6 ตุลาคม 2562 นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวถึงกรณีรถตู้คณะของพระราชวิสุทธิประชานาถ หรือท่านเจ้าคุณพระอลงกต เจ้าอาวาสวัดพระบาทน้ำพุ ชนกับรถกระบะที่เลี้ยวกลับรถข้ามฝั่งในลักษณะตัดหน้า จนทำให้มีผู้เสียชีวิตในรถกระบะ 2 ศพ และเจ้าอาวาสวัดพระบาทน้ำพุได้รับบาดเจ็บ บริเวณถนนพหลโยธิน ช่วงหลักกิโลเมตรที่ 179-180 ขาเข้าตัวเมืองลพบุรี หมู่ที่ 3 ต.ห้วยโป่ง อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี เมื่อค่ำวันที่ 30 ก.ย. 2562 ที่ผ่านมา ว่า “เกาะสี” หรือการใช้สีแบ่งช่องจราจรสวนกัน 2 ฝั่ง ก็เป็นอีกปัจจัยเสี่ยง
กล่าวคือ 1. “ถนนยิ่งกว้างยิ่งขับเร็ว” ซึ่งถนน 4 ช่องทางเกาะสี ส่งผลต่อมุมมองของผู้ขับขี่ ว่า ถนนกว้าง โล่ง จึงใช้ความเร็วเพิ่มขึ้น เพราะคิดว่าจะตัดสินใจแซงได้ง่ายขึ้นโดยจะสามารถแซงบนช่องเกาะสีได้ 2.“ใช้เกาะสีเป็นที่หยุดรอ” ในขณะที่คนขับรถใช้ความเร็วและอาจจะใช้เกาะสีสำหรับการแซง แต่สำหรับคนเดินถนน รถจักรยานยนต์ จักรยาน หรือรถยนต์ จะใช้เกาะสีเป็นที่ “หยุดรอ” เพื่อข้ามไปอีกฝากหนึ่งของถนน
3. “จอดล้ำช่องทางรถวิ่งสวน” ขนาดความกว้างของเกาะสี มีความจำกัด โดยปกติจะกว้างประมาณ 1.2-2 เมตร ทำให้รถที่จอดรอเลี้ยว มีโอกาสล้ำเข้ามาในช่องทางเดินรถด้านตรงข้าม ส่งผลให้เสี่ยงต่อการเฉี่ยวชนได้ง่าย 4.“กลับรถได้ทุกจุดบนเกาะสี” ซึ่งโดยลักษณะทางกายภาพของเกาะสี ทำให้ผู้ขับขี่ที่ต้องการจะกลับรถ ลักไก่ตัดข้ามกลับรถได้ในทุกจุด เท่ากับเป๋นการเพิ่มโอกาสในการชนด้านข้างหรือชนท้ายได้มากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากจุดกลับรถทั่วๆไป ที่มีช่องทางสำหรับกลับรถที่ชัดเจน ทำให้ผู้ขับขี่ ที่ขับมาจากทางด้านหลังจะเพิ่มความระมัดระวังเมื่อถึงจุดกลับรถ
นพ.ธนะพงศ์ กล่าวต่อไปว่า เจ้าหน้าที่กู้ชีพในพื้นที่ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจ โดยจากข้อมูลสถิติผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่รวบรวมโดยศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนนระดับอำเภอ(ศปถ.อ.)โคกสำโรง พบว่า ช่วงถนนพหลโยธินตั้งแต่หลัก กม.171 - 180 ในเขต ต.ห้วยปง (จุดใกล้เคียงบริเวณที่รถหลวงพ่ออลงกตประสบอุบัติเหตุ) ด้วยระยะทางเพียงแค่ 9 กิโลเมตร แต่ในปีที่ผ่านมา (2561) มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 11 ราย ส่วนใหญ่จะเกิดเหตุในเขตชุมชน ที่มีการขยายไหล่ทางและเป็นช่วงเกาะสี
ซึ่งแตกต่างไปจากถนนพหลโยธิน ช่วงที่เป็นถนนสองเลน รถวิ่งสวนในช่วงตั้งแต่ ต.โคกสำโรง เชื่อมไปยัง อ.ท่าม่วง ที่มักจะไม่ค่อยเกิดอุบัติเหตุ ทั้งนี้เมื่อเกิดการชนปะทะเกิดขึ้นร่างกายคนเราจะมีจุดที่ทนแรงชนปะทะได้เท่าไหร่นั้น ข้อมูลจาก towardszero ระบุว่า 1.รถชนปะทะ ที่ความเร็ว 70 กม./ชม. (มีการคาดเข็มขัดนิรภัย) 2.รถที่ถูกชนจากด้านข้าง ที่ความเร็ว 50 กม./ชม. 3.รถที่เกิดการปะทะกับต้นไม้ที่ความเร็ว 30 กม./ชม. 4.การชนคนเดินเท้าที่ 30 กม./ชม.
“จากคลิปวิดีโอในที่เกิดเหตุ เมื่อพิจารณาทั้งปัจจัยในเรื่องของอันตรายจากเกาะสีที่ทำให้รถทางตรงใช้ความเร็ว และมีการตัดกระแสเพื่อจะกลับรถโดยลักษณะกายภาพของเกาะสีที่เอื้อให้ผู้ใช้รถใช้ถนน ฝ่าฝืนกลับรถได้ทุกจุด และแรงปะทะจากการชนทางด้านข้างที่มากกว่า 50 กม./ชม. จึงส่งผลให้มีผู้โดยสารในรถกระบะเสียชีวิตทั้ง 2 ราย” นพ.ธนะพงศ์ กล่าว
นพ.ธนะพงศ์ ยังกล่าวอีกว่า เมื่อปลายเดือน ส.ค. 2560 ศวปถ. เคยทำหนังสือส่งไปยัง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น ถึงข้อเสนอเพื่อพิจารณา “ลดความสูญเสีย กรณีถนน 4 ช่องทางเกาะสี” โดยมองว่า แม้อุบัติเหตุจะมีปัจจัยจาก “คนขับ” เป็นสาเหตุหลัก แต่ปัจจัยจากตัวถนน ที่ทาให้รถยนต์สามารถวิ่งด้วย ความเร็ว หยุดกลับรถได้ตลอด หรือสามารถใช้เกาะสี สำหรับแซง กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่เพิ่มความเสี่ยงและ ความรุนแรงของอุบัติเหตุ
โดยสรุปก็คือนวัตกรรมเกาะสีจึงถือเป็นกรณีสำคัญ ที่ต้องนำมาเป็นบทเรียน และทบทวนการออกแบบและก่อสร้างที่ อาจจะดูสะดวก ประหยัดงบประมาณ แต่ถ้าไม่ศึกษาผลกระทบให้รอบด้าน โดยเฉพาะมูลค่าความสูญเสียจาก อุบัติเหตุทางถนนมาประกอบด้วย สุดท้ายแล้วจะกลายเป็นได้ไม่คุ้มเสีย และคนที่เสียมากที่สุดก็คือ ประชาชนคนที่ใช้รถใช้ถนน