พูดถึง “สงขลา” หลายคนอาจนึกไปถึง “หาดใหญ่” อันเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดแห่งนี้ เนื่องด้วยเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญในเขตภาคใต้ตอนล่าง แต่ขณะเดียวกัน “เขตเมืองเก่าสงขลา” ที่มีอายุเก่าแก่มาตั้งแต่ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์หรือกว่า 2 ศตวรรษก่อน ในฐานะเมืองท่าและศูนย์กลางการเดินทางทางทะเล จึงมีชุมชนของผู้คนหลากชาติพันธุ์หลายวัฒนธรรม กำลังปรับปรุงเพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติอีกแห่งของประเทศไทย
“สงขลาเฮอริเทจ” เป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นจากการดำเนินโครงการวิจัย “การส่งเสริมการเรียนรู้และสร้างพลังของท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และเสริมสร้างคุณค่า เมืองเก่าสงขลาให้เข้มแข็งสู่การเป็นมรดกโลก” ระยะที่ 1 (2560-5261) และระยะที่ 2 (2561-ปัจจุบัน) โดย สถาบันอาศรมศิลป์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) หรือที่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
หัวหน้าโครงการวิจัยด้านศิลปศาสตร์ สถาบันอาศรมศิลป์ ภัทร ยืนยง อธิบายว่า การสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนกับบริษัทนั้น “ไม่เน้นความเป็นเจ้าของในตัวบริษัท แต่เน้นความเป็นเจ้าของในกิจกรรมที่บริษัทเข้าไปดำเนินการในเมืองเก่าสงขลา” จึงกำหนดให้คนในชุมชนสามารถเข้ามาร่วมลงทุนหรือถือหุ้นในแผนธุรกิจ เพราะจะทำให้เกิดการกระจายหุ้นไปสู่คนในชุมชนได้มากกว่าการเป็นหุ้นส่วนในบริษัท
“ภายใต้แผนธุรกิจเพื่อการซ่อมแซมอาคารที่เก่า ที่บริษัทจะร่วมลงทุนในการซ่อมแซมก่อนเข้าไปดำเนินการสร้างรายได้จากการให้เช่าหรือทำธุรกิจที่เหมาะสม นอกจากเราจะให้เจ้าของอาคารมาถือหุ้นแล้วยังเปิดโอกาสให้คนในชุมชนมาลงทุนเป็นผู้ร่วมถือหุ้นในแผนแหล่านี้ได้อีกด้วย เพราะเราเชื่อว่าการระดมทุนกันคนละเล็กละน้อย คือการแสดงความมีส่วนร่วม แสดงการรับผิดชอบร่วมกันของคนในชุมชน ที่ช่วยกันรักษาคุณค่าของชุมชนตนเองไว้” ภัทร ยกตัวอย่าง
ขณะที่นักศึกษาปริญญาโท คณะศิลปศาสตร์ สถาบันอาศรมศิลป์ ดวงใจ นันทวงศ์ กล่าวเสริมว่า การได้ร่วมทำงานวิจัยครั้งนี้ ทำให้เข้าใจและมั่นใจในรูปแบบและแนวทางดำเนินการของบริษัทที่วางไว้ เพราะนอกจากความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจแล้วยังสร้างประโยชน์กับชุมชนได้จริง ซึ่งหลังจากนำความคิดนี้ไปปรึกษากับผู้ใหญ่หลายท่าน ทั้งอาจารย์และผู้นำกลุ่มต่างๆในพื้นที่ จึงดำเนินการขอจดทะเบียนเป็นบริษัทเมื่อเดือนที่ผ่านมา
“ภาคกิจของสงขลาเฮอริเทจมีอะไรบ้าง?” นอกจากงานด้านการซ่อมแซมอาคารของประชาชนทั่วไปแล้ว บริษัทยังมองถึงการนำทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอดเป็นรายได้ ทั้งการพัฒนาผลิตใหม่ๆ การเชื่อมโยงกับโรงเรียนเพื่อสร้างกิจกรรมเชิงท่องเที่ยวที่ให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วม รวมถึงอาคารที่เป็นคุณค่าทางจิตใจของคนในชุมชนอีกด้วย เช่น การเข้าไปพูดคุยกับ สมาคมฮกเกี้ยนสงขลา เกี่ยวกับการบูรณะและซ่อมแซม ศาลปุณเถ้ากงในชุมชนหนองจิก ซึ่งเป็นศาลเจ้าเก่าแก่อายุกว่า 200 ปี ที่คนไทยเชื้อสายจีนในสงขลาเชื่อถือและกราบไหว้
รวมถึงการเข้าไปช่วยออกแบบพิพิธภัณฑ์ให้กับ ชุมชนบ้านบน ซึ่งเป็นชุมชนมุสลิมในพื้นที่เมืองเก่าสงขลา โดยหนึ่งในชาวเมืองเก่าสงขลาที่ร่วมโครงการวิจัยมาตั้งแต่ต้น ชำนาญ พูลสวัสดิ์ เล่าว่า ก่อนหน้านี้คนในชุมชนโดยเฉพาะรุ่นเก่าๆ มีความร่วมมือกันในการเก็บรักษามรดกทางสถาปัตยกรรมรวมถึงวัฒนธรรมประเพณีอยู่แล้ว เพียงแต่ทำได้ไม่เต็มที่เพราะภาระรับผิดชอบของแต่ละคน ดังนั้นรูปแบบบริษัทแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่กำหนดให้ชุมชนร่วมลงทุนผ่านแผนธุรกิจ จึงได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีจากคนในพื้นที่
รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา อำพล พงศ์สุวรรณ ให้ความเห็นถึงการเกิดขึ้นของสงขลาเฮอริเทจ ว่า สงขลาเฮอริเทจคือการ “ระเบิดจากข้างใน” ของคนเมืองเก่าสงขลา ที่แสดงให้เห็นสามารถยืนบนขาตนเองได้โดยไม่ต้องรอแต่หวังพึ่งภาครัฐ ซึ่งบริษัทแห่งนี้จะเป็นอีกหน่วยหนึ่ง ที่เข้ามาเติมเต็มให้ชุมชน เพราะเป็น Social Enterprise ที่มีการคืนกำไรสู่สังคม และทางจังหวัดก็พร้อมให้การสนับสนุน
“บทสรุปจากเรื่องนี้” อดีตผู้อำนวยการฝ่ายบูรณาการวิจัยและความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ สกสว. กิตติ สัจจาวัฒนา กล่าวว่า การเกิดขึ้นของสงขลาเฮอริเทจ สอดคล้องกับแนวทางการสนับสนุนงานวิจัยเพื่อการพัฒนาพื้นที่อย่างชัดเจน “ที่ผ่านมางานวิจัยเชิงพื้นที่ มักจะขาดกลไกเข้าทำให้เกิดการขับเคลื่อนต่อในระยะยาว ทำให้พลังในการทำงานจะลดลงเมื่อสิ้นสุดงานวิจัย” แต่โครงการวิจัยนี้กลับสามารถสร้างความร่วมมือในระดับพื้นที่ผ่านการสร้างคุณค่า สร้างมูลค่า และสร้างแรงบันดาลใจ จนเกิดการสร้างแนวทางที่ชัดเจน
สามารถต่อยอดเป็นรูปธรรมได้สำเร็จ!!!
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม
วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี