เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2562 ที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย ศาสตร์ตราจารย์นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย รองศาสตร์ตราจารย์นายแพทย์สิทธิ์ พงษ์กิจการุณ หัวหน้าภาควิชารังสีวิทยา รองศาสตร์ตราจารย์ ดร.นายแพทย์ไชยพร ยุกเซ็น หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน และ นศพ. พรลภัส เชนวรรณกิจ นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่6 ร่วมแถลงข่าวเปิดตัวนวัตกรรมการเรียนการสอนแพทย์ 'Ultrasound พกพาชนิดไร้สาย สำหรับนักศึกษาแพทย์ยุคดิจิทัล' โดยมีคุณสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ได้สนันสนุบส่งมอบเครื่องอัลตราซาวด์พกพาชนิดไร้สาย จำนวน 200 เครื่อง ให้แก่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ทั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่โรงเรียนแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำนวัตกรรมอัลตราซาวด์พกพาชนิดไร้สาย มาใช้ในการเรียนการสอนและใช้ปฎิบัติงานจริง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที
ศาสตร์ตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา กล่าวถึงความสำคัญของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์ในยุคดิจิทัล ว่าคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มีพันธกิจหลัก ได้แก่ พันธกิจด้านการรักษาพยาบาลผู้ป่วย พันธกิจด้านการทำวิจัยให้เกิดนวัตกรรมอย่างยั่งยืน และพันธกิจด้านการศึกษาที่มีระบบการเรียนการสอนเป็นจุดเด่นเฉพาะให้แก่นักศึกษาแพทย์ นักศึกษาพยาบาล นักศึกษาวิทยาศาสตร์สื่อความหมาย และนักศึกษาปฏิบัติการฉุกเฉิน
อย่างที่ทราบกันว่า ระบบการให้บริการรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยในปัจจุบัน ค่อนข้างมีความรวดเร็วและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น หากเราสามารถพัฒนาจากจุดบกพร่องที่เกิดขึ้นจริงในระหว่างการให้บริการรักษาพยาบาล ต่อยอดให้เกิดเป็นผลงานนวัตกรรมที่นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วยได้อย่างเต็มประสิทธิภาพได้ ก็จะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้มาก เช่นเดียวกันกับการพัฒนาระบบการเรียนการสอนให้แก่นักศึกษาแพทย์ด้วยการนำนวัตกรรมมาใช้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวินิจฉัยรักษาในเบื้องต้นแก่ผู้ป่วยทางรังสีวินิจฉัยด้วยเครื่อง Ultrasound พกพาชนิดไร้สาย (Wireless) ที่สามารถเป็นเครื่องมือในการตอบโจทย์ปัญหาของเราได้ นั่นคือเราสามารถนำเครื่องอัลตราซาวด์พกพาชนิดไร้สาย ติดตัวไปได้ทุกที่เพื่อให้สามารถวินิจฉัยผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วทันท่วงที และในด้านการเรียนการสอน โดยการนำเครื่อง อัลตราซาวด์พกพาชนิดไร้สาย มาใช้สอนแก่นักศึกษาแพทย์ในชั้นปรีคลินิก
คุณสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)
ทั้งนี้ การที่เราจะมีนวัตกรรมรูปแบบดังกล่าว มาใช้ในการเรียนการสอนในโรงเรียนแพทย์ได้นั้น จะต้องได้รับการสนับสนุนจากบริษัทที่เล็งเห็นถึงความสำคัญ ซึ่งบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) โดย คุณสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และคุณนลินี รัตนาวะดี ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์มูลนิธิพลังงานไทย เข้าใจถึงความจำเป็นของเทคโนโลยีด้านการแพทย์ดังกล่าว จึงได้เข้ามาสนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้อเครื่อง Ultrasound พกพาชนิดไร้สายนี้ จำนวน 200 เครื่อง มูลค่า 12 ล้านบาท
นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) มีความตั้งใจจะช่วยเหลือสังคมในสองด้านหลักๆ ด้วยกัน คือทางด้านการศึกษา และทางด้านเกี่ยวกับเครื่องมือทางการแพทย์ ที่ผ่านมาเราได้บริจาคเครื่องมือทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลรัฐหลากหลายโรงพยาบาลด้วยกัน และการบริจาคเครื่องมืออัลตร้าซาวด์ชนิดพกพา แบบไร้สายในครั้งนี้ เรียกได้ว่าเป็นการผสมผสานกันระหว่างทั้งด้านการศึกษาและเรื่องการแพทย์อีกด้วย ทำให้นักศึกษาแพทย์รุ่นใหม่ๆ ที่ได้รับเครื่องมือนี้ไป จะได้ฝึกฝนและทำให้มีความชำนาญในการใช้เครื่ออัลตร้าซาวด์ตั้งแต่ในช่วงปรีคลินิก ซึ่งความชำนาญนี้ก็จะไปช่วยรักษาคนไข้ในห้องฉุกเฉินให้มีโอกาสที่จะมีชีวิตรอดมากยิ่งขึ้นได้
รองศาสตราจารย์นายแพทย์สิทธิ์ พงษ์กิจการุณ กล่าวถึง เครื่องอัลตราซาวด์เพื่อการเรียนรู้ในชั้นปรีคลินิก ว่าท่ามกลางยุคแห่ง Technology Disruption ที่หลายภาคส่วนต้องเร่งปรับตัวเพื่อความอยู่รอดและเติบโต แต่สำหรับการดูแลสุขภาพ การเปลี่ยนแปลงของระบบดิจิทัลแบบฉับพลันนี้ ได้ผลักดันให้เทคโนโลยีทางการแพทย์มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด การศึกษาเรียนรู้ทางการแพทย์ก็มีความจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยน เพื่อให้สอดคล้อง ตอบโจทย์ และเท่าทันต่อบริบทของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
รองศาสตราจารย์นายแพทย์สิทธิ์ พงษ์กิจการุณ
โดยที่หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อาศัยโอกาสที่มี New (Disruptive) Technology อันได้แก่ เครื่อง Ultrasound พกพาชนิดไร้สาย (Portable Wireless Ultrasound) มาสร้างให้เกิด “นวัตกรรมในกระบวนการเรียนการสอน” ให้แก่นักศึกษาแพทย์ยุคดิจิทัล โดยได้นำเครื่องมือดังกล่าวมาใช้ร่วมในการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์ชั้นปรีคลินิก เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ ความเข้าใจในเนื้อหาด้านกายวิภาค สรีรวิทยา และพยาธิสภาพ รวมถึงกระตุ้นให้เกิดความคิดเชิงสร้างสรรค์ของนักศึกษาได้อย่างลึกซึ้งและผสมผสาน สร้างแรงบันดาลใจในการต่อยอดการเรียนรู้ในระดับสูงขึ้น
'สิ่งสำคัญที่ภาควิชามองคือคนไทยที่ยังไม่มีโอกาสมาถึงห้องฉุกเฉินอย่างปลอดภัย เช่น เวลาเรียกบริการรถพยาบาลรถ Ambulance ทีมแพทย์ฉุกเฉินที่ออกบริการนอกสถานที่ สามารถใช้การรักษาเหมือนห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลได้เลย สามารถทำการกู้ชีพขั้นสูงได้ แต่ในปัจจุบันที่มองไว้คือ Ultrasound พกพาชนิดไร้สาย สามารถทำให้นักศึกษากลุ่มนี้หรือทีมแพทย์ ทำการช่วยเหลือผู้ป่วยได้เลยทั้งที่บ้าน หรือบนถนนที่ได้รับบาดเจ็บ สามารถเปลี่ยนการวินิจฉัย หรือวินิจฉัย ได้อย่างรวดเร็วทันที การเลือกส่งคนไข้ไปโรงพยาบาลมีความจำเป็น เพราบางครั้งถ้าไปเจอคนไข้ที่เกิดอุบัติบนท้องถนน ก็สามารถใช้Ultrasound หากเจอเลือดออกในท้อง ซึ่งโรงพยาบาลที่เลือกส่งนั้น จะต้องเป็นโรงพยาบาลที่พร้อมผ่าตัดได้ทันที ถ้าเลือกส่งผิดโรงพยาบาลจะเกิดผลเสียกับคนไข้ ซึ่งเครื่องมือ Ultrasound จะทำให้เรามองเห็นในร่างกายได้และวินิจฉัยได้ถูกต้อง กล้าตัดสินใจวินิจฉัยได้อย่างมากขึ้น เมื่อทราบว่าจะมีการใช้Ultrasound รู้สึกดีใจมาก และนำมาลองให้นักศึกษาใช้ แพทย์ใช้ ก็บอกว่าดีมาก ใกล้เคียง หรือดีกว่าเครื่องที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ก็นับว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างมากในการวงการแพทย์เรา ซึ่งนับเป็นโอกาสดีที่ให้นักศึกษาแพทย์ปี2-6 ได้กัน ถือเป็นที่แรกของประเทศไทย และมองว่าอาจเป็นจุดเปลี่ยนและเป็นผู้นำสถาบันการแพทย์อื่นๆหันมาใช้เครื่องมือUltrasound พกพาชนิดไร้สาย ทั้งในห้องฉุกเฉินและนอกห้องฉุกเฉิน ถือเป็นการพัฒนาทางการแพทย์ที่มากยิ่งขึ้น'
รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ไชยพร ยุกเซ็น กล่าวว่า ในปัจจุบันห้องฉุกเฉินทุกโรงพยาบาลมีการใช้เครื่องอัลตราซาวด์เพื่อช่วยในการวินิจฉัยแต่ในปัจจุบันความก้าวหน้าของเวชศาสตร์ฉุกเฉินในประเทศไทยได้พัฒนาไปถึงการดูแลผู้ป่วยที่บ้านและก่อนมาถึงโรงพยาบาลให้เทียบเท่ากับการดูแลผู้ป่วยในห้องฉุกเฉินด้วยบุคลากรกลุ่มที่เรียกว่า Paramedic และเช่นกันเครื่อง อัลตราซาวด์ก็อาจเป็นเป็นเหมือนตาคู่ที่ 2 ของ Paramedic ที่จะนำมาใช้ในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตนอกโรงพยาบาลเช่นกัน
เครื่องอัลตราซาวด์พกพาชนิดไร้สาย (portable wireless ultrasound) สามารถนำมาใช้ได้ทั้งในห้องฉุกเฉินและการดูแลผู้ป่วยก่อนมาถึงโรงพยาบาล การนำเครื่อมาใช้ในการเรียนการสอนของหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิตและหลักสูตรฉุกเฉินการแพทย์ นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของการฝึกอบรมด้านการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศ และจะเป็นต้นแบบการฝึกอบรมของสถาบันอื่นในประเทศไทยต่อไป
สาธิตวิธีการใช้เครื่องอัลตราซาวด์พกพาชนิดไร้สาย
นศพ. พรลภัส เชนวรรณกิจ นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 6 กล่าวว่า ครั้งแรกที่ได้สัมผัสเครื่องอัลตราซาวด์ชนิดพกพา ก็ทำให้รู้สึกได้ว่าเป็นเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยมาก เป็นนวัตกรรมที่จะเป็นประโยชน์ในการวินิจฉัยรักษาผู้ป่วย ซึ่งจากประสบการณ์การใช้เครื่องอัลตราซาวด์มาแล้ว 1 เดือนในแผนกฉุกเฉิน ทำให้มีความสะดวกขึ้นมากในการวินิจฉัยอาการ โดยไม่ต้องรอคิวเข็นเตียงผู้ป่วยเพื่อใช้เครื่องอัลตราซาวด์ขนาดใหญ่ที่มีใช้กันอยู่ และทำให้ไม่ต้องเสียเวลาในขั้นตอนนี้เป็นเวลานาน ผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุมา เราก็สามารถใช้อัลตราซาวด์เพื่อหาสาเหตุต่างๆที่สงสัยได้รวดเร็ว
