เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2563 รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว "Siripan Nogsuan Sawasdee" ระบุว่า อำนาจของประธานาธิบดีสหรัฐกับการทำสงคราม
ในรัฐธรรมนูญของสหรัฐ ประธานาธิบดีเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพ แต่อำนาจในการประกาศสงคราม (the power to declare war) และอนุมัติงบประมาณในการปฏิบัติการทางทหาร เป็นของสภาคองเกรส
สหรัฐประกาศสงครามครั้งหลังสุด คือ สงครามโลกครั้งที่สอง (หลังจากที่ถูกญี่ปุ่นโจมตี Pearl Harbor) หลังจากนั้น ประธานาธิบดีสหรัฐเลือกที่จะขอให้สภาคองเกรสอนุมัติการใช้กำลังทางทหาร โดยไม่ประกาศสงครามอย่างเป็นทางการ
ในประวัติศาสตร์ ประธานาธิบดีบางคนใช้อำนาจทางการทหารนอกเหนือขอบเขตที่รัฐธรรมนูญกำหนด เช่น Abraham Lincoln สั่งระงับไม่ให้ผู้ถูกคุมขังต้องถูกนำตัวมายังศาล (habeas corpus) เป็นการชั่วคราวในระหว่างสงครามกลางเมือง หรือ Franklin D. Roosevelt กักขังชาวญี่ปุ่นในสหรัฐอเมริการะหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 และ George W. Bush ใช้เครื่องดักฟังประชาชน และทรมานผู้ต้องสงสัยก่อการร้าย หลังเหตุการณ์ 9/11
หลังถูกโจมตีเมื่อ 9/11 นั่นเอง ที่สภาคองเกรสได้เห็นชอบขยายอำนาจประธานาธิบดี ในการใช้กำลังทหาร (an authorization for use of military force –the 2001 AUMF) เพื่อต่อต้านผู้วางแผน กระทำการ หรือ ให้ความช่วยเหลือการก่อการร้ายที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 911
ปฎิบัติการ Operation Neptune Spear ที่สังหาร Osama Bin Laden ในปากีสถาน ปี 2011 นับได้ว่าเป็นการใช้อำนาจของประธานาธิบดี Obama จาก AUMF
นักรัฐศาสตร์อเมริกัน Robert Jervis ชี้ถึงความแตกต่างในการตอบโต้ทางทหารที่น่าสนใจ กล่าวคือประธานาธิบดี Bush และประธานาธิบดี Obama แม้จะแข็งกร้าวกับอิรัคและประเทศตะวันออกกลาง แต่จะใช้ความระมัดระวังมากกว่าในความขัดแย้งกับอิหร่าน
ถึงแม้ Obama จะมั่นใจในแสนยานุภาพทั้งทางทหาร และ เศรษฐกิจที่เหนือกว่าอิหร่านมาก แต่ตระหนักถึงความมุ่งมั่น ศักดิ์ศรี ศรัทธา และความเข้มข้นในผลประโยชน์ของอิหร่านต่อภูมิภาคตะวันออกกลาง จึงเลือกตอบโต้แบบหลบหลีก เลี่ยงการเผชิญหน้าโดยตรง (the spiral model)
ตรงกันข้าม ปฎิบัติการโดรนสังหารนายพล Qassem Soleimani ในครั้งนี้ ซึ่งได้รับการอธิบายจากกระทรวงกลาโหม และประธานาธิบดี Trump ว่า เป็นความจำเป็นในการป้องปรามภัยคุกคามอันใหญ่หลวง ต่อบุคลากรของสหรัฐที่ปฎิบัติการในอิรัค เป็นการใช้ "the deterrence model" กล่าวคือ ใช้กำลังรุนแรง เพื่อสร้างความหวาดกลัวให้ฝ่ายตรงข้ามที่เชื่อว่ามีศักยภาพต่ำกว่าสยบยอม ไม่ให้กล้าโงหัวขึ้นมาสู้
แต่ดูเหมือนประธานาธิบดี Trump อาจประเมินพลาด เพราะอิหร่านเพิ่งนำธงแดงขึ้นเหนือยอดโดมศักดิ์สิทธิ์ของมัสยิด Jamkarān อันเป็นสัญลักษณ์ของการแก้แค้นต่อความอยุติธรรม ด้วยเลือด
หลายคนกังวลว่าความขัดแย้งนี้ จะนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 สื่อต่างชาติบางสำนัก ถึงกับนำคำทำนายของ Nostradamus ช่วงหนึ่ง มาเผยแพร่
“The false trumpet concealing madness
will cause Byzantium to change its laws.
From Egypt there will go forth a man who wants
the edict withdrawn, changing money and standards”
ดิฉันคิดว่า ศึกครั้งนี้อาจมีแนวโน้มนำไปสู่สงครามอ่าวเปอร์เซีย (อีกครั้งหนึ่ง!) แต่ขอบเขตของสงครามไม่น่าจะขยายไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 แต่อย่างใด.
แก้ไขเพิ่มเติม สงครามอ่าวในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงการประกาศสงครามอย่างเป็นทางการ แต่อาจเป็นสงครามนอกรูปแบบในลักษณะต่าง ๆ ที่ดึงประเทศในอ่าวเปอร์เซียเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะไม่เกิดขึ้น
เครดิตภาพ: พิธีศพ Soleimani จาก The Middle East Eye
ทหารอเมริกัน Airborne Division จาก The New York Times
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี