งคือ การที่คนรุ่นใหม่ในพรรคการเมืองจะกล้าลาออกเพราะเหตุผลอุดมการณ์ที่ต่างกัน นี่แหละคือจุดยืนของคนรุ่นใหม่ที่ไม่เกรงกลัวต่ออำนาจใด นอกจากนี้ในโลกออนไลน์ยังให้ความสนใจในเรื่องของการเมืองเป็นกระแสหลักมากกว่าละครไทยเสียด้วยซ้ำ จึงเห็นว่าคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจทางการเมืองมากขึ้น นี่นับว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่เลยทีเดียว” น.ส.ธัญชนก ยกตัวอย่าง

ด้าน นายโอมาร์ หนุนอนันต์ ตัวแทนกลุ่ม We Watch ระบุว่า การเลือกตั้งครั้งล่าสุดนี้คนรุ่นใหม่ไมได้ตื่นตัวกันแต่เพียงการออกไปใช้สิทธิ์ลงคะแนนเท่านั้น เช่น การตรวจสอบผลการนับคะแนนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แน่นอนว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่เทใจให้พรรคอนาคตใหม่ แต่เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาไม่เป็นอย่างที่คิด ก็ทำให้คนกลุ่มนี้เสียความมั่นใจไปไม่น้อย ซึ่งอันตรายมากเพราะอาจทำให้คนรุ่นใหม่ไม่อยากออกไปเลือกตั้งในครั้งต่อๆ ไป จากความรู้สึกผิดหวังอย่างรุนแรง

“สิ่งที่เราต้องทำคือการยอมรับความจริงเพราะเราอยู่ในสังคมที่ขั้วอำนาจอีกขั้วหนึ่งไม่อนุญาตให้ประชาชนเข้าไปอยู่ในพื้นที่ต่อรองทางการเมืองอย่างยุติธรรมนี่คือบทเรียนจึงไม่มีใครอยากจะลงไปแข่งด้วยดังนั้น เราต้องแก้โดยการให้ประชาชนเข้าไปร่วมนับคะแนนด้วยถึงจะรู้แจ้งเห็นกัน และการทานอำนาจจะเกิดขึ้นทันที” ตัวแทนกลุ่ม We Watch ให้ความเห็น

จากผลสำรวจและวงเสวนา บทสรุปคงมองได้ 2 มุม ด้านหนึ่งจะเห็นว่าคนรุ่นใหม่มีความตื่นตัวทางการเมือง หวังว่าการเลือกตั้งจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหารและมีแนวโน้มเปิดใจยอมรับความเห็นต่าง แต่อีกด้านก็พบทั้งความไม่มั่นใจว่าภาครัฐจะรับฟังความคิดเห็นของประชาชน อีกทั้งมองการพัฒนาเศรษฐกิจสำคัญกว่าสิทธิเสรีภาพ

จึงเป็นสิ่งที่น่าคิดว่า..จะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่ยังคงรักษาความหวังกับระบอบประชาธิปไตยไว้ได้!!!

หมายเหตุ : ดูรายงานผลสำรวจฉบับเต็มได้ที่ http://www.polsci.tu.ac.th/fileupload/529/900.pdf

บุษยมาศ ซองรัมย์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • ‘ตร.ไซเบอร์’จับมือ‘มจธ.’ ปั้นคนรุ่นใหม่สู้ภัยออนไลน์ ‘ตร.ไซเบอร์’จับมือ‘มจธ.’ ปั้นคนรุ่นใหม่สู้ภัยออนไลน์
  • ผุดไอเดีย! บาร์โฮสต์แนวใหม่ หัวใจประชาธิปไตย เพื่อคนทุกชนชั้นในสังคม ผุดไอเดีย! บาร์โฮสต์แนวใหม่ หัวใจประชาธิปไตย เพื่อคนทุกชนชั้นในสังคม
  •  

Breaking News

ดีล‘ปชน.-ภท.’เกิดยาก! ‘ชูศักดิ์’บอกแปลกประหลาด ชี้การเมืองยังไม่ถึงทางตัน

'หมอวี'แว่วข่าว'เพื่อไทย'ถอนร่าง'เอ็นเตอร์เทนเมนต์ฯ'สัปดาห์หน้า หนุนเก็บไว้หาเสียงเอง

ลอบวางเพลิง! 'รถยนต์ไฟฟ้า'อดีต สส.ประชาธิปัตย์ ลั่นไม่กลัวอิทธิพลมืดคนเบื้องหลัง

สลดโลมาเกยตื้นยังไม่รู้สาเหตุเร่งส่งชันสูตร

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นายปรเมษฐ์ ภู่โต
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2025 Naewna.com All right reserved