เช่น ภาวะปอดรั่ว-แตก ภาวะน้ำในเยื่อหุ้มหัวใจ ที่อาจทำให้เสียชีวิตได้ หากเราทำการวินิจฉัยได้รวดเร็วและแม่นยำก็สามารถทำหัตถการช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ทันท่วงทีประโยชน์จากการได้ใช้เครื่อง Ultrasound ชนิดพกพา ยังทำให้ได้ฝึกฝนการทำอัลตราซาวด์ได้มากขึ้น เนื่องจากมีเครื่องอยู่ในมือเราสามารถทำในเวลาใดก็ได้ ค่อนข้างมีความสะดวก และจะเป็นประโยชน์อย่างมากเมื่อเรียนจบไปเป็นแพทย์อยู่ต่างจังหวัดที่อาจไม่มีคนคอยดูแลตลอดเวลา ทั้งยังช่วยเพิ่มความมั่นใจได้มากยิ่งขึ้น
เครื่องอัลตราซาวด์พกพาชนิดไร้สาย
นอกจากนี้แล้วเครื่องมือดังกล่าว ยังสามารถบันทึกเป็นวิดีโอหรือรูปภาพไว้บนโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต ทำให้สามารถเรียกดูได้สะดวก เหมาะแก่การเรียนรู้และฝึกฝนเป็นอย่างยิ่ง การนำนวัตกรรมดังกล่าวนี้มาใช้ในการเรียนการสอนนับว่าเป็นประโยชน์อย่างมากในด้านการศึกษาของนักศึกษาแพทย์ ที่สามารถเพิ่มความรู้ความสามารถและใช้ประโยชน์กับผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี
'ครั้งแรกที่ได้เห็นเครื่อง Ultrasound ชนิดพกพาไร้สาย คิดว่าเป็นเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยมาก เหมือนกับโทรศัพท์สมาร์โฟนที่พกติดตัวกัน จากประสบการณืที่ได้ใช้เครื่องอัลตราซาวด์นี้ ระยะ 1 เดือน ในแผนกฉุกเฉิน ของนักศึกษาแพทย์ รู้สึกว่าเป็นตัวช่วยที่สะดวกสบายมากขึ้น มีความรวดเร็ว จากในตอนแรกที่เราตรวจร่างกายคนไข้ กรณีคนไข้ที่จะใช้เครื่องอัลตราซาวด์ จะต้องนำคนไข้ไปรอคิวใช้เครื่องอัลตราซาวด์ แต่ในตอนนี้สามารถอัลตราซาวด์ได้เลยในห้อง ไม่ต้องนำคนไข้ไปต่อคิวรออัลตราซาวด์ ซึ่งบางกรณีคนไข้ฉุกเฉินรอไม่ได้เช่นผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุ สงสัยว่าอาจปอดรั่ว ปอดแตก หรือมีภาวะน้ำในเหยื่อหุ้มหัวใจ ซึ่งการที่จะวินิจฉัยได้เร็ว จะส่งผลดีมากต่อการช่วยชีวิต การย่นระยะเวลาตรงนี้ทำให้การรักษาช่วยชีวิตทันท่วงที ตรงนี้มองว่ามีประโยชน์มากๆ โดยช่วง 1เดือนนี้ในฐานะนักศึกษาแพทย์ที่ได้ใช้งาน มองว่านักศึกษาแพทย์ได้ใช้ฝึกฝนทักษะการใช้อัลตราซาวด์เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ของการเป็นแพทย์ในยุคปัจจบัน การมีเครื่องอัลตราซาวด์ใช้อย่างน้อง 1 โรงพยาบาลต่อ 1 เครื่อง ในตอนเป็นนักศึกษาแพทย์อาจยังไม่ได้ใช้ แต่ถ้าเรียนจบแล้วเป็นแพทย์จบใหม่ ใช้ทุนต่างจังหวัดเราจะต้องเป็นคนที่ใช้เอง อาจจะไม่มีอาจารย์คอยควบคุมดูแลเหมือนโรงเรียนแพทย์ ส่วนนี้จะเหมือนเพิ่มความมั่นใจ เพิ่มทักษะการเป็นนักศึกษาแพทย์มากขึ้น และตัวเครื่องอัลตราซาวด์ก็สามารถที่จะอัดเป็นรูปภาพหรือคลิปวีดีโอ อยู่ในโทรศัพท์มือถือของเราได้ ซึ่งสะดวกมากสามารถเรียกดูได้ในมือถือในการทบทวนความรู้หรือนำข้อมูลไปปรึกษากับแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญมากกว่าเรา'
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี