“ความมั่นคงทางอาหารมองในแง่ของการผลิตและเข้าถึงอาหาร งานวิจัยช่วงหลังๆ สนใจเรื่องการเข้าถึงอาหารมากขึ้นเรื่อยๆ คือทำอย่างไรจะทำให้คนสามารถเข้าถึงอาหารได้มากขึ้น เพราะมีคนผลิตอาหาร ในภาวะที่มีอาหารอยู่ตรงนั้น คนจำนวนหนึ่งเข้าไม่ถึงอาหาร เหมือนกับโครงการที่เอาอาหารจากโรงแรม 5 ดาวมาแจกจ่ายไป คิดว่าอันนี้เป็นส่วนหนึ่งของการทำให้เกิดภาวะของการเข้าถึงอาหารได้มากขึ้น”
คำอธิบายว่าด้วย “ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security)” จากนักวิชาการผู้ศึกษาประเด็น “หาบเร่แผงลอย” ในสังคมไทย รศ.ดร.นฤมล นิราทร อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในเวทีเสวนา “อวสานอาหารริมทางกรุงเทพมหานคร : ความล้มเหลวในการจัดระเบียบทางเท้า และสิทธิการเข้าถึงอาหารในชีวิตประจำวัน” ณ ศูนย์การเรียนรู้ฟอร์ดเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม (FREC) ย่านนางเลิ้ง กรุงเทพฯเมื่อเร็วๆ นี้
และประเด็นความมั่นคงทางอาหารนี้เองที่ควรถูกใช้ “โต้แย้ง” แนวคิดที่ผู้บริหาร กรุงเทพมหานคร (กทม.) นำมาใช้ใน “นโยบายจัดระเบียบทางเท้า” ที่เดินหน้า “ยกเลิกจุดผ่อนผัน” ที่เคยอนุญาตให้ค้าขายหาบเร่แผงลอยได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ กทม. ถูกมองว่า “สิ่งที่ทำดูจะไม่ใช่การจัดระเบียบ..แต่เป็นการกวาดล้างเสียมากกว่า” จนส่งผลกระทบไม่ใช่เฉพาะผู้ค้าเท่านั้น ยังรวมไปถึงผู้คนหลากหลายอาชีพที่ทำงานในเมืองหลวงของไทยแห่งนี้ด้วย
ถึงกระนั้น “จะมองแต่แผงลอยเฉพาะที่เป็นอาหารอย่างเดียวก็ไม่ได้” อาจารย์นฤมล ขยายความเรื่องนี้เพิ่มเติม “สินค้าที่ขายบนแผงลอย..จำนวนมากไม่มีโอกาสได้วางในห้างสรรพสินค้าหรือร้านสะดวกซื้อ” อีกทั้ง “การมีอยู่ของอาหารแผงลอยยังช่วยลดเวลาในการเดินทางซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของคนในเมือง” โดยเฉพาะกับผู้ที่ต้องเข้างานและเลิกงานเป็นเวลาตายตัว การช้าหรือเร็วเพียง 1-2 นาที ก็มีความหมายอย่างมาก
“ในปี 2561 มีงานวิจัยที่ศึกษาคนใน 6 เขต ของกรุงเทพฯ พบว่า คนไทยหรือคนกรุงเทพฯ กินอาหารแผงลอย 9.58 มื้อต่อสัปดาห์ ถ้ามองว่า 7 วันคือ 21 มื้อ 9.58 ตีเป็น 10 มื้อ10 ส่วน 21 ก็ประมาณเกือบ 50% แสดงว่าอาหารที่เรากินแต่ละอาทิตย์ เกือบ 50% มาจากแผงลอย ซื้อมากที่สุดคือรายได้ 20,000-30,000 บาท รองลงมาคือกลุ่มรายได้มากกว่า 30,000 บาท” อาจารย์นฤมล กล่าว
อีกผลการศึกษาที่สะท้อนความสำคัญของ “สตรีทฟู้ด (Street Food)” หรืออาหารริมทางที่ส่วนใหญ่ขายแบบหาบเร่แผงลอยได้เป็นอย่างดี คือ “วีโก (WIEGO)” ซึ่งเป็นเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม (NGO) และนักวิชาการที่สนใจประเด็นแรงงานนอกระบบทั่วโลกพบว่า “หากสตรีทฟู้ดหายไปจากเมืองไทย ค่าอาหารของคนไทยจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยคนละ 357 บาทต่อเดือน” หรือหารด้วย 30 วัน จะตกเฉลี่ยเพิ่มขึ้นวันละประมาณ 11-12 บาท เงินจำนวนนี้อาจจะมีคนมองว่าไม่มาก แต่สำหรับแรงงานระดับล่างยังชีพด้วยค่าแรงขั้นต่ำวันละ 325 บาท ถือว่ามีความสำคัญ
อาจารย์นฤมลเล่าต่อไปว่า เคยมีการสำรวจราคาอาหารเพื่อเปรียบเทียบระหว่างในศูนย์อาหารกับที่แผงลอย แล้วพบว่า “ราคาอาหารในศูนย์อาหารแพงกว่าที่แผงลอย” ดังนั้นสำหรับข้อเสนอที่จะให้ผู้ค้าแผงลอยเสียค่าเช่ากับภาครัฐในอีกมุมหนึ่ง “ต้องระมัดระวังไม่ให้ค่าเช่าพื้นที่สูงเกินไปด้วย เพราะผู้ค้าก็จะผลักภาระมาที่ผู้บริโภคด้วยการขายอาหารในราคาแพง” เพื่อให้ผู้ค้าสามารถมีกำไรอยู่รอดได้
ทั้งนี้หากดูกฎหมาย พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 (มาตรา 20) พบว่า ในกรณีของกรุงเทพฯ ได้ให้อำนาจ กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ร่วมกับ กทม. อนุมัติเปิดจุดผ่อนผันในฐานะ“เจ้าพนักงานจราจร” เช่น สำนักงานเขตใน กทม. อาจให้กลุ่มผู้ค้าทำหนังสือขอไปยังบช.น. หากได้รับการอนุมัติจึงสามารถเปิดจุดผ่อนผันเพื่อค้าขายได้อย่างถูกกฎหมาย จึงเป็นที่มาของการอ้างว่า “ที่ต้องยกเลิกจุดผ่อนผันที่เคยอนุญาตไว้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เพราะ บช.น. ไม่เอาด้วย” โดย กทม. ตามที่ปรากฏเป็นข่าว
และต้องบอกว่า “จริงๆ แล้ว กทม. เคยมีระเบียบกำหนดการค้าขายหาบเร่แผงลอยไว้ค่อนข้างละเอียด” เช่น ทางเท้าที่ตั้งแผงได้ต้องเหลือทางเดินไม่น้อยกว่า 1 เมตร, ห้ามขายใกล้กับป้ายรถเมล์ สะพานลอย (รวมถึงใต้สะพานลอย), ห้ามตั้งแผงลงมาบนถนน, การประกอบอาหารให้ขายได้ไม่เกินเวลา 02.00 น. เป็นต้น “แต่ที่ผ่านมาไม่เคยถูกกำกับดูแลอย่างจริงจัง” และนั่นเป็นอุปสรรคสำหรับผู้ที่เห็นความสำคัญของอาหารริมทาง
“ไม่อยากเรียกว่าเป็นอคติ แต่มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในบางพื้นที่แล้วทำให้เกิดภาวะการมองผู้ค้าว่าเป็นคนที่ไม่เคารพกฎเกณฑ์ของสังคม การที่เรามาทำการรณรงค์ ทำให้ภาคประชาชนเชื่อตามเราว่าตรงนี้มันมีความสำคัญ คิดว่าที่ยากไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการคุยกับ กทม. หรือรัฐบาล คือประชาชนทำอย่างไรให้เขาคิดเหมือนเรา ให้ลบภาพเดิมๆ ว่าตอนนี้ผู้ค้าเขาไม่ใช่อย่างนั้นแล้วนะ เขาพร้อมที่จะร่วมมือให้อยู่ในกรอบที่วางไว้” อาจารย์นฤมล ระบุ
บทสรุปในฐานะคนทำงานวิจัยหาบเร่แผงลอย 1.แผงลอยมีเรื่องราวทั้ง 2 ด้านทั้งมืดและสว่าง 2.ในแวดวงแผงลอยมีผู้มีส่วนได้-เสียหลายกลุ่ม เช่น ผู้ค้า ผู้ซื้อ เจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชนทั่วไป การบริหารจัดการจึงเป็นความท้าทาย 3.ภาครัฐของไทยสนับสนุนการประกอบอาชีพอิสระเพื่อแก้ไขผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ แต่กลับไล่จัดการหาบเร่แผงลอย และ 4.นโยบายเกี่ยวกับแผงลอยมีปัญหาในการนำไปปฏิบัติ
ขณะเดียวกัน เมื่อไปดู พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 (มาตรา 4ข้อ 11) ให้นิยาม “ทางเท้า” ไว้ว่า “พื้นที่ที่ทำไว้สำหรับคนเดินซึ่งอยู่ข้างใดข้างหนึ่งของทาง หรือทั้งสองข้างของทาง หรือส่วนที่อยู่ชิดขอบทางซึ่งใช้เป็นที่สำหรับคนเดิน” นำไปสู่ข้อโต้แย้งทุกครั้งเวลามีผู้ใดแสดงความเห็นใจผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ทำนอง “ทางเท้าเป็นสมบัติสาธารณะไว้ให้คนเดิน มีสิทธิ์อะไรมาใช้ทำมาหากิน นี่ไม่ใช่เรื่องของคนรวย-คนจน แต่เป็นคนทำผิดกฎหมาย” ซึ่งหากยึดแต่กฎหมายเพียงด้านเดียว ย่อมเท่ากับปิดประตูตายในเรื่องการพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกัน
“มันมี Debate (การถกเถียง) ว่าทางเท้าจำเป็นไหมที่ต้องตอบโจทย์เฉพาะคนเดินเท่านั้น แล้วจริงๆ มันเป็นอะไรที่สำคัญมากสำหรับชีวิตเมืองโดยเฉพาะ ณ ขณะนี้เราพูดถึงการใช้รถน้อยลง ทำอย่างไรจะให้คนเดินมากขึ้นทาง UDDC (ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมืองจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) เขาทำวิจัยพบข้อสรุปว่า แผงลอยไม่ใช่ต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านเดินไม่สะดวก แต่แผงลอยมีประโยชน์มากมายที่ทำให้คนเขารู้สึกว่า Happy (มีความสุข) ที่จะเดิน ประเด็นจึงอยู่ที่การบริหารจัดการ” อาจารย์นฤมล ฝากประเด็นทิ้งท้าย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี